6 กันยายน 2563
เหตุผลของคนส่วนใหญ่ที่พาตัวเองลุกจากที่นอน หยิบรองเท้าผ้าใบสักคู่ขึ้นมาสวมใส่ แล้วออกไปวิ่งตามสวนสาธารณะใกล้บ้าน เป็นเพราะพวกเขาและเธอฝันอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ
เช่นเดียวกับ “ตั้ม” ธนวรรษ เขียวเจริญ ชายร่างท้วมสูง 190 หนัก 200 กิโลกรัม เหตุผลของเขานั้นไม่ต่างกัน จุดเริ่มต้นเป็นเพราะความอ้วนทำให้เขาเฉียดตายถึง 2 หน เมื่อรอดมาได้จึงตัดสินอย่างแน่วแน่ว่าอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยสุขภาพแข็งแรง สิ่งที่จะทำให้ฝันของเขาเป็นจริงได้ในวันนั้นก็คือการ “วิ่ง”
นักรักบี้ ร่างกายกำยำ
ไม่น่าเชื่อว่าชายร่างท้วมตรงหน้าเราจะเป็นอดีตนักกีฬาร่างกายแข็งแรงมาก่อน แต่เรื่องจริงก็คือ “ตั้ม” นั้นเป็นนักกีฬารักบี้ของโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันที่เป็นเต้ยในเรื่องของกีฬารักบี้และปั้นนักปล้ำลูกหนำเลี๊ยบขึ้นมาเป็นสุภาพบุรุษทีมชาติมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน
เดิมที “ตั้ม” เป็นคนเจ้าเนื้อ มีร่างกายสูงใหญ่ น้ำหนักแตะ 100 กิโลกรัมมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แต่ด้วยความเป็นนักกีฬาทำให้ชีวิตของเขาในตอนนั้นเคร่งครัดอยู่ในกฎในระเบียบวินัย และวนเวียนอยู่กับการฝึกซ้อมเป็นประจำ
“เมื่อก่อนผมอยู่โรงเรียนประจำชายล้วน ไม่มีอะไรให้ทำนอกจากเล่นกีฬา เตะฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล แต่ผมเลือกจริงจังกับกีฬารักบี้ตอนอายุ 12 เพราะทุกคนที่นี่เล่นรักบี้กันเกือบหมด ซึ่งคนพันกว่าคนในโรงเรียนจะเป็นตัวแทนทีมชาติได้ต้องเก่งจริงและมีวินัย”
“ซึ่งผมติดเป็นตัวจริงของโรงเรียนตลอด ติดเยาวชนทีมชาติส่วนใหญ่สมัยนั้นรายการแข่งมันน้อย ได้แข่งแต่พวกกระชับมิตรกับเพื่อนบ้านสิงคโปร์ แต่ที่เสียดายคือตอนอยู่ ม.4 เราติดเยาวชนทีมชาติ ยู 17 ชุดชิงแชมป์เอเชียที่ไต้หวัน เราผ่านการตัดตัวจากการคัดเลือกทั่วประเทศแล้วมีชื่ออยู่ 25 คนสุดท้าย แต่มาตกม้าตายด่านสุดท้ายไม่ผ่านความฟิตที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เขาบอกว่าร่างกายเราไม่พร้อมเดินทางออกนอกประเทศ ไม่อนุญาติให้เดินทาง ผลสุดท้ายทีมในปีนี้เป็นรุ่นเดียวที่ไทยได้แชมป์เอเชีย”
หลังไม่ผ่านการตัดตัว “ตั้ม” ยังคงเล่นรักบี้ต่อจนจบ ม.6 และใช้โควตานักกีฬาเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่ด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บที่รุมเร้า ชีวิตนักกีฬาของ “ตั้ม” หลังเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
หมาโซ่หลุด
ในช่วงเข้ามหาวิทยาลัยแรก ๆ แม้จะมีเล่นรักบี้ให้สโมสรอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน ซ้ำร้ายยังเหมือนหมาโซ่หลุด เป็นวัยรุ่นใจแตกที่หลงใหลไปกับการใช้ชีวิตอย่างอิสระในแบบที่นักกีฬาไม่เคยเป็นมาก่อน
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเขาเหมือนอยู่ในโลกใบใหม่ ยิ่งเมื่อได้รู้จักชีวิตกลางคืน ได้ไปเที่ยวเตร่กับผองเพื่อน ๆ เจอแสง สี เสียงเพลงและความสนุกที่ได้ใช้ชีวิต จนเผลอตัวไปกับสิ่งเย้ายวนใจ ภายในเวลาไม่กี่ปีน้ำหนักตัวของเขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัวจนทะลุ 200 กิโลกรัม
“ตอนเล่นให้มหาวิทยาลัย ใจเราไม่เอาแล้ว มันสบายแล้วไง ไม่ต้องโดนบังคับ เล่นไปอีก 3-4 ปีก็เจ็บ เข่าพัง ไหล่หลุดเรื้อรัง ผมเล่นเป็นตัวชนอยู่แถวหนึ่งตัวหน้าสุด ตำแหน่งนี้อายุการใช้งานน้อยอยู่แล้ว เพราะต้องปะทะตลอดเวลา”
“พอเจ็บซ้ำๆ ผมปล่อยจอยตั้งแต่ก่อนเรียนจบอีก ไม่ซ้อม ไม่ออกกำลังกาย โดนตัดทุน กินเหล้ากินเบียร์คนเดียววันละลัง กับข้าวเต็มโต๊ะ เที่ยวทุกที่ใครชวนไปไหนไปหมด มีความสุขกับการใช้ชีวิตช่วงนั้นมาก น้ำหนักจาก 120 กิโลกรัม สมัยเป็นนักกีฬาเราหนักกล้ามเนื้อ แต่พอปล่อยตัว 7-8 ปี คนรอบข้างห้ามก็ไม่ฟัง ช่วงนั้นพอจะกลับมาเล่นกีฬากลับมาไม่ได้ เพราะร่างกายเรามันรับไม่ไหวแล้ว”
ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ชีวิตของเขาก็ยากลำบากกว่าเดิม จะขยับตัวทำอะไรแต่ละทีจากที่เคยคล่องตัวก็กลายเป็นเชื่องช้า เสื้อผ้าจากที่เคยใส่ไซส์ 2-3 XL ขยับขึ้น 12-13 XL จากที่เคยหาซื้อเสื้อผ้าใส่เองได้ตามห้างสรรพสินค้า ก็ต้องหันมาจับธุรกิจเสื้อผ้าเพื่อผลิตให้ตัวเองสวมใส่
เวลาขึ้นลิฟท์แล้วมีเสียงสัญญาณบอกน้ำหนักเกิน สายตามวลมหาประชนก็จับจ้องมาที่ตัวเขาเป็นคนแรกแบบไม่ได้นัดหมาย แม้ว่าเขาจะเข้าลิฟท์เป็นคนแรกก็ตาม หรือแม้แต่เดินออกจากบ้านไปปากซอย เดินผ่านเด็ก ๆ ก็ร้องไห้ ทุกอย่างกลายเป็นปมในใจ แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือมันทำให้เขาเกือบตายไปแล้วถึง 2 ครั้ง
“ผมไม่กล้าไปไหนนะผมอายสายตาคน ซื้อของก็ใช้ภรรยาไปซื้อให้ นานวันเข้าก็กลายเป็นขี้เกียจ ขี้เกียจไปหมดทุกอย่าง กินข้าวยังนอนกิน เหมือนคนติดเตียง เดือดร้อนคนรอบข้างไปหมด”
“ระหว่างนั้นเราก็รู้นะว่าร่างกายเริ่มแย่ แต่มันสบายไง ไปไหนมาไหนคนก็มองเหมือนเราเป็นตัวประหลาด ขับรถ 5 นาทีก็หลับในเคยชนคันอื่นแล้วยังไม่รู้สึกตัวยังหลับอยู่ จนแม่ร้องถึงได้รู้ ขับรถทางไกลไม่ได้เลยหลับในตลอด เป็นกดไหลย้อน นอนไม่หลับหายใจไม่ออกแทบทุกวันเลย”
“แล้วมีอยู่ 2 ครั้งที่เกือบตาย อยู่ดี ๆ ก็แน่นหน้าอกขึ้นมาหายใจไม่ออก แฟนก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงนะ ทุบหลังให้จนเรามีโอกาสได้กลับมา หลังจากนั้นก็เริ่มกลัวตายแล้ว”
“คือตอนนั้นมันเฉียดแล้วจริงๆ เกือบหนึ่งนาทีที่หยุดหายใจ กลัวคนข้างหลังเดือนร้อนเลยตัดสินใจออกกำลังกาย”
ความตั้งใจและการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งสำคัญ
หลังจากรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด “ตั้ม” ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ หยิบรองเท้าผ้าใบและหวนกลับมาออกกำลังกายครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เริ่มจากการออกเดินครั้งแรกด้วยระยะทาง 2.75 กิโลเมตร แม้จะไม่มากมายสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับตัวเขามันคือก้าวแรกที่สำคัญในการพลิกชีวิตใหม่
เขาได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ตัวรวมถึงท่องโลกอินเตอร์เนตค้นคว้าแนวทางการออกกำลังกายและควบคุมเรื่องโภชนาการอย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายที่จะลดน้ำหนักให้เหลือเลขสองตัวให้ได้ก่อน 12 สิงหาคม 2563
“เมื่อก่อนผมเกลียดการวิ่งมากนะ ไม่เอาเลย โค้ชสั่งวอร์มรอบสนามผมไม่เอาเลย แต่ตอนนั้นวิ่งมันคือการออกกำลังหายที่เริ่มต้นง่ายที่สุดของเราแล้ว”
“ครั้งแรกที่ออกกำลังกายมันระบมไปทั้งตัว เจ็บทุกส่วน ผมเลยตัดสินใจโพสต์รูปลงบนเฟสบุ๊คเพื่อสร้างเป้าหมายให้กับตัวเองให้ทำทุกวัน โพสต์รูปทุกวัน เหมือนบังคับเราไปในตัว สร้างเป้าหมาย อัพเดทตลอดก็มีคนมาให้กำลังใจกันเยอะ แต่มันก็มีบ้างพวกที่บอกว่าเราคงทำเป็นกระแสทำได้แค่วันสองวันแหละ”
ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า ๆ มีหลายเรื่องที่ผู้ชายคนนี้ต้องรับมือกับมันให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของความอดทน จิตใจตั้งมั่น แน่วแน่ไปสู่เป้าหมาย ไม่หันหลังให้กับคำดูถูก อาจเป็นเพราะความเป็นนักกีฬาเลือดความเป็นนักสู้ที่ยังไหลอยู่ในตัวทำให้เขาไม่ยอมแพ้พร้อมตั้งเป้าหมายท้าทายตัวเอง
“ผมเจอมาเยอะมากนะ ทั้งคำดูถูก สายตาที่มองผมเหมือนเป็นตัวประหลาด ช่วงแรกที่เดินในนอร์ทปาร์ก มีคนปั่นจักรยานอยู่ดี ๆ ก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วถ่ายรูปเรา เหมือนเขามองว่าคนอ้วนออกกำลังกายมันเป็นตัวประหลาด”
“มันก็บั่นทอนจิตใจเรานะ แต่เราไม่อยากกลับไปนอนติดเตียงอีกแล้ว ก็เลยสู้ต่อ โชคดีด้วยที่คนรอบข้างผมเป็นนักกีฬา เป็นเจ้าของยิม เป็นเทรนเนอร์ เขาเห็นรูปเราในโซเชียลก็แนะนำขั้นตอนการออกกำลังกายที่ถูกต้อง แนะนำเรืองโภชนาการ อาหารการกิน มีคนนำทางให้เราแล้ว อยู่ที่เราแล้วว่าจะยืนระยะได้หรือเปล่า ผมก็ทำมันซ้ำๆแล้วดีขึ้น ของแบบนี้อยู่ที่ใจเราล้วนๆ“
ชนะใจตัวเองก็เป็นหนึ่งในใต้หล้า
“จากที่ทำได้แค่เดิน ผมไม่คิดว่าวันนึงจะวิ่งได้ 10 กิโล ไม่คิดว่าวันนึงจะไปถึงฮาร์ฟมาราธอน ที่ผมวิ่งฮาล์ฟมาราธอนได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมได้รับแรงบันดาลใจเยอะ“
“ผมฟังพอดแคสต์เรื่องของคุณแม่หมอเมย์ (คุณแม่สตางค์-สุนิสา สังขะโพธิ์) ที่วิ่งกับพี่ตูน ท่านเริ่มวิ่งตอนอายุ 68 ปี จบมาราธอนแรกตอนอายุ 70 และยังลงอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลอีก ทำให้เราอยากชาลเลนจ์ตัวเองไปเรื่อยๆ วิ่งมันเป็นกีฬาที่ไม่ต้องสู้กับใครนอกจากสู้กับใจของตัวเองล้วนๆ สภาพแบบนี้ไม่ต้องไปมองถ้วยบนโพเดี้ยมหรอก”
“ผมได้แรงบันดาลใจจากพี่นะ (นฤพนธ์ ประธานทิพย์) โครงการก้าวคนละก้าว แกเคยหนัก 100 กิโล แต่เขามีวินัยมากไปไหนมาไหนเอารองเท้าไปวิ่งตลอด แกไปเที่ยวแพยังวิ่งบนแพ 10 กิโลยังทำได้ ตอนนี้พี่นะพิชิต World Major Marathons ครบ 6 รายการแล้ว”
“ครูดิน (สถาวร จันทร์ผ่องศรี) เป็นทั้งต้นแบบเป็นที่ปรึกษาเขียนโปรแกรมให้ผมนำมาใช้วิ่ง ผมผ่านการลองผิดลองถูก เรียนรู้ด้วยตัวเองและจากคนรอบข้างนำมาปรับมาประยุกต์ใช้“
“พี่ตูน บอดี้แสลม เขาพลิกหน้าตาของวงการวิ่งในไทย เขาเอาตัวเองลงไปทำ คนอะไรวิ่งมาราธอนทุกวันได้เป็นเดือนๆ เขาเป็นคนที่ผมอยากเจอมากที่สุด ถ้าผมได้เจอตัวจริงผมคงร้องไห้ เพราะพี่ตูนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมไม่หยุดวิ่งเหมือนกัน”
”วันที่เราวิ่งถึง 21 โล ผมไลฟ์สดตอน 6 กิโลเมตรสุดท้าย คนให้กำลังใจกันเพียบ เราทำให้ดูจริง ๆ นะเพื่อให้คนเห็นว่าเราทำได้จริง”
ถึงวันนี้จากน้ำหนักมากกว่า 200 กิโลกรัม ลดลงไปกว่า 90 กิโลกรัม ภายในระยะเวลาปีกว่าๆ แม้จะไม่บรรลุเป้าหมาย แต่เขาก็ยังจะวิ่งต่อไป จากที่ทำได้แค่เดินตอนนี้เขาวิ่งฮาล์ฟมาราธอนบนลู่วิ่งไฟฟ้าสำเร็จมาแล้ว และเป้าหมายต่อไปของเขาคือการพิชิตมาราธอน 42 กิโลเมตรในบางแสนมาราธอนปลายปีนี้
และไม่ว่าเขาจะวิ่งจบหรือไม่ ไม่ได้สำคัญไปกว่าการที่เขาเอาชนะหัวใจตัวเองด้วยการหยิบรองเท้าผ้าใบลุกขึ้นมาวิ่งในวันแรก
“ผมอยากให้รู้ว่าคนอ้วนก็ทำได้ ผมทำมาขนาดนี้ก็อยากไปต่อให้จบฟูลมาราธอนมันทำได้“
ช้าง 10 เชือกก็หยุดความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของคนเราไม่ได้ เพราะแบบนั้นเองชีวิตของตั้มถึงได้พบกับชัยชนะครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อเขาสามารถพิชิตมาราธอน 42.195 กิโลเมตรได้ตามที่ตั้งใจไว้แล้วด้วยน้ำหนักตัว 105 กิโลกรัม ตลอดทางของสนาม #KoratPowduranceMarathon2020 เป็นทางลาดชันมีเนินเยอะคล้าย ๆ เป็นมินิเทรล ระหว่างทางแม้จะมีเจ็บบ้าง ขาอ่อนหมดแรง แต่เขาไม่คิดท้อหรือถอดใจยอมแพ้ มุ่งมั่นที่จะไปให้เส้นชัย
หน้าปัดนาฬิกาที่ข้อมือบอกเวลา 6 ชั่วโมง 53 นาที คือโมเม้นท์ที่เขาสืบเท้าเข้าเส้นชัย มาพร้อมกับน้ำตาแห่งความดีใจและเสียงปรบมือจากบรรดานักวิ่งในงาน
“ความรู้สึกมันเกินจริงไปเยอะมากครับ จากคนป่วยเกือบติดเตียงและน้ำหนัก 198 กิโล จะมาจบมาราธอนด้วยน้ำหนักตัว 105-106 กิโล ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ร่างกายมันไม่ไปตั้งแต่กิโลเมตรที่ 30 กว่าครับ แต่ทางที่เหลือมันคือการวัดใจระหว่างระยะทางกับหัวใจว่าอะไรมันจะใหญ่กว่ากัน ปีศาจในมาราธอนเป็นสิ่งที่เราคิดเอง ปีศาจจริง ๆ มันอยู่ที่ใจเรามากกว่า พอถึงเส้นชัยแล้วมันสะใจ ผมคิดว่าใคร ๆ ก็ทำได้แค่ตั้งใจแล้วลงมือทำ”
ชีวิตใหม่กับความสุขที่เปลี่ยนไป
“ตั้ม” ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้ว คำว่า “วิ่งเปลี่ยนชีวิต” นั้นคือเรื่องจริง ทุกวันนี้ระบบหายใจของเขากลับมาเป็นปกติ และเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ร่างกายของเขาไม่ได้สัมผัสกับแอลกอฮอร์ เสื้อผ้าที่เมื่อก่อนต้องสั่งตัดหรือผลิตขึ้นเอง ในวันนี้เขาหาซื้อได้ตามช็อปทั่วไปอีกครั้ง ที่สำคัญคือเขาได้ค้นพบความสุขที่แท้จริงและรับรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อคนข้างหลัง
”ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับการวิ่งนะ ผมไม่มีช่วงที่อยากเลิกวิ่ง ไม่มีวันไหนไม่อยากวิ่ง”
”ผมชอบวิ่งไปเรื่อยๆ วิ่งคนเดียว ผมทำงานเกี่ยวกับเสื้อ บางครั้งผมออกไปวิ่งก็ได้ไอเดียทำแบบเสื้อใหม่ ๆ ได้ทั้งงาน ได้ทั้งคอนเนคชั่น ผมได้ชีวิตใหม่ เปลี่ยนเป็นคนละคน บอกตรง ๆ ถ้าวันนั้นผมไม่เริ่มวิ่งผมตายตั้งแต่ปีที่แล้ว มันหายใจได้ไม่เต็มปอด”
”แล้วถ้าเราเป็นอะไรไป ภาระมันตกไปอยู่คนข้างหลังหมดเลย ดูเหมือนคนเห็นแก่ตัว พอเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มวิ่ง ชีวิตมันก็ดีขึ้น ทั้งหน้าที่การงาน สุขภาพดีก็ตามมา วิ่งเปลี่ยนชีวิตจริง ๆ ผมพิสูจน์มาแล้ว”
”วันนี้ผมกลับมาซื้อเสื้อผ้าในห้างใส่ได้อีกครั้ง เป็นความรู้สึกที่โคตรดี ไปช็อปเมื่อก่อนได้แค่มอง ทุกวันนี้พนักงานบอกตัวนี้พี่ใส่ได้นะ มันรู้สึกดีมากๆ แค่เขาบอกว่าเราใส่ได้ก็โอเคแล้ว”
“คนอ้วนผมบอกเลยวิ่งได้ทุกคน แต่ไม่ใช่วันนี้หรือพรุ่งนี้ จะวิ่งได้มันต้องเดิน ต้องฝึก ต้องใช้เวลา อ้วนยังต้องใช้เวลาเป็นสิบปี จะให้ผอมเร็วเป็นไปไม่ได้ ลุกมาออกกำลังกายยังไงก็ดีกว่าไปนอนอยู่โรงพยาบาล ยารักษาก็แค่ดีขึ้นแต่ไม่หาย ออกกำลังกายดีกว่า ไม่ต้องวิ่งก็ได้ ทำอะไรก็ได้เป็นการออกกำลังหายมีทางเลือกอีกเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องวิ่งอย่างเดียวก็ได้” “ตั้ม” ทิ้งท้าย