10 กรกฎาคม 2563
หลังจากรู้จักน้องเป็นการส่วนตัวมาสักพัก บวกกับบุคลิกที่ได้พูดคุยเมื่อพบหน้า กับสิ่งที่เห็นเมื่อสวมบทบาทแอดมินเพจ “เกรียนวอลเลย์บอล” ทำให้ผมอดนึกสนุกไม่ได้ที่จะลองนัด ตั้ม สุทธิพงษ์ จันทะเสน มาร่วมสัมภาษณ์ ซึ่งทีแรกตั้งใจจะชวนพูดคุยเกี่ยวกับการเป็นช่างภาพ ที่มักจะได้รูป Exclusive จากนักกีฬาไทยมาสะสม ซึ่งน้องเคยเอามาโชว์ … เช่นเดียวกับความสนิทสนมกับซูเปอร์สตาร์กีฬาไทย แต่เรื่องทั้งหมดต้องพลิก ทันทีที่ผมนั่งลงที่โต๊ะและเริ่มบทสนทนากับน้อง ที่ร้านเตี๋ยวติดลม
เรียนไม่ตรงสาย ไม่ได้แปลว่า จะประสบความสำเร็จไม่ได้
หลังจาก 15 นาทีแรกที่เน้นเรื่องการถามไถ่แบบทั่วๆไป ประโยคหนึ่งที่น้องได้พูดขึ้นมาแล้วผมรู้สึกค่อนข้างสนใจกับการพรีเซนต์ตัวเองแบบไม่ได้รู้สึกอายกับเส้นทางชีวิตของตนเอง
“ผมไม่ใช่เด็กเรียนนะ แล้วก็ไม่ได้เรียนมาทางกราฟฟิกดีไซน์ หรือ ถ่ายรูปด้วย”
หลังจากตั้งสติได้ว่าน้องพูดจริงทำให้ผมเริ่มไล่เรียงสคริปต์ที่เตรียมมาใหม่ทั้งหมดในหัวและเปลี่ยนเรื่องในการสนทนาทันที บวกกับสิ่งที่ค้นคว้ามาว่า มีคำแซวเกี่ยวกับตั้มว่า นี่คือนักออกแบบชุดกีฬา ที่ไม่เคยใส่สิ่งที่ตัวเองออกแบบได้เลย …
จึงเกิดคำถามว่า “แล้วตั้มมาทำงานสายนี้ได้ยังไง” จึงได้เริ่มสอบถามเส้นทางของชีวิต และพบหลายสิ่งที่น่าสนใจในความคิดของช่างภาพเด็กสมบูรณ์คนนี้ ซึ่งสำหรับผมถือว่าเขาคือ 1 คนที่ประสบความสำเร็จกับหลายสิ่งที่ได้ลงมือทำ และ ทำทุกบทบาทได้ออกมาดีทีเดียว
Passion ช่วยชี้นำ … ลงมือทำช่วยชี้เป้า
ตั้มเป็นคนชอบติดตามการแข่งขัน และ ข่าวกีฬาอยู่แล้ว ซึ่งนั่นคือเหตุผลพื้นฐานที่หาจากกลุ่มเด็กผู้ชายได้ไม่ยากเลย เพียงแต่วิถีในการต่อยอดความสนใจตัวของเจ้าหนุ่มคนนี้ มันน่าสนใจเอามากๆ
“ผมเริ่มทำงานกับบริษัทออกแบบเสื้อผ้ากีฬาแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องเข้าออฟฟิศด้วยนะ ขอแค่รับผิดชอบ ทำงานเสร็จแล้วมีส่งตามกำหนดก็พอ”
ตั้มเล่าถึงการทำงานที่แรก และแอบบอกกับผมเพิ่มเติมว่า
“พี่เชื่อป่ะ ผมคือคนที่เปลี่ยนงานมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่มีประสบการณ์เซ็นสัญญาทำงานกับเขาเลย”
มุมหนึ่งมันก็สะท้อนความหละหลวมในชีวิต แต่อีกด้านก็สามารถมองได้ว่า หมอนี่ ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน มีงานที่ใกล้เคียงหรือตรงกับสิ่งที่อยากทำ ก็คงพร้อมลุย ซึ่งมันดันตรงกับสิ่งที่เจ้าตัวถ่ายทอดต่อออกมาระหว่างที่อาหารเริ่มเต็มโต๊ะแล้วในขณะนั้น
“ผมทำงานออกแบบเสื้อ ก็เลยได้มีลงพื้นที่ (สโมสรวอลเลย์บอล) ไปพร้อมกับทีมงานบ้าง แล้วพื้นฐานก็รู้จักนักกีฬาเยอะอยู่แล้วด้วย ประกอบกับสื่อโซเชียลมันก็มาแรง คนรอบข้างก็ทำเพจเกี่ยวกับกีฬาเยอะ … ผมเองก็เลยอยากทำบ้าง ซึ่งนั่นทำให้ผมเริ่มคิดที่อยากจะถ่ายรูปเอามาใช้ลงเพจตัวเอง” ตั้มซึ่งมีเส้นสายวงการกีฬาเยอะพอตัว เล่าให้ผมฟัง
“ข้อดีของผมคือทำงานกึ่งๆฟรีแลนซ์ เวลาว่างก็พอมี ผมเลยเลือกเอาเวลาไปลงพื้นที่ดูนักกีฬาเก็บตัวซ้อม ก็ขอถ่ายรูป แล้ววันนึงก็มีโอกาสได้ไปเป็นช่วงภาพจำเป็นให้กับ MOVE (เอเจนซี่ผู้ดูแลงานมาราธอน) … หลังจากนั้นงานนั้นอยู่ดีๆ ชื่อผมก็กลายเป็นช่างภาพของ MOVE เฉยเลย … นั่นแหละพี่ ชีวิตผมเลยยังไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ขั้นตอน 1-5 ในการสมัครงานแบบคนอื่นสักที 555”
5 อาชีพพร้อมกัน ภายใต้ความฝันเดียว
กระทั่งถึงช่วงจังหวะหนึ่งของการพูดคุย … ผมได้ถามกับตั้มไปว่า “สรุปมึงทำกี่อย่าง” ซึ่งเจ้าตัวก็เล่าถึงสิ่งที่ได้ทำมาทั้งหมด พร้อมกับมือที่กำลังปรับแผนการเล่นของเกม FIFA Mobile จากความยืดยาวทั้งหมดสรุปออกมาได้ว่า ตั้มเป็นมนุษย์มหัศจรรย์คนหนึ่ง เพราะสามารถประกอบอาชีพ 5 แบบได้ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน แต่สิ่งที่ดึงดูดกว่าเรื่องนั้นคือ แววตาและน้ำเสียงที่ดูจริงใจกับสิ่งที่เล่าออกมาบวกกับแนวคิดที่กำหนดให้เขาสามารถทำสิ่งเหล่านั้นออกมาได้ดีในทุกๆด้าน
อีกแล้วครับ คำว่า Passion คือสิ่งที่นิยามได้ง่ายสุด … แต่ผมว่าตั้ม คือตัวอย่างที่จะอธิบายถึงคนๆนึง ซึ่งทำบางสิ่งด้วย Passion ได้ดีไม่แพ้ใครในประเทศไทย และเนื้อหาจากปากน้องค่อนข้างยาวมากเพราะเรานั่งคุยกัน 2 ชั่วโมงกว่าๆได้ ผมเลยขอสรุปบางสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวน้องให้เลยแล้วกัน
จุดตั้งต้นเริ่มจากงานกราฟฟิกดีไซน์ ที่ออกแบบเสื้อผ้ากีฬา ซึ่งเจ้าตัวก็ให้คำแนะนำว่าตลาดกีฬาไหนเหมาะกระทั่งแบรนด์ที่สังกัดอยู่ให้ความสนใจและลองเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหลักจากฟุตบอลมาเป็นวอลเลย์บอล
จากนั้นในความขวนขวายและสมาธิสั้นทำให้ตั้มหันมาจับกล้องเพื่อถ่ายรูปลงเพจ กระทั่งนำมาสู่โอกาสการเป็นช่างภาพแบบจริงๆจังๆ ซึ่งเราจะเห็นน้องแบกร่างตัวเองกับกล้องในงานวิ่งมาราธอนต่างๆ รวมถึงการแข่งขันวอลเลย์บอล หรือ แบดมินตัน ที่จัดขึ้นในประเทศไทย (รวมถึงการแข่งขันกีฬารายการอื่นๆด้วย)
เมื่อถ่ายภาพเป็นและได้ออกไปเยี่ยมเยียนสโมสรกีฬาหรือบุคคลต่างๆ ตั้มก็พกวิญญาณเพชรฆาตยอดขายด้วยการนำเสนอแบรนด์เสื้อผ้า (เปลี่ยนบริษัททำงานแต่ตั้มยังคงช่วยในการประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้) ซึ่งมีหลายครั้งที่การโน้มน้าวใจประสบความสำเร็จ กลายเป็นการสร้างยอดขายให้กับแบรนด์เสื้อผ้าไปในตัว นอกจากนั้นเจ้าตัวยังเคยมีโอกาสใกล้ชิดกับโค้ชและทีมงานวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย และ ถูกไหว้วานให้ช่วยตัดต่อวิดีโอสำหรับให้โค้ชลงเสียงบันทึกไว้ เพื่อเป็นสื่อให้ความรู้ทางด้านกีฬา และนั่นทำให้ตั้ม ซึ่งบอกผมว่า “ทีแรกแค่ AI ผมยังใช้ไม่เป็นเลย แต่พออยากลองทำอะไร ก็ดู Youtube แล้วหัดทำเอา” ก็ยินดีที่จะช่วย เพราะได้ทั้งประสบการณ์แปลกใหม่ แถมยังได้ป้วนเปี้ยนทีมกีฬาที่ฮ็อตสุดของประเทศ
ยามว่างจากกิจกรรมภายนอกและมีเวลานั่งจุ้มปุกอยู่หน้าจอ ตั้มซึ่งสังเกตเห็นและตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเพจกีฬาไทยต้องพยายามคอยลบคอมเม้นต์โจมตีนักกีฬา หรือ การบริหารงาน … แทนที่จะนำเสนอข้อมูล หรือข้อโต้แย้งแบบให้เหตุผล เพื่อสร้างความเข้าใจที่แท้จริงให้เกิดขึ้นกับแฟนกีฬาไทย
ตั้มจึงหันมาจับงานแอดมินเพจ ที่แม้จะดูเกรี้ยวกราด และ เกรียนได้โล่ แต่เจ้าตัวมีคอนเซ็ปต์ที่น่ายกย่องนั่นคือ เขาจะพร้อมชนและเถียงทุกคอมเม้นต์ โดยเลือกที่จะไม่ลบทิ้ง เพราะเจตนารมณ์ของเขาคือการไม่บิดเบือนความจริง แต่มาว่ากันด้วยข้อมูล หรือ หลักการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน
“เพราะผมแค่อยากเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการไล่ลบคอมเม้นต์ที่มาโจมตี
แต่ผมชอบมากกว่ากับการที่เราเอาข้อมูล หรือ เรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งคนที่เชียร์อยู่บ้านเขาอาจไม่รู้ มาตีแผ่ให้ฟัง … แต่ถ้าจะยังไม่เชื่ออีก แล้วเขายังเลือกเชื่อความคิดตัวเอง … ผมก็แล้วแต่เขา”
จากที่ผมสรุปให้แบบย่อแล้วนะ ก็จะเห็นว่า ตั้มมีทักษะและทำงานในช่วงเวลาเดียวกันมากถึง 5 อาชีพ ไล่ตั้งแต่ กราฟฟิกดีไซน์ ช่างภาพ เซลล์ ตัดต่อ และ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อย่างไรก็ตามจุดร่วมที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะตั้มจะอยู่ในบทบาทไหนคือ “เขาไม่เสียเวลาคิดเยอะ แต่เลือกที่จะลงมือทำเลย” น้องจึงใช้ชีวิตทำอะไรได้หลายอย่างมากๆ ซึ่งทุกสิ่งที่เขาทำก็เป็นช่องทางการสร้างรายได้ และ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกความฝัน มันยังมีมุมต่างๆหลายล้อมรอบ 360 องศา
เปิด “ตั้มรา” MindSet และ Passion ที่โรงเรียนไหนก็คงไม่สอน
อีกด้านหนึ่งของตั้ม ที่นอกเหนือจากการทำอะไรหลายสิ่งได้ดีแล้ว ผมประทับใจในความเป็นคนช่างสังเกตและเก็บเอาทุกอย่างรอบตัวมาคิดเสมอ ซึ่งผมเชื่อว่ามันคือทักษะนอกตำราเรียนที่ขึ้นอยู่กับความสามารถ รวมถึงความใส่ใจใจการทำงานของแต่ละคน อีกครั้งที่ทุกอย่างตบกลับมาที่คำว่า “Passion”
ประเด็นแรกที่ทำให้ผมอ้าปากค้าง ขณะที่กำลังจะได้กินเกี๊ยวซ่า ก็คือประโยคที่ว่า “พี่รู้ปะว่า เสื่อโอเวอร์ไซส์ สำหรับคนตัวใหญ่อะ มันถูกผลิตแบบขยายสเกลทั้งตัวเท่ากัน แต่มันไม่พอดีกับหุ่นคนในความจริง” ผมก็เลยเริ่มสังเกต และเห็นด้วยว่า จริงหวะ … คนเราไม่ได้ใหญ่ขึ้นทุกส่วนในอัตราที่เท่ากันสะหน่อย หลังจบประโยคนี้ ทำให้ผมเห็นมุมผู้ประกอบการที่พยายามหา Pain Point ของตลาดสินค้าอยู่และ ตั้ม ก็ได้โชว์เสื้อ (ซึ่งก็ตัวที่ใส่มานั่งคุยกันนั่นแหละ) พร้อมอธิบายว่า “พี่เห็นเสื้อที่ผมใส่อยู่ไหม มันจะพอดี สำหรับคนตัวใหญ่ คือผมอะใหญ่มากๆแค่ตรงพุงกับท้อง แต่ไหล่ คือ คอของผม มันไม่ได้โตด้วยขนาดนั้น ถ้าผมใส่เสื้ออื่นๆ ของโอเวอร์ไซส์ คอมันก็จะกว้าง ไหล่ก็จะตกลงมา มันดูแปลกๆ”
ประเด็นต่อมาคือ การเจาะหาความต้องการของผู้บริโภค ที่ตั้มสะท้อนให้ผมเห็นอีกครั้ง ซึ่งมันเริ่มที่การพูดถึงรูปในเพจ ว่าทำไมลงรัวๆขนาดนั้น และสิ่งที่น้องตอบกลับมามัน คูล สุดๆไปเลย
“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเรามักจะเห็นรูปไม่กี่รูปวนๆลงในข่าว ทำไมนักข่าวต้องรีบถ่ายอยู่ไม่กี่ภาพแล้วกลับหรือส่งตีพิมพ์ … ผมก็แค่คิดว่า เออนะเรามีโอกาสลงมาพื้นที่นี้แล้ว แฟนคลับของนักกีฬาคงอยากเห็นรูปเยอะๆ ยิ่งมุมแปลกๆ หรือ สามารถถ่ายทอดรายละเอียดอะไรได้ยิ่งดี … และตัวนักกีฬาเองเมื่อแข่งเสร็จก็คงอยากได้รูปตัวเองเยอะๆเช่นกัน”
ตั้มคิดแบบผู้ให้… และผมไม่แปลกใจเลย ทำไมนักกีฬามากมายรักเขา เช่นเดียวกับแฟนเพจที่ด่าเขา แต่ลึกๆก็รักตั้มทุกคนแหละ 5555
เมื่อรวมกับเรื่องการทำงานเกินสโคปตัวเอง แต่เพราะแค่อยากทำและนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด (ชุดกีฬา) และการเปิดเพจเพื่อนำเสนอเรื่องราวอีกแง่มุมของวอลเลย์บอล ด้วยการตอบโต้กับลูกเพจอย่างดุเดือดแต่ก็อิงด้วยข้อมูล หรือ มุมที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ … ผมว่ามันก็สะท้อนตัวตนตั้มได้เยอะทีเดียว
ตัวตนที่บ่งบอกว่า เขามี Passion กับทุกเรื่องที่ทำ และ สำคัญคือ เขาเลือกลงมือทำอย่างรวดเร็ว โดยไม่รีรอให้เวลาผ่านเลยไป ทำนองว่า “เสียเวลาคิดน้อย ก็มีเวลาทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้น” เพราะคิดน้อย กับ เสียเวลาคิดน้อย มีความหมายแตกต่างกันนะ …
และทั้งหมดทั้งมวลคือ บทเรียนที่อยู่นอกตำราที่ผมรู้สึกว่าได้เรียนรู้จาก ตั้ม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงให้เห็นว่า การเรียนจบไม่ตรงสาย ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความฝันของคนเราเลย
TAG ที่เกี่ยวข้อง