stadium

ควรมั้ย..ถ้าลีกไทยในฤดูกาลนี้จะไม่มี “ตกชั้น!” ?

22 กรกฎาคม 2563

ควรมั้ย..ถ้าลีกไทยในฤดูกาลนี้จะไม่มี “ตกชั้น!” ?

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

 

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบของโควิด-19, สโมสรขาดแคลนกระแสเงินสดจากการอดลงแข่งขัน, นักเตะต่างชาติยังเข้าไทยไม่ได้, สโมสรปล่อยตัวเก่าออกไปยังหาตัวใหม่ได้ไม่ทัน, เงินบำรุงทีมที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดส่อแววจะถูกลด และโปรแกรมการแข่งขันที่อาจกลับมาเตะกันเร็วกว่ากำหนดชนิดตั้งตัวแทบไม่ทัน นี่คือตัวอย่างของสถานการณ์ที่หลายสโมสรทั้งในระดับลีกสูงสุดและลีกพระรองกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ ว่ากันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดูจะเลวร้ายยิ่งกว่าครั้งไหนๆและกำลังจะทำให้บอลไทยเขยิบเข้าไปใกล้กับคำว่า “ฟุบ” เข้าไปทุกที  

 

และก็อย่างที่เราทราบกันนั่นแหละว่าความเป็นไปได้ที่ลีกไทยจะกลับมาโม่แข้งกันใหม่เร็วกว่ากำหนดเดิมที่สมาคมฯและไทยลีกได้เคยประกาศไว้ในตอนนี้ดูจะมีเปอร์เซ็นต์หนักไปทาง “เป็นไปได้” (เนื่องจากคนถือเงินแจ้งความต้องการมาอย่างชัดเจน) ดังนั้นมหกรรมการเตะแบบรวดเดียวไม่ต้องหยุดพักชนิด “3 วันที 4 วันบ้าง” คงเป็นสิ่งที่ทุกทีมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ๆหลังจากนี้

 

คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อสถานการณ์มันเป็นอย่างนี้บวกกับสภาวะที่กล่าวมาในพารากราฟข้างต้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรเอาอย่างลีกต่างชาติด้วยการที่ไม่ให้มีทีมตกชั้น?

 

“น่าสนใจ” เพราะหากลีกไทยมีอันต้องกลับมาแข่งกันใหม่ตั้งแต่สิงหาคมนี้เป็นต้นไปมันก็แน่นอนแล้วว่าบรรดาทีมที่ปล่อยแข้งต่างชาติกลับบ้านแล้วยังกลับมาไม่ทัน, ยังไม่ได้เรียกนักเตะกลับมาฝึกซ้อม และ/หรือกำลังเดินหน้าหาสภาพคล่อง ทีมเหล่านี้ดูยังไงก็เสียเปรียบคู่แข่งร่วมลีกทั้งขึ้นทั้งล่อง  

 

ยิ่งถ้าหากพวกเขาเป็นทีมที่แรกเริ่มเดิมทีก็ไม่ได้อยู่กลุ่มบน, มีขนาดทีมที่เล็ก, เงินทำทีมจำกัด พวกเขาคงจะไม่ปลื้มเท่าไหร่ในการต้องผจญภัยในลีกด้วยปัจจัยที่เป็นอยู่ และการที่จะต้องเสี่ยงส่งทีมที่ไม่แข็งแรงไปลุ้นทำอันดับในตารางดูยังไงก็ต้องบอกว่า “เสี่ยง” ดังนั้นหากไม่มีพื้นที่ตกชั้นมันก็ถือว่าตอบโจทย์พวกเขาอยู่เหมือนกัน

 

และฟังๆจากฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการไม่มีโซนตกชั้นจะช่วยลดต้นทุนในการทำทีมลงอย่างมากแถมยังเป็นการส่งเสริมให้นักเตะเยาวชนได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพราะพวกเขาสามารถโละตัวต่างชาติทิ้งเพื่อเซฟรายจ่ายในขณะที่การดันดาวรุ่งขึ้นไปก็เป็นอะไรที่ใช้งบไม่เยอะ (เมื่อเทียบกัน) ซึ่งทั้งสองอย่างจะส่งผลให้สโมสรยังพออยู่ได้

 

เพียงแต่ถ้าจะมองในอีกด้านหนึ่งสำหรับกลุ่มคนที่เห็นต่าง การไม่มีพื้นที่ตกชั้นอาจทำให้เกิดเอฟเฟกต์ด้านลบและข้อสังเกตุอื่นๆอีกมากมายตามมาต่อท้าย  

 

เอฟเฟกต์อย่างแรก คือการเริ่มต้นของประโยคคำถามที่ว่า “จะเตะไปทำไม? จะดูบอลไปเพื่ออะไร?”  

 

พูดถึงเรื่องของความจริงจังในกรณีที่ไม่มีทีมตกชั้นมันจะมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อบรรดาทีมที่เป็นพันธมิตรลูกหนังอาจพาเหรดกันเตะบอลเพื่อสุขภาพส่งผลให้การลุ้นแชมป์, พื้นที่ขึ้นชั้น หรือการช่วงชิงพื้นที่โควต้าชิงแชมป์สโมสรเอเชียอาจกลายเป็นการวัดกันของจำนวนเครือข่ายที่ดูว่าใครจะมีมากกว่ากันเสียมากกว่า

 

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงทีมในลีกพระรองอย่างไทยลีก 2 และ 3 ที่บางทีมเล่นลงทุนตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาลด้วยการกว้านซื้อนักเตะฝีเท้าดีเข้าทีมมากมายเพื่อที่ทีมจะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงต่อพื้นที่โซนสีแดง หากยกเลิกการตกชั้นไปมันก็ดูจะไม่ค่อยยุติธรรมซักเท่าไหร่

 

ด้านแฟนบอลเองหากผลการแข่งขันสามารถคาดการณ์กันได้ล่วงหน้าแบบไม่ยาก (เมื่อแฟนบอลต่างรู้อยู่แล้วว่านี่มันแมตช์ทีมพี่-ทีมน้อง) อรรถรสในการรับชมรวมไปถึงความสนุกที่ได้ลุ้นการเปลี่ยนไปของอันดับในตาราง ทั้งหมดที่ว่ามามันจะเหลืออยู่แค่ไหนเล้วลีกไทยจะยังเป็นทัวร์นาเมนต์ทางการอยู่มั้ยหรือแค่คิวเตะปาหี่แบบเฉพาะกาล

 

เอฟเฟกต์ที่สอง คือ คุ้มแค่ไหนกับ “สบายวันนี้เพื่อลำบากในวันข้างหน้า?”  

 

เราเห็นกันมานักต่อนักแล้วว่าผลพวงจากการที่ลีกไม่มีการตกชั้นจะส่งผลให้คิวเตะในฤดูกาลถัดไปยุ่งเหยิงขึ้นกว่าเดิมเพราะแน่นอนว่าหากฤดูกาลปัจจุบันไม่มีทีมหล่นชั้น นั่นย่อมหมายถึงจำนวนทีมที่จะเพิ่มขึ้นในฤดูกาลหน้าและก็คือที่มาของจำนวนนัดที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับโซนสีแดงที่จะถูกป้ายให้กว้างขึ้นตาม พูดง่ายๆมันก็เหมือนซื้อความสบายในวันนี้เพื่อวัดดวงกับความลำบากที่รออยู่ในวันพรุ่งนี้นั่นแหละ...แล้วแบบนี้จะยังดูดีจริงหรือ?

 

“เอาไงดี?” เพราะด้านนึงที่อยู่ในฝ่ายสนับสนุนก็มีเหตุผลที่พอจะรับฟังได้อยู่ ในขณะที่อีกด้านก็คัดค้านด้วยเหตุผลที่ดีไม่แพ้กัน

 

ว่าแต่ท่านผู้อ่านล่ะ..ปีนี้ท่านเห็นควรว่าไง? ลีกไหนควรไม่ต้องมีคำว่า “ตกชั้น”?


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Changsuek Content Creator

La Vie en Rose