stadium

บ๊ายบาย พลาสติก ภารกิจลดขยะพลาสติก 100% ของโตเกียวโอลิมปิก

11 กุมภาพันธ์ 2563

เดือนกรกฎาคมปี 2020 กรุงโตเกียวกำลังจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน โดยครั้งนี้นอกจากบรรยากาศและสภาพแวดล้อมแบบที่นักกีฬาและกองเชียร์จะได้รับไปอย่างเต็มอิ่มแล้ว ประเทศญี่ปุ่นต้องการจะชูแคมเปญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีสโลแกนหลักว่า “Be better, together – For the planet and the people” ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการขับเคลื่อนให้ชาวเมืองปลาดิบมีส่วนร่วม โดยใช้กีฬาโอลิมปิกเป็นตัวสื่อสาร แต่เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคหลักในแคมเปญนี้ ไม่ใช่จำนวนนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่คือนิสัยส่วนตัวที่รักการบริการและเอาใจใส่แขกผู้มาเยือนของชาวญี่ปุ่นเองที่อาจทำให้ภารกิจการลดขยะพลาสติกอาจเป็นแคมเปญที่เหนื่อยเอาการ

 

ความเอาใจใส่ที่กลายเป็นความเคยตัว

ใครก็ตามที่เคยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นจะทราบดีว่าผู้คนในร้านสะดวกซื้อหรือห้างร้านนั้นมีใจบริการที่สูงส่ง พนักงานเหล่านี้พร้อมจะดูแลลูกค้าตั้งแต่เข้ามาในร้านและจะคอยถามไถ่สิ่งที่ลูกค้ามองหาเสมอ คนญี่ปุ่นนั้นมีแนวคิดบริการที่เรียกว่า “omotenashi” แปลเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆ ว่า Customer Service อะไรก็ตามที่จะช่วยให้ลูกค้าสะดวกสะบาย พนักงานชาวญี่ปุ่นพร้อมจะจัดการให้อย่างดีที่สุด ซึ่งนี่เป็นที่มาของการใช้ถุงพลาสติกอย่างเคยตัว

 

การออกมาจากร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะซื้อของสด อาหารอุ่นร้อน หรือเครื่องดื่ม ลูกค้าจะมีถุงพลาสติกติดมือออกมาอย่างน้อยหนึ่งใบเสมอ ไม่เพียงแค่นั้นอาหารสดที่อยู่ในร้านของชำหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจะถูกห่ออยู่ในพลาสติก เมื่อรวมเข้ากับการจ่ายตลาดหนึ่งครั้งของเหล่าบรรดาแม่บ้าน ย่อมอนุมานได้ว่าจะมีขยะพลาสติกมากกว่า 2 ชิ้นต่อคนหนึ่งคนเสมอ

 

การวิจัยชิ้นหนึ่งเผยให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นหนึ่งคนจะมีขยะพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 300-400 ชิ้นต่อปี เท่ากับว่าปีหนึ่งๆ ประเทศญี่ปุ่นจะมีขยะพลาสติกรวมประมาณ 4 หมื้นล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นน้ำหนักกว่า 80 ล้านตันต่อปี ซึ่งแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีการจัดการขยะดีที่สุดในโลก แต่ด้วยปริมาณขยะพลาสติกที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกทำให้ญี่ปุ่นยังต้องเจอกับปัญหาในการจัดการขยะเหล่านี้

 

 

พลาสติกล้นจนมีผลต่อธรรมชาติ

ประเทศญี่ปุ่นมั่นใจในระบบการย่อยขยะที่ทันสมัย ที่สำคัญระเบียบการแยกขยะของชาวญี่ปุ่นก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก อย่างไรก็ตามทุกคนย่อมทราบดีว่าพลาสติกนั้นใช้เวลาในการย่อยสลายนานมาก สถาบันการจัดการขยะพลาสติก หรือ Plactic Waste Management Institute Japan เผยว่า 52 เปอร์เซนต์ของขยะพลาสติกจะถูกนำไปเข้ากระบวนการ “Thermal Recycling” หรือการรีไซเคิลขยะให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์นั้นจะฟังดูดีแต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน

 

ใน 52 % ของการรีไซเคิลพลาสติก สามารถนำพลังงานเผาไหม้ไปใช้เป็นพลังงานได้จริงเพียงแค่ 23 % เท่านั้น เท่ากับว่าส่วนที่เหลือจะกลายเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นผลลัพธ์จากการเผาไหม้ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศอย่างยิ่ง คำถามคือแล้วอีก 48 % ที่ไม่ได้เอามาเข้ากระบวนการนี่ละ มันหายไปไหน ญี่ปุ่นนั้นส่งออกขยะพลาสติกให้หลายชาติในเอเชียเพื่อนำไปรีไซเคิลเช่นกัน ซึ่งอยู่ที่ 14% ของขยะพลาสติกทั้งหมด แต่เมื่อลองหารเฉลี่ยดูจากกระบวนการทั้งหมดแล้ว ท้ายที่สุดจะมีขยะพลาสติกที่หลุดรอดทุกกระบวนการและกระจายเป็นขยะบนพื้นดินและในแม่น้ำอยู่ที่ 6% ซึ่งแม้ว่าจะดูเป็นจำนวนที่ไม่เยอะแต่เมื่อหารจากจำนวนทั้งหมดแล้วก็ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศพอสมควร 

 

มีผลวิจัยที่รายงานว่าปลาแอนโชวี่ร้อยละ 80% ที่จับได้โดยชาวประมงในอ่าวโตเกียวมีขยะพลาสติกปนเปื้อนอยู่  ซึ่งขยะดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของไมโครพลาสติก นอกจากนี้ยังพบว่ามีถุงพลาสติกจมอยู่ใต้อ่าวโอซาก้ากว่า 30 ล้านชิ้น ถือเป็นเรื่องน่าวิตกทีเดียวเพราะปลาแอนโชวี่นั้นนอกจากจะนำมาทำเป็นอาหารแล้ว ปลาเหล่านี้ยังเป็นแหล่งอาหารของปลาที่ใหญ่กว่าเช่น ทูน่า, กระพงแดง ซึ่งปลาพวกนี้ก็เป็นเมนูโปรดบนโต๊ะอาหารแทบทั้งนั้น

 

การตื่นตัวต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

ปัญหาเรื่องพลาสติกล้นเมือง เป็นสิ่งที่รัฐบาลของญี่ปุ่นกำลังหาทางแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับทางฝั่งเอกชนที่พยายามมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ นำมาโดยหนังสือพิมพ์เก่าแก่หลายสำนักทั้ง อาซาฮิ ชิมบัน, เคียวโด นิวส์ และ เจแปน ไทม์ส ที่พยายามกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรม “ไม่ใช้ขยะอย่างสิ้นเปลือง” ห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่าง “ห้างเออ้อน” AEON ก็เริ่มคิดเงินเพิ่มสำหรับลูกค้าที่ต้องการถุงพลาสติก โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2020 ห้างทั้งหมด 2,500 แห่งจากทั้งหมด 3,085 แห่งจะต้องมีนโยบายลดถุงพลาสติกและมีค่าใช้จ่ายสำหรับคนที่ต้องการ ในขณะที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น กำลังพยายามลดการให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าสำหรับสินค้าบางประเภท

ในขณะเดียวกันทางฟากรัฐบาลเองก็เพิ่งมีการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี่อย่างจริงจัง โดยจะใช้มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งเบื้องต้นในแง่ของธุรกิจก็มีแผนที่จะหาแคมเปญให้ประชาชนลดใช้ถุงพลาสติกเช่นการคิดค่าใช้จ่ายสำหรับถุงพลาสติก และอาจมีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับการใช้ถุงผ้าด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในการลดอัตราผลิต รวมถึงขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการลดใช้พลาสติกด้วย

 

โอลิมปิกสีเขียว และเอาใจใส่อนาคต

เป้าหมายใหญ่ของการจัด โตเกียว โอลิมปิก 2020 คราวนี้ คือการสร้างจิตสำนึกต่อสภาพแวดล้อมและโลกอนาคต มีหลายแคมเปญและนวัตกรรมมากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อโอลิมปิกครั้งนี้โดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อโลก ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งขันที่ทำจากไม้ธรรมชาติ หรือพื้นสนามแข่งขันที่ทำจากวัตถุดิบที่เป็นขยะอินทรีย์

 

การลดใช้พลาสติกก็เป็นปักหมุดสำคัญที่ฝ่ายจัดการแข่งขันอยากทำให้สำเร็จ โดยหวังใช้มหกรรมกีฬานานาชาติเป็นแรงกระตุ้น เพราะเป็นที่รู้ดีว่าชาวญี่ปุ่นนั้นสามารถสร้างกระแสได้ง่ายหากใช้คำว่าสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ฝ่ายจัดการแข่งขันร่วมกับรัฐบาลตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกถึง 65% และมีเป้าหมายสูงสุดคือ 100% โดยขยะเหล่านี้ยังรวมถึงขวดพลาสติก, ขวด PET และโฟมด้วย

 

อีกแคมเปญหนึ่งที่ได้ผลดีทั้งในแง่ของผลลัพธืและภาพลักษณ์คือการแข่งขันเก็บขยะ ซึ่งปีนี้ได้จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนปี 2019 ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยจัดขึ้นใน 2 สถานที่คือหาดเอโนะชิมะ และ หาดซึริกาซากิ ซึ่งเป็นสนามแข่งขันเรือใบใน โอลิมปิกเกมส์ 2020 โดยได้นักโต้คลื่นทีมชาติญี่ปุ่น มิโนริ คาวาอิ มาร่วมเก็บขยะด้วย ผลลัพธ์คือภายในวันเดียวสามารถเก็บขยะพลาสติกรวมกันได้ถึง 150 กิโลกรัม และตลอด 3 อีเวนท์ที่จัดไปในปี 2019 ก็เก็บขยะได้รวมกันเกิน 400 กิโลกรัม

 

จะเห็นได้ว่าขยะพลาสติกนั้นเป็นหนึ่งในขยะที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุนั้นก็มาจากประชาชนเองทั้งสิ้น อาจจะมาจากความมักง่าย ความเคยชิน แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นกลับเกิดมาจากความเอาใจใส่ที่มากเกินไป จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่อย่างเช่นทุกวันนี้ ถึงอย่างนั้นด้วยระเบียบวินัยที่เข้มข้นและจิตสำนึกที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จึงไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายจัดการแข่งขันมั่นใจในประชากรของตัวเองว่าจะสามารถลดการใช้พลาสติกได้ในปริมาณสูงขนาดนี้ และในอนาคตชาวญี่ปุ่นอาจเปลี่ยนวัฒนธรรมการลดใช้พลาสติกตลอดไปเลยก็ได้


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose