stadium

พรบ.การพนัน เหตุผลหรือข้ออ้าง ฉุดรั้งพัฒนาการนักสอยคิวไทย?

15 สิงหาคม 2563

 

 

นับตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่สามารถซ้อมหรือเล่นสนุกเกอร์ได้อย่างอิสระ ต้องหาที่ฝึกซ้อมกันอย่างยากลำบาก ทำให้มีนักกีฬาแจ้งเกิดได้น้อยและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาว ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านอย่างจีน ที่เริ่มต้นด้วยการเดินตามรอย ต๋อง ศิษย์ฉ่อย แต่วันนี้เขากลับแซงหน้าเราไปแล้วหลายช่วงตัว มีโรงเรียนสอนสนุกเกอร์ ปั้นนักกีฬาเข้าสู่เวทีอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่เหนี่ยวรั้งนักสนุกเกอร์ไทยเติบโตช้ากว่าที่ควร เป็นเพราะ พรบ.การพนัน อย่างเดียวจริง ๆ หรือ ? วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกับ คุณสมขวัญ เพ็ชรเสนา หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์สยามกีฬา และผู้บรรยายกีฬาสนุกเกอร์ทางทรูวิชั่น ผู้ที่เห็นทุกปัญหาของวงการสอยคิวไทยมาตลอด 30 ปี 

 

 

ภาพของกีฬาสนุกเกอร์ในอดีตเป็นอย่างไร

สนุกเกอร์ เมื่อก่อนไม่เหมือนปัจจุบัน สูบบุหรี่ได้ เป็นแหล่งมั่วสุมของนักเลงหัวไม้ พื้นเป็นพื้นหินธรรมดาไม่ได้ปูพรม ถ่มน้ำลายได้ เป็นโต๊ะไม้ธรรมดา มีพัดลม จนกระทั่ง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เริ่มมีชื่อเสียง ภาพลักษณ์ต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลาย ๆ สถานที่มองว่าสนุกเกอร์ช่วยสร้างรายได้ ก็เริ่มหันมาเปิดโต๊ะสนุกเกอร์ ทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า มีการติดแอร์ ปูพรม มีเบาะ มีโซฟาให้นอนอย่างดี มีโทรทัศน์

 

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ถึงเข้ามาอยู่ใน พรบ.การพนัน

อย่างที่บอก สนุกเกอร์ เป็นเรื่องราวของนักเลงหัวไม้ชอบจับกลุ่มรวมตัวกันในโต๊ะสนุ๊ก จึงถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของพวกนักเลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มมีการปราบพวกนักเลง หนึ่งในวิธีนั่นก็คือทำให้สนุกเกอร์อยู่ภายใต้ พรบ.การพนัน มีข้อกำหนดมากมาย ที่สำคัญห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าโต๊ะสนุ๊ก เพื่อป้องกันไม่ให้พวกวัยรุ่นไปจับกลุ่มรวมตัวกัน ไม่ให้ไปสร้างปัญหาแก่สังคม

 

จุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ สนุกเกอร์ หลุดจาก พรบ.การพนัน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ 

ปี พ.ศ. 2535 ในยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย ได้มีการประชุมพิจารณาให้กีฬาสนุกเกอร์หลุดจาก พรบ.ฉบับนี้ ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปทำข่าวเกาะติดเรื่องนี้ตลอด ในที่ประชุมพูดคุยกันถึงเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งเหมือนจะมีความคืบหน้า แต่สุดท้ายเรื่องก็กลับมาอยู่ในจุดเดิม เพราะมีบุคคลแปลกปลอมที่ไม่เคยเข้าประชุมมาตีรวนทำให้การประชุมไม่คืบหน้า สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป

 

ก่อนหน้านี้ “บิ๊กแน๊ต” ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ พยายามผลักดันสนุกเกอร์ให้เป็นกีฬาโรงเรียนเหมือนบาสเกตบอล ฟุตบอล ปรากฎว่า บิ๊กแน๊ต โดนผู้ปกครองโจมตีเละเลย เพราะว่าตอนนั้นสนุกเกอร์ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ยังถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุม

 

แต่หลังจากพัฒนามาเป็นกีฬาอาชีพ ถูกบรรจุในมหกรรมกีฬาอย่าง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้กำหนดให้ สนุกเกอร์ อยู่ใน พรบ.การกีฬาแห่งประเทศไทยสนุกเกอร์ จึงเป็นกีฬาชนิดเดียวที่มีทั้ง พรบ.การพนัน และ พรบ.กีฬา

 

 

เมื่อสนุกเกอร์มี พรบ.กีฬา  ภาพลักษณ์เปลี่ยนไปในทิศทางใด

ถ้ามองในแง่การสนับสนุน พรบ.กีฬา ช่วยให้กีฬาชนิดนี้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะว่ากฎกระทรวง พรบ.การพนัน ปี 2535 ที่ออกมาใหม่เข้มงวดขึ้นกว่าฉบับเดิม ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าโต๊ะ แต่พอมี พรบ.กีฬา ออกมา มีการอะลุ่มอล่วยกัน เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์เข้าโต๊ะสนุ๊กได้ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง เด็กต้องมีผู้ปกครองพาเข้าโต๊ะถึงเล่นได้ ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ยังไม่ถึงกับเจอทางตัน

 

ปัญหาอะไรที่ทำให้สนุกเกอร์ไม่หลุดจาก พรบ.การพนัน

เรื่องของเงิน ถ้าถามว่าจะสนุกเกอร์จะหลุดจาก พรบ.การพนัน ได้ไหม ต้องบอกว่าภาวนา ยอมรับว่าค่อนข้างยากด้วยเหตุผลเดิม ๆ ถ้าสนุกเกอร์เป็นกีฬาก็ต้องเหมือนฟุตบอล เหมือนเทนนิส ต้องมีที่ให้เล่นแบบอิสระ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จะเอาสนุกเกอร์ออกจาก พรบ.การพนัน ก็เหมือนขี่รถจักรยานยนต์ไปชนกับสิบล้อ นึกภาพออกมั้ย ดูแล้วยังไงก็ตาย ด้วยเหตุผลผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ สูญเสียเม็ดเงินมหาศาล คือจริง ๆ ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการจะลงทุนมากเท่าไหร่ แต่พอมี พรบ.การพนัน เข้ามามันก็เป็นช่องทางทำมาหากินเลยยากที่จะหลุด

 

ปัจจุบันสนุกเกอร์พัฒนามาไกล ไม่มีแล้วพวกแต่งตัวเหมือนกุ๊ยหรือนักเลงดูดกัญชา ใส่รองเท้าแตะ โต๊ะติดแอร์ ห้ามสูบบุหรี่ มีแฟนสนุกเกอร์จริง ๆ ที่ไม่เล่นการพนัน บางกลุ่มมาเล่นเพื่อออกค่าเกม แชร์ค่าไฟ การแต่งกายดีขึ้น บางโต๊ะลงทุนมากกว่า 20-30 ล้านบาท ใส่รองเท้าแตะมาเขาไม่ให้คุณเข้านะ คุณต้องใส่รองเท้าหุ้มข้อ กางเกงขายาว เสื้อสุภาพหน่อย ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดี

 

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนที่ไม่ดี บางสถานที่อาจจะเปิดใหญ่ก็จริง แต่มีไลฟ์สด มีการเล่นพนัน ซึ่งภาพลักษณ์ตรงนี้ต้องกำจัดให้หมดไป เพราะยังมีคนเหล่านี้ทำอยู่ ภาพลักษณ์ของสนุกเกอร์เลยยังเป็นสีเทา ยังไม่รวมถึงบางที่เจ้าของกิจการเห็นแก่ได้ ในโต๊ะสนุ๊กมีตู้สล็อต ตู้ม้า ตรงนี้แหละที่บอกว่าจะไปโทษอีกฝั่งไม่ได้ เพราะคุณก็ทำในสิ่งที่เป็นสีเทาๆ

 

เมื่อก่อนการขอใบอนุญาติมีโต๊ะสนุกเกอร์ต้องขอจากตำรวจ แต่ปัจจุบันขอไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ ใบอนุญาติที่ถือกันอยู่ก็คือใบเดิม ๆ ที่ซื้อขายต่อกันมา 1 ใบ มีโต๊ะสนุ๊กได้ 6 ตัว แต่กฎหมายบ้านเรามีช่องว่าง บางคนเปิดโต๊ะใหญ่มีโต๊ะกว่า 30 ตัว เป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ ถ้ามีใบอนุญาติไม่ถึงแล้วเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ จะเกิดอะไรขึ้น คุณก็ต้องจ่าย

 

ซึ่งตรงนี้สมาคม ฯ ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เพราะจริง ๆ แล้วเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ถ้าคุณทำงานด้วยความสุจริต ทำด้วยใจรักษากฎหมาย เขาทำผิดคุณสามารถปิดโต๊ะได้ ยึดใบอนุญาติได้ ถามว่าถ้าทำกันจริงจัง คนลงทุน  30 ล้านบาท เขาจะกล้าเสี่ยงไหม ทุกวันนี้ช่องว่างกลายเป็นช่องโหว่ เป็นรอยด่างที่ลบไม่ออก สลัดก็ไม่ได้เพราะว่ามันเกาไม่ถึงหลัง

 

 

คุณคิดว่ามันกดการพัฒนาการและการเติบโตของกีฬาชนิดนี้อย่างไร 

ผมมองว่าสนุกเกอร์ยังไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอล ยังไม่ใช่กีฬามหาชน สนุกเกอร์ก็เหมือนอีกหลายกีฬา คนสนใจเฉพาะตอนที่มีนักกีฬาได้แชมป์ เหมือนเทนนิสคนหันมาเล่นเพราะ แทมมารีน ธนสุกาญจน์ , ภราดร ศรีชาพันธุ์ หรือ เทควันโด มี เยาวภา บุรพลชัย ที่ได้เหรียญทองแดงโอลิมปิก คนก็แห่พาลูกไปเรียนเพียงแต่ภาพของกีฬาเหล่านี้ยังดูดีกว่า

 

จริง ๆ สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่ไม่ต้องลงทุนเยอะนะ เล่นก็ง่าย เดินตัวเปล่าเข้าโต๊ะก็มีไม้สนุ๊กให้เล่น ค่าชั่วโมงก็ร้อยกว่าบาท เด็กที่บ้านไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ก็สามารถเล่นได้ แถมบางคนยังสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้อีก แต่มันก็กลายเป็นดาบสองคม

 

ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย ที่ผ่านมารัฐไม่ได้เข้ามาช่วย ผู้ปกครองส่งเสริมลูกตัวเองมากกว่า เพียงแต่ว่ายังติดอยู่กับคำว่าการพนัน จึงถูกมองว่าสนุกเกอร์เป็นของคนในวงการสีเทามากกว่าสีขาว แต่โชคดีที่สนุกเกอร์มีคนอย่าง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เป็นฮีโร่ มีคนอย่าง หนู ดาวดึงส์ สองคนนี้บ้านยากจน แต่มีโต๊ะสนุ๊ก ขยันซ้อม เล่นเก่ง หาเงินได้ ทำให้สนุกเกอร์ค่อย ๆ ล้างภาพจากดำสนิท เริ่มเป็นสีขาวปนเทา ๆ 

 

ถ้าจะให้พ้น พรบ.การพนัน ต้องไม่มีคำว่าเทา หมายความว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันทั้งเจ้าของกิจการ นักกีฬา เจ้าหน้าที่ การเล่นเดิมพันต้องหายไป ถ้าทำได้สนุกเกอร์จะถูกมองว่าเป็นกีฬา แต่ถ้ายังเป็นอย่างทุกวันนี้ เมื่อไหร่ที่หมดยุค ต๋อง ศิษย์ฉ่อย , หมู ปากน้ำ , เอฟ นครนายก , ซันนี่ สายล่อฟ้า บอกตรง ๆ นึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะว่าเรากำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะรัฐบาลไม่มีอะไรมาสนับสนุน สปอนเซอร์เริ่มหาย

 

หมายความว่า พรบ.การพนัน ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้สนุกเกอร์หยุดพัฒนา

ถ้าเปรียบเทียบ พรบ.การพนันกับสนุกเกอร์ ก็เหมือนไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา เหมือนวัณโรคเมื่อร้อยกว่าปีก่อนแต่สุดท้ายเราก็อยู่กับมันได้ ถามว่า พรบ.การพนัน ทำให้วงการสนุกเกอร์ตายหรือเปล่า ก็ไม่นะ เพราะถ้ามันตายมันตายไปนานแล้ว คงไม่มีการแข่งขันระดับเยาวชนเกิดขึ้น ไม่มีรายการเก็บสะสมคะแนน เพียงแต่ว่าเงินที่ควรจะมาสนับสนุนนักกีฬา โดนแปรสภาพไปจ่ายนอกระบบ ถ้าไม่โดนไปจ่ายนอกระบบ ผมเชื่อว่าเงินส่วนนี้จะช่วยพัฒนาวงการสนุกเกอร์ได้มากกว่านี้

 

 

