24 กันยายน 2563
บางช่วงบางตอนในชีวิตคนเราก็เปรียบเสมือนเกมกีฬา มีทั้งสุข เศร้า หัวเราะ ร้องไห้ปนกันไป มีแพ้มีชนะ นำบทเรียนที่ได้กลับมาเรียนรู้เพื่อปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาตัวเองกันต่อไป เช่นเดียวกับ ณิชชาอร จินดาพล ตลอดเวลาที่เธอเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย เธอเรียนรู้จากความพ่ายแพ้และความผิดหวัง เปลี่ยนให้เป็นความพยายามกับความมุ่งมั่น จนวันนี้เรียกได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในนักกีฬาตัวอย่างที่เรียนรู้และฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จในการเป็นนักกีฬา
เกม 1 : คอร์ดแบดรักษาไข้
ณิชชาอร สาวใต้หน้าหวานจากจังหวัดภูเก็ต เป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพมาโดยตลอด ป่วยเป็นไข้หวัดและไซนัสบ่อยจนการเดินเข้าออกโรงพยาบาลเป็นเรื่องปกติ ตอนอายุ 8 ขวบ หมอแนะนำให้เธอเล่นกีฬาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี เธอยินดีทำตามคำแนะนำและพาตัวเองเข้าสู่คอร์ดแบดมินตันอย่างไม่ลังเล ก่อนจะถูกจับให้เรียนกับโค้ชอย่างจริงจัง
หลังจากนั้นเธอมีโอกาสได้แข่งขันเก็บประสบการณ์ไปทั่วทั้งภูเก็ต มีแพ้มีชนะปะปนกันไป แต่สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้นคือความรักที่มีให้กับกีฬาชนิดนี้มากขึ้นทุกวัน จากที่เล่นเพื่อสุขภาพ เธอเริ่มวาดฝันถึงเส้นทางสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ
อายุ 15 ณิชชาอร ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วเดินเข้าไปบอกพ่อว่าอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ เธอได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างเต็มที่ เก็บเสื้อผ้ายัดลงกระเป๋า บอกลาถิ่นฐานย้ายสำมะโนครัวมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพ ภาพชีวิตของเธอในตอนนั้นเหมือนในละครหลังข่าว นักกีฬาต่างจังหวัดหอบข้าวของเข้ามาหาความฝันในเมืองหลวง โดยมีแม่ที่ตัดสินใจลาออกจากราชการตามาดูแลอย่างใกลชิด
ที่กรุงเทพ ณิชชาอร ได้ซ้อมอยู่ที่สโมสรบีจี สปอร์ต มีโอกาสปะมือกับนักแบดเก่ง ๆ มากขึ้น ฝีมือของเธอรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอายุ 18 ฟอร์มของเธอโดดเด่นจนสะดุดตา อ.อุดม เหลืองเพชราภรณ์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยในเวลานั้น เรียกให้เธอซ้อมในแคมป์ทีมชาติ
เกม 2 : ความฝันและความภูมิใจในการรับใช้ชาติ
ในรั้วทีมชาติ เธอได้ใกล้ชิดกับบรรดาไอดอลที่เธอติดตามมาตั้งแต่เด็ก ต่างกันแค่วันนี้เธอได้มายืนอยู่บนคอร์ดเดียวกันกับไอดอลของเธอแล้ว ในสีเสื้อทีมชาติ ณิชชาอร เริ่มต้นตั้งแต่เป็นน้องเล็กสุดของทีมชุด "SCG แบดมินตัน โธมัส-อูเบอร์คัพ 2010" รอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่ จ.นครราชสีมา แน่นอนว่าเธอรู้สึกตื่นเต้นจนแทบเก็บอาการไว้ไม่อยู่ แม้ว่าผลงานในปีนี้ของไทยจะไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในในบนเส้นทางอาชีพ
หลังจากนั้นเธอค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้น และด้วยความที่เธอทุ่มเททุกอย่าง เธอค่อย ๆ ยกสถานะตัวเองจากน้องเล็กกลายเป็นตัวหลัก จากตัวหลักก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันทีม ประสบความสำเร็จในนามทีมชาติไทยทุกรายการ ไล่เรียงกันตั้งแต่ 4 เหรียญทอง 2 เหรียญทองแดง จากซีเกมส์ 6 ครั้ง อยู่ในทีมชุดประวัติศาสตร์ได้เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2010 และเป็นกัปตันทีมหญิงพาทีมสร้างประวัติศาสตร์รองแชมป์อูเบอร์คัพ 2018 รวมถึงอันดับ 3 ในสุธีรมาน คัพ อีก 2 สมัยในปี 2013 , 2017 และเหรียญทองแดงชิงแชมป์เอเชียประเภททีม 2020 อีกหนึ่งสมัย
เกม 3 : แบดมินตันเกมแห่งชีวิต
ในช่วงแรกที่อยู่ในแคมป์ทีมชาติ เธอโดดเดี่ยวซ้อมอยู่คนเดียวทุกวัน เพราะรุ่นพี่ต้องออกไปตระเวณแข่งขันเก็บคะแนนต่าง ๆ เธออดทนแบบนั้นอยู่หลายเดือน ก่อนจะได้โอกาสไปแข่งขันในต่างประเทศ ก่อนจะคว้าแชมป์แรกในชีวิตในรายการ เวียดนามอินเตอร์เนชั่นแนล ชาเลนจ์ 2012 แม้จะไม่ใช่รายการใหญ่ระดับซูเปอร์ซีรีส์ แต่เป็นแชมป์ที่พิเศษสุดในชีวิต เพราะเป็นความสำเร็จแรกที่เธอสู้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่ต้นจนจบ
หลังจากนั้นไม่นาน ณิชชาอร ก็ค่อย ๆ สร้างชื่อในระดับนานาชาติจนเริ่มเป็นที่รู้จัก ปีต่อมาเธอล้มคู่แข่งเก่ง ๆ ทั้ง จาง เป่ยเหวิน , แคโรลินา มาริน และ ยิป ปุยยิน ก่อนจะคว้าแชมป์ที่สอง "โยเน็กซ์ แคนาดา โอเพน 2013" หลังจากนั้นความสำเร็จต่าง ๆ ก็ตามมาทั้ง คว้าแชมป์ บิตเบอร์เกอร์ โอเพ่น ได้ 2 สมัย ( 2013 ,2017 ) รวมไปถึงแชมป์ไทยแลนด์ มาสเตอร์ 2018 และในปีเดียวกันนั้นเองที่อันดับโลกของเธอทะยานขึ้นไปสูงสุดถึงอันดับ 10 ของโลกสูงที่สุดในการเล่นอาชีพ และยังโกยเงินรางวัลรวมจากการเล่นอาชีพไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท
ณิชชาอร ก้าวขึ้นสู่ระดับอาชีพด้วยความขยัน หมั่นเรียนรู้มาตลอด ถึงแม้จะมีแต่เสียงชื่นชมจากคนรอบข้างตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีวันไหนที่เธอรู้สึกว่าเก่งหรือหลงตัวเอง มีแต่ต้องพยายามปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ และวันนี้ผลลัพธ์จากการทำงานหนักก็ไดตอบแทนออกมาในรูปแบบของความสำเร็จในการเป็นนักกีฬาอาชีพ
ดิวส์ : ช็อตตัดสินกับความฝันในโอลิมปิก
ณิชชาอร ยังเหลืออีกหนึ่งความฝันที่เธอต้องการจะพิชิตให้ได้ นั่นก็คือการเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์สักครั้งในชีวิต บนวัย 29 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอเดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายของอาชีพการเป็นนักกีฬา ซึ่งเปรียบเสมือนการเล่นแต้มดิวในเกมตัดสินที่จะกำหนดทิศทางของเกมในช่วงสุดท้าย ซึ่งยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแต้มสุดท้ายจะออกมาเป็นแบบไหน จะยังคงเล่นเดี่ยวที่ใช้สภาพร่างกายค่อนข้างเยอะ หรือผันตัวมาเล่นคู่ที่ใช่แรงน้อยกว่าเพื่อรักษาสภาพร่างกายให้เล่นต่อไปได้อีกหลายปี ขึ้นอยู่กับเธอแล้วว่าจะวางแผนการเล่นกับแต้มสำคัญนี้อย่างไรเพื่อไปให้ถึงฝัน
อย่างไรก็ตามตลอดการเดินทางกว่า 20 ปีบนคอร์ดแบดมินตัน เธอบอกกับเราว่าเธอได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายในชีวิต นอกจากจะทำให้เธอหายป่วยมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว แบดมินตันยังทำให้เธอเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และถ้าหากว่านื่คือเกมชีวิตก็คงมีแต่เธอเท่านั้นเล่นเกมนี้จนจบได้
TAG ที่เกี่ยวข้อง