25 กันยายน 2563
ชีวิตคนเราเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีการขยับขยาย บางคนก็เลือกที่อยู่ในเส้นทางเดิมผันตัวเองไปอยู่ในบทบาทใหม่ หรือบางคนอาจจะเลือกเปลี่ยนทางเดินไปเลยก็ตามแต่
สำหรับนักกีฬาก็เช่นกันเมื่อถึงจุดอิ่มตั หรือสภาพร่างกายโรยราก็ต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อในทางไหน สำหรับ “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักว่ายน้ำทีมชาติไทยที่ดีที่สุดในช่วง 10 ปีหลัง เขาตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นโค้ช โดยหวังจะนำความรู้และประสบการณ์ที่เขามีมาถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ รุ่นต่อไป
บทบาทเปลี่ยน แต่ความฝันไม่เปลี่ยน
“ที่ผมตัดสินใจเลิกเล่นเพราะผมมาถึงจุดอิ่มตัวแล้วมากกว่าครับ” เจมส์บอนด์ เปิดใจถึงการตัดสินครั้งสำคัญ
เป็นเวลากว่า 15 ปีที่รับใช้ทีมชาติ ฉลามหนุ่มจากเชียงใหม่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของนักว่ายน้ำชาย ผ่านซีเกมส์ 5 สมัย ผลงาน 7 ทอง 4 เงิน 1 ทองแดง และเป็นเจ้าของสถิติซีเกมส์อีก 1 รายการในท่ากบ 200 ม. ติดเยาวชนทีมชาติไทยตั้งแต่อายุ 14 ขึ้นชุดใหญ่ครั้งแรกตอนอายุ 17 และ 3 ปีให้หลังก็ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในชีวิตและยังได้รับเกียรติให้ถือธงชาตินำขบวนนักกีฬาลงสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขัน
แม้หลายคนจะมองว่าในวัย 28 ปี เจมส์บอนด์ ยังมีสภาพร่างกายแข็งแรงและดีพอจะสร้างความสำเร็จให้กับว่ายน้ำไทย แต่สำหรับเจ้าตัวนั้นมองว่าถึงเวลาที่เขาจะต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองแล้ว
“ไม่ใช่การตัดสินใจที่กระทันหันหรอกครับ 10 ปีที่อยู่มา ผมรู้สึกว่าตัวเองได้รับประสบการณ์ ความรู้เยอะมาก ทุกอย่างสอนให้ผมเติบโตอย่างแข็งแรง”
“ผมอยากเห็นวงการว่ายน้ำไทยพัฒนามากกว่านี้ จึงอยากนำความรู้และเทคนิคที่ผมมีไปพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ ๆ ให้ขึ้นเก่งกว่าผมให้ได้ การหยุดเล่นของผมจะช่วยให้ผมมีเวลาเต็มที่ในการพัฒนารุ่นใหม่ ให้เทียบเท่า สิงคโปร์และเวียดนาม”
เหรียญทองเดียวจากกีฬาว่ายน้ำที่เราทำได้ในซีเกมส์ เป็นผลงานของ เจมส์บอนด์ ซึ่งไม่ใช่แค่การกู้หน้าให้กับกีฬาว่ายน้ำของไทยพอมีพื้นที่ยืนในระดับอาเซียนอยู่บ้าง แต่ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาว่าถึงเรากำลังมีปัญหาเรื่องการพัฒนาที่ช้ากว่าเพื่อนบ้านจริงหรือเปล่า
“จุดเปลี่ยนจริง ๆ อยู่ซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ เราได้ 1 เหรียญทองจากผม ผมเลยรู้สึกว่าคงถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว ถึงผมจะเป็นนักกีฬาแล้วแต่ก็ยังอยากเห็นว่ายน้ำไทยสู้ต่างชาติได้ เลยอยากนำความรู้ที่ผมมีไปพัฒนาน้องๆ ต่อไป ไม่รู้จะช่วยได้มากแค่ไหน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลอง”
“ผมกลัวว่าถ้ารอนานไปกว่านี้ มันจะไม่พัฒนาครับ ต้องยอมรับว่า วงการว่ายน้ำ ไม่ค่อยพัฒนาขึ้นมากเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับแต่ก่อนที่เคยเป็นเจ้าสระ สิงคโปร์ เวียดนามมีเด็กใหม่ๆขึ้นมาเร็วและเก่งมาก หน้าใหม่ ๆ ทั้งนั้น เขาพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากครับ”
เขียนความฝันลงแผ่นกระดาษ แล้วใช้ 2 มือสร้างความสำเร็จ
เป้าหมายของ เจมส์บอนด์ นาทีนี้คือการปั้นนักกีฬารุ่นใหม่ให้เก่งกว่าตัวเอง ซึ่งนอกจากเจ้าตัวจะรับราชการเป็นทหารอากาศมาตั้งแต่สมัยเป็นนักกีฬา ยังควบคู่ไปกับการสอนว่ายน้ำตามที่ตั้งใจไว้
นอกจากจะสอนตามหน้าที่แล้ว เจ้าของ 7 เหรียญทองซีเกมส์ยังมีความตั้งใจจะมอบประสบการณ์อันล้ำค้านี้ให้กับเด็ก ๆ แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าตัวก็สบโอกาสใช้วันเกิดของตัวเองสรรค์สร้างประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการเปิดนสอนว่ายน้ำฟรีแบบใกล้ชิดถ่ายทอดทุกองค์ความรู้และประสบการณ์ตรง
“ผมมีแนวคิดแบบนี้มานานแล้ว ว่าอยากจะถ่ายทอดความรู้ให้กับนักกีฬารุ่นน้อง กีฬาว่ายน้ำของเราจะได้กลับมายิ่งใหญ่ครับ ทีนี่พอถึงวันเกิดผม ผมทำบุญด้วยเงิน ด้วยสิ่งของบ่อยๆอยู่แล้ว”
“ปกติแล้ววันเกิดผมจะชอบทำบุญ แต่สิ่งที่ผมยังไม่เคยทำคือการทำบุญด้วยการเป็นผู้ให้ความรู้”
“ผมอยากถ่ายทอดสิ่งที่ผมได้รับมาตลอดชีวิตการเป็นนักกีฬา จากโค้ชทุกคน จากทุกแคมป์ที่ผมเข้ารับการอบรม จากทุกการฝึกฝนของผม นำมาส่งให้กับเด็ก ๆ ที่มีความในใจและมีความฝันเหมือนผม”
“ผมอยากเริ่มต้นโครงการนี้ ไม่ใช่แค่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ แต่หากคนอื่นที่สนใจอยากทำแบบผม ผมก็ยินดีครับ นักกีฬาบ้านเราจะได้เติบโตไปสู่ระดับเอเชีย และกลับมาครองบัลลังอาเซียนได้อีกครั้ง”
ย้อนกลับไปสักประมาณ 10-20 ปีก่อน ในรั้วโรงเรียนหรือตามแคมป์กิจกรรมสอนหลักสูตรต่างๆ มักจะมีกิจกรรมหนึ่งให้เราได้ทำกัน ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้กิจกรรมนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า นั่นก็คือการวาดความฝันในอนาคตของตัวเองลงบนแผ่นกระดาษ ซึ่ง เจมส์บอนด์ เองก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีโอกาสได้วาดความฝันของตัวเองลงบนแผ่นกระดาษ
สำหรับใครหลายคนอาจมองว่าไร้สาระ แต่วันนี้เจมส์บอนด์ทำให้เห็นว่ามันมีคุณค่าและความหมายมากว่าแค่การวาดภาพ
“ผมเป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากการมีความฝันตอนเด็ก เหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไปเลยครับ อยากเป็นนักกีฬา อยากติดทีมชาติสักครั้ง ได้ไปโอลิมปิก ฝันของผมมันแค่นั้นเลย”
”ผมจึงอยากใช้วิธีเดียวกันที่จุดประกายฝันให้กับผม เมื่อวันเกิดผมที่ผ่านมาผมเปิดสอนนักกีฬาฟรี ๆ แบบใกล้ชิดจำนวน 10 คน ซึ่งมีเด็กสนใจเยอะมาก เลยต้องใช้วิธีการคัดเลือกผู้โชคดีเข้ามา”
“ผมให้น้องๆเขียนเหมือนเขียนไดอารี่ ทบทวนความรู้สึกตัวเอง ความฝันของตัวเขาเอง ที่ให้แบบนี้เพื่อให้แน่ใจว่ามันเกิดจากลายมือของน้อง ๆ เอง มาจากความในใจและความฝันของเด็ก ๆ เอง ซึ่งมันจะช่วยจุดประกายความฝันให้กับพวกเขาทุกคนครับ”
“ที่ตีไว้ คือ ทั้งหมด 8 คนครับ รอบละ 4 ถ้าส่งมาดี จะรับเข้ามาเพิ่มครับ ส่วนวิธีเขียนคืออยากดูว่าเป็นลายมือเด็กๆของเขาเองที่ได้เขียนความในใจและความฝันของเขาเองครับผมจึงให้ใส่กระดาษและถ่ายมาครับ”
“เป็นโครการที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก รู้สึกดีใจมากครับที่ผ่านไปไดด้วยดี”
“ในอนาคตผมอยากทำให้เป็นโครงการทั่วไปประเทศ ทุกภูมิภาค ผมอยากเผนแพร่เทคนิค ทักษะดีๆ ไปพร้อมกับ อ.ธนพล มีเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดทางการกีฬา ให้นักกีฬาตามต่างจังหวัด เพราะผมอยากเห็นคลื่นลูกใหม่ขึ้นมาแทนและอยากเห็นประเทศเรากลับไปเป็นเจ้าเหรียญทองอีกครั้งครับ”
ให้เงินให้ทองใช้แปปเดียวก็หมด แต่ให้ความรู้สามารถนำไปต่อยอดทำอะไรได้อีกมาก คงไม่มีอะไรดีและล้ำค่าไปกว่าการให้ความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากฮีโร่ของตัวเองอีกแล้ว แม้ว่าสิ่งที่ฉลามหนุ่มระดับตำนานคนนี้ได้ทำอาจไม่ใช่โครงการหรือแคมเปญที่ใหญ่โตสร้างผลกระทบในวงกว้าง หากมันจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแต่ผมมั่นใจว่ามันเป็นสิ่งที่เล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่มากๆ
การที่ฮีโร่ของเด็กๆมาถ่ายทอดประสบการณ์ มอบความฝัน มอบโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจด้วยตัวเอง เป็นอะไรมีคุณค่าทางจิตใจที่ต่อให้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้
TAG ที่เกี่ยวข้อง