อนาคตถ้าไม่มี พรบ.การพนัน เราจะเห็นภาพสนุกเกอร์เป็นแบบไหน

เราจะมีนักกีฬาสนุกเกอร์มากขึ้น จริง ๆ แล้วเรื่องของ พรบ.การพนัน ผมมองว่าไม่มีผลเยอะ เพราะ พรบ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ ทำให้เยาวชนยังเข้าไปเล่นได้ ไม่ได้ห้ามร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การสนับสนุนของรัฐบาลมากกว่า มีอะไรต่อยอดนักกีฬาหรือเปล่า ตอนนี้ที่สนุกเกอร์ที่ยังไปได้ เพราะยังมีบางมหาวิทยาลัย อย่าง ม.รัตนบัณฑิตย์ เปิดช่องทางให้นักกีฬาสนุกเกอร์ได้เข้าเรียน ทั้ง ๆ ที่กีฬามหาวิทยาลัยไม่ได้บรรจุให้สนุกเกอร์มีการแข่งขัน แต่ก็ยังรับนักกีฬาสนุกเกอร์เข้าไปเรียนอันนี้ต้องชื่นชม ถ้าหลาย ๆ องค์กรคิดแบบเดียวกันได้ วงการสนุกเกอร์ไม่มีวันตาย นักกีฬามีความรู้ มีใบปริญญาสามารถเอาไปต่อยอดได้

 

รัฐบาลควรจะช่วยสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สนุกเกอร์ แต่รวมถึงทุกกีฬา ขั้นแรกรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยตั้งแต่การวางรากฐาน ต้องสร้างนักกีฬาให้เป็นฮีโร่ ทุกวันนี้กีฬาบ้านเรา คุณต้องสร้างประสบความสำเร็จให้เห็นก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ลองไปดูได้หลายชนิดกีฬาซิ ที่เขาไม่เก่งเพราะรากฐานไม่แข็งแรง พอไม่เก่ง ไม่ประสบความสำเร็จสปอนเซอร์ก็ไม่เข้า แต่พอมีเหรียญรางวัลใครก็วิ่งเข้าหา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนายกสมาคมกีฬาบ้านเราถึงต้องเป็นคนมีสี เป็นนักธุรกิจ เพราะคนธรรมดาทำไม่ได้ จะเอาเงินจากไหนดูแลนักกีฬา

 

อีกเรื่องคือรัฐบาลต้องให้หลักประกันชีวิตแก่นักกีฬา ซึ่งตรงนี้เป็นจุดบอร์ดของวงการกีฬาไทย ที่ต้องช่วยกันแก้ ต้องมองให้ลึก ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่น่าจะมองเห็นแต่ไม่ได้แก้ เพราะปัจจุบันหลาย ๆ ครอบครัวให้ลูกเป็นนักกีฬาเพราะหวังโควตาเรียนฟรี เรียนจบมีงานดีดีทำ ยกตัวอย่างว่ายน้ำเยาวชนเราเก่งนะ ได้เหรียญ ซีเอจ กรุ๊ป แต่พอไม่ใช่กีฬาอาชีพ ไม่มีแข่งชิงเงินรางวัล เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องเลือกว่าจะเรียนหรือเล่นกีฬา ถ้าเล่นแล้วไม่มีอะไรมารองรับ พ่อแม่ก็ต้องเลือกให้ลูกเขาเรียนหนังสือมีการศึกษาที่ดี

 

หน่วยงานที่รองรับก็ต้องเป็นพวก รัฐวิสาหกิจ ฟุตบอลสมัยก่อนยังไม่เป็นอาชีพเต็มตัว นักบอลรุ่นเก่าๆ ได้ค่าตอบแทนไม่เยอะ เงินเดือนหลักพัน แต่เขายอมเหนื่อยเพราะอยากทำงานรัฐวิสาหกิจ การท่าเรือ การไฟฟ้า แต่ตอนนี้ยอมรับว่าราชการหลายๆที่ดีขึ้น เอานักกีฬามาเป็นตำรวจ ทหาร

 

สนุกเกอร์อาจไม่ใช่กีฬาที่ผู้ปกครองชื่นชอบ แต่มันสามารถสร้างคนให้เป็นคน เปลี่ยนเด็กไร้อนาคตให้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้ และนี่คือความคิดเห็นของคุณสมขวัญ เพ็ชรเสนา ผู้ที่มีใจรักในกีฬาสนุกเกอร์จากก้นบึ้งของหัวใจและหวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้วงการสอยคิวไทยพัฒนาไปสู่ระดับโลก 

 

แล้วคุณละคิดว่าปัญหาของวงการนี้มันอยู่ที่ตรงไหน?


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา