13 กรกฎาคม 2563
ข่าวใหญ่ของวงการน้ำในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคือ การอำลาสระเลิกว่ายน้ำของ “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักว่ายน้ำระดับซุปเปอร์ของประเทศไทยในปัจจุบัน และเมื่อกีฬาว่ายน้ำไม่ใช่กีฬาอาชีพ นั่นทำให้หลังเลิกว่ายน้ำแล้วนักว่ายน้ำส่วนใหญ่จึงต้องปรับตัวไปทำอาชีพอื่น ซึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยเพราะพวกเขาเหล่านั้นว่ายน้ำมาเกือบทั้งชีวิต แต่ด้วยประสบการณ์ และวินัยที่ติดตัวมาทำให้หลาย ๆ คนก็สามารถปรับตัวได้ดี และประสบความสำเร็จกับชีวิตหลังหย่าขาดกับ คลอรีน โดยมีบางคนที่ยังเลิกคลอรีนได้ไม่ขาดทำให้ยังวนเวียนอยู่วงการว่ายน้ำ วันนี้เรามาดูกันชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร และอะไรคือ อาชีพยอดฮิตของอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย ในปัจจุบัน
วิชา รัตนโชติ (เซฟ)
ฉลามเซฟ อดีตฉลามหนุ่มทีมชาติดีกรี เหรียญทองซีเกมส์ และเหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ ปัจจุบันต้องบอกว่าเป็นนักธุรกิจระดับร้อยล้าน พันล้าน นั่งแท่นประธานกรรมการ บริษัท นพรัตน์สิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานป้ายโฆษณา และรถประจำทางของเทศบาลนครเชียงใหม่ และยังเป็นกรรมการบริหาร บริษัท วีทีอาร์เจมส์ จำกัด และบริษัท พรอพเพอร์ตี้ เจมส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกอัญมณีชั้นนำติด 1 ใน 5 ของประเทศไทย ล่าสุดเจ้าตัวยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างน้ำพริก 10 ทิศ ซึ่งตอนนี้กำลังฮอตฮิตเป็นอย่างมากอยู่ในโลก Social เรียกได้ว่าเจ้าตัวเปลี่ยนบทบาทจากนักว่ายน้ำ มาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้อย่างดีทีเดียว
ณัฐพล ชวนะวานิชวุฒิ (นัท)
อีกหนึ่งฉลามหนุ่มทีมชาติ ดีกรีปริญญาตรีจากคณะวิศวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผันตัวมารับงานหลักเป็น Business Analyst สายงานเทคโนโลยี ของธนาคารกรุงไทย โดยที่ยังไม่ทิ้งงานที่รักอย่างว่ายน้ำ รับงานเป็น โค้ชผู้ช่วย ณ ชมรมว่ายน้ำโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา และของสโมสรกีฬาทางน้ำจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อีกทั้งเจ้าตัวยังดำรงตำแหน่งกรรมการฝ่ายว่ายน้ำมาราธอน สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย นอกจากนั้นยังเป็นวิทยากรรับเชิญ , ผู้แปล, นักเขียน ด้านกีฬาว่ายน้ำ และแอดมินเพจ swim tips by nutterfly อีกด้วย
สุริยา สุขสุภักดิ์ (นิก)
อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย ที่เคยผ่านศึกชิงแชมป์โลกมาแล้ว 2 สมัย รวมถึงศึกใหญ่รายการต่าง ๆ อย่าง กีฬามหาวิทยาลัยโลก, เอเชียนเกมส์ และลงรับใช้ชาติในซีเกมส์ 4 สมัย เจ้าตัวเรียนคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขา Sport Management จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.49 เป็นนักกีฬาคนเดียวในรุ่นที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 และยังต่อปริญญาโท ในสาขา Sport Management เพิ่มเติมอีกด้วย
ด้วยผลการเรียนที่ดีมาก ๆ ประกอบกับมีประสบการณ์จากการเป็นนักกีฬาระดับชาติมาก่อน ทำให้เจ้าตัวได้ทำงานที่ สำนักงานส่งเสริมกีฬา ในบริษัทใหญ่ระดับประเทศที่สนับสนุนกีฬามากที่สุดอย่าง บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งดูแลกีฬาหลากหลายประเภท รวมถึงให้สปอนเซอร์การจัดการแข่งขันรายการต่าง ๆ พร้อมทั้งยังรับหน้าที่เป็น ผู้จัดการชมรมว่ายน้ำสิงห์ หรือ Aquatics Director Singha Swimming Club ควบคู่ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันชมรมว่ายน้ำสิงห์ ก็จัดว่าเป็นหนึ่งทีมว่ายน้ำชั้นนำของประเทศไทยอีกด้วย
ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ (เจมส์บอนด์)
คนนี้แผลยังสด ๆ เหมือนยังเลิกไม่ขาด เจ้าของ 7 เหรียญทองซีเกมส์ และเจ้าของสถิติซีเกมส์ท่ากบ 200 เมตร คนปัจจุบัน เจ้าตัวรับราชการเป็นทหารอากาศมาตั้งแต่สมัยยังไม่เลิกว่าย ปัจจุบันติดยศ จ่าอากาศเอก ด้วยประสบการณ์ด้านว่ายน้ำที่เปี่ยมล้นทำให้เจ้าตัวยังรับงานเสริมช่วงเย็นด้วยการสอน Dry Land บนบก ให้กับสโมสรกีฬาทางน้ำธรรมศาสตร์ของอาจารย์ธนากร เนื่องคำมา และทำหน้าที่สอนนักกีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งบนบก และในน้ำ โดยเป้าหมายของเจ้าตัวคือ การปั้นรุ่นน้องมาลบสถิติของตัวเองให้ได้
ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร (อาย)
เงือกอายเป็นอดีตแชมป์กบ 100 และ200 เมตร ในซีเกมส์ถึง 3 สมัยซ้อน หลังจากเลิกว่ายน้ำ และจบปริญญาตรี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร ผันตัวเข้าทำงานในฐานะผู้ประกาศข่าว และพิธีกร ในกับช่อง 7 สี ซึ่งเธอได้ใช้ประสบการณ์ในการการเป็นอดีตนักกีฬารายงานข่าวกีฬาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และพัฒนาไปอ่านข่าวทางด้านอื่นอีกหลาย ๆ ด้าน รวมถึงเป็นพิธีกรรายการต่าง ๆ ทั้งทางทีวี หรือแม้กระทั่งงาน event ต่าง ๆ
ชลธร วรธำรง (โอ)
เงือกโอ ราชินีกรรเชียงอาเซียนในระยะ 100 และ200 เมตร 4 สมัยซ้อน ตัวเธอบอกเองเลยว่าได้อาชีพหลักในปัจจุบันมาเพราะการว่ายน้ำเลย ตัวชลธร วรธำรง หลังจากแขวนแว่นตาเลิกว่ายน้ำ ก็ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับน้ำเลย แต่ไปทางอากาศแทน โดยตัวเธอเป็นพนักงานของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และยังทำอาชีพผู้ประกาศข่าวอีกด้วย ถึงจะมีคนแวะเวียนมาขอให้สอนว่ายน้ำอยู่ตลอด แต่ต้องบอกตอนนี้คิวสอนของอดีตราชินีเงือกสาวคนนี้หายากมาก ๆ เลยทีเดียว
อาชีพสุดฮิตมาแรงของอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย (1)
อาชีพแรกที่จะกล่าวถึงคือ ครู หรือโค้ชทีมว่ายน้ำโรงเรียนนานาชาติ เมื่อว่ายน้ำเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากสำหรับเด็กทุกคน ในช่วงหลังโรงเรียนนานาชาติดัง ๆ ในประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับ การว่ายน้ำเป็นอย่างมาก นั้นทำให้อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย ตกเป็นที่หมายปองของเหล่าโรงเรียนนานาชาติชื่อดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านักว่ายน้ำคนนั้นเป็นอดีตทีมชาติ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีด้วย นั้นทำให้อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทยหลาย ๆ คนที่เคยไปฝึกซ้อมที่ต่างประเทศ มีคุณสมบัติตรงสเปคผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ และมีหลายคนได้ทำงานในโรงเรียนนานาชาติแล้ว อาทิเช่น อาวุธ ชินนภาแสน เจ้าของสถิติประเทศไทยท่าฟรีสไตล์ 50 เมตรคนปัจจุบัน เป็น Head of Swimming Department ที่โรงเรียนนานาชาติ St. Andrews ซึ่งมีทีมงานเป็นอดีตทีมชาติหลายคนอาทิเช่น ดุลยฤทธิ์ พวงทอง อดีตนักว่ายน้ำโอลิมปิกของไทย และที่โรงเรียนนานาชาติ ISB ก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนนานาชาติที่เน้นเรื่องการว่ายน้ำ และมีอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทยที่มีคุณสมบัติตรงสเปคทำงานอยู่หลายคน อาทิเช่น ตำนานเจ้าสระของประเทศไทยอย่าง ฉลามณุก รัฐพงศ์ ศิริสานนท์, ชวิศา ทวีทรัพย์สุนทร นักว่ายน้ำโอลิมปิก 2 สมัย และแจน จิรธิดา ภิญโญโสภณ นักว่ายน้ำเหรียญทองซีเกมส์ ซึ่งทั้ง 3 หรือทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติที่มีผลงาน และสามารถพูดอังกฤษได้ดี เพราะเคยไปเรียน และฝึกซ้อมที่ต่างประเทศมาแล้ว
อาชีพสุดฮิตมาแรงของอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย (2)
อาชีพที่ 2 เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก การทำทีมสโมสรว่ายน้ำของตัวเอง และเป็นโค้ชสอนว่ายน้ำ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ใกล้ตัว เหมาะกับอดีตเงือกสาว ฉลามหนุ่มที่ผูกพันธ์ กับวงการว่ายน้ำ ที่โดดเด่นในปัจจุบันก็มี ครูเล็ก ระวี อินทพรอุดม เงือกสาวเจ้าของ 17 เหรียญทองซีเกมส์ เจ้าของทีม และเจ้าของสระ Sprint Swimming Club ซึ่งปั้นนักกีฬาติดเยาวชนทีมชาติไปแล้วหลายคน โดยครูเล็กยังมีอาชีพเสริมเป็น Youtuber อีกด้วย โดยช่อง Sprint Lek ที่ทำกับลูกสาวมีผู้ติดตามถึง 2.68 แสนคน คนที่ 2 คือ ฉลามโอ๊ต ต่อวัย เสฏฐโสธร นักว่ายน้ำผู้ซึ่งเคยควอลิฟายผ่านเกณฑ์ A โอลิมปิกมาแล้ว ก็ได้ก่อตั้งชมรมว่ายน้ำต่อวัยนครภูเก็จ ซึ่งสร้างนักกีฬาในจังหวัดภูเก็ต จนมีผลงานในระดับชาติมาแล้วหลายคน นอกจากนี้ยังมีอย่าง วู๊ดดี้ วรวุฒิ อำไพววรณ อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติชุดซีเกมส์ ซึ่งได้ก่อตั้งทีมว่ายน้ำ Central Air Swimming Club ซึ่งมีสปอนเซอร์หลักคือ Central Air
TAG ที่เกี่ยวข้อง