stadium

กางเกงแนบเนื้อไปจนถึงกล้องสี่มิติ ของเทควันโด

17 กุมภาพันธ์ 2563

นับเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่กีฬาเทควันโด ศาสตร์กีฬาที่คิดค้นโดยประเทศเกาหลีใต้ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกที่ ซิดนีย์ ปี 2000 กีฬาที่อาศัยศิลปะและทักษะการต่อสู้โดยขา ที่ตัดสินและให้คะแนนด้วยสายตา นับตั้งแต่วันแรกที่กีฬานี้กลายเป็นกีฬาสากล เทควันโด โดนวิพากย์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสมาโดยตลอดจนเกือบจะถูกถอดจากการแข่งขันโอลิมปิก นั่นทำให้ สหพันธ์เทควันโดโลก หรือ WTF ต้องปรับตัวและพัฒนากีฬาชนิดนี้ให้น่าโปร่งใสและทันสมัยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

กีฬาแห่งความดราม่า

เทควันโด ผ่านเหตุการณ์ดราม่ามาหลายต่อหลายหน ซึ่งแต่ครั้งก็สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้วงการเทควันโดไม่น้อย ครั้งที่เรียกว่าเป็นข่าวฉาวโฉ่ที่สุด เกิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อ อังเคล วาโลเดีย มาตอส นักเทควันโดชาวคอสตาริการุ่นน้ำหนักไม่เกิน 80 กิโลกรัมจัดการใช้เท้าซ้ายข้างถนัดหวดเข้าที่หน้ากรรมการ ชาร์เคียร์ เชลบัต จัดเลือดกลบปาก หลังจากกรรมการชาวสวีดิชปรับให้นักกีฬาจากคอสตาริกาแพ้ฟาวล์ทางเทคนิกเนื่องจากใช้เวลานอกเกิน 1 นาที ซึ่งหลังจากจบการแข่งขันสหพันธ์ฯ ได้แถลงประณามการกระทำดังกล่าวและตัดสินแบน อังเคล และโค้ช ลีอูดิส กอนซาเลส ตลอดชีวิต เรียกได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กีฬาเทควันโดเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น 2 ปีก็เกิดปัญหาขึ้นอีก คราวนี้มาเกิดให้เอเชี่ยนเกมส์ที่กว่างโจวปี 2010 แต่คราวนี้เป็นนักกีฬาหญิงจากไต้หวัน หยาง ซูชุน ที่แอบติดเซนเซอร์เพิ่มที่ถุงเท้าเพื่อให้ทำแต้มง่ายขึ้น ทำให้สหพันธฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการให้คะแนนอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในอีก 2 ปีหลังจากนั้น

 

 

การมาถึงของเกราะไฟฟ้า

สหพันธ์เทควันโดตัดสินใจนำเกราะไฟฟ้าเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในโอลิมปิกปี 2012 เพื่อลดความผิดพลาดที่ค้านสายตามานานนับตั้งแต่ถูกบรรจุเป็นกีฬาสากล แต่ไฉนเลยกีฬาที่อาศัยสายตากรรมการเพื่อตัดสิน ย่อมไม่สามารถหนีเสียงคัดค้านและกระแสไม่เห็นด้วยได้ เกราะไฟฟ้าในปี 2012 ใช้รับเซนเซอร์ที่ติดอยู่คงฝ่าเท้าของนักกีฬา ทำให้ทุกชาติที่เข้าร่วมให้นักเทควันโดของตัวเองทำคะแนนด้วยการถีบด้วยฝ่าเท้า แทนที่จะใช้การเตะด้วยหลังเท้าซึ่งขัดต่อศาสตร์และเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้อย่างยิ่ง สุดท้ายทางสหพันธ์ฯ ตัดสินใจเปลี่ยนทางเซนเซอร์ที่แต่เดิมอยู่ที่บริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า มาอยู่ที่หลังเท้าเพื่อรักษาแนวทางดั้งเดิมของกีฬาชนิดนี้เอาไว้

 

เทคโนโลยีช่วยตัดสินด้วยวีดีโอต้นกำเนิดของระบบ VAR

สิ่งที่ช่วยให้กีฬาเทควันโดโปร่งใสและดูขาวสะอาดขึ้น คือการเริ่มต้นเทคโนโลยีช่วยตัดสินด้วยภาพช้า (Instant Replay) ที่ช่วยให้ผู้ตัดสินสามารถเช็คความถูกต้องของแต่ละจังหวะการทำคะแนนหรือการกระทำผิดกติกา ซึ่งระบบนี้ถูกใช้อย่างจริงจังเมื่อปี 2012 ใน โอลิมปิกเกมส์ ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ซึ่งระบบวีดีโอช่วยตัดสินจะถูกใช้พิจารณาการตัดสินเมื่อโค้ชของคู่แข่งขันเกิดข้อสงสัยในการตัดสิน ซึ่งจะทำการชูการ์ดสีน้ำเงินขึ้นมาเป็นสัญญาณ ซึ่งจะขอดูได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการแสดงสัญญาณไม่เกิน 5 วินาที เทคโนโลยีนี้เป็นตัวช่วยให้กีฬาเทควันโดนั้นพัฒนาขึ้นมาอย่างถูกจุด และมีความโปร่งใสมากขึ้นแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ในการแข่งขันโอลิมปิกและชิงแชมป์โลกที่ได้รับการดูแลและควบคุมกฎกติกาโดย WTF แม้ว่าในการแข่งขันปัจจุบันจะยังเกิดปัญหาและเหตุการณ์ฉาวขึ้นเป็นระยะก็ตาม

 

 

ความเป็นแฟชั่นและเทคโนโลยี 4 มิติที่ โตเกียว 2020

เทควันโดยังคงพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ทดลอง “Ready Steady Go” ที่เมืองชิบะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27-28 กันยายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการทดลองชุดแข่งใหม่ที่มีการปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยได้แบรนด์กีฬาและแฟชั่นอย่าง “FILA” เข้ามาพัฒนาและออกแบบ โดยชุดแข่งหรือที่เรียกว่า Dobok (도복) ได้รับการออกแบบให้มีความกระชับและเข้ารูปมากขึ้นโดยเฉพาะส่วนกางเกง ทั้งส่วนบนและล่างมีการนำส่วนป้องกันบริเวณท้องและแข้งไปไว้ภายในชุด อย่างไรก็ตามแม้จะถูกนำมาทดสอบแต่ทางคณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขัน โตเกียว 2020 ยังไม่ได้ยืนยันว่ามีการใช้จริงหรือไม่

แต่ที่จะมีการนำมาใช้แน่นอนคือเทคโนโลยีกล้อง 4 มิติที่จะทำให้คนดูทางถ่ายทอดสดได้เห็นทุกการทำคะแนนได้ขัดเขนมากขึ้น หากนึกภาพไม่ออกทางสหพันธ์เทควันโดโลกได้ยกตัวอย่างว่าจะคล้ายกับภาพยนต์เรื่อง เดอะแมทริกซ์ ฉากที่ นีโอ (คีอานู รีฟส์) หลบกระสุน ซึ่งแน่นอนจะช่วยเพิ่มความน่าตื่นเต้นในการชมกีฬานี้มากยิ่งขึ้น 

 

 


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose