12 พฤษภาคม 2565
หากว่าในกีฬาฟุตบอล บราซิล คือชาติที่ส่งออกนักเตะมากที่สุด ในกีฬาเทเบิลเทนนิส คงไม่ใครเกินจีนเจ้าแห่งกีฬาลูกเด้งที่มีนักกีฬาแดนมังกรกระจายออกไปเล่นให้กับประเทศต่าง ๆ ในฐานะนักกีฬาโอนสัญชาติ เรียกได้ว่าพอถึงมหกรรมกีฬาแต่ละครั้ง ถ้าไม่ดูธงที่ปักอยู่บนอกเสื้อ เราคงแยกไม่ออกเลยว่าใครเป็นทีมชาติจีนกันแน่
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทั่วโลกสนใจใช้บริการนักกีฬาจีน เนื่องจากความแข็งแกร่งที่ไร้เทียมทาน ซึ่งนับตั้งแต่เทเบิลเทนนิสได้รับการบรรจุในโอลิมปิก เกมส์ ตั้งแต่ปี 1988 จีนคว้าไป 32 เหรียญทอง จากทั้งหมด 38 เหรียญในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ขณะเดียวกันนักกีฬาปิงปองแดนมังกรยังผ่านระบบการฝึกฝนและคัดกรองอย่างเข้มงวดมาตั้งแต่เด็ก
ส่วนในภูมิภาคอาเซียนหากถามว่าชาติใดคือเจ้าแห่งปิงปอง ร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่าสิงคโปร์ดูได้จากการแข่งขันซีเกมส์ที่พวกเขาโกยเหรียญทองกันเป็นว่าเล่นนับตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งก็มาจากการโอนสัญชาติของนักกีฬาจีนนั่นเอง
แล้วการดึงเอานักกีฬาจีนโอนสัญชาติของสิงคโปร์เริ่มขึ้นได้อย่างไร พวกเขาประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ติดตามได้ที่นี่
โปรเจ็กต์เรนโบว์ จุดเริ่มการผูกขาดแชมป์ปิงปองอาเซียน
สำหรับชาติที่มีประชากรไม่กี่ล้านคน และมีพื้นที่ราว 733 ตารางกิโลเมตรอย่างสิงคโปร์ การจะประสบความสำเร็จในวงการกีฬานับเป็นเรื่องยาก เนื่องด้วยจำนวนประชากรและพื้นที่สำหรับการพัฒนาด้านกีฬามีอยู่อย่างจำกัด
ด้วยเหตุนี้เอง ในปี 1993 สมาคมเทเบิลเทนนิสสิงคโปร์ จึงได้เสนอโครงการนำเข้านักกีฬาต่างชาติฝีมือดีเพื่อพัตนามาตรฐานกีฬาในประเทศ ซึ่งได้รับการต่อยอดโดยหน่วยงานรัฐบาลภายใต้ชื่อแรกเริ่มว่า โปรเจ็กต์ เรนโบว์ ก่อนจะมีชื่ออย่างเป็นทางการคือ โครงการความสามารถด้านกีฬาต่างประเทศ (FST) โดยเจ้าที่และองค์กรกีฬาในสิงคโปร์จะเฟ้นหารวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติที่มีความสามารถด้านกีฬาโอนสัญชาติมาเล่นให้กับพวกเขาในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ เพื่อไล่ล่าความสำเร็จ
ประกาศศักดาเจ้าแห่งปิงปองอาเซียน
หากนับเฉพาะกีฬาเทเบิลเทนนิสตั้งแต่เริ่มโครงการ สิงคโปร์ดึงนักกีฬาจีนโอนสัญชาติมาแล้วทั้งหมด 21 ราย ส่วนความสำเร็จในซีเกมส์ของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นในปี 1995 ที่เชียงใหม่ จิง จุ้นหง นักปิงปองจีนที่ย้ายมาอยู่สิงคโปร์ตามสามีก่อนที่โปรเจ็กต์เรนโบว์จะเริ่มขึ้น แต่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากโครงการดังกล่าวในการเปลี่ยนสัญชาติอย่างรวดเร็ว คว้าเหรียญทองในประเภทหญิงเดี่ยวไปครอง และป้องกันแชมป์ได้อีกครั้งใน 2 ปีต่อมา นอกจากนั้นเธอยังจับคู่กับ หลี่ เจียเหว่ย คว้าเหรียญทองหญิงคู่ได้ 3 สมัยซ้อนในปี 1999-2003
นับตั้งแต่นั้น สิงคโปร์ คว้าเหรียญทองเทเบิลเทนนิสจากประเภทหญิงเดี่ยวและหญิงคู่เกือบทุกสมัย ยกเว้นปี 2015 ที่ "หญิง" สุธาสินี เสวตรบุตร สร้างประวัติศาสตร์ส่ง เฟิ่ง เทียนเหว่ย นักกีฬาจีนโอนสัญชาติของสิงคโปร์ตกรอบแบ่งกลุ่มก่อนก้าวไปคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ รวมถึงในปี 2019 ที่ สุธาสินี จับคู่กับ "ทิพย์" อรวรรณ พาระนัง และ "แป๋ว" นันทนา คำวงศ์ ที่จับคู่ "บัว" จิณห์นิภา เสวตรบุตร ปราบทีมชาติสิงคโปร์ในรอบรองชนะเลิศเข้ามาชิงกันเอง และเป็น "หญิง-ทิพย์" ที่คว้าเหรียญทองไปครอง พร้อมหยุดสถิติการคว้าเหรียญทองหญิงคู่ติดต่อกันของสิงคโปร์เอาไว้ที่ 9 สมัย
ขณะที่ประเภทชายนั้น แม้สิงคโปร์จะคว้าเหรียญทองชายเดี่ยวหนแรกได้ในปี 1999 จาก ต้วน หยงจุน แต่ก็ต้องถึง 8 ปีกว่าจะทำได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามคราวนี้ เกา หนิง ทำให้ปิงปองชายสิงคโปร์ไร้เทียมทาน เมื่อคว้า 5 เหรียญทองไปคนเดียว 5 สมัยในปี 2007-11 และ 2015-17 ส่วนปี 2013 เป็นของ จาง เจี้ยน อีกหนึ่งนักกีฬาในโครงการ และปี 2019 มาจากฝีมือผลผลิตในประเทศอย่าง ปัง ยิว เอ็น โคเอ็น ส่วนประเภทชายคู่สิงคโปร์คว้าเหรียญทองหนแรกในปี 2001 และป้องกันแชมป์ได้อีก 3 สมัย ก่อนโดนเวียดนามปาดหน้าในปี 2009 แต่พวกเขาก็ทวงแชมป์กลับมาได้อีก 3 สมัย จนมาถึงปี 2019 ที่เวียดนามแย่งเหรียญทองไปครองได้อีกครั้ง
ด้านความสำเร็จประเภททีม นับตั้งแต่เริ่มโครงการดึงนักกีฬาโอนสัญชาติ สิงคโปร์ คว้าเหรียญทองทีมชาย 7 สมัย และ ทีมหญิง 9 สมัยรวดไม่แพ้ใครนับตั้งแต่ปี 1999 (ปี 2011 และปี 2019 ไม่มีบรรจุแข่ง) ขณะที่ประเภทคู่ผสม พวกเขาได้ไปทั้งหมด 9 สมัย นับตั้งแต่ปี 1995
ความสำเร็จที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ถึงแม้โครงการเอฟเอสที จะทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จครองเจ้าปิงปองอาเซียน และก้าวไปถึงขั้นคว้าเหรียญโอลิมปิกมาแล้ว แต่เสียงตอบรับของคนในประเทศไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจไปกับสิ่งที่พวกเขาได้รับ เพราะความรู้สึกที่ว่านักกีฬาเหล่านั้นไม่ได้เป็นชาวสิงคโปร์โดยกำเนิด และไม่ได้เติบโตมาบนแผ่นดินของพวกเขา เพียงแต่ย้ายมาเพราะผลประโยชน์ ดังนั้นทุกครั้งที่นักกีฬาจากโครงการประสบความสำเร็จ พวกเขาจึงไม่รู้สึกยินดีไปด้วยได้อย่างเต็มภาคภูมิ ผิดกับเมื่อตอนที่ โจเซฟ สคูลลิ่ง คว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่พวกเขาฉลองกันสุดเหวี่ยง เพราะนี่คือเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน
ขณะเดียวกันผู้คนในวงการกีฬาสิงคโปร์ต่างแสดงความกังวลและหาวิธีแก้อย่างต่อเนื่องถึงกรณีที่นักกีฬาโอนสัญชาติอาจปิดกั้นโอกาสนักกีฬาในประเทศ แม้ระดับผู้บริหารขององค์กร หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า โปรเจ็กต์นี้จะยกระดับมาตรฐานกีฬาสิงคโปร์เพราะทำให้การแข่งขันภายในเข้มข้นมากขึ้นจากการได้ปะทะกับยอดฝีมือจากทั่วโลกที่โอนสัญชาติเข้ามาก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม
TAG ที่เกี่ยวข้อง