stadium

หทัยรัตน์ จารัตน์ ... สถานีต่อไปคือ “วี-ลีก”

9 ตุลาคม 2563

สโมสรลูกยางอาชีพ พีเอฟยู บลูแคทส์ ในการแข่งขันวอลเลย์บอล “วี-ลีก” ประเทศญี่ปุ่น(ลีกอาชีพ) อาจไม่ใช่ทีมระดับชั้นของเมืองปลาดิบ เพราะว่าเป็นทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นสู่ “ลีกสูงสุด” ได้เพียงแค่ 3 ฤดูกาลเท่านั้น(2018) โดยเป้าหมายหลักของ บลูแคทส์ คือการจบอันดับสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือการพยายาม “หนีตกชั้น” ซึ่งทำได้สำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

 

บลูแคทส์ กลายเป็นทีม “ขวัญใจคนไทย” ชนิดมาแรงแซงทางโค้ง เพราะว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บลูแคทส์ ตัดสินใจดึงตัว ดาวตบสาวไทย ไปร่วมทัพอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก “บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี เมื่อฤดูกาล 2018 (ปีแรกที่เลื่อนชั้นสู่ “วี-ลีก”) ตามมาด้วย “โมเม” ธนัชชา สุขสด และในฤดูกาล 2020 ที่กำลังจะเปิดสนามในช่วงกลางเดือนตุลาคม บลูแคทส์ ก็ยังเลือกที่จะใช้บริการ ดาวตบสาวไทย เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งคราวนี้เป็นโอกาสของ หทัยรัตน์ จารัตน์ บอลเร็วสาวดีกรีทีมชาติไทย

 

รอเวลาที่เหมาะสม

หทัยรัตน์ จารัตน์ หรือว่า “แอป” เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ปัจจุบันอายุ 24 ปี ย้อนกลับไปสมัยเด็ก เจ้าตัว เติบโตขึ้นมาในเส้นทางสายวอลเลย์บอลกับทีมโรงเรียนหนองเรือวิทยา จังหวัดขอนแก่น ภายใต้การดูแลของ อ.บรรจง สมบัติ หัวหน้าผู้ฝึกสอนชื่อดัง ที่เคยปลุกปั้นผู้เล่นหลายคนจนโด่งดัง และมีโอกาสก้าวขึ้นไปติดธงรับใช้ทีมชาติไทย

 

หทัยรัตน์ มีลักษณะคล้ายกับนักกีฬาส่วนใหญ่ที่ถูกดึงตัวเข้ามาเล่น “วอลเลย์บอล” เพราะว่ามีรูปร่างสูงมาก ในสมัยที่เล่นระดับมัธยมต้น “แอป” อาจยังทำผลงานออกมาได้ไม่ค่อยน่าพอใจนัก เพราะว่าฝีไม้ลายมือยังเป็นรองเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ และที่สำคัญคือ หนองเรือฯ เป็นทีมที่มีผู้เล่นเก่งๆในตำแหน่ง MB เยอะมาก เจ้าตัว จึงถูกส่งลงสนามเป็นเวลาสั้นๆในแต่ละเกม เพื่อสร้างความมั่นใจและสั่งสมประสบการณ์

 

 

คว้าโอกาสที่มาถึง

หทัยรัตน์ เริ่มได้รับโอกาสลงสนามรับใช้ โรงเรียนหนองเรือวิทยา มากขึ้นในช่วงม.ปลาย หลังจากสามารถพัฒนาฝีมือขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรุ่นพี่หลายๆคนก็เริ่มทยอยจบการศึกษากันออกไป และในที่สุดประตูสู่ “ทีมชาติไทย” ก็เปิดกว้างต้อนรับเจ้าตัว ในการแข่งขันวอลเลย์ยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก ที่จ.นครราชสีมา โดยร่วมเก็บตัวฝึกซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมอีก 14 คน แต่น่าเสียดายที่ “แอป” ถูกตัดชื่อออกจากทีมในโค้งสุดท้าย

 

หทัยรัตน์ เข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น หลังจบการศึกษาจาก โรงเรียนหนองเรือวิทยา โดยเป็นตัวหลักที่ลงแข่งขันให้กับ สถาบันฯ ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี และยังมีชื่อร่วมทีม ไทยเดนมาร์ก-หนองเรือ ลงแข่งขัน วอลเลย์บอลโปรชาเลนซ์ เมื่อฤดูกาล 2015 ก่อนจะสามารถพาทีมเลื่อนชั้นสู่ ไทยแลนด์ลีก ได้สำเร็จ 

 

 

แจ้งเกิดในระดับเอเชีย

หทัยรัตน์ กลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในวงการลูกยางเมืองไทย หลังจากโชว์ฟอร์มโดดเด่นในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2017 โดยทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว “ทีมสาวไทย” ภายใต้การคุมทัพของ “โค้ชจอมแท็คติค” ชำนาญ ดอกไม้ จบการแข่งขันในตำแหน่ง “รองแชมป์” หลังจากพ่ายต่อ ทีมชาติญี่ปุ่น ไปแบบน่าเสียดาย 2-3 เซต 

 

หทัยรัตน์ มีโอกาสลงสนามเคียงบ่าเคียงไหล่ “กลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรง” ที่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของ “ทีมชาติชุดใหญ่” ได้สำเร็จในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี, พิมพิชยา ก๊กรัมย์ หรือแม้แต่ ทิชาญา บุญเลิศ ก่อนที่สุดท้าย แอป จะได้รับเลือกเป็น “บอลเร็วยอดเยี่ยม” ร่วมกับ อายากะ ซูกิ ของทีมชาติญี่ปุ่น

 

 

บอลเร็วที่เร็วสมชื่อ

จุดเด่นของ หทัยรัตน์ คือมีร่างกายแข็งแรงและเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว แต่สิ่งที่ต้องสั่งสมเพิ่มเติมให้มากที่สุดคือประสบการณ์ รวมทั้งการอ่านเกมที่ยังไม่ค่อยแม่นยำนัก เพราะต้องยอมรับว่าหลาย ๆ จังหวะ เจ้าตัว ยังตัดสินใจได้ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะเรื่องของการบล็อค ซึ่งถ้าทุกอย่างสมบูรณ์ แอป ก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของ “ทีมสาวไทย” ได้อย่างแน่นอน

 

หทัยรัตน์ มีสไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จังหวะการตีรวดเร็วและเฉียบคม จังหวะการบล็อคที่มุ่งมั่นตั้งใจและไม่ลดละความพยายาม รวมทั้งระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมที่ถือว่าทำได้ดีมาก จนส่งผลให้ เจ้าตัว กลายเป็นเป้าหมายของ บลูแคทส์ และได้รับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต

 

 

บททดสอบในต่างแดน

การย้ายไปเล่นกับ บลูแคทส์ อาจจะประสบความสำเร็จยากกว่าทีมอื่นๆ เพราะว่าศักยภาพของทีมเป็นรองคู่แข่งรายอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเป็นทีมที่อยู่ในเมืองเล็กๆอย่าง คาโฮกุ(จ.อิชิกาวะ) จึงดึงดูดนักกีฬาดังของญี่ปุ่นได้ค่อนข้างยาก และอีกส่วนหนึ่งด้วยขนาดของทีมที่ไม่ใหญ่มากนัก ผลงานที่ออกมาเลยไม่ค่อยน่าพอใจ 

 

ปัญหาสำคัญของ หทัยรัตน์ ในการโลดแล่นบน “ลีกญี่ปุ่น” คือเรื่องของการสื่อสาร ไม่ใช่ว่าจะคุยกับเพื่อนร่วมทีมหรือคนอื่นๆไม่รู้เรื่อง แต่ว่าจะทำยังไงให้ปรับตัวเข้ากับ “เซตเตอร์” ได้แบบไร้ที่ติ เหมือนเวลาที่ลงเล่นกับ พรพรรณ เกิดปราชญ์ ในยามที่สวมยูนิฟอร์ม ขอนแก่นสตาร์ฯ เพราะมันคือหัวใจสำคัญของผู้เล่นในตำแหน่ง “บอลเร็ว” ซึ่งต้องลุ้นกันว่า เจ้าตัว จะทำได้สำเร็จหรือไม่


stadium

author

Plug

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose