stadium

การยั่วยุในวงการกีฬา : เหตุและผลรวมทั้งวิธีรับมือ

6 เมษายน 2565

ยิ่งรางวัลมีคุณค่ามากเท่าไหร่ การลงเดิมพันก็ต้องสูงมากเท่านั้น ซึ่งในการแข่งขันกีฬาที่มีผลตอบแทนล่อตาล่อใจ นักกีฬาบางคนย่อมใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมาย ถึงแม้มันจะเป็นการทำลายสปิริตนักกีฬาหรือขัดต่อหลักคุณธรรม จริยธรรม และมารยาทสากลก็ตาม

 

การยั่วยุคู่แข่งคือหนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด เพราะทำได้ง่ายและให้ผลลัพธ์คุ้มกับการเสี่ยงต่อบทลงโทษที่ตามมา ซึ่งในบางครั้งเป็นเพียงแค่คำตักเตือนจากผู้ตัดสิน แม้กระทั่งแฟนกีฬาก็มีการนำแนวทางนี้ไปใช้เช่นกัน โดยเฉพาะในยามที่ตัวเองเป็นเจ้าบ้าน

 

หลายครั้งที่การยั่วยุเลยเถิดไปถึงขั้นการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และหลายครั้ง ที่ฝ่ายถูกกระทำโกรธจนขาดสติใช้ความรุนแรงโต้ตอบเข้าทางฝ่ายแรกที่รอให้มันเกิดขึ้น

 

การยั่วยุส่งผลต่อการแข่งกีฬาอย่างไร และมีวิธีใดบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้าม ติดตามได้ที่นี่

 

 

เหตุและผล

 

สาเหตุหลัก ๆ ของการยั่วยุ หรือที่วงการอเมริกันเกมส์ใช้คำว่า แทรช ทอล์ก (Trash-talk) คือเพื่อให้คู่แข่งเสียสมาธิ หมดความมั่นใจ ไม่สามารถเล่นตามเกมส์ของตัวเองได้ หรือผลลัพธ์ขั้นสุดคือโมโหจนขาดสติใช้ความรุนแรงตอบโต้ทำให้โดนกรรมการไล่ออกจากสนาม โดยวิธีที่ใช้ในการยั่วยุจะมีทั้งการใช้คำพูดดูถูก/ข่มขู่คู่แข่งด้านความสามารถ หรือลักษณะทางกายภาพซึ่งผิดหลักจริยธรรมรวมทั้งเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ขณะเดียวกันในบางครั้งยังล้ำเส้นไปถึงเรื่องพฤติกรรมทางเพศ, ความสัมพันธ์, ครอบครัว, เชื้อชาติ, สีผิว ฯลฯ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการแสดงท่าทางเยาะเย้ยเมื่อทำคะแนนได้ หรือเวลาคู่แข่งทำผิดพลาด

 

จุดประสงค์ของการยั่วยุคือการเพิ่มความกดดันทางร่างกายและจิตใจ หรือการปั่นป่วนให้เสียสมาธิ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่นักกีฬาทุกคนรู้ว่าตัวเองจะต้องเจอและเตรียมรับมือมาเป็นอย่างดี แต่ในงานวิจัยหนึ่งพบว่าถึงแม้นักกีฬาจะรับมือกับการยั่วยุได้ อย่างไรก็ตามพวกเขายังต้องใช้สมาธิและความพยายามมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามเป้าหมาย โดยการยั่วยุมักจะถูกนำไปใช้ในกีฬาที่มีการปะทะกันมากกว่า และมีการใช้อย่างแพร่หลายในนักกีฬาชายมากกว่านักกีฬาหญิง

 

 

วิธีป้องกันและแก้ไข

 

การยั่วยุไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้หากพฤติกรรมไม่เกินขอบเขตของกฎกติกา ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากตัวเอง อย่างแรกคือต้องคิดบวกเข้าไว้แทนที่จะใส่ใจกับคำพูดยั่วยุ ให้นึกถึงสิ่งที่ทำให้ตัวเองสนุก, ตั้งสมาธิไปที่การเอาชนะ, กลยุทธ์ในการแข่ง หรือคิดถึงสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ซึ่งจะช่วยเบนความสนใจไปจากการยั่วยุและรักษาสมาธิให้อยู่ในเกมได้

 

วิธีต่อมาคืออย่าคล้อยตามคำพูดหรือการกระทำเหล่านั้น เพราะการยั่วยุหวังให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ นักกีฬาจึงต้องห้ามตัวเองไม่ให้งับเหยื่อ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าควรนั่งเงียบ ๆ แต่ไม่ควรไปข้องเกี่ยวกับคำพูดยั่วยุที่ไร้สาระ

 

อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ดีคือการหัวเราะไปกับผู้ยั่วยุ หรือที่เรียกว่าต่อต้านไม่ได้ก็ให้เข้าร่วมไปเสียเลย แทนที่จะปล่อยเขาทำให้คุณหัวร้อน ก็เข้าร่วมและเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูดหรือหัวเราะไปกับพวกนั้น เดี๋ยวก็เจื่อนกันไปเอง

 

อย่างสุดท้าย หากรู้สึกว่าการเงียบเท่ากับเป็นการจำนนต่อการยั่วยุ ก็ให้ลองเปิดปากพูดตามปกติเพียงแต่ไม่ต้องสนใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดถึง เพราะบางครั้งวิธีป้องกันที่ดีที่สุดอาจจะเป็นวิธีที่เราสบายใจกับมันมากที่สุด

 

ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือนักกีฬาต้องบอกและเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า การใช้ความรุนแรงตอบโต้คือสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และผลเสียที่ตามมานั้นมากเกินกว่าจะใช้คำว่าอารมณ์ชั่ววูบเพื่อขอความเห็นใจกลับมา


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose