20 ตุลาคม 2565
เมื่อปี 2021 สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “FIVB” ได้เผยแพร่เรื่องราวของ “สตาร์ดังทีมชาติไทย” จำนวนทั้งหมด 5 คน ผ่านทาง เว็บไซต์ทางการของ สหพันธ์ฯ (www.fivb.com) ซึ่งเป็นการพูดถึงที่มาที่ไปของ “ทีมตบสาวไทย” ว่าแต่ละคนไปยังไงมายังไงจึงเดินมาอยู่ตรงจุดนี้ รวมทั้งยังเป็นการชื่นชมผลงานของ “ทีมลูกยางสาวไทย” ที่สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ระดับแนวหน้าของโลกได้สำเร็จ
โดยรายชื่อของนักกีฬาทั้ง 5 คน ที่ถูกพูดถึงในหัวข้อ “Thailand's Fab Five” ประกอบด้วย “หัวเสาตัวเก่ง” อรอุมา สิทธิรักษ์ และ วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, “บอลสั้นประสบการณ์สูง” ปลื้มจิตร ถินขาว, “มือเซตอัจฉริยะ” นุศรา ต้อมคำ และอีกคนที่ขาดไม่ได้ คือ มลิกา กันทอง เจ้าของตำแหน่ง “บีหลัง” คนสำคัญของ “ทีมตบสาวไทย”
“ลูกสาวชาวนา” กับความฝันที่จะเป็น “หัวหน้าครอบครัว”
ตามที่จั่วหัวมาเลย! ครอบครัวของ มลิกา ประกอบอาชีพเกษตรกร (ชาวนา) อยู่ที่จังหวัดอ่างทอง โดยทางบ้านมีฐานะไม่ค่อยดีนัก และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ มลิกา ตัดสินใจเดินเข้าสู่ “เส้นทางสายลูกยาง” ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ เจ้าตัว ต้องการเรียนฟรีให้จบระดับปริญญาตรี(เป็นอย่างน้อย) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และอยากจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคงในวันข้างหน้าเพื่อหาเงินมาดูแลพ่อแม่ต่อไปในฐานะ “หัวหน้าครอบครัว”
“ความฝันเล็กๆ” ที่คิดเอาไว้ตลอดตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้ มลิกา ก้มหน้าก้มตาฝึกซ้อมอย่างจริงจังทุกวันๆ เริ่มต้นตั้งแต่ระดับประถม ไปจนถึงระดับมัธยม และ ต่อด้วยระดับมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าเป้าหมายที่ เจ้าตัว ต้องการมันเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่คิดไว้ “เรียนฟรี” จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และมีโอกาสจะได้ทำงานที่มั่นคงตามฝัน แต่สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือ เจ้าตัว ได้รับโอกาส “ติดธง” รับใช้ทีมชาติไทย ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาจาก “ความกตัญญู”
เล่นตรงไหนก็ได้ ขอแค่ยืนในสนาม
มลิกา ได้รับโอกาสลงสนามรับใช้ “ตบชุดใหญ่” อย่างเป็นทางการครั้งแรก ในการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต(เคยติดทีมชุดยุวชน ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม) โดยบทบาทที่ เจ้าตัว ได้รับคือตำแหน่ง “UNIVERSAL” หรือเรียกง่ายๆคือ “ผู้เล่นสารพัดประโยชน์” ซึ่งต้องขึ้นกับ “ทีมงานผู้ฝึกสอน” ว่าจะเลือกใช้งานในตำแหน่งไหน ... หัวเสาก็ดี บีหลังก็ได้ หรือจะ บอลสั้นก็ไม่มีปัญหา
จุดเด่นของ มลิกา ถือว่าเป็นผู้เล่นที่ “ครบเครื่อง” ทำได้ดีในหลายๆบทบาท ส่งผลให้ เจ้าตัว พร้อมที่จะเป็น “ตัวเปลี่ยนสำคัญ” ในยุคแรกๆของการติดธงรับใช้ชาติ แต่หลังจากที่ เจ้าตัว ผ่านบททดสอบต่างๆได้สำเร็จ จนก้าวขึ้นมาเป็น “ตัวหลัก” ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มลิกา ก็ยึดตำแหน่ง “บีหลัง” มาโดยตลอด อาจจะมีแค่บางครั้งที่ถูกโยกไปเล่นในบทบาทอื่นๆ
“ปู อาจตีไม่หนักเท่า อรอุมา แต่ว่าเฉียบคมและมีความเร็ว ซึ่งในบทบาทของ บีหลัง เราจำเป็นต้องมี 2 จุดนี้เข้ามาเติมเต็ม ส่วนอีก 1 เหตุผลที่ มลิกา เป็นตัวหลักของ ทีมชาติไทย มาโดยตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเพราะว่า เจ้าตัว สามารถเล่นได้หลากหลายตำแหน่ง ลงสนามช่วยทีมได้ทั้งบทบาทของ หัวเสา และ บีหลัง รวมทั้งในกรณที่ต้องเปลี่ยนตำแหน่ง มลิกา ก็ยังทดแทน ตัวหลักคนอื่นๆ ได้แบบไม่มีปัญหา” นายชำนาญ ดอกไม้ หนึ่งในทีมงานผู้ฝึกสอน “ทีมสาวไทย” กล่าวถึง มลิกา
ก็แค่คนธรรมดา “ไม่พิเศษ”
มลิกา เป็นผู้เล่นที่ได้รับการชื่นชมมากในเรื่องบทบาทนอกสนาม เพราะว่าที่ผ่านมา เจ้าตัว เป็นคนนิ่งๆเงียบๆและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว ซึ่งภาพที่คนส่วนใหญ่มักได้เห็นใน “โลกออนไลน์” เวลาที่ไม่มีการแข่งขัน มลิกา มักจะกลับไปอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง และใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไปกับพ่อแม่พี่น้อง บางครั้งก็จะไปทำนากับครอบครัว, เก็บผักเก็บผลไม้มาขาย หรือแม้แต่ นั่งพับใบตองห่อข้าวต้มมัด บางช่วงบางตอนที่ เจ้าตัว เคยให้สัมภาษณ์กับ “FIVB” (www.fivb.com) ตอกย้ำให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจแฟนลูกยางหลายต่อหลายคนเป็นอย่างมาก
"ปู ก็ยังคงเป็น ปู คนเดิมต่อไป เป็นแค่นักวอลเลย์บอลธรรมดาๆ และก็ไม่ใช่ ซูเปอร์สตาร์ อย่างที่หลายๆคนเรียกกัน ปู ต้องขอขอบคุณจริงๆที่คิดว่า ปู สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนได้ ปู ประสบความสำเร็จได้เพราะว่าทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด”
หัวใจสุดแกร่ง ต่อสู้ชนะโรคร้าย
มลิกา เป็นส่วนหนึ่งของ “ตบสาวไทย” ชุดที่ดี่สุดในประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า “ยุค 7 เซียน” นับตั้งแต่เริ่มติดธงเมื่อปี 2006 จนถึงปัจจุบัน เจ้าตัว ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย และผ่านการลงเล่นรายการใหญ่ๆระดับโลกเกือบครบทุกรายการ รวมทั้งที่ผ่านมา มลิกา ยังเคยเดินทางไปเล่น “ลีกอาชีพ” มาแล้วหลายครั้ง โดยทีมสุดท้ายในต่างแดนคือ อาเซอร์เรล บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน
มลิกา เคยถูกตรวจพบว่ามีอาการป่วย “ไทรอยด์เป็นพิษ” และต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลาหลายเดือน จนต้องพลาดการลงสนามรับใช้ “ตบสาวไทย” ในรายการสำคัญๆอย่าง วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย และ วอลเลย์บอลซีเกมส์ ในปี 2017 แต่ว่าสุดท้าย เจ้าตัว ก็สามารถต่อสู้กับอาการป่วยได้สำเร็จ ก่อนจะกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง และพาต้นสังกัดอย่าง เจนเนอราลี่ สุพรีมฯ รวมทั้ง นครราชสีมาฯ คว้าแชมป์ ไทยแลนด์ลีก มาครองได้เมื่อปี 2017 และ 2018
TAG ที่เกี่ยวข้อง