15 กันยายน 2563
ทุกความสำเร็จล้วนเกิดจากความพยายาม อดทน มุ่งมั่น ขยันและไม่ยอมแพ้ หากคุณท่องจำคำเหล่านี้จนขึ้นใจ ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กขนาดไหน สักวันคุณก็จะกลายเป็นแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เหมือนกับ ใบพัด ศรีราชา นักสนุกเกอร์สาวลูกทุ่ง ตัวเล็กหัวใจแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย ที่ฝ่าฟันเส้นทางความผิดหวังมานับร้อยนับพันครั้ง แต่ก็ยังอุตสาหะจนประสบความสำเร็จกลายเป็นแชมป์โลกอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์
และนี่คือเรื่องราวของ ใบพัด ศรีราชา อีกหนึ่งดาวประดับวงการสนุกเกอร์ไทย
สาวน้อยบ้านนา
ใบพัด เป็นเด็กอีสาน อาศัยอยู่กับยายที่จังหวัดมหาสารคามมาตั้งแต่เด็ก ใช้ชีวิตประจำวันตามประสาวิถีชุมชน เรียนหนังสือ วิ่งไล่จับกับเพื่อนตามท้องหน้า ไม่ใช่สาวหวานแต่ก็ดูซุกซนน่ารักสมวัย แต่ไร้วี่แววการเป็นนักกีฬา ไม่มีกระทั่งความฝัน หากสิ่งที่จะทำให้เธอใกล้เคียงกีฬามากที่สุดก็คือ เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของ ”หยิก สำโรง” หรือ พิสิษฐ์ จันทร์ศรี นักสนุกเกอร์รุ่นใหญ่ระดับแถวหน้าของเมืองไทย
“พ่อเราเป็นนักสนุกเกอร์ เปิดโต๊ะสนุ้กเสรีกับเพื่อนอยู่ที่กรุงเทพ”
“ส่วนเราอยู่กับยายที่มหาสารคามค่ะ ช่วงปิดเทอมก็จะขึ้นไปหาพ่อกับแม่ มีอยู่วันหนึ่งในโต๊ะสนุ้ก เราเห็นลูกค้าเขาเล่นแล้วเกิดอยากเล่นบ้าง ก็เลยลองหยิบเร็ตส์ขึ้นมาแทงบ้าง ปรากฎว่าลงตั้งแต่ครั้งแรก” ใบพัด เริ่มเล่าถึงโชคชะตาที่ทำให้เธอรู้จักสนุกเกอร์เป็นครั้งแรก
ช็อตดังกล่าวคือจุดพลิกผันในชีวิตเธอเลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากนั้น ใบพัด วนเวียนอยู่กับโต๊ะสนุกเกอร์เป็นประจำ จนกระทั่ง “หยิก สำโรง” เห็นแววเลยจับมาฝึกซ้อมอย่างถูกวิธี
“ตอนนั้น 7-8 ขวบค่ะ ปิดเทอมนั้นจากที่ลองแทงเล่น ๆ แล้วรู้สึกสนุก กลายเป็นว่าได้ซ้อมแบบจริงจัง พ่อสอนให้ฝึกสาวไม้คิวกับลูกขาวเปล่า ๆ อย่างเดียววันละ 7-8 ชั่วโมง ฝึกแบบนั้นทั้งวัน ฝึกเป็นปี ๆ กว่าจะได้แทงสนุ้กแบบปกติเหมือนคนอื่น”
“เบื่อสุด ๆ วันๆ เอาแต่สาวคิวอย่างเดียวเลย ไม่ได้เช็ดเหลี่ยม แทงลูกเป้าแบบที่เราอยากเล่น แต่ตอนนั้นเราเป็นเด็ก พ่อบอกอะไรก็ทำตามหมด”
ใบพัดเล่าต่อว่า “พอเปิดเทอมก็ต้องกลับไปเรียนหนังสือที่มหาสารคามต่อ กว่าจะได้กลับมาจับไม้คิวอีกทีก็ตอน 9 ขวบ ที่สารคามมันไม่มีโต๊ะสนุ้ก เราก็หาไม้ที่มีลักษณะยาวๆเหมือนไม้คิว มาสาวลมเล่น ๆ เพื่อทำความคุ้นเคยกับจังหวะการแทง จำท่ายืน การวางมือ ทำแทบทุกวันเพื่อให้มันไม่ลืม”
ถึงจะฝึกซ้อมอย่างหนักแต่ก็ยังไม่มีคาดคิดว่าเธอจะจริงจังกับสนุกเกอร์ จนกระทั่งเกิดเหตุไม่คาดคิด โต๊ะสนุกเกอร์เสรีที่ หยิก สำโรง ดูแลต้องปิดตัวลง เขาเลือกที่ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่ศรีราชา ชลบุรี พร้อมร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดโต๊ะสนุ้กแห่งใหม่
ชีวิตของ ใบพัด ช่วงนั้นระหกระเหินพอตัว หลังตัดสินฝากอนาคตไว้บนโต๊ะสักหลาด เธอเก็บกระเป๋าเสื้อผ้ามาอยู่ศรีราชากับครอบครัว อยู่ได้ปีเดียวก็ต้องกลับไปมหาสารคามอีกครั้ง
“ตอน 9 ขวบ เราอยากเล่นสุนกเกอร์มาก ๆ ส่วนพ่อก็มองว่าเราน่าจะไปได้ไกล เพราะนักสนุกเกอร์ผู้หญิงมันมีน้อย ต่อยอดง่ายกว่าผู้ชาย”
“โต๊ะสนุ้กเสรีปิดตัวลง พ่อมาเซ้งต่อที่ศรีราชา เราก็ย้ายมาเรียนที่นี่กะว่าจะได้หัดเล่นสนุกเกอร์ไปด้วย แต่เปิดได้ปีเดียวมันไปไม่รอด เส้นทางชีวิตเราเปลี่ยนอีกครั้ง กลับไปอยู่กับยายที่สารคาม”
ด้วยวิกฤติต่าง ๆ เงินเก็บของครอบครัวก็น้อยลงทุกวัน เธอไม่รู้เลยว่าจะได้เล่นสนุกเกอร์อีกครั้งหรือไม่
“เท่าที่เรารู้คือตอนนั้นครอบครัวเราเหลือเงินก้อนสุดท้ายแสนกว่าบาท ซึ่งพ่อเป็นนักสนุกเกอร์มาทั้งชีวิต ท่านเลยตัดสินใจทุ่มเงินก้อนสุดท้ายเช่าที่เปิดโต๊ะอีกครั้ง คราวนี้ทำคนเดียวไม่หุ้นกับใคร เราเลยได้กลับมาเรียนที่ศรีราชาอีกครั้ง”
เปลี่ยนเกมศูนย์ให้เป็นแชมป์โลก
ตอนอายุ 11 ขวบ ในที่สุดใบพัดก็ได้จับไม้คิวแบบจริงจัง เธอใช้เวลาอยู่กับการฝึกซ้อมวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ช่วงแรกๆที่เดินสายแข่ง ใบพัด อย่าว่าแต่สะกดคำว่า ‘ชนะเกม’ แค่ ‘ชนะเฟรม’ ยังทำไม่ได้ เธอแพ้คู่แข่งเกมศูนย์ตลอดเวลาหนึ่งปีแรก แต่ความมุ่งมั่น มุมานะ ไม่ยอมแพ้เปลี่ยนและความเพียรพยายาม ได้เปลี่ยนให้เธอจากจากคนที่แพ้เกมศูนย์ ก็เริ่มได้เฟรม พอเริ่มได้เฟรมก็เปลี่ยนเป็นคว้าชัยชนะ
“กินไข่ตลอดค่ะ (หัวเราะ)”
“แพ้เกมศูนย์ตลอด เมืองไทยมีแข่ง 7 รายการตกรอบแรกทุกรายการ พอไปแข่งรายการอื่นไม่ว่าจะใกล้หรือไกลพ่อพาเราไปแข่งหมด แต่ก็ตกรอบแรกหมด”
“แต่พอเริ่มชนะได้ ช่วงนั้นพ่อจะชอบพาเราไปดูแข่งรายการแรงกิ้งตามต่างจังหวัด มีวันนึงโต๊ะซ้อมของนักกีฬาว่างเราเลยอาศัยช่วงนั้นไปเล่น ปรากฎว่าเราเข้าเบรกไม้เดียว 60-70 แต้มตลอด ซึ่ง ลุงศักดา (ศักดา รัตนสุบรรณ อุปนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย) ท่านอยู่ด้วย แล้วเห็นแววเลยเรียกเราไปติดทีมชาติ ลุยศึกรายการ 6 แดงสมัครเล่นชิงแชมป์โลกที่ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งรายการนี้เราได้รางวัลเบรกสูงสุด”
รางวัลเบรกสูงสุดเป็นเหมือนเชื้อเพลิงจุดไฟแห่งความสำเร็จ เพราะหลังจากนั้น ใบพัด กวาดรางวัลเป็นว่าเล่น แชมป์สมัครเล่นโลก 6 แดงทั้งเดี่ยวและทีม , แชมป์สมัครเล่นโลก 15 แดงประเภททีม , แชมป์ 15แดงชิงแชมป์โลก ประเภทคู่ , คว้าแชมป์เยาวชนชิงแชมป์โลก U18 และ U 21 ที่โรมาเนีย และแชมป์สนุกเกอร์หญิงประเทศไทย
“เราไม่เคยพูดกับตัวเองจนลืมมองไปว่าถ้วยรางวัลเต็มตู้ ตลอดเวลาที่ได้แชมป์เราไม่เคยขอบคุณตัวเองเลยสักครั้ง จนกระทั่ง 18-19 เพิ่งรู้สึกตัวว่าเราต้องพัฒนาตัวเองให้ดีกว่านี้ ถามตัวเองเป้าหมายคืออะไร เมื่อก่อนเราตั้งเป้าว่าอยากเล่นมือ 1 ของผู้หญิง อยากเก่งที่สุดว่าเงินรางวัลของนักสนุกเกอร์อาชีพหญิงไม่ได้น่าจูงใจขนาดนั้น”
“เราเปลี่ยนความคิดใหม่หมด ทุกวันนี้เราอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น แล้วก็รักษามาตรฐานของตัวเองเอาไว้ให้ได้ อยากแข่งกับผู้ชายในเมืองไทยและเอาชนะมือท็อป ๆ ให้ได้”
พ่อ = เข็มทิศชีวิต
ความโชคดีอย่างหนึ่งของ ใบพัด นอกจากที่บ้านจะมีโต๊ะสนุ้กไว้ฝึกซ้อมแล้ว เธอยังมีพ่อเป็นยอดนักสอยคิว ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ๆ ในเมืองไทย หยิก สำโรง จัดว่าเป็นนักสนุกเกอร์ฝีมือดี อยู่ในยุคที่ต้องปะมือกับ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย , ต่าย พิจิตร , หนู ดาวดึงส์ ฯลฯ ประสบการณ์ความรู้วิชาล้นเหลือ ถูกนำมาถ่ายทอดให้กับลูกสาวคนเดียว วางแผนอนาคต แบ่งแยกตารางเรียนและตารางฝึกซ้อมในแต่ละวันให้กับใบพัด
“พ่อเป็นเหมือนครูสอนทุกอย่าง ทั้งการใช้ชีวิตวิธีคิด ท่านไม่เคยพูดถึงเงินในบัญชีเลยว่าเหลือเท่าไหร่ ไม่เคยบอกให้เราประหยัด จะบอกแค่ว่าเรามีหน้าที่เรียนและซ้อม จัดตารางให้ครบทั้งอาทิตย์ วันจันทร์ - ศุกร์ตื่นไปเรียนกี่โมง กลับมาซ้อมถึงกี่โมง เสาร์-อาทิตย์ ตื่น 8 โมงเช้า ซ้อมถึง 3-4 ทุ่ม เหมือนชีวิตเราพ่อกับแม่จัดมาให้”
แต่ธรรมชาติของเด็กวัยเปลี่ยนผ่านจากประถมสู่มัธยมย่อมอยากมีเพื่อน มีสังคมเป็นธรรมดา ใบพัด ก็เช่นกัน แม้ว่าจะหลงใหลสนุกเกอร์มากขนาดไหน แต่ด้วยความไม่เข้าใจในกรอบที่ถูกสร้างขึ้นมา เกือบทำให้เธอหันหลังให้กับกีฬาที่เธอรัก
“เราเหมือนคนในกรอบ พ่อแม่จัดตารางให้เป็นกิจกรรมทำตลอด ถามว่าช่วงอายุ 11-12 เราเป็นเด็กอยากมีเพื่อน เลิกเรียนแล้วไปกินข้าว ไปห้าง เพื่อนชวนเราไปกินข้าว แต่เราต้องปฏเสธเพื่อนตลอดเพราะต้องรีบกลับไปซ้อม หลัง ๆ เพื่อนไม่กล้าชวนเพราะรู้ว่ายังไงเราก็ไม่ไป”
“พ่อแม่จะบอกเราตลอดว่าต้องกลับบ้านเป็นเวลานะ เราเคยขอแม่ไปเที่ยวกับเพื่อนแต่แม่ไม่อนุญาติ เลยไม่กล้าขออีกเลย เราก็รู้สึกไม่เข้าใจนะ เรารู้สึกว่าทำไมคนอื่นไปได้ แต่เราไปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไปแค่นี้เอง คือมันเสียช่วงเวลาในวัยนั้นของเรา จนเรามีความคิดอยากจะเลิกเล่น”
“แต่เราก็เปิดใจคุยกันค่ะ เพราะเราทั้งเรียนทั้งซ้อมหนักมาก พ่อเขาคงเห็นแววเราจริง ๆ เลยบอกว่าให้ลองดูสักตั้งไหม ออกจากโรงเรียนมาเล่นสนุกเกอร์ 2 ปี ถ้าไม่ดีค่อยกลับไปเรียนใหม่ก็ยังไม่สาย”
“เราบอกโอเค ไม่ได้เสียหาย งั้นเราทุ่มเทให้มันสองปี ถ้าไม่มีอะไรก็ค่อยเลิก เพราะตอนนั้นเราก็อยากเลิกเล่นอยากอยู่แล้ว“
“หลังจากนั้นเราออกจากโรงเรียนเพื่อมาทุ่มเทกับสนุ้ก เราทุ่มเทจริง ๆ ตื่นแปดโมงซ้อมถึงสามทุ่มทำแบบนี้ทุกวัน“
“บางครั้งก็มีทะเลาะกับพ่อบ้าง เหมือนโดนกดดันด้วย พ่อค่อนข้างจะตั้งเป้าหมายกับเราสูง เวลาแข่งแรกๆ พ่อจะคอยบอกคุยกับเราระหว่างแข่ง จะสอนตลอด เวลาแข่งต้องมองพ่อทุกลูก มันกดดันตัวเองหลัง ๆ เวลาแข่งเราไม่มีสมาธิ หลังๆเลยเลยบอกพ่อว่าจะด่าอะไรขอให้ด่าหลังแข่งนะ”
แต่เมื่อโตขึ้น วุฒิภาวะมากขึ้น จากเด็กน้อยในวันวานก็เริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พร่ำสอนพร่ำบอกทุกวัน ใบพัด ยอมรับว่าจะประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ไม่ได้เลย หากในอดีตพ่อแม่ไม่เข้มงวดกับตน หรือวางแผนชีวิตไว้ให้
“แรก ๆ เล่นกับพ่อเกร็งกลัว เพราะถ้าเราเล่นลูกไหนพ่อจะถามตลอด เราจะรู้สึกว่าอะไรเนี่ยะ แต่พอโตขึ้น เริ่มมีการเปิดใจ เรากลับเริ่มรู้สึกว่ายอมให้พ่อด่าดีกว่าไปเล่นโง่ ๆ ให้คนข้างนอกด่า ที่เขาด่าแสดงว่าเรายังมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ในเกมสนุ้กพ่อฉลาดมาก ๆ เคี่ยวมากจะไม่ยอมง่าย ๆ ถ้าคุณจะชนะพ่อเราก็ต้องออกแรงเหนื่อย”
“เรากับพ่อสนิทกันมาก เอาจริง ๆ เราไปหนี้บุญคุณท่านทุกอย่าง เพราะพ่อสอนทุกเรื่องจริงๆ ทั้งชีวิต การวางแผน เป็นทั้งโค้ช เพื่อน ที่ปรึกษา เป็นได้หมด ทำให้เรารู้จักวางแผน มีระเบียบวินัย”
สนุกเกอร์ไม่มีขีดจำกัดเรื่องเพศ
“อย่างที่บอกเป้าหมายเราตอนนี้อยากเก่งขึ้น อยากชนะนักสนุกเกอร์ผู้ชายให้ได้มาก ๆ เพราะสำหรับเราสนุกเกอร์เป็นกีฬาที่เปิดกว้างไม่จำกัดเรื่องเพศ ผู้หญิงแข่งกับผู้ชายได้ อยู่ที่ว่าคุณจะเต็มที่กับมันหรือเปล่า“
“สนุกเกอร์เล่นได้ทุกเพศ อย่าไปแคร์คนข้างนอกว่าเขาจะมองยังไง ทำไมผู้หญิงจะเก่งไม่ได้ ตอนที่เราออกจากโรงเรียนมาเล่นสนุกเกอร์ คนข้างบ้านไม่เห็นด้วย เขามองว่าพ่อเราบ้าที่กล้าปล่อยให้ลูกสาวออกจากโรงเรียนมาเพื่อนเล่นสนุ้ก คุณครูก็บ่นนะว่าออกทำไม ทำไมถึงทิ้งอนาคตตัวเอง แต่พอเราได้แชมป์ทุกคนบอกว่าเราเก่ง ไม่มีใครพูดกับเราเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว“
“สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ก่อนจะออกคิวแต่ละครั้งเราต้องคิดตลอดว่าถ้ากินแดงลูกนี้ลงจะไปกินลูกสีไหนต่อ คือเราต้องละเอียดกับมัน ต้องมีสมาธิ ต้องรู้จักวางแผน ต้องอยู่กับปัจจุบันให้เป็นวางแผนเพื่ออนาคตให้ได้“
ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่เล่นสนุกเกอร์จริงจังวันนี้ ใบพัด เติบโตขึ้นและแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้หญิงก็เล่นสนุกเกอร์ให้เก่งได้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน
ปัจจุบันรายได้จากความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงส่วนตัว เธอนำไปลงทุนเปิดกิจการโต๊ะสนุกเกอร์ในชื่อ ใบพัด สนุกเกอร์ อยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขณะเดียวกันด้านการเรียนก็ไม่ได้ทิ้ง ถึงจะออกจากโรงเรียนตอน ม.1 แต่ก็ไต่เต้าจาก กศน. จนกลับมาเรียนต่อให้ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต
และนี่คือเส้นทางของ “ใบพัด ศรีราชา” ศิริภาพร นวนทะคำจัน เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ต่อสู้กับความยากลำบาก อดทน มุ่งมั่นและขยันฝึกซ้อม โดยไม่ย่อท้อหรือหันหลังให้กับปัญหา
แล้วคุณหล่ะ ? จะเลือกเดินทางไหนเมื่อเวลาเจออุปสรรค จะหันหลังให้ปัญหาหรืออดทนเดินหน้าอย่างสง่างามแบบ “ใบพัด ศรีราชา”
TAG ที่เกี่ยวข้อง