stadium

เพราะอะไร 'ฟุตซอลไทย' ถึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

8 กันยายน 2563

 

เพราะอะไร 'ฟุตซอลไทย' ถึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

#ChangsuekFutsalCorner

 

"ฟุตซอล" ถือเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ประเทศไทย มาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมก้าวขึ้นไปเป็นทีมระดับของทวีปเอเชีย และเป็นขาประจำในศึกฟุตซอลโลก  

 

แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ ฟุตซอล ยังไม่ได้ความนิยมมากเท่าที่ควรในประเทศไทย ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าความนิยมกีฬาฟุตซอล ในบ้านเรามันยังมีน้อย ทั้งๆ ที่ ฟุตซอล เป็นกีฬาที่สนุกตื่นเต้นตลอดเวลา 40 นาที จนไม่อาจละสายตาได้ เพราะทุกวินาทีมีโอกาสเปลี่ยนเป็นประตูได้เสมอ โดยเฉพาะการเล่นพาวเวอร์เพลย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเกมรุกหวังเอาประตู แต่ก็เสี่ยงเสียประตูในเวลาเดียวกัน

 

แต่เพราะอะไร ทำไม 'ฟุตซอลไทย' ถึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร? วันนี้เราจะมาลองวิเคราะห์ว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ฟุตซอล ยังไปไม่สุด

 

เริ่มกันที่การสนับสนุนที่มีเพียงน้อยนิด ถ้าเทียบกับ "ฟุตบอล" ที่เป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของเมืองไทย เพราะทั้ง ฟุตบอล, ฟุตซอล(ฟุตซอลโลก 5 สมัยติด) และฟุตบอลชายหาด ที่เคยได้อันดับที่ 4 โลก ต่างอยู่ภายใต้ร่มเงาของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เหมือนๆ กัน  

 

แต่กับได้รับการดูแล และการสนับสนุนที่แตกต่างกันเหลือเกิน ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย มันก็ยังเป็นเหมือนเดิม งบส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้พัฒนากีฬาฟุตบอล เป็นหลัก ต่างจาก ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาด ที่ได้งบประมาณในแต่ละปีจำกัด แม้ผลงานโดดเด่นเป็นหน้าตาของประเทศไทย ก็ตาม  

 

อีกหนึ่งปัจจัย ฟุตซอล, ฟุตบอล, และฟุตบอลชายหาด เป็นกีฬาเฉพาะกลุ่ม แฟนคลับกลุ่มเดียวกัน แต่ต้องเลือกกันจริงๆ แฟนคลับส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไปเชียร์ฟุตบอลมากกว่า หากโปรแกรมแข่งขันตรงกัน ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอล ไทยลีก กับ ฟุตซอล ไทยลีก ต่างแข่งขันในสุดสัปดาห์เหมือนกัน

 

รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ที่มีเพียงน้อยนิด ทำให้เข้ากลุ่มคนทั่วไปได้น้อย ซึ่งสอดคล้องกับสองปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา ด้วยงบที่จำกัด หากไม่ใช่แฟนฟุตซอลจริงๆ ก็คงรับทราบข่าวสารต่างๆ ของฟุตซอลไทย ได้น้อยมากๆ  

 

เช่นเดียวกับเรื่องรายได้ของนักฟุตซอลอาชีพ ที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวกับนักฟุตบอล จนมีคำเปรียบเปรยว่า "นักฟุตบอลขับเก๋ง แข้งโต๊ะเล็กขี่มอเตอร์ไซค์" ทำให้นักเตะในระดับเยาวชนที่ทำผลงานได้ดีทั้ง ศศลักษณ์ ไหประโคน, บดินทร์ ผาลา, วีระเทพ ป้อมพันธ์, ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม, เจษฎากร ขาวงาม ตัดสินใจหันไปสวมสวมสตั๊ดไล่ล่าความฝันต่อบนสนามหญ้า 11 คน และสร้างชื่อให้กับตัวเองจนถึงทุกวันนี้ เพราะรายได้ที่มากกว่าเพื่อความมั่นคงของตัวเอง และครอบครัว  

 

ปัจจุบันโครงสร้างฟุตซอลไทย ที่มีสโมสรในลีกสูงสุด 14 ทีม ขณะที่ทีมในดิวิชั่น 1 และลีกหญิง ล้วนเป็นทีมสมัครเล่นกึ่งอาชีพ นอกจากนั้นสโมสรเกือบทั้งหมด ยังไม่มีระบบเยาวชนที่ชัดเจนัก ส่วนใหญ่เน้นการพึ่งพานักเตะจากโรงเรียน และสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยดังๆ เข้ามามากกว่าสร้างขึ้นมาเอง

 

ตอนนี้หากพูดถึง "กีฬาฟุตซอล" ใครๆ ก็คิดว่าเราเก่งยังไงก็ไม่มีใครสู้ได้ จนไม่เหลียวแล มองข้ามความสำคัญไปหมด เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้เพื่อนร่วมอาเซียนอย่าง เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ต่างหันมาพัฒนาฟุตซอลกันมาขึ้น พร้อมที่จะแซงหน้าเราอยู่ทุกเวลา

 

ซึ่งทีมงานของเราขอเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนวงการฟุตซอล และหวังว่าบทความนี้จะไปสะกิดหรือเข้าหูผู้หลักผู้ใหญ่ และแฟนฟุตซอลไทย ไม่มากก็น้อย ให้หันสนใจ และพัฒนาฟุตซอลไทย มากกว่าที่เคยผ่านมา.


stadium

author

Futsal Addict

Changsuek Content Creator

MAR 2024 KV