stadium

โอกาส และทางออกของศึกว่ายน้ำชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยปี 2563

20 กรกฎาคม 2563

ตามประกาศของ ศบค. และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มีมติให้ 14 กีฬากลับมาแข่งขันแบบไม่มีคนดูได้แล้วซึ่งยังไร้ชื่อกีฬาว่ายน้ำใน 14 ชนิดกีฬาที่ประกาศออกมาในรอบแรก ซึ่งก็มีถึง 5 ชนิดกีฬาที่ทางภาครัฐระบุว่าต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเพราะมีความใกล้ชิดกันในเวลาแข่งขัน ซึ่งว่ายน้ำเองก็ไม่ต่างกันถ้าจะมีการจัดการแข่งขันระดับชาติ อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อน ซึ่งถ้ามีการระบุแบบนั้นจริง ๆ โอกาสในการจัดศึกว่ายน้ำชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยประจำปี 2563 น่าจะมีโอกาสจัดได้น้อยลงไปอีก

 

ภาพจาก Thailand Swimming Association

 

ควรจัดไหม 

"ควรจัดไหม" ถ้านับจากวันที่ทุกคนในวงการว่ายน้ำต่อสู้เพื่อที่จะเปิดสระกลับมาฝึกซ้อมในช่วงกลางเดือน พฤษภาคม ไปจนถึง เดือนตุลาคม เดือนที่สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย กำหนดวางแผนให้เป็นเดือนที่จะระเบิดศึกชิงชัยจ้าวสระแห่งประเทศไทย ก็ต้องยอมรับว่ามีเวลามากพอสมควรให้นักกีฬาว่ายน้ำทั้งหลายได้เตรียมตัวลงแข่งขัน 

 

การพยายามที่จะเปิดสระเพื่อฝึกซ้อมคงว่างเปล่าไม่ใช่น้อย ถ้าเปิดสระมาซ้อมกันอย่างหนักหน่วง แต่ไม่มีการแข่งขันอะไรเกิดขึ้นเลยในปีนี้ ไม่นับว่าการแข่งขันว่ายน้ำชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยจะเป็นรายการใหญ่ที่นักกีฬาใช้ทำเวลา ควอลิฟาย เพื่อเข้าร่วมรายการต่าง ๆ อาทิเช่น ซีเอจ กรุ๊ป (ที่ซึ่งมีโอกาสยกเลิกการแข่งขันสูงมาก) ถ้าปราศจากการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย นักว่ายน้ำส่วนใหญ่ก็จะหมดโอกาสทำเวลาไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นถ้านับจากความพยายามร่วมแรงร่วมใจที่ทุกคนเร่งเร้าให้เปิดสระเพื่อฝึกซ้อม ถ้ารัฐบาลมีการเปิดช่องให้จัดการแข่งขันได้ คงไม่มีเหตุผลอันใดที่ สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยจะไม่จัดการแข่งขันในปีนี้

 

ภาพจาก Thailand Swimming Association

 

ทำไมต้องจัด

"การแข่งขันไม่สำคัญเท่ากับฝึกซ้อม" คำพูดนี้ก็จริงอยู่ แต่การฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ โดยปราศจากเป้าหมายในการลงแข่งขันรายการใด ๆ เลย นั้นก็เป็นเรื่องยากทีเดียวในการสร้างแรงจูงใจ และบรรยากาศในการฝึกซ้อมของนักกีฬา การมีตารางการแข่งขันที่แน่นอนย่อมเป็นจุดมุ่งหมาย หรือจุดยึดเหนี่ยวในระยะสั้น ๆ ในการฝึกซ้อมของนักกีฬาอย่างแท้จริง เพราะก็คงเป็นเรื่องตลกร้ายอีกเช่นกัน ในการบังคับลูกหลาน หรือลูกศิษย์ นักกีฬา ให้ฝึกซ้อมอย่างหนักตามโปรแกรม โดยที่ให้คำตอบกับพวกเขาไม่ได้ว่าซ้อมไปทำไม และจะได้แข่งจริง ๆ จัง ๆ เมื่อไหร่ ไม่นับเรื่องที่เด็ก ๆ หลายคนจะเสียโอกาสในการว่ายแข่งขันในรุ่นอายุของตนเองเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าไม่มีการจัดการแข่งขันขึ้นจริง ๆ 

 

ภาพจาก Thailand Swimming Association

 

จัดแบบไหน 

แน่นอนว่าสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย มีการเรียกประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งจะมีมาตรการในการจัดการแข่งขันที่ต่างไปจากทุกปีดังนี้ อย่างแรกคือ จัดแข่งขันแบบ Time Final ว่ายรอบเดียวจบ นำเวลาที่ดีที่สุดมาตัดสินเลย จะไม่มีรอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศเหมือนทุกปี เพื่อลดความแออัด และลดความเหนื่อยล้าของนักกีฬา ซึ่งต่อเนื่องจากมาตรการในข้อที่ 2 ซึ่งก็คือการจัดการแข่งขันแบบแยกกลุ่ม จากที่จัดรวมทุกกลุ่มตั้งแต่กลุ่ม 4 ไปจนถึงรุ่นทั่วไปทั้งหมด 6 วัน เป็นจัดกลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 แข่งด้วยกัน 3 วัน และกลุ่ม 2 จนถึงรุ่นทั่วไปแข่งแยกอีก 3 วัน วิธีนี้จะลดความแออัดในวันแข่งขันได้ แต่นักกีฬาจะต้องแข่งหลายท่ามากขึ้นในวันเดียว ทำให้สมาคมต้องงัดระบบ Time Final ออกมาใช้ 

 

สำหรับปีนี้ถ้ามีการจัดการแข่งขันขึ้นจริง ๆ แล้ว จะต้องเป็นระบบปิดแบบไร้คนดูเท่านั้น เพื่อลดความแออัดในสถานที่การแข่งขัน โดยใช้การถ่ายทอดสดออกมาตามช่องทางต่าง ๆ แทน เพราะยังหาเหตุผลที่ดีในการจะจัดแบบมีคนดู เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าสนามไปเชียร์ในภาวะเหตุการณ์แบบนี้ไม่เจอจริง ๆ การจัดแบบมีคนดูมีแต่จะเพิ่มความเสี่ยง และสร้างเงื่อนไข ในการที่จะไม่มีการแข่งขันมากขึ้นไปอีก ในภาวะปัจจุบันกีฬาที่เป็นที่นิยม และมีผลประโยชน์ในการขายตั๋วมหาศาลยังต้องแข่งแบบไร้คนดู เพราะฉะนั้นกีฬาว่ายน้ำที่ไม่เคยขายตั๋วเข้าชมได้ ยิ่งไม่ควรดื้อจัดแบบมีคนดูเป็นอันขาด บางทีก็ต้องมีคนเสียสละกันบ้าง เพราะเราต่างอยู่ในช่วงที่ไม่ปกติ

 

ภาพจาก Thailand Swimming Association

 

ถ้าไม่จัดต้องทำยังไง 

"ไม่จัดได้ไหม" ก็ต้องตอบเลยว่าได้อย่างแน่นอนขนาดโอลิมปิคยังเลื่อนได้ ชิงแชมป์ประเทศไทยจะเลื่อนคงไม่แปลก แต่เราต้องชดเชยให้กับเด็ก ๆ น้อง ๆ เยาวชนที่เสียโอกาสในปีนี้ เช่น นักกีฬาที่อายุ 11 ปี เต็มรุ่นกลุ่ม 4 , อายุ 13 ปีเต็มรุ่นกลุ่ม 3, อายุ 15 ปีเต็มรุ่นกลุ่ม 2 และอายุ 18 ปีที่จะแข่งกลุ่ม 1 ปีสุดท้าย พวกนี้จะเสียโอกาสทันทีในการครอบครองถ้วย มัจฉานุ อันทรงเกียรติ เพราะฉะนั้นถ้าปีนี้ไม่จัดแข่ง ปีหน้าสมาคมควรจะชดเชยในการเปิดรุ่นพิเศษเป็นรุ่น 12, 14 , 16 และ19 ปี เพื่อให้น้อง ๆ ที่เสียโอกาสในปีนี้ได้มีโอกาสแข่งเต็มรุ่นในอายุของตัวเองในปีหน้า โดยที่ไม่ต้องรออีก 2 ปีเพื่อให้เต็มรุ่นอีกครั้ง โดยเฉพาะเด็กอายุ 18 ปีที่จะแข่งในกลุ่มอายุตัวเองเป็นปีสุดท้ายก่อนขึ้นไปสู่รุ่นทั่วไป ซึ่งตรงนี้สมาคมจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าปีนี้จัดไม่ได้การมีรุ่นพิเศษ และทำถ้วยเพิ่มในปีหน้า เพื่อชดเชย และเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ คงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย

 

ภาพจาก Thailand Swimming Association

 

นักกีฬา และผู้ปกครองอยากแข่งไหม

"ทุกคนมีสิทธิ์เลือก" แต่ต้องไม่ตั้งเงื่อนไขเพราะเราอยู่ในช่วงที่ไม่ปกติ ในวงการว่ายน้ำตอนนี้ เสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายอยากแข่ง และไม่อยากแข่ง ซึ่งแน่นอนถ้ามีการจัดการแข่งขันจริง ๆ ไม่มีใครบังคับใครให้ลงแข่งขันได้ เชื่อว่าทุกท่านประเมินสถานการณ์เองได้ แต่ถ้าเราตัดสินใจลงแข่งขันจริง ๆ ต้องรับกับเงื่อนไข ความเสี่ยงต่าง ๆ ให้ได้โดยไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาเพิ่ม ปีนี้อาจไม่ได้เชียร์ลูก ปีนี้อาจต้องลงน้อยท่าลง อาจต้องแข่งแบบรอบเดียวไม่มีแก้ตัว อาจต้องเสี่ยงกับเชื้อโรค เชื่อว่าทุกท่านคงมีคำตอบในใจ และไม่มีคำตอบไหนที่ถูกจริง ๆ หรือถูกใจทุกคนแน่ ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้อีกครั้ง เหตุการณ์ปีนี้ไม่ปกติ เราควบคุมอะไรไม่ได้ แต่ทุกคนเลือกทางที่ตัวเองพอใจได้ โดยที่เคารพการตัดสินใจของผู้อื่นได้ด้วย

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose