stadium

ประโยชน์และโทษของกัญชาต่อนักกีฬา สิ่งที่ควรศึกษาก่อนนำไปใช้

9 มิถุนายน 2565

การใช้ประโยชน์ของกัญชาในวงการกีฬามีการศึกษามานานหลายปี ในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งประกาศปลดล็อกในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 สามารถดูรายละเอียดและข้อจำกัดในการใช้ได้ที่เว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

หลายฝ่ายต่างออกมายืนยันถึงข้อดีของการใช้กัญชาในด้านการแพทย์ แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน เพราะพืชชนิดนี้มีข้อเสียต่อร่างกายหากใช้ไม่ถูกต้องเช่นกัน

 

แล้วประโยชน์และโทษของกัญชาในการใช้กับนักกีฬามีอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

ประโยชน์

 

ลดอาการอักเสบ - งานวิจัยจำนวนมากพบว่า แคนนาบินอยด์ หรือ CBD (สารสกัดที่พบมากในกัญชงที่ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท) ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อได้ดี นอกจากนั้นนักวิจัยกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำมาใช้รักษาภาวะภูมิต้านตนเองเช่น โรคโครห์น(การอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้) โรคลูปัส (โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือ SLE) และโรคสะเก็ดเงิน (โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง)

 

บรรเทาอาการปวดและบวมช้ำ - นอกจากช่วยต้านอาการอักเสบแล้ว งานวิจัยพบว่ากัญชาสามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้ ทั้งอาการปวดเรื้อรังรวมไปถึงอาการปวดเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อกระตุกซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามอร์ฟีนสารสกัดจากฝิ่นที่อันตรายและสามารถเสพติดได้

 

รักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ - การใช้กัญชาทางการแพทย์สามารถรักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและโรคพาร์กินสัน นอกจากนั้นประโยชน์ของกัญชาสามารถขยายไปถึงนักกีฬาที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้เช่นกัน แต่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

 

ช่วยในการนอนหลับ - เตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC สารสกัดจากกัญชาซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทนั้น ขึ้นชื่อเรื่องช่วยในการนอนหลับ แต่ขณะเดียวกันจากการศึกษาพบว่ายังช่วยผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือระงับอาการฝันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือ PTSD ส่วน CBD สามารถบรรเทาความผิดปกติของผู้ที่นอนหลับไม่สนิท รวมถึงความเหนื่อยล้าในเวลากลางวัน แน่นอนว่าสำหรับตัวนักกีฬาแล้ว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอคือสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก

 

ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น - หลายคนอาจคิดว่ากัญชาส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของสมอง แต่ความจริงแล้วเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในนิตยสาร Nature Medicine ปี 2017 ระบุว่าการใช้สารสกัด THC ในปริมาณเล็กน้อย ช่วยฟื้นฟูการรับรู้ของหนูทดลองที่มีอายุมากได้ นอกจากนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟิตเนสหลายคนที่เปิดเผยว่ากัญชาช่วยให้พวกเขามีสมาธิในการออกกำลังกายมากขึ้น

 

 

โทษ

 

ทำลายปอด - ด็อกเตอร์ เอริช อันเดเรอร์ หัวหน้าแผนกศัลยกรรมประสาทที่โรงพยาบาล NYU Langone ในบรู๊คลีน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า กัญชาสามารถส่งผลต่อฟอร์มของนักกีฬาหากพวกเขาสูบมันเข้าร่างกาย เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับระบบการทำงานของปอด ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับบุหรี่ก็ตาม

 

ลดทอนทักษะในการเคลื่อนไหว - กัญชามีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจและการประสานงานกันของกล้ามเนื้อไม่ต่างจากของมีนเมาอื่น ๆ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับใช้ฟื้นฟูหลังออกกำลังกายมากกว่าใช้ระหว่างที่เล่นกีฬาซึ่งต้องใช้แรงต้านทานหรือการตอบสนองที่รวดเร็วอย่างเช่นยกน้ำหนักหรือกระโดดค้ำ นอกจากนั้นผลการวิจัยพบว่าแม้กัญชาจะช่วยฟื้นฟูการรับรู้ของผู้สูงอายุ แต่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาของระบบสมองสำหรับวัยรุ่นเช่นกัน

 

เพิ่มโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง - การใช้กัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงต่อความผิดปกติทางจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และโรคจิตเภท อันส่งผลต่อความฟิตเนื่องจากลดแรงจูงใจรวมถึงทำให้เกิดผลข้างเคียงทางร่างกายมากมาย อาการซึมเศร้าและความเครียดยังเพิ่มระดับคอร์ติซอลในร่างกายนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนัก ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ และปัญหาทางเดินอาหาร

 

ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายเพิ่มขึ้น - กัญชาเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากนำเข้าสู่ร่างกาย เมื่อรวมกับหนึ่งในตัวกระตุ้นหลักของอาการหัวใจวายอย่างการออกแรงกะทันหัน การออกกำลังกายในขณะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกัญชาอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นใครก็ตามที่มีประวัติเกี่ยวกับปัญหาหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย และควรหลีกเลี่ยงกัญชาโดยสิ้นเชิง


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose