stadium

ไขข้อสงสัย : คำพูดในห้องแต่งตัวพลิกวิกฤตให้เป็นชัยชนะได้จริงหรือ?

22 กันยายน 2563

มีหลายเหตุการณ์ในเกมกีฬาที่นักกีฬาหรือทีมกีฬาที่เป็นฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีสกอร์ตามหลังก่อนช่วงเข้าสู่ช่วงพักเบรกของเกมหรือครึ่งทางของซีรีส์ในเกมการแข่งขัน แต่สุดท้าย ทีมที่ตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรองสามารถพลิกวิกฤตกลับมาเป็นคว้าชัยชนะได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

 

จึงเกิดเป็นคำถามให้เราสงสัยว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในห้องแต่งตัว ระหว่างการพูดคุยของโค้ชกับนักกีฬา หรือแม้กระทั่งนักกีฬาด้วยกัน การพูดคุยเพื่อปลุกใจกันช่วงสั้น ๆ นั้นสามารถทำให้ทีมที่ตกอยู่ในวิกฤตสามารถกลับมาเอาชนะคู่แข่งได้จริง ๆ นะหรือ ?

 

ในเชิงจิตวิทยาวันนี้เรามีคำตอบ

 

 

 

ปรากฎการณ์อิสตันบลู

ค่ำคืนแห่งความทรงจำของแฟนหงส์แดงที่อิสตันบูล 2005 ชัยชนะของลิเวอร์พูลที่พลิกสถานการณ์จากตามหลัง เอซี มิลาน 0-3 กลับมาตีเสมอ 3-3 ในช่วง 90 นาทีของเกมปกติ ทำให้เกมต้องต่อเวลาพิเศษออกไป 30 นาที ก่อนจะช็อกโลกด้วยการเอาชนะดวลจุดโทษ และคว้าแชมป์ถ้วยบิ๊กเอียร์ของยุโรปสมัยที่ 5 ไปนอนกอด

 

13 ปีต่อมานับจากเหตุการณ์ในวันนั้น ฌิบริล ซิสเซ อดีตศูนย์หน้า​​หงส์แดงหนึ่งในทีมชุดแชมป์ปีนั้นได้ออกมาเปิดเผยคำพูดของ สตีเว่น เจอร์ราร์ด กัปตันทีมลิเวอร์พูล ในช่วงพักครึ่งว่ามีส่วนสำคัญที่ปลุกใจให้กับบรรดาผู้เล่นทุกคนกลับมามีฮึดในช่วงครึ่งหลัง

 

"ผมไม่มีวันลืมสิ่งที่ สตีเว่น เจอร์ราร์ด พูดกับลูกทีมในช่วงพักครึ่งในนัดชิง​แชมเปี้ยนส์ลีก ปี 2005 ได้เลย" 

 

"ราฟา เบนิเตซ (โค้ช) เข้ามาในห้องแต่งตัวและพูดในแบบของคนเป็นโค้ชว่าเราต้องอย่ายอมแพ้และทำประตูตีไข่แตกให้ได้เร็วที่สุด"

 

"จากนั้น สตีเว่น ก็ลุกขึ้นและขอให้สต๊าฟโค้ช รวมทั้งนักกายภาพที่กำลังรักษาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นออกจากห้องแต่งตัวไปให้หมด เพราะเขาต้องการอยู่กับลูกทีมเท่านั้น"

 

"สตีวี พูดว่า ลิเวอร์พูล เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามี นี่คือสโมสรของเขาและคือทุกสิ่งที่เขารู้จัก เขาไม่ต้องการเป็นตัวตลกในหน้าประวัติศาสตร์ของ แชมเปี้ยนส์ลีก"

 

"เขาบอกว่าถ้าเราให้ความเคารพในตัวเขาและรักเขาในฐานะกัปตันทีม เราต้องลุกขึ้นและกลับมาให้ได้"

 

"จากนั้น เจอร์ราร์ด เป็นคนทำประตูตีไข่แตก และเรียกจุดโทษให้กับเรา เขาโดดเด่นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังมันเป็นแมตช์ที่บ้าคลั่งมากสำหรับ สตีวี แต่สิ่งที่เขาได้พูดกับเราในช่วงพักครึ่งนั้นมันจะยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของผมไปตลอดกาล"

 

ในเรื่องนี้ อ.พิชิต เมืองนาโพธิ์ นักจิตวิทยาการกีฬาที่คลุกคลีอยู่กับนักกีฬาไทยมานานกว่า 30 ปี ได้อธิบายในแง่ของหลักจิตวิทยาไว้อย่างน่าสนใจว่า “เจอร์ราร์ด เป็นเหมือนศูนย์กลางจิตใจของทีม คำพูดของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นศูนย์รวมของทีม ที่สามารถทำให้ทุกคนรวบรวมสมาธิ ปลุกความมุ่งมั่นของทีมให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง เมื่อนักเตะในทีมทุกคนรีเซ็ตความตั้งใจใหม่พร้อมกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกมในครึ่งหลังกลับมาเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และเมื่อรวมกับปัจจัยอื่น ๆ ในสนามจึงทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกออกมา”

 

 

จิตวิทยาช่วยพลิกเกมได้จริง ?

