stadium

มองโค้ชไทยยุคใหม่ ในมุมโค้ชเก๋า กับ "ขงเบ๊" ไพโรจน์ บวรวัฒนดิลก

1 ตุลาคม 2563

#ChangsuekOutField 

 

หากจะพูดถึงการพัฒนาของฟุตบอลลีกบ้านเราเมื่อเทียบจาก 10-20 ปีก่อน ต้องบอกว่ามีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทั้งกระแสความนิยมจากแฟนบอล คุณภาพในการแข่งขัน รวมถึงโครงสร้างต่างๆของระบบลีกและสโมสรที่เทียบเท่ากับลีกชั้นนำของเอเชียมากขึ้น เพื่อให้ได้มาตรฐานตามคลับไลเซนส์ซิ่งของ AFC และเป็นรากฐานสำคัญเพื่อต่อยอดสู่ความเป็นมืออาชีพในระดับทีมชาติ โดย “โค้ช” ก็เป็นส่วนสำคัญที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด วันนี้เราได้โอกาสพูดคุยกับหนึ่งในกุนซือที่คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลไทยมายาวนาน ผ่านประสบการณ์มากมายกับหลายสโมสร จะมาพูดคุยถึงการทำหน้าที่โค้ชในยุคใหม่ ว่ามีอะไรที่แตกต่างจากสมัยก่อน และองค์ประกอบรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลามีอะไรบ้างที่โค้ชยุคนี้ควรจะทำ รวมถึงสิ่งที่โค้ชคนนี้ถูกแฟนบอลมองว่า “เก่งทำทีมหนีตกชั้น” เป็นเรื่องจริงแค่ไหน กับ “โค้ชเบ๊” หรือ “ขงเบ๊” ไพโรจน์ บวรวัฒนดิลก

 

“โค้ชเบ๊” คือกุนซือที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของฟุตบอลลีกบ้านเรา หรือที่ปัจจุบันเรียกว่ายุค “ไทยลีกบูม” โดยโค้ชเบ๊เริ่มมีประสบการณ์คุมทีมตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000 กับสโมสรโอสถสภา ผ่านร้อนผ่านหนาวและปรับตัวมาตลอดอาชีพการเป็นโค้ชจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆคือสิ่งจำเป็นในยุคที่ฟุตบอลไทยกำลังเติบโตควบคู่ไปกับความสำเร็จแบบเร่งด่วนที่แฟนบอลของแต่ละสโมสรคาดหวัง

 

โค้ชเบ๊เผยมุมมองว่า “ความเป็นมืออาชีพคือสิ่งทีเห็นได้ชัดในการเปลี่ยนแปลงยุคนี้ เมื่อ 10-20 ปีก่อนความเป็นมืออาชีพยังไม่มากนัก รวมถึงปัจจัยต่างๆ สภาพแวดล้อมตอนนี้มันดีขึ้น ซึ่งมันก็มี 2 แง่ที่ดีและไม่ดี แง่ดีคือชื่อเสียง เงินทอง มันก็เข้ามาเยอะ แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือความกดดันที่ต่างจากสมัยก่อน ยิ่งมีโซเชียลเน็ตเวิร์คยิ่งทำให้กดดันเยอะขึ้น แต่ยุคนี้เป็นความกดดันในเรื่องของผลงานล้วนๆความไม่เป็นมืออาชีพมันหายไปเยอะแล้ว ผมจึงมองว่าการเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นตลอด แม้แต่ตัวผมเองก็เรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ วิทยาศาสตร์การกีฬา ทัศนคติหรือจิตวิทยาของนักกีฬา และไม่ใช่แค่การเรียนรู้เท่านั้น มันต้องมองถึงการพัฒนาต่อในอนาคตด้วย”

 

โค้ชเบ๊ถือเป็นกุนซือที่มีประสบการณ์กับหลายสโมสรในไทย และมีผลงานที่แฟนบอลจำขึ้นใจคือการพาทีมหนีตกชั้นได้บ่อยครั้ง โดยกุนซือมากประสบการณ์ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า

 

“ก็ต้องยอมรับครับว่าผลงานที่ชัดเจนของผมคือการพาทีมหนีตกชั้น ผมพาทีมหนีตกชั้นมาได้ 5 ปีติด แต่อยากให้ลองมองย้อนไปว่าผมก็เคยพาทีมลุ้นแชมป์เหมือนกันเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วกับสโมสรโอสถสภา ได้เข้ารอบแบ่งกลุ่มเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก ด้วย นั่นคือสิ่งที่ผมเคยทำ จริงๆฟุตบอลก็คือฟุตบอล ที่มีการตั้งเป้าหมายและทำให้สำเร็จ ซึ่งในมุมมองผมก็คิดว่า ถ้าผมทำทีมหนีตกชั้นให้บรรลุเป้าหมายได้ ทำไมผมจะทีมลุ้นแชมป์ให้บรรลุเป้าหมายมั่งไม่ได้ล่ะ แม้ในแง่นึงเหมือนผมถูกตีกรอบไปในตัวเลยว่าทำได้ดีแค่เพียงหนีตกชั้น แต่จริงๆแล้วผมทำได้หมดครับ”

 

การพัฒนาวงการฟุตบอลของไทยในปัจจุบันกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านโครงสร้างตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรในวงการอย่าง “โค้ช” ที่มีการเปิดอบรมไลเซนส์ต่างๆมากขึ้น จากเดิมที่เคยมีโค้ชไทยระดับโปรไลเซนส์เพียงคนเดียว ปัจจุบันมีถึง 29 คน แน่นอนว่าการได้ชื่อว่าเป็นโค้ชระดับโปรไลเซนส์นั้นเป็นเรื่องดีที่เราจะได้เห็นความเป็นมืออาชีพและการจัดการในระดับสโมสรที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังจากแฟนบอลและผู้บริหารทีมมากขึ้นเช่นกันในยุคที่ความสำเร็จรอไม่ได้

 

“โค้ชรุ่นใหม่อันดับแรกต้องมีความรู้ฟุตบอลในระดับที่เรียกว่ารู้จริง ต้องมากกว่าในตำรา ตำราเป็นเพียงแค่พื้นฐานแต่จินตนาการจะช่วยต่อยอด เพราะโลกฟุตบอลมีอะไรที่มากกว่าในตำราเยอะ ถ้าคุณไม่รู้จริง เวลาเจออะไรที่นอกเหนือจากตำราคุณก็จะไปไม่เป็น คือต้องมีกึ๋นนั่นแหละพูดง่ายๆ ไม่มีโค้ชคนไหนหรอก 100 นัด ชนะ 100 นัด ต้องก้มหน้าก้มตาเดินหน้าต่อ แก้ไขปัญหาต่อ และรับมือกับกระแสในโซเชียลให้ได้”

 

โค้ชเบ๊ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ส่วนเรื่องไลเซนส์แน่นอนว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการยืนยันว่าโค้ชคนนั้นๆไม่ใช่โค้ชแฝง คือสมัยก่อนบางคนไม่ได้จบโค้ชแต่ก็มาเป็นโค้ชได้ ประสบความสำเร็จได้ เพราะเขามีไอเดีย แต่มันไม่ได้การันตีว่าเขาถ่ายทอดออกมาด้วยความรู้ที่ถูกต้อง พอเป็นสมัยนี้การที่โค้ชผ่านการอบรมไลเซนส์ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเขามีหลักการและวิธีการทำฟุตบอลที่ถูกต้อง ถามว่าสำคัญมั้ย ก็ยืนยันว่าสำคัญและต้องมีครับ”

 

จากการสนับสนุนของทางสมาคมฟุตบอลฯในเรื่องของโครงสร้างการพัฒนาโค้ช สิ่งต่อไปคือการที่โค้ชยุคใหม่ต้องพัฒนาตัวเอง ก้าวให้ทันเทรนด์ฟุตบอลที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ยิ่งในวงการฟุตบอลไทยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โค้ชยิ่งต้องก้าวตามให้ทันเทรนด์ฟุตบอลในระดับโลกเพื่อนำมาปรับใช้กับสโมสร เช่นในยุคนี้ที่ฟุตบอลแบบ “เพรสซิ่ง” กำลังเป็นแทคติกที่นิยมและเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

 

“เทรนด์ฟุตบอลสมัยนี้คงเป็นเรื่องเพรสซิ่ง ที่เราได้เห็นจากเจลีก ญี่ปุ่น หรือบางทีมในพรีเมียร์ลีกที่ประสบความสำเร็จ ฟุตบอลไทยตอนนี้ก็กำลังเดินไปตามเทรนด์นั้น ซึ่งก็เป็นผลดีในเรื่องฟิตเนสของนักเตะด้วย เมื่อก่อนนักบอลไทยวิ่งเฉลี่ยไม่ถึง 10 กิโลเมตรต่อเกม เดี๋ยวนี้ผมว่านักบอลไทยวิ่งเฉลี่ยถึง 10 กิโลเมตรแล้ว แต่ไม่ต้องพูดถึงพรีเมียร์ลีกเลยนะ พวกนั้นวิ่งเฉลี่ย 13 กิโลเมตร ก็ถือเป็นเรื่องที่นักบอลไทยกำลังทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างที่เป็นส่วนสำคัญต่อความฟิตคือวิธีการจัดการพลังงาน รวมถึงแทคติกที่จะทำให้ฟิตตลอด 90 นาที เพราะไม่มีทีมไหนหรอกที่นักบอลวิ่งได้ตลอดเกม เพียงแต่ต้องรู้จักใช้พลังงานให้เหมาะสมเท่านั้นเอง”

 

เรื่องของแทคติกที่กำลังอยู่ในเทรนด์ฟุตบอลของโลกเป็นเรื่องที่โค้ชต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพื่อให้ทีมของตนเองสามารถต่อกรคู่แข่งในระดับที่สูงกว่าได้ ซึ่งสโมสรจากไทยกำลังจะได้โอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอลระดับเอเชียมากขึ้น จากเดิมที่เห็นเพียงปีละ 1 ทีม เร็วๆนี้เรากำลังจะได้เห็น 3-4 ทีมเลยทีเดียว ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้โอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่สูญเปล่า ไม่เข้าไปเป็นทีมไม้ประดับในระดับเอเชีย

 

“จากประสบการณ์ของผมนอกเหนือจากแทคติกที่ต้องเล่นดีกว่าคู่แข่งแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการเตรียมตัว ผมเคยพาทีมแข่งในสภาพอากาศ 1 องศา ซึ่งลูกทีมโอสถสภาของผมเล่นไม่ได้เลย คุณอาจจะคิดว่าอากาศหนาวแต่ถ้าเล่นไปสักพักจะดีขึ้นเอง จริงๆมันไม่ใช่เลย มันแข็งไปหมด เราไม่ได้เตรียมตัวในตอนนั้นทั้งในเรื่องของชุดกันความหนาวหรืออะไรก็ตาม กลายเป็นว่ายิ่งเล่นยิ่งหนาว ฉะนั้นถ้าถามผมว่าทำอย่างไรจะไปได้ไกลในระดับเอเชีย คือต้องศึกษาข้อมูลคู่แข่งให้เยอะ อย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่นอาจจะเห็นเยอะขึ้นแล้วก็เป็นเรื่องดี หรืออาจจะลงทุนส่งทีมงานไปเก็บข้อมูลทั้งในเรื่องการเดินทางที่ใช้เวลาน้อย ไม่ให้นักฟุตบอลเราเพลีย อะไรแบบนี้ พวกนี้ล้วนเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญที่นอกเหนือจากการวางแทคติก” 

 

ขงเบ้งลูกหนังกล่าวทิ้งท้าย...


stadium

author

ICE Assist

Changsuek Content Creator

โฆษณา