19 มิถุนายน 2563
อาเซียนคัพหนนี้กับวลี “เบอร์1อาเซียนยังต้องการอยู่มั้ย ?”
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
เมื่อค่ำวานที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยจากฝ่ายจัดการแข่งขันรายการอาเซียนคัพ ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้เกี่ยวกับโผทีมวางจับฉลากในแต่ละโถ และสืบเนื่องจากผลงานในสองครั้งหลังสุดที่ทั้งไทยและเวียดนามต่างทำผลงานได้ดีกว่าทีมอื่นๆด้วยกันจึงทำให้ทีมชาติไทยจะไม่ต้องเจอคู่รักคู่แค้นเวียดนามในรอบแรกแล้วแน่นอน (ไทยคว้าแชมป์ได้ในปี 2016 และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศปี 2018 ในขณะที่เวียดนามสามารถคว้าแชมป์ในปี 2018 และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในปี 2016 เท่ากับว่าทั้งไทยและเวียดนามจะนั่งไขว่ห้างอยู่โถ 1 ชนิดแบเบอร์แล้ว 100%)
จุดที่น่าสนใจในอาเซียนคัพเวอร์ชั่นปี 2020 นี้คือ เป้าหมายที่มองต่างกันของบรรดาชาติต่างๆในอาเซียน เวียดนามมองถึงการรักษาแชมป์ไว้ให้ได้อีกสมัย อินโดฯตั้งค่าเคพีไอให้ชิน แท ยองถึงขนาดต้องเข้าถึงรอบชิงฯให้ได้ ในขณะที่มาเลย์เองก็อยากล้างอายหลังห่างหายจากถ้วยแชมป์ไปนานกว่า 10 ปี
ต่างกับไทยที่อาเซียนคัพหนนี้มีคิวโม่แข้งทับซ้อนกับลีกภายในประเทศแถมยังไม่ตรงกับปฎิทินฟีฟ่าทำให้บางทีอาเซียนคัพหนนี้อาจเป็นแค่เวทีปล่อยของของน้องใหม่เจเนอเรชั่นถัดไปที่จะถูกดันขึ้นชุดใหญ่ในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ (ขึ้นอยู่กับว่าโค้ชอากิระ นิชิโนะ, สมาคมฯและบรรดาสโมสรต่างๆในไทยลีกจะคิดเห็นกันอย่างไร, แพลนกันไว้แบบไหน, จะยอมปล่อยตัวมั้ย และจะส่งชุดไหนไปแข่งดี)
คำถามจึงมีอยู่ว่ามองในมุมแฟนบอลบ้านเรากับวลีที่ว่า “เบอร์1อาเซียน เรายังต้องการอยู่มั้ย?” มันสำคัญมากแค่ไหนกันล่ะ?
“ถามมาได้..ใครบ้างจะไม่อยากได้ที่ 1!” ผมเชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะอุทานออกมาแบบนี้ และในมุมของแฟนบอลชาวไทยถ้วยแชมป์รายการนี้ก็ยังคงมีความหมาย และถ้าใครจะอ้างว่าเราหน่ะต้องมองระดับเอเชียแล้วไม่ใช่แค่อาเซียนก็คงจะมีคนแย้งทันควันว่าแค่อาเซียนเรายังไม่ผ่าน แล้วจะกล้าพูดอย่างเต็มปากได้อย่างไรว่าจะไประดับเอเชีย
“ไม่ผิด!” เพียงแต่ถ้าจะมองในมุมของการพัฒนาทีมแบบที่ยั่งยืนขึ้นมาหน่อย เฉกเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้หรือแม้แต่จีนเองทำในรายการชิงแชมป์ภูมิภาคอย่าง EAFF FOOTBALL CHAMPIONSHIP ทีมเหล่านั้นต่างมองเรื่องแชมป์เป็นเรื่องรองเท่านั้นและส่งทีมเข้าแข่งขันเพื่อหวังเก็บประสบการ์ณ (เห็นได้จากลิสต์รายชื่อนักเตะที่ถูกส่งไปแข่งส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นหน้าใหม่หรือเป็นเจเนเรชั่นถัดไปก่อนขึ้นชุดใหญ่ทั้งนั้น)
เราเห็นอะไรจากแฟนบอลไทย ในฟุตบอลโลกจำลอง
6 แข้งช้างศึกโต๊ะเล็ก ยุคบุกเบิกต้นแบบนักฟุตซอลไทย ในปัจจุบัน
จริงๆแล้วหากวิเคราะห์กันให้ลึกลงไปหน่อย มันก็มีอยู่ 2-3 ทีมที่เห็นคล้ายกันกับเรา นั่นคืออินโดฯ, สิงค์โปร์ และฟิลิปปินส์ ทีมเหล่านี้กับอาเซียนคัพหนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าพวกเขาจะส่งทีมในนามชุดใหญ่แต่จะใช้ตัวผู้เล่นจากชุดยู23 เป็นแกนหลัก โดยให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อเป็นการเตรียมทีมสำหรับเอเชี่ยนคัพที่จีนในอีกสามปีข้างหน้า
ใครจะว่ากันแบบไหน จะพูดกันไปอย่างไรแต่ยังไงผมก็ยังเชื่อว่าทุกๆทีมแม้จะวางเป้าไว้ต่างกันแต่ก็คงจะมีไดเร็กชั่นที่เหมือนกันอยู่ดีนั่นแหละ คือประสบการณ์ก็ต้องได้และต้องไปให้ไกลให้ได้มากที่สุดในรายการนี้
ผมคิดว่าสำหรับเราไม่ว่าจะส่งชุดไหนไปก็ไม่น่าหนักใจเท่าไหร่ เพราะศักยภาพของนักเตะไทยในเวลานี้ก็ยังรับมือทีมต่างๆในอาเซียนนี้ได้อยู่ดีและเผลอๆดีไม่ดีการส่งทีมชุดที่มีนักเตะจากชุดยู23 เป็นแกนหลักก็อาจจะดีกว่าส่งทีมผู้พี่ที่มีแต่คนที่เคยเล่นรายการนี้มาแล้วหลายหนก็อาจเป็นไปได้
ความกระหายมันต่างกัน, แรงจูงใจก็ต่างกัน, ความสดที่ต่างกัน และที่สำคัญมันคือโอกาสสำหรับลุงโนะและแฟนบอลชาวไทยสำหรับการหาช้างพลายเชือกใหม่ที่จะมีแมตช์ทดสอบให้เราได้เห็นกันมากมาย
อย่าไปสนใจและยึดติดกับคำว่าเบอร์ 1 อาเซียนจากรายการอาเซียนคัพนี้ให้มันมาก เพราะหากอาเซียนคัพยังออกแบบให้มีการเตะนอกปฎิทินฟีฟ่าแถมยังต้องเตะกันมากถึง 8 นัด (หากทะลุถึงรอบชิงฯ) แบบนี้ นี่ก็อาจเป็นเพียงเวทีเพื่อประลองพัฒนาการด้านฟุตบอลของแต่ละชาติในภูมิภาคก็เท่านั้น เพราะแน่นอนว่าย่อมต้องมีทีมที่ไม่อาจส่งทีมที่ดีที่สุดเข้าแข่งขันและแน่นอนอีกเช่นกันว่าการโรเตชั่นย่อมเกิดขึ้นในหลายๆนัด
แล้วท่านผู้อ่านล่ะ...เบอร์ 1 อาเซียนยังสำคัญอยู่มั้ยสำหรับท่าน?
TAG ที่เกี่ยวข้อง