stadium

เตะสนามปิด ใครได้เปรียบ ?

12 กรกฎาคม 2563

เตะสนามปิด ใครได้เปรียบ ?

#ChangsuekFocus

 

หลังจากที่ฟุตบอลยุโรปได้กลับมาแข่งขันกันต่อเพื่อให้จบฤดูกาล 2019-2020 เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศเริ่มดีขึ้น ทำให้เราได้ชมฟุตบอลแบบ New Normal หลักๆคือการแข่งขันแบบสนามปิด ไม่มีผู้ชม มีเพียงแค่นักเตะ สต๊าฟโค้ชและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ได้เข้าสนาม ซึ่งฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย จะกลับมาเตะกันอีกครั้งในช่วงปลายปี แต่ยังไม่แน่ว่าจะมีมาตรการอย่างไรกับการป้องกันโรคร้ายที่แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง แถมสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่นัก เพราะหลายๆประเทศเกิดการระบาดรอบ 2 ดังนั้นมาตรการแรกที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน นั่นคือการแข่งขันแบบ "สนามปิด"

 

ประเด็นเรื่องสนามปิดที่อยากพูดถึงคือความได้เปรียบเสียเปรียบ หลังจากที่ผู้เขียนได้ชมฟุตบอลต่างประเทศหลายนัดในช่วงกลับมาแข่งขันใหม่ (เก็บกดจากการอดดูบอลช่วงโควิด) ซึ่งการเตะแบบไม่มีผู้ชมดูจะมีผลกับแต่ละทีมมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องฟอร์มการเล่นและผลการแข่งขันที่ออกมาแตกต่างไปจากการที่แข่งแบบมีผู้ชม ส่วนเรื่องของอรรถรสนั้นคงมีเสียไปบ้างแต่ไม่มากเพราะการชมถ่ายทอดสดเราจะได้ยินเสียงกองเชียร์ที่เกิดจากการเปิดลำโพงในสนามสร้างบรรยากาศให้กับการแข่งขันและถือเป็นการข่มขวัญผู้มาเยือนด้วย

 

โดยผลกระทบที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการไร้ผู้ชมในสนามคือเรื่องของคุณภาพผู้เล่นที่วัดกันโดยตรง ต่อให้เป็นทีมเจ้าบ้านก็ดูจะไม่ได้เปรียบมากเท่าไหร่ เพราะไม่มีเสียงเชียร์คอยให้กำลังใจและกดดันผู้มาเยือน กลายเป็นว่าทีมใหญ่ที่มีขุมกำลังนักเตะที่ดีกว่าสามารถเล่นได้ตามแท็คติคและกล้าเล่นมากกว่าเดิมตามคุณภาพนักเตะ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในพรีเมียร์ลีก อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ,เชลซี ,อาร์เซน่อล ,แมนฯ ซิตี้ (ไม่นับลิเวอร์พูลเพราะแชมป์ไปแล้ว) ที่กลับมาโชว์ฟอร์มดีสมกับเป็นทีมใหญ่กันอีกครั้ง แม้ว่าจะเล่นเกมเยือนก็สามารถยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ (เว้นแต่เชลซีที่เกมรับไม่ดี ยิงได้เยอะก็เสียเยอะ) ทั้งที่ก่อนหน้านี้การจะคว้า 3 แต้มในการเล่นทีมเยือนเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ซึ่งเลสเตอร์ ซิตี้ ที่พูดกันตามตรงคือมีเกรดนักเตะเป็นทีมระดับกลางก็มีผลงานที่แย่ลงหลังกลับมาเตะใหม่ นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณภาพผู้เล่นมีผลอย่างมาก เพราะไม่มีปัจจัยอื่นมาลดศักยภาพนักเตะในสนาม กลายเป็นว่าทีมใหญ่ได้เปรียบทีมเล็กอย่างชัดเจน

 

ผลกระทบต่อมาคือเรื่องของดาวรุ่งที่สามารถเล่นได้ดั่งใจนึก โดยปกติแล้วนักเตะหนุ่มๆอายุน้อย หากเจอความกดดันจากกองเชียร์ทีมเยือนหรือแม้กระทั่งบรรยากาศกองเชียร์ของทีมตัวเองก็จะมีผลต่อฟอร์มการเล่นและสภาพจิตใจ แต่เมื่อไม่มีผู้ชมมันก็เหมือนการซ้อมที่จริงจัง ดาวรุ่งในต่างประเทศต่างพากันฟอร์มดีหลายคน ตัวอย่างคือ เมสัน กรีนวู้ด (18 ปี แมนฯ ยูไนเต็ด) , ฟิล โฟเดน (20 ปี แมนฯ ซิตี้) , บูกาโย่ ซาก้า (18 ปี อาร์เซน่อล) ที่มีพรสวรรค์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อไร้ความกดดันจากแฟนบอลก็ยิ่งทำให้พวกเขาโชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และนำมาซึ่งผลการแข่งขันที่ดีกับต้นสังกัด

 

อีกประเด็นที่เราได้เห็นหลังการเตะแบบ New Normal นั่นคือ"ความนิ่ง" เมื่อไม่มีแรงกดดันทุกอย่างก็เหมือนการซ้อม ประตูจากลูกตั้งเตะมีให้เห็นมากขึ้น รวมถึงจุดโทษที่พลาดเป้ากันน้อยลง เพราะไม่มีเสียงรบกวนจากหลังประตู (เซร์คิโอ้ รามอส ของเรอัล มาดริด ซัดจุดโทษเข้า 2 นัดติดและอีก 1 ฟรีคิก ทั้งที่เคยโดนแซวว่ายิงจุดโทษไปถึงดาวอังคาร อีกคนคือวิลเลี่ยนของเชลซีก็ยิงจุดโทษเข้า 3 นัดติดเช่นกันแถมมีฟรีคิกอีกด้วย แต่วิลเลี่ยนคือเจ้าพ่อลูกนิ่งอยู่แล้ว) จริงอยู่ว่าจุดนี้ผู้รักษาประตูก็ได้เปรียบเช่นกัน แต่หากว่าคนยิงจุดโทษหรือฟรีคิกมีความเฉียบขาดอยู่แล้วก็ยากที่จะป้องกันได้

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอย่างเช่นการที่ได้ยินเสียงเพื่อนร่วมทีมมากขึ้นในการเรียกบอลหรือสั่งการระหว่างแข่งขัน รวมถึงเรื่องของความรู้สึกที่ไร้แฟนบอลก็ทำให้ความกระหายลดลงในกรณีที่ทีมไม่มีลุ้นอะไรแล้ว จากผลกระทบต่างๆที่ยกมาเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมให้ดีสำหรับทีมชาติไทยรวมถึงสโมสรในไทยลีกที่กำลังจะกลับมาเตะใหม่ช่วงเดือนกันยายน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจากยุโรปมาแล้ว

 

ทัพช้างศึกมีเกมในบ้าน 2 นัด กับอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย หากมองที่คุณภาพนักเตะก็ดูจะไม่น่ากังวลเท่าไหร่หากต้องเตะแบบไร้ผู้ชม เพราะนักเตะไทยต่างมีทั้งประสบการณ์และคุณภาพผู้เล่นที่เหนือกว่า (แต่ไม่มาก) ที่เหลือคือเรื่องของแท็คติคจากอาจารย์นิชิโนะ ว่าจะวางแผนอย่างไรในการกำราบผู้มาเยือนทั้ง 2 ชาติ ส่วนเกมเยือนนัดเดียวที่เหลือคือการพบกับยูเออี ที่เพิ่งจะมีการเปลี่ยนกุนซือ ตรงนี้น่าสนใจว่ายูเออีมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยในช่วงหลัง แน่นอนว่าความต่อเนื่อง ความเข้าใจในแท็คติกจะเป็นรองไทยแน่นอน อีกอย่างคือขุนพลช้างศึกอาจจะไม่ต้องเจอเสียงเชียร์จากแฟนบอลยูเออีซึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่ที่ต้องห่วงคือเรื่องคุณภาพผู้เล่นและความแข็งแกร่งที่ขุนพลชุดขาวเหนือกว่าไทยอยู่พอสมควร

 

ที่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้เพราะการเตะแบบสนามปิดจะมีผลอย่างแน่นอนกับทุกชาติ ขึ้นอยู่กับว่าชาติใดจะเปลี่ยนให้เป็นผลด้านบวกกับทีมได้มากกว่ากัน ในเมื่อตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว ฉะนั้นการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆเรื่องไร้กองเชียร์ก็คงจะเป็นอีกสิ่งที่ต้องมานั่งคิดกันว่าไทยเราจะฉกฉวยโอกาสตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง

 

"แล้วคุณล่ะครับ มองเรื่องผลกระทบจากการไร้คนดูในสนามอย่างไร ?"

 

อภิวัฒน์ เเจ่มเจริญ : ตัวเล็กไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่ใจมากกว่าจะสู้หรือจะถอย

ไม่ท้อก็ไม่ถอย


stadium

author

ICE Assist

Changsuek Content Creator

La Vie en Rose