26 มิถุนายน 2563
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
ระหว่างซาอุฯ, อินเดีย, อิหร่านและกาตาร์ ถ้าเลือกได้อยากให้ใครได้เป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนคัพ2027?
เหลือเวลาอีกแค่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็จะถึงกำหนดเดทไลน์ที่ทางเอเอฟซีเปิดให้แต่ละชาติได้ยื่นซองขอสมัครเป็นเจ้าภาพรายการชิงแชมป์ทวีปอย่างเอเชี่ยนคัพปี2027 (ขยายเวลามาจากเดิมที่จะปิดรับซองกันวันที่31มีนาคมมาเป็น30มิถุนายนเพราะพิษโควิด-19) และจากหน้าข่าวที่มีการเปิดเผยออกมาเป็นระยะๆแคนดิเดตที่ประสงค์จะรับหน้าสื่อที่ว่าในตอนนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นมีแค่4ชาติ กล่าวคือซาอุดิอาระเบียที่ยื่นซองมาตั้งแต่ไก่โห่, อินเดียหนึ่งเดียวจากเอเชียใต้, อิหร่านที่ขอใช้เอเชี่ยนคัพ2027เป็นเวทีทวงความยิ่งใหญ่ และกาตาร์เจ้าภาพบอลโลกในอีกสองปีข้างหน้า
ดังนั้นพอเป็นแบบนี้คำถามที่น่าสนใจสำหรับเราคือ “ถ้าเลือกได้เราควรโหวตให้ใครได้เป็นเจ้าภาพดี?”
หากจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายๆอย่างกับดินแดนอันไกลโพ้นที่ต้องเลือกกันระหว่างตะวันออกกลาง, เปอร์เซียและเอเชียใต้ อย่างไหนจะเป็นช้อยย์ที่ดีที่สุดสำหรับเรา
พูดในด้านการเดินทางเราเองเคยมีประสบการ์ณมาแล้วกับการที่ต้องเล่นกับอิรักที่อิหร่านในคัดบอลโลกหนก่อน กับการที่ต้องบินยาวแบบมาราธอนร่วม11ชม.แถมยังต้องแวะพักต่อเครื่องอีก1ที่ โดยมีค่าตั๋วเครื่องบินราคาเหยียด2-3หมื่นบาท การเล่นที่อิหร่านก็อาจทำให้แฟนบอลต้องคิดหนัก
เฉกเช่นเดียวกับการเดินทางจากไทยไปเจดดาห์หรือริยาดซึ่งเป็นเมืองหลวงของซาอุดิอาระเบียที่ต้องบินกันยาวๆร่วม10ชั่วโมงแถมยังต้องต่อเครื่องอีกเช่นกันแต่ราคาค่าตั๋วโดยสารอาจถูกกว่าการบินไปอิหร่าน ดังนั้นซาอุฯเองก็อาจไม่ใช่ช้อยย์ที่ดีอีกเช่นกันหากจะมองในมุมของแฟนบอล(ที่อาจต้องเก็บหอมรอมริบตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อเป็นเสบียงสำหรับเดินทางไปเชียร์ทีมรัก)
กาตาร์และอินเดียอาจดูดีมีภาษีกว่าในเรื่องนี้เพราะมีสายการบินที่บินตรง ไม่ว่าจะเข้าโดฮา, นิวเดลี, มุมไบ หรือโกลกาตา ทั้งหมดที่ว่ามาก็ล้วนบินกันแค่4-6ช.ม.(และถ้าเกิดโชคดีกดไวได้ตั๋วบินตรงจากไทยเข้าโกลกาตาก็จะใช้เวลาเดินทางแค่2ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น) แถมค่าตั๋วเครื่องบินกรณีบินไปอินเดียก็ถูกแสนถูกชนิดกำแบงค์พันซัก6-7ใบก็หยิบฉวยได้ไม่ยาก
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงค่าใช้จ่ายด้านที่พักและค่าจุกจิกสัพเพเหระที่จะต้องใช้จ่ายตลอดเส้นทาง ที่อินเดียก็ดูจะถูกกว่าใครในบรรดาตัวเลือกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้(ทั้งกาตาร์, ซาอุฯ และอิหร่าน สามรายที่ว่าล้วนมีค่าครองชีพที่สูงกว่า)
และถ้าจะพิจารณาด้านสภาพภูมิอากาศ ที่อินเดียก็มีสภาพภูมิอากาศไม่ค่อยจะแตกต่างจากที่ไทยซักเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับการเล่นในตะวันออกกลางหรือที่อิหร่านที่นักเตะไทยอาจต้องสวมเสื้อขนแกะแบกเสื้อกันหนาวตัวหนาๆไปสนาม และไม่แน่อีกเหมือนกันว่านี่อาจเป็นสาเหตุหลักให้สถิติที่ผ่านๆมาเวลานักเตะไทยไปเยือนตะวันออกกลางทีไรก็มักจบลงด้วยความผิดหวังเสียส่วนใหญ่ได้หรือเปล่า
ยิ่งพอพูดถึงเรื่องไทม์โซนสำหรับการถ่ายทอดสด การเล่นที่อินเดียก็อาจนำมาซึ่งโปรแกรมถ่ายทอดสดที่ดูจะเอื้อให้คนไทยมากกว่า(เวลาไม่ห่างจากเรามาก) พูดมาแบบนี้บางทีการเลือกอินเดียอาจเป็น “คำตอบสุดท้าย” ที่คนไทยควรจะโหวตให้ก็ได้นะ
เพียงแต่มันยังมีคำถามสำคัญอยู่ข้อนึงคืออินเดียเองมีความพร้อมมากแค่ไหนในการจัดการแข่งขันที่มีสเกลใหญ่ระดับทวีปแบบนี้เพราะที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยมีประสบการ์ณจัดการแข่งขันอย่างว่านี้เลยแม้แต่ครั้ง(จริงอยู่ที่พวกเขาเคยเป็นเจ้าภาพบอลโลกเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน17ปีแถมยังได้สิทธิ์จัดบอลโลกในรุ่นเดียวกันในบอลหญิงอีกด้วย แต่สเกลการแข่งขันมันก็เล็กกว่ากันค่อนข้างมาก)
จำนวนสนามแข่งขันและสนามซ้อมที่ต้องผ่านการรับรอง(ทั้งเรื่องความจุและระเบียบว่าด้วยเรื่องของระยะทางระหว่างที่พักไปถึงสนาม), พื้นที่รับรองสำหรับแคมป์ทีมชาติทั้งหมด24ชาติ และไหนจะเรื่องระบบสาธารณูปโภคในด้านการเดินทางไปสนามทุกสนามที่ต้องเข้าถึงได้ง่าย, ปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับแฟนบอล ว่ากันในเรื่องพวกนี้ที่ซาอุฯ, กาตาร์และอิหร่านซึ่งต่างเคยผ่านประสบการ์ณในการเป็นเจ้าภาพรายการใหญ่ๆมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนอาจทำได้ดีกว่า
“มีดีมีเด่นกันไปคนละอย่าง” และก็ถูกอีกเหมือนกันที่คงจะมีคนไทยจำนวนไม่มากที่จะสามารถสละเวลาของตัวเองเพื่อบินไปเชียร์ทีมรักได้ถึงขอบสนาม แต่ฟุตบอลคือกีฬาที่ต้องการผู้ชมและปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังถือเป็นสิ่งสำคัญ
ว่าแต่ท่านผู้อ่านล่ะ..ถ้าเลือกได้ท่านอยากให้ใครได้เป็นเจ้าภาพ?
TAG ที่เกี่ยวข้อง