stadium

6 เทคนิคการทำแต้มที่ใช้ได้จริงในกีฬาตะกร้อ

27 ตุลาคม 2563

เสิร์ฟ .. ชง ... ฟาด! แค่สามคำนี้ก็พานึกออกแล้วว่าเป็นกีฬาอะไร เสน่ห์สำคัญของกีฬาชนิดนี้ แน่นอนว่าการกระโดดตีลังขึ้นไปกลางอากาศ ก่อนจะใช้หลังเท้าเตะลูกตะกร้อด้วยความหนักหน่วง ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งคนเล่น และผู้ชม ต่างไม่อาจะละสายตาได้เลย วันนี้เราจะพาทั้งนักตะกร้อ และคนที่ไม่ใช่นักตะกร้อแต่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ มาไล่เรียงกันดูว่า จังหวะการทำแต้มหน้าตาข่าย มีท่าไหนบ้าง มีความยากง่ายอย่างไร และท่าไหนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด!

 

 

การโหม่ง

นี่คือสกิลเริ่มต้นของคนที่พึ่งหัดเล่นตะกร้อ เพราะการใช้หัวโหม่งข้ามตาข่าย เป็นเรื่องง่ายที่สุด จากการที่เราอาจจะไม่ต้องกระโดดสูงมากนัก เพราะตาข่ายตะกร้อ ที่มีความสูงที่ 155 ซม. สำหรับผู้ชาย และ 145 ซม. สำหรับผู้หญิง การโหม่งทำคะแนน ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเริ่มต้น แม้ว่าจะไม่ได้มีความรุนแรงและหวังผลได้ทันที แต่ลูกโหม่งก็สามารถพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เล่นตำแหน่งตัวฟาดควรมีติดตัวไว้ใช้ในยามขับคัน

 

 

 

 

การเหยียบ/ปาด

ภาษาตะกร้อ เรียกการ เหยียบ หรือ ปาด ว่าการ "ข้ามเขียว" สาเหตุก็มาจากการที่ส่วนใหญ่จะใส่รองเท้าผ้าใบยี่ห้อนันยาง ที่ทุกคนรู้จักกันดี ซึ่งพื้นรองเท้าจะเป็นสีเขียว สำหรับการ เหยียบ หรือ ปาด ถือเป็นท่าที่นิยมในตะกร้อยุคก่อน ตั้งแต่สมัยที่ใช้ลูกหวาย และคนที่โด่งดังมากที่สุด คือ "วีรัส ณ หนองคาย" ที่ใช้ลูกเหยียบและปาด ทำแต้มต่อกรกับคู่แข่งจนสร้างความสำเร็จมามากมาย ขณะที่ปัจจุบันก็มี "มัสยา ดวงศรี" ตัวชงหญิงทีมชาติไทย ที่ใช้ลูกนี้ฉวยโอกาสทำคะแนนบ่อยๆ

 

ทำอย่างไร? : การเหยียบ ในช่วงเริ่มให้เตะขาข้างที่ใช้เหยียบขึ้นตรงๆ แล้วกะจังหวะที่ลงให้ฝ่าเท้าตรงกับลูกเพื่อกระทบลูกตะกร้อให้ข้ามตาข่าย โดยสามารถพัฒนาไปเป็นการสะบัดข้อเพื่อเพิ่มน้ำหนัก รวมไปถึงกระโดดเหยียบเพื่อเพิ่มความหนักหน่วง

 

ส่วนการปาด จะใช้วิธีหันข้างเข้าหาเน็ตดูที่ลูกจังหวะตกลงแล้วใช้ขาข้างที่จะปาดเหวี่ยงเป็นวงคล้ายๆการเสิร์ฟ เพื่อให้มีความหนักหน่วง 

 

เตะครึ่งรอบ

หากคุณเป็นนักตะกร้อที่ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะกระโดดตีลังกาฟาดได้นั้น คุณควรจะเริ่มจากเตะครึ่งรอบ โดยถือเป็นท่าที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยจังหวะและความแม่นยำในการเตะให้โดนลูก ซึ่งส่วนใหญ่การเตะครึ่งรอบจะเหมาะกับผู้หญิง ที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก แต่ก็เป็นการทำคะแนนที่หวังผลได้

 

ทำอย่างไร? : เริ่มจากหันหลังชิดตาข่าย ใช้ขาข้างไม่ถนัด (ไม่ได้ใช้เตะลูก) ยกขึ้นสูงให้สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจังหวะที่ขาข้างไม่ถนัดตกลงมาให้เหวี่ยงขาข้างที่จะใช้เตะลูกสวนทางขึ้นไปเพื่อเตะลูกในช่วงเริ่มต้นฝึก และเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ให้พัฒนาเป็นการเหวี่ยงทั้งตัวและบิดเอวช่วยเพื่อเพิ่มความหนักหน่วงในการเตะ

 

 

เตะซันแบ็ค (ไทย)

หากพูดถึงลูกซันแบ็ค ทุกคนคงนึกถึงมาเลเซียที่เป็นต้นตำรับการใช้ท่านี้ แต่จริงๆแล้วในไทยเอง การเตะซันแบ็ค ก็ใช้กันแพร่หลายเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งนักกีฬาหญิงที่ใช้ท่านี้เป็นท่าหลักในการทำคะแนน โดยความแตกต่างของท่าซันแบ็คแบบไทย กับ มาเลเซีย ของไทยเองจะใช้การกระโดดสลับขาเพื่อเตะลูกแบบตรงๆตัว อาจจะมีบิดออกบ้างแต่ไม่มากนัก

 

ทำอย่างไร? : หันหลังชิดตาข่าย กระโดดพร้อมกับเตะขาข้างที่ไม่ถนัดขึ้นให้สูงที่สุดเพื่อทำให้ตัวลอยขึ้นจากพื้น หลังจากนั้นให้เหวี่ยงขาที่จะใช้ฟาดลูกสลับขึ้นมาตรงๆตัวเพื่อเตะลูก และใช้ต้นขาเพื่อบังคับทิศทางว่าจะไปในทิศทางใด

 

 

เตะซันแบ็ค (มาเลเซีย)

ซันแบ็คมาเลฯ คือ อาวุธเด็ดของคู่ปรับตลอดกาลของนักตะกร้อไทยเรา หนักหน่วง ทิศทางดี คือจุดเด่นของท่านี้ เพราะการซันแบ็คมาเลฯ ใช้การกระโดดขึ้นไปทั้งตัว และบิดเอวในจังหวะเตะลูก ซึ่งในยุคหลังๆ มีการพัฒนาไปจนแทบจะกระโดดขึ้นไปลอยเหนือตาข่าย แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสียก็อยู่ที่จังหวะการลงพื้นที่ต้องใช้ทั้งสะโพกและแขนในการค้ำลงพื้น ซึ่งเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ

 

ทำอย่างไร? : จังหวะกระโดดนั้นเหมือนกับการซันแบ็ค (ไทย) แต่จังหวะที่ลอยขึ้นไปเหนือตาข่าย ผู้เล่นจะต้องบิดทั้งเอวเพื่อให้ตัวหมุนก่อนจะเตะ และต้องอาศัยความยืดหยุ่นของร่างกายที่ค่อนข้างสูง

 

 

เตะครบรอบ

นี่คือสิ่งที่นักตะกร้อล้วนแต่ใฝ่ฝันและมุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อเตะครบรอบให้ได้ เพื่อจะได้เป็นผู้เล่นในตำแหน่งตัวฟาด ทุกท่วงท่าลีลา ถือเป็นสิ่งสะท้อนถึงความพยายามล้มลุกคลุกคลานกว่าจะตีลังกาหน้าตาข่าย ทำแต้มให้กับทีมในสนาม ซึ่งท่านี้เองก็ถือเป็นท่าที่นิยมมากที่สุดในการเล่นตะกร้อทั่วโลก

 

ทำอย่างไร? : หากต้องอธิบายเป็นตัวหนังสือคงไม่เพียงพอสำหรับการฝึกขึ้นฟาด แต่หากคุณสามารถเตะครึ่งรอบได้แล้ว ก็สามารถต่อยอดได้ง่ายขึ้น โดยฝึกการกระโดดด้วยขาข้างไม่ถนัดแล้วใช้ขาถวัดเหวี่ยงข้ามเพื่อฟาดลูก โดยเริ่มจากกระโดดไม่ต้องสูงมาก แล้วพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ สามารถเริ่มจากการแขวนลูกตะกร้อ แล้วปรับระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หากมีพื้นนุ่มๆ หรือสนามหญ้า ก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้เจ็บตัวน้อยลง

 

นี่คือการสรุปการขึ้นทำคะแนนหน้าตาข่ายในกีฬาตะกร้อ โดยอ้างอิงจากท่าที่มีการใช้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในกีฬาตะกร้อก็ยังมีท่าอีกหลากหลาย แต่อาจจะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว อาทิ ลูกหักคอไก่ ของ เกรียงไกร มุทาลัย , การขึ้นฟาดแบบขาเดียว (คล้ายๆการกระโดดวอลเลย์ยิงในกีฬาฟุตบอลแต่กระโดสูงกว่า) , ลูกซันซีโร่ ของ วีรัส ณ หนองคาย ซึ่งท่าต่างๆไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก อ่านมาถึงตรงนี้แล้วถ้าคุณเองเล่นตะกร้ออยู่ ลองคิดเล่นๆดูว่า ทำได้ทุกท่าที่กล่าวมาหรือไม่ ถ้าทำได้ คุณถือเป็นนักตะกร้อที่มีความครบเครื่องสุดๆไปเลย!

 

อ้างอิง : คู่มือผู้ฝึกสอนเซปักตะกร้อ B-LICENSE


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

La Vie en Rose