11 สิงหาคม 2565
ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของนักวิ่งพาราลิมปิกชาวฮ่องกง โชว้ หว่า ไหว (Sho wa wai) เจ้าของสถิติโลกวิ่ง 200 เมตร ในคลาส T36 ทำไว้ในพาราลิมปิกที่ปักกิ่ง 2008 ประเทศจีน จนถึงวันนี้สถิติของเขาก็ยังไม่มีใครทำลายลงได้ กระแสตอบรับของผู้ชมพร้อมกับความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ส่งให้ตัวหนังเองกลายเป็นภาพยนต์ต่างชาติ ที่ได้รับการพิจารณาอยู่ในลิสต์รายเข้าชิงภาพยนต์สาขาต่างประเทศยอดเยี่ยมของรางวัลออสการ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เรื่องราวทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่องนี้ 2 ตัวละครที่แบกทั้งเรื่องไว้ก็คือ ซิว ฮอน ชิง ผู้เป็นแม่และโชว้ หว่า ไหว ผู้เป็นลูก ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อบอุ่นงดงามและซาบซึ้งขนาดไหนติดตามได้ที่ Stadium TH
ชีวิตรันทดติดลบตั้งแต่เริ่ม
ตามสไตล์หนังชีวประวัติเรื่องเล่าของนักกีฬาทุกคนจะต้องซึมซับกับความยากลำบากของฮีโร่ ที่ยังไม่มีใครรู้จักหรือมีใครให้ความสนใจก่อนเสมอ ในเรื่องนี้เราเริ่มต้นทำความรู้จักกับโชว้ หว่า ไหว ตั้งแต่ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้พิการทางสมอง ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้บางส่วน มีปัญหาในการได้ยิน นิ้วมือลีบและแขนขาอ่อนแรง จนแพทย์บอกว่าอาจจะเดินไม่ได้ อู๋ จวินหรู นักแสดงมากฝีมือที่แฟนหนังบ้านเราคุ้นหน้าคุ้นตา เพราะผ่านการแสดงมากว่า 100 เรื่อง เธอมารับบท ซิว ชิง ฮอน ผู้เป็นแม่และได้ถ่ายทอดสีหน้าอันแสนทุกข์ใจโดยที่ไม่มีคำพูดออกมา จนเราแสดงความเห็นใจไปด้วย หลายฉากในช่วงแรกเราจะเห็นชีวิตของครอบครัวตัวเอกที่เป็นชาวฮ่องกงชนชั้นล่าง ต้องปากกัดตีนถีบใช้ชีวิตอย่างอยากลำบาก อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์หลังเล็กที่แออัดไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอันแสนจำเป็น จนแทบไม่มีที่ทางให้โชว้ หว่า ไหว ได้ลองฝึกเดิน เรียกได้ว่าแค่หาเงินเลี้ยงชีพในแต่ละวันยังยาก แต่นี่ต้องเลี้ยงดูเด็กพิการไปด้วย ต้องใช้ความพยายามมากกว่าครอบครัวอื่นๆ เป็น 10 เท่า
ความเป็นแม่ ยอดคุณแม่ ซูเปอร์ MOM
เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้กลายเป็นแม่คน เธอจะทำทุกอย่างเพื่อลูกตัวน้อยของเธอแบบทุ่มสุดใจ แม้ว่ามันจะมีอุปสรรคและความยากลำบากมากมายเหลือเกิน ความกดดันและความเสียใจที่เห็นลูกเป็นเด็กพิการทำให้เธอเผลอร้องไห้และตะคอกใส่ลูกชายโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างไรก็ตามเหมือนฟ้าเป็นใจ เมื่อโชว์ หวา ไหว่ กลับลุกขึ้นยืนได้เองแบบที่คนเป็นแม่ไม่เชื่อสายตา จากน้ำตาที่เคยไหลออกมาด้วยความเศร้าเสียใจ ครั้งนี้สำหรับเธอคือน้ำตาแห่งความสุขเมื่อเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นต่อหน้าแบบไม่ทันตั้งตัว จากวันนั้นเองเธอค่อยๆ พาลูกชายตัวน้อยฝึกเดินทีละก้าวได้อย่างมั่นคง
แม้จะทรงตัวได้ไม่เหมือนคนปกติ แต่โชว้ หว่า ไหว กลับมีฝีเท้าในการวิ่งที่ไม่เป็นรองเด็กแถวบ้าน และนั่นเองทำให้ผู้เป็นแม่ผลักดันลูกชายของเธอเข้าสู่ชมรมนักกรีฑาคนพิการของฮ่องกง เธอรู้ดีว่าการซ้อมวิ่งไม่ง่าย แต่เธอก็คอยดูแลเอาใจใส่มารับมาส่งเตรียมน้ำดื่มเกลือแร่ให้ลูกชายเสมอ แม้โค้ชในทีมจะมองว่าโอ๋ลูกเกินไปอาจทำให้เด็กไม่ยอมฝึกซ้อมตามโปรแกรมจนไม่อนุญาตให้เธอเข้าสนาม แต่ด้วยความเป็นห่วง คนเป็นแม่ที่ผ่านความยากลำบากมานักต่อนัก ก็ขอออกมาแอบนั่งมองลูกชายตัวเองวิ่งจากนอกรั้วคอยส่งกำลังใจให้แม้ลูกชายไม่รู้ตัว ทั้งหมดนั้นคือความสุขของคนเป็นแม่ผู้หวังเห็นลูกชายได้มีความสุขกับสิ่งที่รัก
เรียนรู้สังคมผ่านเพื่อนนักกีฬาคนพิการในทีม
การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมถือเป็นบทเรียนที่โชว้ หวา ไหว่ ยังไม่เคยได้รับจากที่ไหนจนกระทั่งได้เข้ามาอยู่ชมรมนักกรีฑาผู้พิการของฮ่องกง ที่นี่เองโชว้ต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมต้องปรับความเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อทุกคนต้องร่วมกันวิ่งในประเภท 4x100 เมตร ในพาราลิมปิกเกมส์ ที่แอตแลนต้า ปี 1996 ต่างคนต่างเป็นผู้พิการด้วยกันการแสดงออกบางอย่างอาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิด ณ ที่ตรงนี้โชว้ค่อยๆ ซึมซับการใช้ชีวิตในสังคมทีละเล็กทีละน้อยรู้จักการยอมรับความคิดผู้อื่นรู้จักการฮึดสู้เพื่อทีม ทั้งหมดซ้อมไปด้วยกันจนสุดท้ายคว้าเหรียญทองกลับประเทศได้สำเร็จและทำให้เด็กหนุ่มอย่างโชว้กลายเป็นฮีโร่ของคนทั้งประเทศเพียงชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตามโค้ชผู้ฝึกสอนของชมรมกรีฑาผู้พิการฮ่องกงได้ให้ข้อคิดกับนักกีฬาของเขาว่า “การวิ่งมันง่าย แค่ไปอยู่ในลู่แล้วพุ่งไปข้างหน้า แต่ชีวิตจริงมันยากกว่านั้น” ซึ่งทุกคนรับรู้ในข้อเท็จจริงนี้ได้เป็นอย่างดีและพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับโลกภายนอก
บททดสอบชีวิตอันหนักหน่วง
ความแตกต่างในด้านเงินรางวัลของนักกีฬาพาราลิมปิกและนักกีฬาโอลิมปิกยังเลื่อมล้ำกันอยู่มาก แม้แม่ของโชว้จะพยายามเป็นกระบอกเสียงให้กับนักกีฬาผู้พิการในทีม แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานรัฐจะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ชีวิตนอกลู่วิ่งของโชว้และครอบครัวยังคงเหมือนเดิมแม้สถานะของเขากลายเป็นฮีโร่ของเกาะฮ่องกงไปแล้ว แม่ของเขายังต้องทำงานเสริมหลายอย่างเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว (พ่อของโชว้ป่วยหนักจนทำงานไม่ไหว) ส่วนโชว้เองสุดท้ายแล้วก็ต้องหันหลังให้กับการวิ่ง เพราะต้องออกมาทำงานเป็นเด็กส่งของเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางแม้จะทำได้ไม่ดีเท่าคนปกติ แต่เขาก็พยายามพิสูจน์ตัวเองเต็มที่ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้
On your mom, set, go
โชว้ห่างหายไปจากการวิ่งอยู่ปีครึ่ง แต่สุดท้ายได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน (จากข่าวระบุว่าหลิว เต๋อ หัว พระเอกเบอร์ 1 ของฮ่องกงได้หางานที่ทำให้โชว้มีเวลาว่างมาซ้อมวิ่งได้อย่างเต็มที่) จนกลับเข้ามาสู่ทีมวิ่งของทีมผู้พิการอีกครั้งและด้วยวัยถึงเลข 3 แล้ว พาราลิมปิกที่ปักกิ่ง ปี 2008 จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ตัวเขาได้แสดงฝีเท้าความเร็วให้โลกเห็น ครั้งนี้เองผู้เป็นแม่สนับสนุนลูกชายทุกอย่างเพื่อเติมเต็มความฝันของเขาให้ได้ คำพูดของผู้เป็นแม่ที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวออกมาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจกับโชคชะตาชีวิตว่า “แม่รู้ว่าเป็นคนพิการมันลำบาก แต่การเป็นแม่คนพิการก็ลำบากเช่นกัน” สร้างพลังเป็นแรงผลักดันให้กับโชว้ ระเบิดฟอร์มวิ่งจนคว้าเหรียญทองพร้อมสถิติโลกวิ่ง 200 เมตร คลาส T36 ด้วยเวลา 24.65 วินาที ได้สำเร็จ การซ้อมการเตรียมความพร้อมของร่างกายแน่นอนว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ แต่สำหรับ โชว้ หวา ไหว่ แรงสนับสนุนและความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุดจากแม่เป็นพลังที่ดีที่ทำให้เขาเดินได้อย่างมั่นคงในตอนที่ยังเป็นเด็กจนกลายเป็นคนที่วิ่งเร็วอันดับต้นๆในประเทศ แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเหมือนคนอื่นก็ตาม
TAG ที่เกี่ยวข้อง