stadium

7 นักตบลูกเด้งไทยที่ผ่านบทพิสูจน์เวทีอาชีพในลีกต่างแดน

10 กรกฎาคม 2563

การจะเล่นออกไปลีกอาชีพในเวทีต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะชนิดกีฬาใดก็มีความยากไม่ต่างกัน กับกีฬาเทเบิลเทนนิสก็เช่นกัน ในช่วง 2-3 ปีหลังวงการเทเบิลเทนนิสไทย ดูจะคึกคักเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากผลงานในการแข่งขันซีเกมส์ ที่เริ่มกลับมาคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งขัน 3 ครั้งหลังสุด ถึงขั้น สหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ หรือ ไอทีทีเอฟ ยกให้เทเบิลเทนนิสไทยนั้นเป็นคลื่นลูกใหม่ของทวีปเอเชียที่น่าจับตามอง

 

การตีข่าวของ ไอทีทีเอฟ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะในช่วงหลายปีหลังมานี้นักกีฬาของเรามีพัฒนาการที่ดีมากจนถูกสโมสรในต่างประเทศ สนใจดึงตัวไปเล่นลีกอาชีพพร้อมประเคนเงินเดือนในระดับที่สโมสรในเมืองไทยไม่สามารถให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น สุธาสินี เสวตรบุตร , ธมลวรรณ เขตต์เขื่อน , ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล รวมถึงรุ่นพี่คนอื่น ๆ ที่ได้ไปปูทางไว้ให้

 

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ 7 นักกีฬาเทเบิลเทนนิสไทย ที่มีโอกาสได้ไปพิสูจน์ตัวเอง สร้างชื่อเสียงในเวทีลีกอาชีพระดับโลก

 

 

ชัยศิษฎ์ ชัยทัศ

รับใช้ทีมชาติยาวนานถึง 21 ปี เคยประสบความสำเร็จระดับนานาชาติมาแล้ว ผ่านซีเกมส์ 9 ครั้ง ผลงานโดดเด่นคือการคว้าแชมป์ซีเกมส์ประเภททีมชาย ปี 2001 ที่มาเลเซีย และยังเป็นแชมป์ประเทศไทยอีก 3 สมัย ผ่านเวทีเอเชียนเกมส์ ชิงแชมป์เอเชีย และชิงแชมป์โลกอีกหลายครั้ง ฝีมือของนักปิงปองถนัดซ้ายรายนี้ สมัยนั้นถือว่าหาตัวจับยาก จนมีโอกาสได้ไปโลดแล่นในลีกอาชีพกับสโมสรฟัลเคนเบิร์ก ที่ประเทศสวีเดนมาแล้วนานถึง 3 ปี

 

ภุชงค์ สงวนสิน

หนึ่งในผู้เล่นยุคทองของทีมเทเบิลเทนนิสชายไทยที่ช่วยทีมคว้าแชมป์ซีเกมส์ ประเภททีมชายในปี 2001 ที่มาเลเซีย ร่วมกับ ชัยศิษฎ์ ชัยทัศ , ภาคภูมิ สงวนสิน ในยุคนั้นต้องบอกว่าเรื่องฝีมือของ ภุชงค์ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เป็นนักกีฬาไทยอีกคนที่ผ่านประสบการณ์ในระดับนานาชาติมาอย่างโชกโชน  และครั้งหนึ่งเคยถูกดึงตัวไปเล่นลีกอาชีพที่โปรตุเกสพร้อมพาทีมต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกมาแล้ว

 

 

 

ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล 

นักปิงปองหนุ่มวัย 24 ปี เป็น 1 ใน 2 ดาวรุ่งที่สมาคมฯเสนอชื่อให้ได้รับทุนจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ เก็บตัวในโครงการเตรียมยูธโอลิมปิกเกมส์ 2014 เริ่มต้นไปฝึกซ้อมก่อนจะถูกจับเซ็นสัญญาเล่นลีกอาชีพกับสโมสรฟัลเคนเบิร์ก ที่ประเทศสวีเดน และลงให้กับสโมสรแห่งนี้เป็นเวลานานถึง 9 ปี ก่อนที่ล่าสุดจะตัดสินใจออกไปหาความท้าทายใหม่ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเซ็นสัญญากับสโมสร แอธเลติก คลับ บูโลญจน์ บิลเลียนคอร์ต เทนนิส เดอ เทเบิล (เอซีบีบี ทีที บูโลญจน์)  ในลีกดิวิชั่น 3 ของประเทศฝรั่งเศส

 

นอกจากนั้น ภาดาศักดิ์ ยังเป็นกำลังหลังของทีมชาติไทย จับคู่กับ สุธาสินี เสวตรบุตร ช่วยคว้าเหรียญทองซีเกมส์ประเภทคู่ผสมได้ในปี 2017 ซึ่งถือเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์ที่ทำนักปิงปองไทยทำได้ครั้งแรกในรอบ 32 ปี

 

 

นันทนา คำวงศ์ 

นันทนา นั้นถือเป็นนักเทเบิลเทนนิสไทยคนแรกที่มีโอกาสได้ไปลงเล่นในลีกอาชีพในต่างประเทศ ทั้งกับสโมสรมงต์เปลลิเย่ร์จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะถูกทีม สโมสรอิสเทน ซื้อตัวไปเล่นในลีกอาชีพที่เยอรมนี ต่ออีก 2 ปี ก่อนกลับเมืองไทยเธอได้ย้ายไปเล่นให้กับสโมสรฮันโนเวอร์ 96 สร้างชื่อเสียงให้นักกีฬาต่างประเทศได้รู้จักนักปิงปองไทยมากขึ้น

 

ประสบการณ์ทั้งหมดที่สะสมมา ทำให้ นันทนา คำวงศ์ เป็นเสาหลักของทีมมาตลอด 20 ปีหลัง เรื่องของประสบการณ์ผ่านเวทีระดับชาติมาอย่างโชกโชน โอลิมปิก 5 สมัยเท่ากับกับ พลศักดิ์ บุญสนะ อดีตนักแบดมินตันชายเดี่ยว , ซีเกมส์อีก 13 ครั้ง มากที่สุดเหนือนักกีฬาไทยทุกคน

 

สุธาสินี เสวตรบุตร

เสาหลักของเทเบิลเทนนิสไทยคนปัจจุบัน ฝากผลงานและจารึกประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ทั้งการเป็นแชมป์ซีเกมส์หญิงเดี่ยวคนแรกรอบ 32 ปี , แชมป์ซีเกมส์คู่ผสมครั้งแรกรอบ 32 ปี และแชมป์ซีเกมส์หญิงคู่ครั้งแรกในรอบ 34 ปีของไทย แถมยังเคยจับคู่กับ อรวรรณ พาระนัง คว้าแชมป์รายการเก็บคะแนนสะสมโลกมาแล้ว

 

ด้วยฝีมือที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ สโมสรนิปปอน เพนต์ ดึงตัวไปเล่นใน “ที-ลีก” ลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นลีกอาชีพในแดนปลาดิบ แม้ว่าจะต้องเจอกับนักกีฬาระดับโลกมากมาย แต่ สุธาสินี ก็ไม่หวั่นและยังสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยคว้ารางวัล MVP ของ ที-ลีก ในครึ่งฤดูกาลแรก ด้วยผลงานแข่ง 10 แมตช์ ชนะ 8 แพ้ 2

 

ธมลวรรณ เขตต์เขื่อน 

ลูกเด้งสาวสวยสุดฮอต เริ่มฉายแววตั้งแต่เด็ก คว้าเหรียญทองแดงหญิงเดี่ยว รุ่น U 15 ในศึกเยาวชนชิงแชมป์โลก ปี 2012 ที่ประเทศกวม และได้รับทุนจากไอทีทีเอฟ เข้าเก็บตัวโครงการเตรียมยูธโอลิมปิกเกมส์ 2014 ร่วมกับ ภาดาศักดิ์  แต่ว่าเธอเลือกไปซ้อมที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะได้รับโอกาสเซ็นสัญญาเล่นลีกอาชีพกับสโมสร "ปอนยีสต์ ลีสซอยส์ ลีลล์ เมโทรโปล" ในลีกสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อว่า เฟร้นช์ลีก โปรเอ เป็นเวลา 3 ปี โดยในช่วง 2 ปีแรก เธอช่วยทีมคว้ารองแชมป์ลีก และรองแชมป์รายการ อีทีทียู คัพ อย่างไรก็ตามในฤดูกาลหน้าเธอเตรียมย้ายไปพิสูจน์ตัวเองกับทีมใหม่ในลีกเดิม เฟร้นช์ ลีก ร่วมสโมสร เอ.แอล.ซี.แอล ทีที กรองด์ กูวิยี่ 

 

 

 

อรวรรณ พาระนัง 

ลูกเด้งสาวที่สู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ดิ้นรนสู้เพื่อครอบครัว พิสูจน์ตัวเองจนวันนี้เธอยืนอยู่เป็นเบอร์ 2 ของทีมชาติไทย เป็นอีกหนึ่งสาวมากความสามารถ จับคู่กับ สุธาสินี เสวตรบุตร ช่วยกันคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ปี 2019 นอกจากนั้นยังคว้าแชมป์รายการคะแนนสะสมอันดับโลกร่วมกันอีกหนึ่งรายการ

 

ในฤดูกาล 2018-2019 อรวรรณ มีโอกาสได้ไปเล่นลีกอาชีพที่สเปน ในระดับดิวิชั่น 1 กับสโมสร Technigen Linares โดยตัวเธอนั้นทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเก็บชัยชนะได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์จากที่ลงแข่งขัน พร้อมกับพาทีมคว้าตำแหน่งรองแชมป์ลีก


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose