stadium

ญี่ปุ่นกับวิธีสร้างนักวิ่งผู้ทำลายกำแพง 10 วินาที

23 มีนาคม 2565

ในการวิ่ง 100 เมตร มีสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดระหว่างนักวิ่งชั้นดีกับนักวิ่งชั้นยอดนั่นก็คือกำแพง 10 วินาที ซึ่งหากนับเฉพาะที่มีการจับเวลาแบบอิเลกทรอนิกส์แล้ว ตั้งแต่ที่ จิม ไฮน์ส ลมกรดชาวอเมริกัน ทำได้สำเร็จเป็นคนแรกเมื่อปี 1968 มีนักวิ่งเพียง 156 คนเท่านั้นที่ทำลายกำแพงดังกล่าวได้สำเร็จ และส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งจากทวีปอเมริกา, แอฟริกา และยุโรป

 

ขณะที่ทวีปเอเชีย ซึ่งสรีระเป็นรองทวีปอื่น มีนักวิ่งเพียง 9 คนเท่านั้นที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 10 วินาที อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าทึ่งคือ 4 จาก 9 คนนั้นมาจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้สถิติของประเทศคือ 10.00 วินาที ที่ โคจิ อิโตะ ทำเอาไว้ใน เอเชียน เกมส์ ปี 1998 ไม่มีใครทำลายลงได้นานกว่า 2 ทศวรรษ

 

จาก โยชิฮิเดะ คิริว กับสถิติ 9.98 ในปี 2017 มาจนถึง เรียวตะ ยามางาตะ เจ้าของสถิติคนปัจจุบันในเวลา 9.95 วินาทีที่ทำเอาไว้เมื่อปี 2021 องค์ความรู้ใดที่ทำให้ญี่ปุ่นสร้างนักกีฬาผู้ทำสถิติใหม่ของประเทศได้ถึง 3 ครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ติดตามได้ที่นี่

 

 

เรียนรู้จากตำนาน

 

อากิฟูมิ มัตสึโอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลวัตคนสำคัญซึ่งเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่สถาบันฟิตเนสและกีฬาแห่งชาติในเมืองคาโนยะ จังหวัดคาโกชิมะ ได้ศึกษาเรื่องความเร็วของการวิ่งระยะ 100 เมตรมาเป็นเวลานาน ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยกับ อาซาฮี ชิมบุน สื่อญี่ปุ่นว่า การพัฒนาความเร็วไปอีกระดับของลมกรดชาวญี่ปุ่นนั้นมีจุดเริ่มมาจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกปี 1991 ที่กรุงโตเกียว

 

มัตสึโอะได้ค้นพบสองสิ่งที่สำคัญหลังวิเคราะห์รูปแบบการวิ่งของ คาร์ล ลูอิส ตำนานชาวอเมริกันที่สร้างสถิติโลกด้วยเวลา 9.86 วินาทีในรายการดังกล่าว

 

“สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบคือเทคนิคการวิ่งของเขา นักวิ่งชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นได้รับการสอนให้เหยียดเข่าเต็มที่และ 'เตะ' พื้นทุกก้าวเพื่อเร่งความเร็ว แต่ลูอิสไม่เคยยืดขาของเขาจนสุดและไม่ได้เตะพื้นตลอดการแข่งขัน” ซึ่งผลการวิจัยนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในวิธีการวิ่งของนักวิ่งระยะสั้น เพราะทำให้ลมกรดแดนอาทิตย์อุทัยพบว่า "การเตะพื้นอย่างมั่นคง" ไม่ใช่วิธีการวิ่งให้เร็วขึ้น และหันไปมุ่งเน้นการเคลื่อนไหวของอุ้งเชิงกรานเพื่อนำขาก้าวไปข้าวหน้ามากกว่า

 

การค้นพบอีกประการหนึ่งคือ ฝีเท้าของลูอิสช้าลงในช่วงท้ายหลังจากทำความเร็วสูงสุดแล้ว แม้ดูเหมือนว่าเขาจะเร่งความเร็วไปจนถึงเส้นชัยก็ตาม ซึ่งความเป็นจริงแล้วนักวิ่งทุกคนแม้แต่เจ้าของสถิติโลกคนปัจจุบันอย่าง ยูเซน โบลต์ ตำนานชาวจาเมกา ก็ไม่สามารถรักษาระดับความเร็วสูงสุดของตัวเองได้และลดความเร็วลงก่อนเข้าเส้นชัย

 

มัตสึโอะ กล่าวว่า การศึกษาลูอิสของเขาแสดงให้เห็นว่าควรวัดความเร็วการวิ่งในสามช่วงคือ ช่วง "เร่ง" อย่างรวดเร็วที่จุดเริ่มต้น, ช่วง "กลาง" ที่ทำความเร็วสูงสุดและช่วง "ชะลอตัว" ในตอนท้าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นักวิ่งระยะสั้นจะมีความเร็วสูงสุดหลังจากผ่านช่วง 50 เมตรถึง 60 เมตร

 

 

ความเร็วสูงสุดในอุดมคติเพื่อทำลายกำแพง 10 วินาที

 

จากการวิจัยที่สั่งสมมาเป็นเวลานานทำให้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้ข้อสรุปเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความเร็วของนักวิ่งระยะสั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

"องค์ประกอบที่เชื่อมโยงกับการปรับปรุงเวลาให้ดีขึ้นมากที่สุดคืออัตราความเร็วสูงสุด" มัตสึโอะเปิดเผยข้อสรุปจากการวิจัย "พูดได้เลยว่าความเร็วสูงสุดอย่างน้อย 11.60 เมตรต่อวินาทีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวิ่ง 100 เมตรในเวลาต่ำกว่า 10 วินาที”

 

ทั้งนี้ตอนที่ โยชิฮิเดะ คิริว ทำสถิติ 9.98 วินาที ในปี 2017 นั้น เขามีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 11.67 เมตรต่อวินาที ส่วน เรียวตะ ยามางาตะ ทำสถิติ 9.95 วินาทีด้วยการทำความเร็วสูงสุด 11.62 วินาที ขณะที่ ลูอิส ทำความเร็วสูงสุด 12.05 เมตรต่อวินาที ตอนที่ทำสถิติโลกเมื่อปี 1991 และ ยูเซน โบลต์ ทำความเร็วสูงสุด 12.35 เมตรต่อวินาทีในตอนที่ทำสถิติโลก 9.58 วินาที เมื่อปี 2009 ซึ่งยังคงไม่มีใครทำลายลงได้

 

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ยังมีข้อยกเว้น เพราะ ยูกิ โคอิเกะ ทำความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 11.58 เมตรต่อวินาทีตอนทำสถิติ 9.98 วินาทีในปี 2019 เนื่องจากเจ้าตัวซอยขาเร็วเป็นพิเศษ ทำให้ความเร็วไม่ตกลงมากนัก นอกจากนั้นยังพบกรณีที่เป็นผลสะท้อนกลับของทฤษฎีนี้เช่นกัน คือกรณีของ โนบุฮารุ อาซาฮาระ ซึ่งทำลายสถิติญี่ปุ่นถึงสามครั้งในปี 1990 และมีเวลาที่ดีที่สุด 10.02 วินาทีในปี 2001 แต่ไม่เคยทำลายกำแพง 10 วินาที ซึ่งศาสตราจารย์มัตสึโอะอธิบายว่า แม้ อาซาฮาระ จะทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 11.7 เมตรหรือใกล้เคียงต่อวินาที แต่เจ้าตัวมีแนวโน้มที่จะชะลอความเร็วลงอย่างมากในช่วงก่อนเข้าเส้นชัย

 

ประเด็นนี้สร้างความผิดหวังให้กับนักวิจัยอย่างมาก และทฤษฎีนี้ก็ไม่สามารถนำไปใช้ชี้วัดกับ การทำสถิติ 10.00 วินาทีของ โคจิ อิโตะ ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ เอเชียน เกมส์ ที่กรุงเทพ ปี 1998 เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนคือ อิโตะ มีการวิ่งแบบก้าวยาวเหมือนกับลมกรดชั้นนำของโลก

 

เพราะฉะนั้นวิธีการพัฒนาความเร็วในการวิ่งยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไป นักวิ่งควรก้าวเท้าให้ยาวขึ้นแลกกับการเสียความเร็วของการซอยขาหรือไม่ หรือควรพยายามรักษาความเร็วในขณะที่ก้าวยาวขึ้นอีกไม่กี่เซนติเมตร สิ่งหนึ่งที่ทั้งนักกีฬาและโค้ชมีจุดยืนร่วมกันคือ สไตล์การวิ่งเป็นรูปแบบเฉพาะบุคล ไม่สามารถใช้ด้วยกันได้ทั้งหมด

 

"เราต้องการระบุหลักการทั่วไปในหมู่นักวิ่งระยะสั้น" มัตสึโอะเผย "แต่ในที่สุดเราก็ตัดสินใจว่านักวิ่งแต่ละคนมีคำตอบที่แตกต่างกัน ตอนนี้สไตล์ถูกกำหนดตามวิธีคิดของนักวิ่งและโค้ชของพวกเขา”

 

อย่างไรก็ตาม การทำความเร็วสูงสุด 11.60 เมตรต่อวินาที ยังคงเป็นเป้าหมายร่วมกันในหมู่นักลมกรดชั้นนำของญี่ปุ่น และเป็นพื้นฐานการฝึกซ้อมของพวกเขาถึงปัจจุบัน


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator