stadium

พิชิต เมืองนาโพธิ์ : จิตวิทยาการกีฬาคนรู้ความสำคัญ แต่...มองไม่ค่อยเห็น

19 มิถุนายน 2563

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬานั้นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานักกีฬามากยิ่งขึ้น ทุกชนิดกีฬาไม่ได้วัดกันที่ทักษะและความแข็งแกร่งของร่างกายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การฝึกจิตใจให้เข้มแข็งพร้อมรับแรงกดดันทุกสถานการณ์ก็เป็นอีกวิธีการที่จะทำให้นักกีฬาก้าวข้ามขีดจำกัดและแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ และในวันนี้ Out Of Stadium ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์พิชิต เมืองนาโพธิ์ นักจิตวิทยาการกีฬามือ 1 ของไทย ที่ทำหน้าที่คอยดูแลสภาพจิตใจของนักกีฬาไทยมานานกว่า 30 ปี เป็นหนึ่งในครูผู้นำความรู้ด้านจิตวิทยาการกีฬาเข้ามาสู่วงการกีฬาบ้านเรา นักกีฬาดัง ๆ อย่าง  พรชัย เค้าแก้ว , ปวีณา ทองสุก , เยาวภา บุรพลชัย , สมจิตร จงจอหอ ฯลฯ  แล้วแต่เคยรับการคำสอนจากอาจารย์พิชิตมาแล้วก่อนจะประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ

 

ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับจิตวิทยาการกีฬามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทว่าในบ้านเราตัวเลขนักจิตวิทยาการกีฬาอาชีพนั้นกลับมีแค่หลักหน่วยเท่านั้นซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักกีฬาที่เป็นหลักร้อย 

 

อะไรที่เป็นปัญหาสำคัญจนทำให้ตัวเลขนักกีฬากับนักจิตวิทยานั้นดูสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ไปหาคำตอบพร้อมเปิดประสบการณ์การทำงานกว่า 30 ปี ของอาจารย์พิชิต เมืองนาโพธิ์ พร้อมกันได้ที่นี่

 

เล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นนักจิตวิทยาให้ฟังหน่อยครับ?

ผมเป็นคนที่ชอบศึกษาเรื่องจิตใจมาแต่เด็ก สนใจการฝึกจิตก็เลยเข้าวัดบวชตั้งแต่อายุ 7 ขวบเพื่อไปฝึกการนั่งสมาธิ พอโตขึ้นมาผมก็สนใจเรื่องวิชาคาถาอาคมปลุกหนุมาน แล้วช่วงนั้นผมเป็นนักกีฬามวยปัญหาของผมคือเป็นคนไม่กล้าออกอาวุธ แต่พอท่องคาถาปลุกหนุมานก่อนขึ้นชกทุกครั้งมันทำให้เรากล้ามากขึ้น โดนต่อยก็ไม่ค่อยเจ็บ เลยเชื่อมาตลอดนะว่าหนุมานเข้าสิงจริง ๆ  เรารู้สึกว่ามันมีอิทธิพลกับตัวเรามากก็เลยสงสัยว่าคาถาอาคมมันมีจริงด้วยหรือ

 

ในยุคนั้นยังไม่มีวิชาจิตวิทยากีฬาในเมืองไทยในระดับโลกก็เหมือนกัน เพิ่งจะมาเริ่มต้นพร้อมกันเมื่อปี 2523 ซึ่งปีนั้นผมเรียนจบพลศึกษาแล้วไปเรียนต่อปริญญาโทที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยที่นั่นดังมากเรื่องจิตวิทยากีฬา แต่สาขาที่ผมเรียนมันเป็นการบริหารการศึกษาแล้วมีเรื่องจิตวิทยากีฬา สนใจก็เลยเลือกมาทางนี้ ซึ่งมันทำให้รู้ว่าที่เราเชื่อเรื่องหนุมานตอนเด็ก ๆ จริง ๆ แล้วมันคือการสะกดจิต แต่เราใช้เป็นกุศโลบายเพื่อให้นักกีฬามีความมั่นใจมากขึ้น

 

แล้วเข้ามาอยู่กับวงการกีฬาไทยได้อย่างไร?

ประมาณปี 2532 ผมก็ได้มาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ช่วงนั้นมีทีมกีฬาหลายทีมสนใจ สมัยผมทำวิจัยปริญญาเอก ผมทำวิจัยเรื่องจิตวิทยากับทีมยกน้ำหนักของอาจารย์ชวลิต บุญทำดี แคมป์เยาวชนทีมชาติที่กาญจนบุรี ซึ่งผลออกมาตื่นเต้นมากมีนักกีฬาในกลุ่มทดลองจำนวนมากที่ทำลายสถิติเยาวชนหลายคนก้าวขึ้นมาติดทีมชาติ พอมันได้ผลอาจารย์ชวลิตก็เอาไปพูดต่อ ๆ กันจนหลายสมาคมกีฬาเริ่มรู้จักผมมากขึ้น เลยมีโอกาสได้ทำหลายกีฬา 

 

ก่อนเอเชียนเกมส์ ปี 2541 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ อาจารย์กมล ตันกิมหงษ์ ก็มาขอให้ไปช่วยดูตะกร้อ เพราะช่วงนั้นตะกร้อไทยวิกฤตมากเป็นรองมาเลเซีย ผมก็มีโอกาสได้ไปฝึกให้ทีมตะกร้อชุดนั้นสุดท้ายเราก็เอาชนะมาเลเซียได้เหรียญทองประวัติศาสตร์ เหรียญแรกของตะกร้อไทยในเอเชียนเกมส์ และเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็ให้แต่งตั้งให้ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญในทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา

 

ครูรุ่นแรกก็มี ดร.สืบสาย บุญวีรบุตร กับ ผศ.ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร รวมผมเป็น 3 คน เป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาการกีฬา พวกเราเรียนจบที่สหรัฐอเมริกาและเคยเป็นนักกีฬามาก่อนเล่นในระดับสูงด้วยกันทั้งนั้น สอนเด็กมาหลายรุ่นแต่คนส่วนใหญ่เลือกไปเป็นอาจารย์ประจำสอนมหาวิทยาลัยไม่มาทำจิตวิทยาการกีฬา

 

 

หัวใจสำคัญของจิตวิทยาคืออะไร ? 

ย้อนกลับไป 50-60 ปีก่อน นักกีฬาจะแข่งขันโดยตัดสินผลแพ้ชนะกันด้วยทักษะอย่างเดียว ใครเทคนิคดีกว่าก็ชนะ ต่อมาในปี 2513 เริ่มมีวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีการตรวจโด๊ป ตรวจสมรรถภาพทางกาย จนกระทั่งปี 2523 ทั่วโลกเริ่มมีความรู้เรื่องทักษะและสมรรถภาพร่างกายเท่ากันหมดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้ก็คือเรื่องของจิตใจ ทำยังไงให้จิตใจของเราสามารถรีดศักยภาพการทำงานของร่างกายออกมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะโดยปกติแล้วจะมีเรื่องของความกดดัน ความเครียด ที่ทำให้ร่างกายทำงานได้เต็มที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นอีก 30 เป็นเรื่องของจิตใจ

 

นักจิตวิทยาทั่วไปกับนักจิตวิทยากีฬาแตกต่างกันหรือไม่?

แตกต่างกันเรียนมาคนละอย่างเลย นักจิตวิทยาทั่วไปแล้วเขาจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตใจที่เป็นปัญหาของคนในการชีวิตประจำวัน แต่จิตวิทยาการกีฬาจะเกี่ยวของกับการกีฬาโดยตรง จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านกีฬา เข้าใจกีฬาและรู้วิธีการสอนเรื่องกีฬา ถ้าคุณให้นักสุขภาพจิตทั่วไปเข้ามาทำงานด้านนี้ เขาก็จะนึกไม่ออกว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร อาจจะพอทำได้แต่เป็นการให้กำลังใจเพียงอย่างเดียวแต่สอนหรือฝึกทักษะไม่ได้ หน้าที่ของเราไม่ใช่แค่เรื่องจิตวิทยาธรรมดา แต่เป็นเหมือนโค้ชคนหนึ่งที่ต้องมีแบบฝึกสอนให้นักกีฬามีความเชื่อมั่น

 

 

เพราะอะไรก่อนหน้านี้นักกีฬาส่วนใหญ่ถึงเข้าใจว่าการมาพบจิตวิทยาเป็นเรื่องผิดปกติ?

ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นเพราะนักกีฬามีองค์ความรู้ที่ผิดไม่ได้รับการเผยแพร่ที่ดี จิตวิทยาการกีฬาคือการเพิ่มศักยภาพมันคือการโค้ชชิ่งไม่ใช่การรักษา เพราะนักกีฬาคือบุคลที่มีความพิเศษเหนือคนปกติ เราทำงานกับคนที่เหนือคนไม่ใช่คนที่บกพร่องทางจิตใจ เขาเป็นคนเหนือคนที่ต้องแบกรับความกดดันมากกว่าคนปกติทั่วไป เป็นเรื่องของศักยภาพที่สูงกว่าและเราต้องดึงออกมาให้ได้

 

ช่วงเอเชียนเกมส์ 1998 ตอนนั้นเราไม่มีนักจิตวิทยามากพอ แข่งขันประมาณ 40 กีฬา แต่เรามีกันอยู่ 3 คน เลยต้องไปเชิญคนจากกรมสุขภาพจิตมาช่วยดูแลนักกีฬา ภาพลักษณ์ของเราเลยเป็นเหมือนหมอรักษาคนมีปัญหาทางจิต แต่นักกีฬาไม่ใช่แบบนั้นพอเกิดการเข้าใจผิดแบบนั้นก็เลยเกิดการไม่ยอมรับเกิดขึ้น

 

วิธีการทำงานของนักจิตวิทยากับนักกีฬาไทยเป็นอย่างไร?

อันดับแรกเราต้องไปสอนนักกีฬาแนะนำให้เขารู้ว่าจิตวิทยาคืออะไร มีประโยชน์กับตัวเขาอย่างไร ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการวิเคราะนักกีฬา ขั้นตอนนี้จะง่ายขึ้นต่อเมื่อเราเป็นเพื่อนกับเขา นักกีฬาจะเริ่มเปิดใจให้กับเรา การจะวิเคราะห์ข้อมูลได้เกิดจากการพูดคุย อย่างที่บอกเหมือนเราเป็นโค้ชอีกคนหนึ่ง ถ้าได้ทำงานแบบนั้นถึงจะเห็นผลชัดเจน เมื่อวิเคราะห์เสร็จจะได้เห็นคำตอบแล้วว่าอะไรที่เป็นปัญหาให้การรีดศักยภาพสูงสุดของนักกีฬา จากนั้นก็จะหาวิธีแก้ไขเช่น ทำให้เขามีสติมากขึ้น ปรับความคิด จัดลำดับความคิด ปรับทัศนคติ ใช้เวลาติดตามผลประมาณ 3-6 เดือน แล้วจึงทำการประเมินผลถ้าดีขึ้นก็หาทางต่อยอด แต่ถ้าไม่ก็ต้องเปลี่ยนวิธี

 

 

ปัญหาในการทำงานที่พบ?

การทำงานเมื่อก่อนยากลำบากไม่มีใครสนับสนุน ไปดูนักกีฬาแต่ละทีต้องขอเงินแม่เป็นค่าน้ำมัน ทัศนคติโค้ชก็ยังไม่เห็นความสำคัญของจิตวิทยา ส่วนใหญ่จะคิดว่าจิตวิทยาเป็นเรื่องของโค้ชกับนักกีฬา ปี 2532 ผมยังไม่เป็นที่รู้จัก เดินทางไปหลายสนามหลายกีฬามาก พยายามจะช่วยดูช่วยพัฒนา แต่พอไปถึงโค้ชส่วนใหญ่ไล่ผมออกจากสนามตลอด ไม่อยากให้เราเข้าไปยุ่งกับนักกีฬาของเขา อย่างยกน้ำหนักสมัยนั้นโค้ชชาวจีนไล่ผมออกจากสนามเลยนะเพราะเขาคิดว่าเป็นเรื่องของโค้ชไม่ให้เราไปยุ่ง แต่ภายหลังโชคดีที่ เกษราภรณ์ สุตา กับ ปวีณา ทองสุก เป็นสองคนที่แอบมาคุยมาขอคำแนะนำกับผม ผลสุดท้ายคือได้เหรียญโอลิมปิกทั้งคู่ ปี 2534 ผมมีโอกาสได้บรรยายเรื่องจิตวิทยาครั้งแรกในเมืองไทย จัดบรรยายกันเองมีอาจารย์ท่านหนึ่งต้องทำวิจัยเลยเชิญบรรดาโค้ชหลาย ๆ ชนิดกีฬามาร่วมฟังบรรยาย เชื่อไหมพอพวกเขาฟังเสร็จ ทุกคนมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับจิตวิทยากีฬาหมดเลย หลังจากนั้นผมเลยมีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับหลายสมาคมฯ 

 

หน้าที่ของเราไม่ได้จะไปแย่งงานโค้ช แต่เราไปเป็นผู้ช่วยของเขา โค้ชเช (เช ยอง ซอก โค้ชเทควันโดทีมชาติไทย) เป็นคนที่กล้าเปิดใจมาก เขาไม่กลัวเราเลยนะต้อนรับอย่างดีเพราะเขายอมรับว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย รู้แต่เรื่องเทควันโด เลยให้ผมดูแลหมดเลยทั้งร่างกายและจิตใจ ผลสุดท้ายคือเทควันโดได้ไปโอลิมปิกและประสบความสำเร็จมีเหรียญรางวัลตลอด

 

แต่ละชนิดกีฬาใช้หลักจิตวิทยาเดียวกันหรือไม่?

คนละอย่าง นักจิตวิทยาถ้าเล่นกีฬาเป็นหลายชนิดและยิ่งเล่นในระดับสูงก็จะทำงานง่ายขึ้น เพราะคนที่มีประสบการณ์ในเกมการแข่งขันจะเข้าใจนักกีฬาได้ดี แต่ถ้าคนไหนเล่นกีฬามาน้อยก็จะแนะนำได้ยาก เพราะแต่ละชนิดกีฬาก็มีความแตกต่างกันไป ใช้กล้ามเนื้อต่างกัน ส่วนความรู้เรื่องกีฬาสำคัญมากไม่มีไม่ได้เลย นอกจากนั้นคุณต้องมีเทคนิคการเข้าหาคน เทคนิคการจัดการ การฝึกฝน และต้องรู้จักการประยุกต์ใช้เพราะของแบบนี้ใช้บทเรียนในตำราอย่างเดียวไม่ได้

 

 

ยกตัวอย่างเหตุการณ์การใช้จิตวิทยาเป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้นักกีฬากลับมาชนะได้ไหมครับ?

มีหลายเหตุการณ์มาก อย่างล่าสุดที่ผมเริ่มทำงานน้องณี (สุธิยา จิวเฉลิมมิตร นักกีฬายิงเป้าบิน) ปีแรกที่เราได้ร่วมงานกัน ณี ดังมาก ขึ้นมือ 1 ของโลกได้แชมป์เวิลด์คัพหลายสนาม คว้าแชมป์ได้มากที่สุดในชีวิตขาดเพียงแค่เหรียญโอลิมปิกเท่านั้น จริง ๆ แล้ว ณี มีความสามารถพร้อมทุกอย่างขาดแค่จิตใจ หลังจบโอลิมปิกมีการเปลี่ยนปืนทำให้ห่างหายจากการความสำเร็จไป 2 ปี แต่พอกลับมาใช้ปืนเดิมก็เริ่มมีแชมป์อีกครั้ง ผมว่า ณี คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดสำหรับนักกีฬาที่มีความสามารถพร้อม แต่ขาดเรื่องจิตใจ เช่นเดียวกับ สมจิตร จงจอหอ ปี 2004 เขาเป็นนักมวยที่เก่งที่สุดในโลกแต่ตกรอบ 2 ของโอลิมปิก 4 ปีต่อมาผมเติมเรื่องจิตใจให้เขาสุดท้ายก็ได้เหรียญทองโอลิมปิก

 

ในการแข่งขันระดับสูงโอลิมปิก ชิงแชมป์โลกเรื่องของจิตวิทยาสำคัญมากมีส่วนมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในวันแข่งขันจริงไม่มีเรื่องอีกอื่นแล้วนอกจากจิตใจ เพราะทุกคนเตรียมตัวมาอย่างดี อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เอเชียนเกมส์ 1998 ที่เมืองไทย ตอนนั้น ธงชัย ใจดี ซ้อมอยู่สนามแข่งจริงเป็นปี ซ้อมดีมากสกอร์ระดับแชมป์เลย แต่วันที่แข่งขันจริงทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย สนามก็สนามเดิม แต่สกอร์เขาตกไม่ติดอันดับ ซึ่งเป็นเพราะเรื่องจิตใจอย่างเดียวเลย

 

ดูเหมือนจำนวนนักกีฬากับนักจิตวิทยากีฬาจะไม่สอดคล้องกันตรงนี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำบุกเบิกมีวิธีในการสร้างหรือผลิตนักจิตวิทยารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้อย่างไร?

ปัญหานี้เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ผิดมาตั้งแต่แรก นักจิตวิทยากีฬามืออาชีพบ้านเราไม่มีผลตอบแทน มีคนเดียวที่ทำอาชีพนักจิตวิทยากีฬาอย่างเดียวโดยไม่ทำอาชีพอื่น นอกนั้นเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกันหมด อาชีพเสริมเป็นนักจิตวิทยากีฬา ก็เพราะมันเป็นงานที่ไม่มีผลตอบแทนเลี้ยงตัวเองไม่ได้คนเลยไม่อยากทำ

 

อย่างผมถ้าไม่ได้มีแม่คอยซัพพอร์ตในช่วงแรกก็คงไม่มีนักจิตวิทยาคนนี้เกิดขึ้นมา ตอนนี้มีบุคคลากรที่มีความสามารถแบบทำแล้วเห็นผลจริงไม่เกิน 5 คน ต้องสร้างเป็นอาชีพให้ได้ นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่ที่มีรายได้เขาก็ไม่เสียเงินจำนวนมากจ้างนักจิตวิทยาเพราะต้องเก็บเงินไว้ส่งตัวเองแข่งในต่างประเทศ อาศัยเอาเบี้ยเลี้ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการติดว่าจ้างเป็นทัวร์นาเม้นท์เหมือนระบบบ้านเรายังไม่มีผลตอบแทนมากพอ

 

นักจิตวิทยาการกีฬา เบื้องหลังความสำเร็จนักกีฬาไทย!

 

คือต้องสร้างเป็นอาชีพให้ได้?

ใช่ เพราะแบบนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จริง ๆ แล้วเราพยายามสนับสนุนกันเยอะนะ มีงบประมาณมหาศาลแต่เราเอาไปลงกับอะไรบ้าง เอาไปสร้างตึกไม่เหมือนสร้างคน คนยังเอาความรู้มาพัฒนาให้กับรุ่นใหม่ ๆ ต่อไปได้ การใช้งบประมาณยังไม่ต้องโจทย์ที่แท้จริง

 

สมาคมกีฬาก็น่าเห็นใจพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะมาจ้างเราเดือนละ 2-3 หมื่น ทำได้แค่ขอ กกท. ก็ช่วยกันได้เต็มที่เท่าที่ทำได้ ขณะที่บุคลากรของเราพอทำเป็นพาร์ทไทม์มันก็เกิดการพัฒนาได้ช้า งานแบบนี้ต้องลงพื้นที่จริงถึงจะมีประสบการณ์และพัฒนาได้เร็ว อีกอย่างคือระบบผู้สนับสนุนยังไม่เข้มแข็งพอ กีฬาไม่ให้ประโยชน์กับผู้สนับสนุนมากพอเลยไม่มีคนมาลงทุน กระทบไปถึงเรื่องสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง คนสนับสนุนเหมือนทำบุญอย่าง สิงห์ เราจะมีระบบนั้นได้ต้องมีบุญกับเขา 

 

ประสบการณ์กว่า 30 ปี คิดว่าที่ผ่านมานักจิตวิทยามีบทบาทในการขับเคลื่อนวงการกีฬาไทยมากพอหรือยัง?

เอาจริง ๆ ยังไม่มีบทบาทเท่าไหร่ เราเหมือนกับทำงานแบบเขาขอมาเราก็ไปทำมากกว่า ไม่ได้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่อยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ได้อยู่ในโลกของการบริหารกีฬาเลย บทบาทน้อย คนรู้ความสำคัญนะแต่ไม่ค่อยมองเห็น เขาไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีผล

 

ที่ต่างประเทศนักจิตวิทยาอาจไม่ได้อยู่ส่วนของการบริหาร แต่ว่าผู้บริหารเขาให้ความสำคัญ บรรจุจิตวิทยากีฬาไว้ในแกนหลักสำคัญ ต้องมีนักจิตวิทยาเพียงพอ โอลิมปิก 2 ครั้งผ่านมา (2012 - 2016) ผมอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก ปี 2012 ผมไปกับสมาคมยกน้ำนัก ต้องไปในฐานะเข้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ ส่วนปี 2016 ผมไปในฐานะผู้ฝึกสอนเป้าบิน แต่เป็นคนที่ถูกเรียกมากสุด ทุกสมาคมต้องการนักจิตวิทยาแต่ไม่มี ผมทำงานถึงเที่ยงคืนทุกวัน คุยกับนักกีฬา 3-4 สมาคมเพราะไม่มีนักจิตวิทยาให้เขา แต่ถ้าเราไปดูแคนาดา สหรัฐอเมริกา เขามีนักจิตยาเป็น 10 คน ความจริง กกท. ให้ความสนใจมานานแล้วแต่คนวงการกีฬาที่อาจจะรู้ช้าไป แต่ก็โทษเขาไม่ได้เพราะขาดการให้ความรู้ ในช่วง 10 ปีหลังเราเริ่มจัดอบรมเยอะขึ้นคนมีความรู้มากขึ้น ซึ่งถือว่าช้ากว่าที่อื่นเยอะอย่างเวียดนามเราก็ตามหลังเขา

 

 

การนักจิตวิทยากีฬาเข้าถึงจิตใจมนุษย์นั้นให้อะไรกับชีวิต?

ผมเป็นครู รางวัลชีวิตของผมคือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนคนไม่เก่งให้เป็นคนเก่ง เปลี่ยนคนไม่รู้ให้มีความรู้ สร้างคนเป็นคนดีทั้งการใช้ชีวิตและกีฬา นักกีฬาที่มีความฝันยังไปไม่ถึงความฝัน เราก็มีส่วนช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพขึ้นในทุกวัน ตอน ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) คุมฟุตบอลทีมชาติไทย ผมก็ได้เข้าอยู่ในทีมชุดนั้น นักฟุตบอลไทยตอนนั้นเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองใหม่หมด เป็นสุภาพบุรุษไม่ทะเลาะกับใคร ไม่เถียงกรรมการเป็นความสำเร็จที่ผมภาคภูมิใจมาก เพราะเราฝึกให้น้อง ๆ เป็นแบบนั้น สอนให้ทุกคนเป็นสุภาพพบุรุษสนใจแต่การเล่นฟุตบอลไม่สนใจเรื่องอื่น เป็นความภูมิใจที่มากกว่าแชมป์เพราะภาพลักษณ์ที่สะท้อนออกมามีเยาวชนไทยอีกจำนวนมากได้เห็นและเอาไปเป็นตัวอย่าง

 

เป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักจิตวิทยาที่อยากจะไปถึง?

ทำให้วงการของจิตวิทยากีฬาสร้างคนรุ่นใหม่มีศักยภาพขึ้นมา ตอนนี้ก็เริ่มมอบหมายให้คนรุ่นหลังมากขึ้น เวลางานใหญ่ ๆ ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้ไปเก็บประสบการณ์ ส่นอนาคตก็หวังว่าปัญหาจะค่อยๆได้รับการแก้ไข นักจิตวิทยากีฬาสามารถเป็นอาชีพได้

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา