stadium

จากลายเส้นปากกาสู่เวทีสนามหญ้าระดับโลก

4 กันยายน 2563

จากลายเส้นปากกาสู่เวทีสนามหญ้าระดับโลก

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

 

ชื่อเหลือเกินว่าถ้าจะพูดถึงการ์ตูนขวัญใจเด็กผู้ชายในยุค 90 นอกเหนือจากเรื่องดราก้อนบอล, เซนต์ เซย์ย่า หรือบรรดาขบวนการนักสู้ปราบอธรรมต่างๆ ชื่อของ “กัปตันซึบาสะ” น่าจะเป็นชื่อแรกๆที่ใครๆต้องเอ่ยถึง เพราะด้วยยอดจำหน่ายที่มีมากกว่า 65 ล้านเล่ม, ติดอันดับ 5 การ์ตูนกีฬาที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น แม้แต่ในประเทศไทยยังต้องขอซื้อลิขสิทธิ์นำการ์ตูนเรื่องนี้มาฉายเรียกเรตติ้งชนิดที่ฉายกี่ครั้งก็ยังมีการเรียกร้องให้นำกลับมาฉายซ้ำใหม่ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าอันที่จริงแล้วที่มาที่ไปของการ์ตูน “เจ้าหนูสิงห์นักเตะ” นี้จะเริ่มต้นจากความฝันเล็กๆที่ว่าอยากให้เยาวชนญี่ปุ่นหันมาสนใจกีฬาฟุตบอลบ้างก็แค่นั้น..

 

หากเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในยุค 90 ในช่วงนั้นที่ประเทศญี่ปุ่นกีฬาฟุตบอลไม่ใช่กีฬาเบอร์ 1 ของที่นั่น หากแต่เป็นเบสบอลต่างหากที่ถือเป็นที่นิยม ซ้ำยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น(เลิกงานชวนกันไปดูเบสบอล, หลักสูตรวิชาพละศึกษาในระดับประถมและมัธยมก็สอนเบสบอล และลูกผู้ชายสายเลือดอาทิตย์อุทัยหากอยากจะเด่นจะดังต้องเล่นเบสบอลให้เก่งให้ได้) พูดง่ายๆคนญี่ปุ่นหายใจเข้า-ออกเป็นแต่แค่กีฬาเบสบอลในยุคนั้น

 

ความป็อปปูล่าของกีฬาปาและหวดลูกบดบังทำให้กีฬาชนิดอื่นๆไม่อาจทาบรัศมีได้ หนึ่งในนั้นคือกีฬาฟุตบอลที่แม้ทีมชาติญี่ปุ่นจะเคยสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ในโอลิมปิกปี 1964 แถมยังสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้อีกในสี่ปีต่อมาและเกือบจะได้ไปบอลโลกครั้งแรกที่เม็กซิโกในปี 1986 อีกด้วยซ้ำ(ถ้าไม่พลาดท่าแพ้เกาหลีใต้ในรอบชิงตั๋วรอบสุดท้าย) แต่ทว่าฟุตบอลก็ยังคงถูกเบสบอลกลบความนิยมซะมิดแบบ “ไม่เห็นฝุ่น”

 

และนั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจก้อนใหญ่ของชายที่มีชื่อว่า “โยอิชิ ทาคาฮาชิ” ชายผู้ที่เชื่อว่าไม่ได้มีแต่เบสบอลเท่านั้นที่สามารถสร้างความสุขให้แก่คนญี่ปุ่นได้ หากแต่ฟุตบอลก็เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

 

“ตอนที่ผมเริ่มวาดมังงะเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล ผมแค่หวังว่าวัฒนธรรมฟุตบอลในญี่ปุ่นจะเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น และผมหวังว่ากีฬาที่สนุกและมหัศจรรย์แบบนี้ควรจะแพร่หลายไปได้ทั่วประเทศ ผมก็เลยเริ่มวาดด้วยความคิดนี้เป็นแรงขับเคลื่อน” ส่วนหนึ่งของคำกล่าวของมิสเตอร์ทาคาฮาชิที่ให้ไว้ในรายการ We Are 11 ทางช่อง EA Sports  

 

และด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกบวกกับแอ็คชั่นมันส์ๆบนความเวอร์วังอลังการในจินตนาการแบบไร้ขีดสุดทำให้กัปตันซึบาสะประสบความสำเร็จอย่างมากที่ญี่ปุ่น แถมยังเป็นการ์ตูนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการฟุตบอลของที่นั่นเพราะเด็กญี่ปุ่นเริ่มหันมาสนใจฟุตบอลมากขึ้นกว่าแต่ก่อนและฝันอยากจะเป็นให้ได้อย่างกัปตันซึบาสะ

 

แม้แต่นักบอลญี่ปุ่นชื่อดังอย่างฮิเดโตชิ นากาตะ เขาเองก็ยังเคยหลุดปากออกมาเลยว่ากัปตันซึบาสะเปลี่ยนมุมมองทางความคิดของเขาที่มีต่อฟุตบอลในตอนเด็กและนั่นทำให้เขาเลือกที่จะเดินบนเส้นทางสายลูกหนังแทนที่จะเป็นกีฬาขว้างบอลแบบที่เพื่อนๆเขานิยม  

 

แม้จะพูดไม่ได้เต็มปากว่าการ์ตูนเจ้าหนูนักเตะจากชายที่เล่นฟุตบอลไม่เป็นจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากช่วงเวลาที่มืดมิด แต่เราก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าซึบาสะมอบแสงสว่างแม้จะเป็นเพียงแสงจากปลายเทียนเท่านั้นแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เยาวชนและคนในวงการฟุตบอลที่นั่นมองเห็น  

 

และเมื่อมันเป็นอย่างนั้น “ทำไมเราจะเอาอย่างเขาบ้างไม่ได้ล่ะ?”

 

เร็วๆนี้เองพึ่งมีการเปิดตัวโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า “Thai League: Battle Ball” โปรเจ็คซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, บริษัท ไทยลีก จำกัด และบริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด(มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจกีฬาฟุตบอลมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการบ่มเพาะความรู้สึกชื่นชอบฟุตบอลให้เด็กๆแบบที่เป็นธรรมชาติที่สุดเพื่อที่ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรในอุตสาหกรรมฟุตบอลมากขึ้น  

 

โดยการนำเสนอได้ทำออกมาผ่านทางลายเส้นตัวการ์ตูนไม่ต่างจากซึบาสะของญี่ปุ่น มีการแทรกอัตลักษณ์ของสโมสรต่างๆในเวทีไทยลีกเข้าไป พร้อมทั้งแง่คิดดีๆของการเป็นนักเตะและเยาวชนที่ดี และด้วยเนื้อเรื่องและสีสันที่ชวนให้น่าอ่านน่าติดตามแบบแฟนตาซีล้ำจินตนาการเชื่อว่าการ์ตูนชุดนี้จะเป็นที่ถูกใจของน้องๆเยาวชนรุ่นใหม่ นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทในการพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ 20 ปีที่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังสิ่งที่ดีให้แก่เยาวชน  

 

คงยังสรุปอะไรไม่ได้ว่า Thai League: Battle Ball จะสามารถเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลไทยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นมั้ยและจะมีเยาวชนไทยกี่รายที่หันมาสนใจฟุตบอลมากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่เราสามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจคือนี่จะเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่

 

เพราะฟุตบอลคือกีฬายอดนิยมเบอร์1ของคนไทยและการจะพาธงไตรรงค์ไปโบกสะบัดให้ได้ในบอลโลกคือความฝันและเป้าหมายอันสูงสุด ดังนั้นหากวันนี้เรายังไม่เริ่มศึกษาแนวทางจากชาติชั้นนำที่ได้ไปบอลโลกมาแล้วตั้งไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งกันอย่างจริงจัง วลี “บอลไทยไปบอลโลก” ก็อาจเป็นได้แค่วลีขายฝัน..


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

La Vie en Rose