 

“เวลานี้ยังไม่มีผลงานวิจัยชี้ชัดว่า คำพูดในเชิงจิตวิทยานั้นช่วยพลิกเกมได้ผลจริงหรือไม่”

 

“มันเหมือนมีอะไรบางอย่างไปกระทบจิตใจของนักกีฬา แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตอนนั้นด้วย คนพูดส่วนใหญ่เขาพูดไปโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นแบบไหน บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างรวมกัน หรือบางทีนักกีฬากำลังเครียดอยู่กับการแข่งขัน ถ้าโค้ชไม่มีวิธีการพูดที่ดีพออาจทำให้นักกีฬากลับมาเล่นได้แย่กว่าเดิมก็ได้ การเลือกใช้คำพูดนั้นขึ้นอยู่กับบริบทในตอนนั้นด้วยว่าเหมาะสมกับผู้รับสารด้วยหรือเปล่า”

 

อ.พิชิต อธิบายต่อว่า “โค้ชให้ข้อมูลกับนักกีฬา นักกีฬารับข้อมูลจากโค้ช หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาแล้วว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูลที่ได้รับต่อไป ส่วนใหญ่จิตวิทยาที่ใช้กันก็เป็นเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับนักกีฬา ใช้คำพูดในเชิงบวก” 

 

“แต่บางครั้งก็เหมือนดาบสองคม เพราะถ้านักกีฬามีความมุ่งมั่นอยู่แล้ว แต่วันนั้นดันเล่นไม่ดี สิ่งที่เขาต้องการคือคำแนะนำ แต่โค้ชดันไปเพิ่มแรงจูงใจ ซึ่งไม่ถูกต้องแรงจูงใจมันก็ล้นนักกีฬากลายเป็นสับสนแทน เพราะอะไร เพราะนักกีฬาต้องการคำแนะนำไม่ใช่แรงจูงใจ”

 

“ทำไมคำพูดถึงมีอิทธิพลต่อนักกีฬา เพราะคำพูดไปกระทบจิตใจของคนฟัง คำพูดของบางคนสามารถเปลี่ยนสถานะเปลี่ยนสภาวะได้เลย อย่าง สมรักษ์ คำสิงห์ โอลิมปิก 1996 ตอนนั้น สมรักษ์ ได้รับโทรศัพท์จากนายกรัฐมนตรี บอกว่าคนไทย 60 ล้านคนรอความหวังเหรียญทองจากคุณคนเดียว ปรากฎว่าเช้ามา สมรักษ์ ที่ว่าพริ้วสุดในโลกชกไม่ออกเพราะสมรักษ์กดดันเกร็งจนตัวสั่นไปเลย โชคดีที่คู่แข่งเขาเกร็งกว่า เลยเอาชนะมาได้“

 

“เห็นมั้ยว่าคำพูดมันมีผลกระทบต่อจิตใจ กระทบกับความสามารถนักกีฬาหมด จิตใจวิทยาจึงสำคัญมาก“

 

 

การระเบิดอารมณ์ไม่ได้ส่งผลเสียเสมอไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีที่ควรทำ

แน่นอนว่าด้วยเกมที่เป็นรองและตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาจะมีความอึดอัดอยู่ในใจเป็นเหตุผลที่ทำให้เล่นไม่ได้ดั่งใจ จนรู้สึกอยากจะระบายอารมณ์ออกมา อย่างเหตุการณ์ล่าสุดของทีมบาสเกตบอลใน NBA ในรอบเพลย์ออฟชิงแชมป์สายตะวันออกเกมที่ 2 เกมนั้น บอสตัน เซลติก แพ้ให้กับ ไมอามี่ ฮีต ทั้ง ๆ ที่ขึ้นนำไปก่อนถึง 20 แต้ม และทีมตกอยู่ในสถานการที่จะพลาดไม่ได้อีกในการตามหลัง 0-2 ซีรีส์

 

หลังจบเกมนั้นผู้เล่นตัวหลักของทีมอย่าง มาร์คัส สมาร์ท ถึงกับระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรงในห้องแต่งตัวของทีม มีรายงานว่ารุนแรงถึงขั้นทำลายข้าวของเลยด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เล่นของทีมเซลติก เดินทางกลับถึงที่พัก แบรด สตีเวนส์ ผู้ฝึกสอนได้เรียกผู้เล่นตัวหลักของทีม 4 คนรวมถึง มาร์คัส สมาร์ท เข้าไปคุยเป็นการส่วนตัว 

 

แม้ไม่มีรายงานว่า แบรด สตีเวนส์ ได้พูดอะไรกับลูกทีม แต่เป็นที่เชื่อกันว่าพวกเขาได้เปิดใจคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งทัศนคติและเป้าหมาย และในเกมการแข่งขันแมตช์ที่ 3 ปรากฎว่า ผู้เล่นของ เซลติก กลับมาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้เล่นตัวหลักทั้ง 4 คนที่ถูกเรียกเข้าไปคุยกับ แบรด สตีเวนส์ ทั้ง เจย์เลน บราวน์ , เจย์สัน เททั่ม  , เคมบ้า วอลเกอร์  และ มาร์คัส สมาร์ท ทำคนละ 20 แต้มขึ้นไป ช่วยทีมเก็บชัยชนะเกมสำคัญและยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ NBA

