stadium

ถอดบทเรียนภาพยนตร์ King Richard การลดอีโก้ของพ่อ เพื่อความสำเร็จของลูก

6 กันยายน 2565

ชีวิตนักกีฬาดังระดับโลกหลายคนได้ถูกวงการ Hollywood จับมาทำเป็นภาพยนต์อัตชีวประวัติอันยอดเยี่ยมตราตรึงใจผู้ชมทั่วโลกมานักต่อนัก ครั้งนี้ถึงคิวของ 2 พี่น้องผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเทนนิสหญิงอย่าง วีนัสและเซเรน่า วิลเลี่ยมส์ กันบ้าง

 

แต่สำหรับเรื่องราวของพวกเธอจะแตกต่างออกไป เมื่อความสำเร็จที่เธอทั้ง 2 คนไปถึง ล้วนแล้วถูกวางแผนมาจาก ริชาร์ด วิลเลี่ยมส์ ผู้เป็นพ่อ ผู้ซึ่งเขียนแผนชีวิตให้กับลูกสาวทั้ง 2 เป็นจำนวน 85 หน้ากระดาษด้วยตัวเอง ริชาร์ด วิลเลี่ยมส์ คิดอย่างไร ทำเช่นไร จนทำให้ครอบครัวของเขามีนักเทนนิสหญิงผิวสีที่ดีที่สุดในโลกถึง 2 คน ในครอบครัวนี้ เรามาลองถอดบทเรียนจากตัวเขากัน 

 

 

ปมในใจผู้เป็นพ่อ

 

สำหรับ ริชาร์ด ผู้เป็นพ่อในหนังเรื่องนี้ รบบทโดยดาราเกรดเอบวก อย่าง วิลล์ สมิธ ที่เราแทบไม่ต้องบรรยายสรรพคุณการแสดงอะไรของชายผู้นี้กันอีกแล้ว (คว้ารางวัลออสการ์ ปี 2022 จากบท ริชาร์ด วิลเลี่ยมส์ ในเรื่องนี้) ในเรื่องเราเห็นความพยายามอันสุดโต่งของริชาร์ด พ่อผู้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกะดึก แล้วไม่ยอมพักผ่อนในช่วงกลางวัน แต่ต้องการใช้กีฬาเทนนิสที่ตัวเองชื่นชอบผลักดันลูกสาววีนัสและเซเรน่าให้ประสบความสำเร็จระดับโลกไปเลย และแน่นอนหากทั้งคู่ไปได้ไกล นั่นก็หมายความว่าทั้งคู่มีโอกาสพาครอบครัวทั้งหมดออกจากบ้านที่คอมป์ตัน แคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยแก๊งค์อันธพาล ยาเสพติด และเสียงปืน รวมทั้งการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอีกด้วย 

 

ริชาร์ด รับรู้เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะในวัยเด็กตัวเขาเองต้องต่อสู้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบในการใช้ชีวิตแต่ละวัน รวมไปถึงต้องวิ่งหนีเอาชีวิตให้รอดหลายครั้งหลายหนจากกลุ่ม KKK หรือ คูคลักซ์แคลน กลุ่มคนที่ขึ้นชื่อเรื่องการเหยียดผิวด้วยความรุนแรง ความยากลำบากของตัวเองในอดีตบวกกับปมในใจกับชีวิตอันโหดร้ายในวัยเด็กกลายเป็นตัวเร่งให้ริชาร์ดทุ่มเททุกอย่างให้กับวีนัสและเซเรน่าเพื่อหวังว่าสักวัน ลูกๆ ของเขาไม่ต้องมาสัมผัสประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายแบบคนเป็นพ่อเคยได้รับ 

 

 

 

ซ้อม (หนัก) /  ซ้อม (หนัก) / ซ้อม (หนัก)

 

แค่เริ่มเรื่องเราก็เห็นสาวๆ ตระกูลวิลเลี่ยมส์ ทั้ง 5 คน อยู่ในคอร์ทเทนนิสกันแล้ว โดยริชาร์ดจะเคี่ยวเข็ญวีนัสและเซเรน่าเป็นหลัก ส่วนลูกสาวอีก 3 คน จะทำหน้าที่ช่วยเหลือในการเก็บลูกบอลหรือบางครั้งก็นั่งติวหนังสือกันในคอร์ทเทนนิสเลย มันอาจจะดูเป็นภาพที่น่ารักกับกิจกรรมครอบครัวเช่นนี้ แต่ต้องยอมรับว่าในวัยเด็กอายุ 10 ขวบต้นๆ การตื่นเช้ามาซ้อมเทนนิสกันก่อนไปโรงเรียน จากนั้นเลิกเรียนก็ต้องกลับมาซ้อมเทนนิสอีกครั้งอย่างบ้าระห่ำ ไม่เว้นแม้วันที่ฝนตกหนัก มันเป็นเรื่องที่ดูโหดร้ายในสายตาคนนอก จนถึงขั้นเพื่อนบ้านต้องโทรแจ้งตำรวจและหน่วยสังคมสงเคราะห์ให้มาตรวจที่บ้านวิลเลี่ยมส์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าผู้เป็นพ่อทำทารุณเด็ก

 

อย่างไรก็ตามทั้งวีนัสและเซเรน่า ยังคงอยู่ในเส้นทางตามที่คุณพ่อจัดแจงไว้ให้ และสิ่งที่เธอทำเป็นประจำทุกวันคือการซ้อม ซ้อม และซ้อม จนช่ำชองการตีทุกรูปแบบทั้งโฟร์แฮนด์และแบ็คแฮนด์ รวมถึงแก้ไขข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นนิสัยติดตัวเธอมายามที่พวกเธอลงสนาม จนทำให้เธอทั้งคู่กลายเป็นนักเทนนิสดาวรุ่งที่ไร้จุดอ่อนและเป็นเบอร์ 1 ในละแวกการแข่งขันในรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

 

 

แผนการที่ไม่เหมือนใคร (และคงไม่มีใครอยากเหมือน) 

 

สิ่งหนึ่งที่ริชาร์ดมีอยู่ในตัวคือลูกตื้อ ความดื้อ และอีโก้ที่สูงส่งของตัวเอง ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ วิล สมิธ ถ่ายทอดมาเป็นการแสดงที่ทำให้ ณ จุดๆ หนึ่งของหนัง ริชาร์ด กลายเป็นตัวละครที่น่าหมั่นไส้น่าหงุดหงิดมากที่สุด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอยู่ในช่วงที่ชีวิตครอบครัววิลเลี่ยมส์ย้ายมาอยู่กับสถาบันเทนนิสหัวแถวในอเมริกาของโค้ชริค แม็คซี่ (ผู้ปลุกปั้นนักเทนนิสให้ก้าวเป็นมือ 1 ของโลกมาแล้ว 5 คน) แต่ริชาร์ด กลับไม่ขอเลือกเส้นทางที่นักเทนนิสเยาวชนทุกคนต้องทำหรือเลือกปฏิเสธคำแนะนำของโค้ชริค นั่นก็คือการให้โอกาสลูกสาวของเขาลงแข่งขันในระดับเยาวชน เพราะนักเทนนิสอาชีพทุกคนล้วนแล้วแต่เคยผ่านเวทีแข่งขันระดับเยาวชนมาก่อนทั้งนั้น

 

แน่นอนว่าความคิดของริชาร์ดอันแน่วแน่ว่าตัวเองตัดสินใจถูก กลับมีผลกระทบต่อครอบครัวและถูกตั้งคำถามมากมายจากสังคมว่าไอ้สิ่งที่เขาคิดมันถูกต้องจริงๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้สนใจแรงกดดันรอบข้างอะไรเลยแม้แต่น้อย และยังให้ลูกๆ ของเขาซ้อมตามโปรแกรมของตัวเองเช่นเดิม แม้ว่านักเทนนิสคู่แข่งจากสถาบันเดียวกันหลายคนเริ่มไปลงแข่งในระดับเยาวชนชิงแชมป์ประเทศแล้วก็ตาม

 

เมื่อถึงตรงนี้ริชาร์ดค่อยๆ เปิดเผยว่าแผนการของเขาคืออยากให้ลูกสาวได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กต่อไปก่อน ได้เรียนหนังสือกับเพื่อนๆ แบบเด็กทั่วไป แต่ให้เวลาทุ่มเทฝึกซ้อมด้วยความพากเพียรกับกีฬาเทนนิสด้วยเช่นกัน ก่อนปลูกฝังความคิดเรื่องการไม่ยอมแพ้ให้ลูกๆ ทั้ง 2 ได้อย่างแยบยล ทั้งนี้ริชาร์ดยังสอนลูกถึงเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ โดยเฉพาะการแสดงออกของน้ำใจนักกีฬาเมื่อลงสู่คอร์ทการแข่งขัน

 

 

ช้าๆ ได้พร้า 2 เล่มงาม

 

การอดทนรอคอยที่ทำให้หลายคนไม่พอใจที่สุดแล้วก็ผลิดอกออกผล เมื่อริชาร์ดผู้เป็นพ่อเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น อีโก้ของตัวเองเริ่มลดลงฟังเสียงจากคนอื่นมากขึ้นและตอบตกลงให้ลูกสาววีนัสลงสนามในระดับอาชีพครั้งแรกในรายการ  Bank of the West Classic ด้วยวัยเพียง 14 ปี ซึ่งเมื่อหนังเดินทางมาถึงองค์สุดท้ายกับซีนไคล์แม็กของเรื่อง ที่วีนัสต้องดวลกับอรานซ่า ซานเชส วิคาร์ริโอ นักเทนนิสชาวสเปนมือ 2 ของโลกในตอนนั้น เป็นซีนการแข่งขันดุเดือดและสนุก ส่วนผลแพ้ชนะต้องไปชมเองในภาพยนตร์เท่านั้น 

 

แผนการทั้งหมดของริชาร์ด ที่เตรียมไว้ให้กับลูกอาจจะสะดุดบ้างทำได้ไม่ครบ 85 หน้าอย่างที่ตัวเองกล่าวไว้ แต่ที่สุดแล้วอย่างที่ทุกคนทราบวีนัส วิลเลี่ยมส์ ก้าวขึ้นไปเป็นนักเทนนิสเบอร์ 1 ของโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ นั่นคือพร้าเล่มแรกของริชาร์ด และอีกไม่กี่ปีต่อมาเซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ก็กลายเป็นนักเทนนิสหญิงที่ถูกขนานนามว่าดีที่สุดในโลกเทนนิสยุคใหม่ นั่นก็คือพร้าเล่มที่ 2 ของชีวิตผู้เป็นพ่ออย่างริชาร์ด ซึ่งแน่นอนว่าเธอทั้งคู่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเทนนิสหญิงรุ่นหลังทั่วโลก โดยเฉพาะเยาวชนหญิงผิวสีของสหรัฐอเมริกาที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าอาจจะไม่ได้เหมาะกับกีฬาเทนนิสซึ่งมีรากเหง้าความเป็นกีฬาชนชั้นผู้ดีมาโดยตลอด

 

 

สุดท้ายแล้วทุกคนล้วนได้บทเรียนของชีวิตกันทั้งนั้น ทั้งตัวของวีนัสและเซเรน่าไม่เว้นแม้แต่ตัวของริชาร์ด วิลเลี่ยมส์ เอง ผู้ซึ่งแม้มีเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสุดโต่ง แต่หากไม่ยอมรับฟังผู้อื่นบ้าง (โดยเฉพาะภรรยาที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา) ชีวิตของริชาร์ด อาจจะไม่ใช่ “คิง” อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ และโลกอาจไม่ได้มีนักเทนนิสหญิงระดับโลกอย่างพี่น้องตระกูลวิลเลี่ยมส์

 


stadium

author

ปองพล สิงห์สิทธิ์

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV