stadium

สเต็ปไปยุโรปของแข้งไทยระหว่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” กับ “มีโอกาสต้องรีบคว้าไว้” แบบไหนถึงจะเหมาะ?

31 กรกฎาคม 2563

สเต็ปไปยุโรปของแข้งไทยระหว่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” กับ “มีโอกาสต้องรีบคว้าไว้” แบบไหนถึงจะเหมาะ?

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

 

“บอลอยู่ที่กีเก้ ซานเชส ข้างหน้ามีมุ้ยวิ่งแหวกกองหลังขึ้นไป นั่นแหละครับ..ซานเชสผ่านบอลให้ธีรศิลป์ ธีรศิลป์ลากเข้าเขตโทษ ธีรศิลป์ยิง! โอ้ว! เรียบร้อยครับ! อัลเมเรียนำห่างเบติส 2 ประตูต่อ 0 ได้ประตูจากเจ้ามุ้ยของเราและเป็นประตูแรกของเจ้าตัวกับอัลเมเรียอีกด้วยครับ ยิงเล่นทางแบบหมดสิทธิ์ที่แดนี่ จิมิเนซ จะเซฟได้” ส่วนหนึ่งของเสียงพากย์จากลำโพงทีวีในครั้งที่เจ้ามุ้ยลงเล่นภายใต้สีเสื้อของอัลเมเรียเมื่อปี2014 ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการฟุตบอลไทยที่มีคนไทยทำประตูได้ในบอลถ้วยของสเปน

 

ภาพและเสียงยังคงติดตาใครหลายคนและยังถือเป็นแรงบันดาลใจให้บรรดานักเตะรุ่นน้องได้เอาไว้ใช้เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเส้นทางการค้าแข้งของตัวเอง และการไปยุโรปถือเป็นความฝันสูงสุดที่นักเตะไทยทุกคนต่างตั้งความหวัง

 

เพียงแต่ว่ามันจะมีซักกี่คนที่ทำได้ (เหมือนอย่างที่มุ้ยทำ)? นักเตะไทยสามารถไปค้าแข้งที่ยุโรปได้จริงหรือ? และระหว่างการไปยุโรปแบบค่อยเป็นค่อยไปกับมีโอกาสต้องรีบคว้าเอาไว้ อย่างไหนที่นักเตะไทยควรทำ? เชื่อว่าชุดคำถามเหล่านี้คงเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่เฉพาะแต่ในวงสนทนาของบรรดานักเตะไทยเท่านั้น หากแต่ในวงกาแฟของแฟนบอลไทยก็ถกกันแบบออกรสออกชาติไม่แพ้กัน

 

มีคนเคยบอกเอาไว้ว่าการไปค้าแข้งยังยุโรปของนักเตะไทยคงเป็นอะไรที่ไม่ต่างจากการต้องเลือกระหว่าง “หัวสุนัข” กับ “หางราชสีห์” เพราะที่เขาเปรียบแบบนั้นนั่นเพราะโอกาสสำหรับนักเตะไทยในเวทีเมืองนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทียุโรปดูจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะไกลตัวอย่างมาก (อุปสรรคขวากหนามมันเยอะ เยอะเสียจนมองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหารบกวนจิตใจและนั่นก็ทำให้นักเตะไทยหลายคนยอมทิ้งโอกาสด้วยการเลือกดังในประเทศดีกว่าโนเนมในต่างแดน)

 

เอาแค่เรื่องง่ายๆใกล้ตัวอย่างการปรับตัวกับสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่ไทย, การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับของคนฝรั่งที่มีทั้งเพื่อนร่วมทีม, สต๊าฟโค้ชและแฟนบอล, อุปสรรคด้านการสื่อสารที่บางครั้งอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นแกะดำ และไหนจะเรื่องเวิร์คเพอมิตอีกที่หลายประเทศปิดโอกาสนักเตะไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาหนัก

 

ยิ่งหากคุณไปในฐานะเด็กเส้นหรือหนึ่งในแคมเปญเพื่อการตลาด โอกาสที่คุณจะได้ลงเล่นมันก็ดูจะริบหรี่ยิ่งกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยว (คิดกันง่ายๆฟุตบอลเล่นกันทีมละ 11 คน หากฝีเท้าคุณไม่โดดเด่นจริงๆการที่โค้ชส่งคุณลงเล่นไม่ว่าจะในฐานะตัวจริงหรือสำรอง มันก็ไม่ต่างจากการต่อให้ทีมคู่แข่ง 1 ตำแหน่งนั่นแหละ อย่างนี้แล้วความเสี่ยงที่คุณจะได้นั่งแบบรากออกก้นมันก็มีอยู่ค่อนข้างมาก)

 

ด้วยเหตุนี้มันก็เลยมีคนเสนอไอเดียที่ว่าหากคุณอยากไปเล่นที่ยุโรปจริงๆ คุณต้องเริ่มบ่มเพาะทักษะ, การยอมรับและชื่อเสียงจากลีกชั้นนำในเอเชียนี้ให้ได้เสียก่อน ถือเป็นกรรมวิธีแบบที่นักเตะชื่อดังหลายคนมักใช้กัน เรียกได้ว่าเป็นสเต็ปพื้นฐานแบบ “ก้าวทีละก้าว” แต่ค่อนข้างที่จะมั่นคง

 

ชินจิ คากาวะก่อนไปเสือเหลืองดอร์ทมุนท์ก็เริ่มจากการสร้างชื่อกับเซเรโซ่ โอซาก้า, ปาร์ค จี ซอง ก่อนดังกับพีเอสวีจนแมนยูต้องซื้อเจ้าตัวไปร่วมทีมเขาก็เริ่มต้นสร้างชื่อที่เกียวโตกับเกียวโต แซงก้าก่อน หรือจะเป็นในรายของอาลี คาริมี่ อดีตตำนานทีมชาติอิหร่านที่สร้างชื่อโด่งดังกับอัล อาลีจนได้รับโอกาสจากบาเยิร์น มิวนิคให้ไปโลดแล่นยังบุนเดสลีกา ทั้งหมดที่ว่ามาก็ล้วนมาจากสเต็ปที่ว่า “ค่อยเป็นค่อยไปแบบก้าวทีละก้าว” มาทั้งนั้น

 

แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกันที่มองว่าโอกาสมันมีเข้ามาไม่บ่อยและเมื่อน้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก! (หากมัวแต่จะก้าวทีละก้าวกว่าจะไปถึงจุดหมายอาจลื่นล้มสะดุดยอดหญ้าก่อนก็เป็นได้) เพราะต้องยอมรับตามตรงว่าอายุในการค้าแข้งของนักเตะโดยทั่วไปนั้นถือว่าสั้น อย่างเก่งหากดูแลตัวเองได้ดีก็อาจเล่นได้ 10-15 ปี แต่ถ้าหากโชคร้ายเกิดดวงแตกโดนอาการ “แตก-หัก-ขาด” เข้าเล่นงานก่อนวัยอันควร นั่นก็เท่ากับหมดโอกาสในการตามล่าหาฝันไปเลยทันที

 

และนั่นแหละคือที่มาของหัวข้อกรณีศึกษาที่เราต้องมาร่วมค้นหาไปด้วยกันว่าระหว่างแนวทางแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” กับ “มีโอกาสต้องรีบคว้าไว้” อย่างไหนถึงจะเหมาะกับนักเตะไทยในการค้าแข้งที่ยุโรป? ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้จะถูกนำเสนอออกมาในรูปของการดีเบตกันระหว่างหนึ่งในนักเตะที่เคยค้าแข้งในเบลเยี่ยมอย่าง “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย ผู้ที่มองว่ามัวแต่รอก็จะเสียการใหญ่ กับยูทูปเบอร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลนาฎราช สาขาผู้บรรยายรายการกีฬายอดเยียมอย่าง “เจ” วรปัฐ อรุณภักดี กับความเชื่อที่ว่าความสำเร็จมันต้องมาแบบทีละสเต็ป คงต้องมาดูกันว่ามุมมองของทั้งสองท่านจะบอกอะไรเราได้บ้างและอย่างไหนคือแบบที่เหมาะกับนักเตะไทย..สองทุ่มตรง 1 สิงหาคม ช่องยูทูปช้างศึกที่นี่ที่เดียวเท่านั้น ท่านต้องไม่พลาด!


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

โฆษณา