stadium

เมื่อบอลนอกคิ๊กออฟทับบอลไทย จะเลือกชมแมตช์ไหน?

2 กันยายน 2563

 

เมื่อบอลนอกคิ๊กออฟทับบอลไทย คุณจะเลือกชมแมตช์ไหน?

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

 

12 ก.ย.คือวันดีเดย์ที่บอลไทยจะกลับมาเตะกันใหม่และก็ยังเป็นวันเดียวกับที่ลีกชั้นนำทางฝั่งยุโรปกำหนดให้เป็นวันเปิดฤดูกาลอีกเช่นกัน (ทั้งพรีเมียร์ลีก, ลาลีกา และฮอลแลนด์ เอเรดิวิซี่ ลีก กำหนดวันเปิดฤดูกาลเหมือนลอกกันมายังไงหยั่งงั้นเพราะต่างพาเหรดเลือกวันที่ 12 เป็นวันธงไชยมาเหมือนๆกัน)  

 

มีคนบอกว่าการที่ไทยลีกออกปฎิทินการแข่งขันแบบข้ามปีแถมยังจัดตรงตามลีกชั้นนำในยุโรปนั้นจะทำให้จำนวนคนดูน้อยลง

 

“เพราะอะไรนะหรอครับ?”

 

เหตุผลที่คนกลุ่มนั้นยกมาคือมันเป็นไปได้น้อยมากที่คนไทย(ใช้คำว่า “ส่วนใหญ่”) จะเลือกชมบอลไทยในขณะที่บอลนอกเตะในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน เพราะแต่ไหนแต่ไรจำนวนผู้ชมที่คลั่งไคล้บอลไทยเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนจำนวนคนดูบอลส่วนใหญ่ บอลนอกนั้น “กินขาด” แบบไม่เห็นไฟท้าย

 

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีบิ๊กแมตช์หรือแมตช์สำคัญๆที่มีผลต่อการลุ้นแชมป์ เรตติ้งผู้ชมในแมตช์ที่ว่านี้ดีดขึ้นไปชนิดที่ใน 10 บ้านก็ต้องมีคนเปิดดูแมตช์ที่ว่านี้อยู่อย่างน้อยๆก็ 7-8 หลัง แล้วเมื่อเป็นแบบนี้นี่จะไม่เป็นการ “ฆ่าตัวตาย” ในเรื่องเรตติ้งอย่างนั้นหรือ?

 

บอลไทยโดยเฉพาะไทยลีกคิ๊กออฟกันตั้งแต่หกโมงเย็นและมีบ้างเป็นบางนัดที่เตะกันสองทุ่ม เวลาแทบจะทับกันกับพรีเมียร์ลีกที่แมตช์หัววันเขาเตะกันหกโมงครึ่งและสาม-สี่ทุ่มในแมตช์ที่เหลือ พูดง่ายๆมันมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่คนไทยจะต้องตกอยู่ในไดเล็มม่าที่ว่า “ตรูจะดูบอลไทยหรือบอลนอกดี ในเมื่อมันดันเตะพร้อมกันแบบนี้”

 

ปฎิเสธไม่ได้ว่าฐานแฟนบอลทีมใหญ่ๆในยุโรปทั้งแมนยูฯ, ลิเวอร์พูล, เชลซี, อาร์เซนอล, มาดริด, บาร์เซโลน่า, หรือแม้แต่ทีมที่มีเจ้าของทีมเป็นคนไทยอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ทีมเหล่านี้มีฐานแฟนบอลในไทยอยู่จำนวนไม่น้อยและมันคงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ไม่ยากหากโปรแกรมแข่งขันที่ทีมของพวกเขาจะลงเล่นดันเกิดทับกันกับไทยลีก (แน่นอนว่าเขาคงเลือกกดปุ่มดูบอลนอกอย่างไม่ต้องสงสัย)

 

ฟูแล่มเจออาร์เซนอล ในขณะที่ราชบุรี มิตรผลฯ เจอทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด, เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยนปะทะเลสเตอร์ กับบีจี ปทุมฯโคจรมาเจอบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือจะเป็นบิ๊กแมตช์อย่างแมนซิตี้ปะทะอาร์เซนอล กับเมืองทองฯเจอตราด เอฟซี ทั้งหมดที่ว่ามาล้วนเข้าข่าย “คนไทยต้องตัดสินใจเลือกชม”  

 

อันที่จริงข้อสมมติฐานและไดเล็มม่าในข้างต้นมันมีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้และคงไม่มีใครกล้าเถียง หากแต่ถ้าเรามาชำเลืองดูโปรแกรมการแข่งขันในลีกชั้นนำทางฝั่งยุโรปกันดีๆ (โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีก) เหตุการณ์ที่คนดูบอลอย่างเราๆท่านๆจะต้องเลือกระหว่างบอลนอกหรือบอลไทยนั้นมันค่อนข้างที่จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก

 

นั่นเพราะตารางแข่งขันส่วนใหญ่ของลีกชั้นนำในยุโรปหากไม่นับช่วงแรกๆของฤดูกาลส่วนใหญ่ก็จะเตะกันสี่ทุ่มขึ้นไปซึ่งเวลาที่ว่าไม่ได้ทับซ้อนกับบอลไทยที่มีแมตช์เตะช้าสุดคิ๊กออฟกันช่วงสองทุ่ม พูดง่ายๆคนไทยดูบอลไทยจบก็สามารถต่อบอลนอกได้เลยทันทีแบบไร้รอยต่อ

 

และหากใครจะพูดในด้านแฟนบอลในสนามที่การจะเดินทางกลับบ้านเพื่อไปกดจอตู้ดูบอลนอกให้ทันนั้นคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็อย่าลืมอีกเช่นกันว่าสมัยนี้มันมีหลายช่องทางที่สามารถรับชมบอลนอกได้ไม่ว่าตัวจะอยู่ที่ไหน และการรับชมบอลส่วนใหญ่ปฎิเสธไม่ได้ว่าร้อยทั้งร้อยการได้ดูบอลกับเพื่อนๆย่อมให้อรรถรสที่ดีกว่าดูคนเดียวแน่นอน ดังนั้นโอกาสที่จะมองเป็นข้อลบมันก็มีอยู่ไม่มาก

 

“เอาหน่า..ทุกอย่างมันไม่มีอะไรเพอร์เฟ็ค” การที่สมาคมฯ,ไทยลีกและสภากรรมการกำหนดตารางการแข่งขันลีกไทยให้ออกมาแบบนี้ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เป้าหมายและความตั้งใจแต่แรกของพวกเขานักหรอก หากแต่เป็นสถานการณ์มันพาไปและแน่นอนว่าทุกฝ่ายก็ต้องปรับตัวไปด้วยกัน

 

ดังนั้นกับคำถามที่ว่า “เมื่อบอลนอกคิ๊กออฟทับบอลไทย คุณจะเลือกชมแมตช์ไหน?” ก็คงไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรเท่าไหร่เพราะผลกระทบมันก็มีอยู่บ้างแต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อย  

 

ผมเชื่อว่าปฎิทินใหม่ที่เตะหนีฝนแบบนี้น่าจะช่วยให้แฟนบอลไทยตัดสินใจเดินเข้าสนามได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนนะ ช่วยให้การหารายได้เข้าสโมสรไม่ว่าจากการขายเสื้อบอลและของที่ระลึกหน้าสนามหรือการปล่อยพื้นที่บางโซนให้เช่าเพื่อจัดกิจกรรมจะได้รับฟีตแบคที่ดีขึ้น และนั่นจะเป็นที่มาของ “ฟ้าหลังฝน” หลังโควิดเล่นงานฟุตบอลของเราอย่างเหี้ยมโหดแน่นอน...


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

La Vie en Rose