 

“บางครั้งการแสดอารมณ์เกรี้ยวกราด ก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ในแง่ลบเสมอไป” อ.พิชิต เริ่มอธิบายให้ความรู้กับเราอีกครั้ง

 

”อย่างเหตุการณ์ของเซลติก มันเป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งโค้ชอาจจะให้ข้อคิดอะไรบางอย่างต่อทีม ซึ่งทีมก็ได้อะไรกลับมาจากการคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับมายด์เซ็ตใหม่ หรืออาจจะเป็นการเปิดใจคุยกัน”

 

“ผมขอยกตัวอย่าง จอห์น แมคแอนโร ตำนานนักเทนนิส เขาก็เป็นคนหนึ่งที่มีอารมณ์ร่วมในเกมค่อนข้างรุนแรง บางคนโมโหแล้วทำให้เขาเล่นดีขึ้น บางคนอาจเล่นไม่ดี แต่เมื่อมีอารมณ์ฉุนเฉียวพอได้ระบายอารมณ์แล้วกลับเล่นดีขึ้น มันเหมือนได้ปลดปล่อย”

 

“การปลดปล่อยอารมณ์อาจจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่ง แต่ว่ามันก็ไม่ได้ส่งผลดีตลอด ซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มันทำให้สถานการณ์นั้นเลวร้ายหนักกว่าเดิม”

 

 

 

 

หลักจิตวิทยา 3 ข้อควรนำไปใช้

มาถึงตรงนี้เรายกตัวอย่างสองมุมที่แตกต่างที่พอจะเห็นภาพว่าการใช้คำพูดในเชิงจิตวิทยาเห็นผลอย่างไร ทีนี้เรามาดูหลักในการใช้คำพูดให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้คำพูดปลุกใจนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และคำพูดแบบไหนที่ไม่ควรนำมาใช้กับนักกีฬากันบ้าง

 

คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้ มักจะพูดไปตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามความคุ้นเคยของตัวเองมากกว่า ซึ่งเราจะพบว่ามันมีผลเสียมากกว่า

 

“สำหรับคนทั่วไป อย่างแรกเราต้องให้กำลังใจเขาก่อน ชื่นชมเขาสร้างแรงจูงใจ แล้วค่อยป้อนข้อมูลเข้าไป หรือ ให้คำแนะนำกับนักกีฬา ซึ่งจุดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะนิสัยของนักกีฬาแต่ละคนด้วยว่า เวลานั้นเขากำลังต้องการอะไร ต้องการข้อมูลหรือคำแนะนำ“

 

“สิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดก็คือการเลือกใช้คำให้เหมาะกับสถานการณ์ ต้องรู้จักนักกีฬาว่ามีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร ตอบสนองแบบไหน จะได้ผลมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์“

 

“แต่สำหรับกลุ่มคนพิเศษหรือกลุ่มพวกที่ชอบความท้าทาย เราต้องรู้จักนิสัยเขาให้ดีก่อน เพื่อเราจะได้รู้ว่าเราสามารถพูดได้มากแค่ไหน คนกลุ่มนี้ให้กำลังใจไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ตอบสนอง ต้องใช้วิธีท้าทาย ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกท้าทาย เช่นตั้งเป้าหมายให้เขา หรือดูถูกเขาไปเลยว่าทำไม่ได้หรอก ทำได้แค่นี้หรอ ซึ่งมันจะทำให้เขาตอบสนองให้แง่บวก มีแรงกระตุ้นอยากจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่จะเป็นวิธีที่ไม่ค่อยใช้กันเพราะนักกีฬาประเภทนี้มีน้อย”

 

 

“ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือการทำลายความมั่นใจของนักกีฬา ทำลายตัวตนของเขา เอาแต่ดุด่าโดยไม่มีเหตุผล พอนักกีฬาเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ ๆ จะทำให้เขาไม่กล้าเล่น นักกีฬาจะกลัวโค้ช กลัวเล่นผิดพลาด สูญเสียความเป็นตัวตนในสนาม”

 

“ซึ่งการใช้คำพูดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกับนักกีฬาที่หญิงที่ Sensitive มากกว่าผู้ชายต้องระวังเป็นพิเศษ”

 

ถึงตรงนี้เราอาจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราพอรับรู้ได้ว่ามันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเกมการแข่งขันอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ เข้าช่วย คำพูดของคนนั้นมันจะเป็นนายและจะติดตัวเราไปตลอด ถ้าคนส่งสารใช้คำที่เหมาะสม ในประโยคที่ผู้รับสารฟังแล้วรู้สึกดีมีกำลังใจ แน่นอนว่ามันทำให้ผู้ฟังย่อมรู้สึกดีขึ้นไม่มากน้อย และยิ่งมาในบริบทที่ถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์จากตกเป็นรองกลับคว้าชัยชนะได้เช่นกัน


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV