stadium

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี : ถอดเคล็ดลับสุดยอดจอมถล่มประตู

8 พฤศจิกายน 2564

ก่อนที่งานประกาศผลรางวัลบัลลงดอร์ของนิตยสารฟรองซ์ฟุตบอลจะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า “โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี” จะเป็นนักฟุตบอลจากโปแลนด์คนแรกที่คว้ารางวัลลูกบอลทองคำ จริงๆ ถ้าไม่เป็นเพราะโควิด-19 จนทำให้รางวัลเกียรติยศนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2020 ศูนย์หน้าจากบาเยิร์น มิวนิก ก็คือตัวเต็งที่จะได้รางวัลนี้มาครองอยู่แล้ว

 

“ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเล่นเป็นศูนย์หน้าได้” เลวานดอฟสกีเอ่ย “คุณเล่นได้ดี คุณจ่ายบอลได้ คุณโยนบอลได้ แต่ถ้าหากคุณอยากจะยิงประตูในแทบจะทุกๆ เกม คุณต้องเปลี่ยนสภาพจิตใจของตัวเอง” เลวานดอฟสกีมีสภาพจิตใจของศูนย์หน้ามาตลอด เริ่มตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นเด็กชายรูปร่างผอมจากโปแลนด์

 

 

 

เรียนรู้จากหลายกีฬาและความผิดหวัง

 

เลวานดอฟสกีเติบโตขึ้นมาในครอบครัวนักกีฬา คุณแม่ของเขาเป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติโปแลนด์ ส่วนคุณพ่อเป็นนักฟุตบอลให้กับทีมในลีกโปแลนด์ และยังเป็นแชมป์เยาวชนยูโดในระดับทวีปยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เลวานดอฟสกีจะเติบโตขึ้นมาโดยมีกีฬาอยู่ในสายเลือด

 

เด็กชายโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี เล่นกีฬาทุกอย่างที่โรงเรียนจะอนุญาต ทั้ง กรีฑา, บาสเกตบอล, แฮนด์บอล และฟุตบอล โดยเลวานดอฟสกีไปฝึกซ้อมฟุตบอลกับเด็กที่อายุมากกว่ากับทีมวาร์โซเวีย วอร์ซอว์ “ผมตัวเล็ก, ตัวเตี้ย และผอมมาก” กองหน้าเสือใต้รำลึกความหลัง “ทุกคนจะบอกว่า นายตัวเล็กเกินไป นายทำไม่ได้หรอก แต่ผมก็ไม่เคยยอมแพ้”

 

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเลวานดอฟสกีเกิดขึ้นเมื่อปี 2005 ตอนเขาอายุได้ 16 ปี เมื่อคุณพ่อของเขาเสียชีวิต "ความทรงจำเกี่ยวกับคุณพ่อเป็นแรงผลักดันให้ผมก้าวต่อไป ตอนที่ผมฝึกซ้อมมากกว่าคนอื่น ผมบอกตัวเองว่า ผมทำสิ่งนี้เพื่อเขา และนั่นเป็นแรงจูงใจที่ดีมาก”

 

ในวัย 17 ปี เจ้าตัวถูกอาการบาดเจ็บเล่นงานต้องพักยาว 3 เดือน และถูกต้นสังกัดอย่างลีเกีย วอร์ซอว์ ปล่อยออกจากทีม “มันเป็นหนึ่งในวันที่แย่ที่สุดในชีวิตของผม ตอนนั้นอาชีพของผมแตกเป็นเสี่ยงๆ” แต่สุดท้ายด้วยความช่วยเหลือจากอดีตโค้ชเยาวชน เขาก็ได้โอกาสไปฝึกซ้อมกับ Znicz Pruszkow ทีมในดิวิชัน 3 ของโปแลนด์ และที่นี่เอง ชื่อ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี เริ่มเป็นที่รู้จัก 

 

 

 

ซ้อมให้หนัก

 

เลวานดอฟสกีคว้ารางวัลดาวซัลโวประจำดิวิชั่น 3 ของโปแลนด์ ด้วยจำนวน 15 ประตู พาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นดิวิชัน 2 และอีกครั้งที่ชื่อ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี อยู่บนสุดของอันดับดาวซัลโวดิวิชั่น 2 ด้วยจำนวน 21 ประตู จากฟอร์มการเล่นที่เข้าตา Lech Poznan ทีมในลีกสูงสุดของโปแลนด์ ก็คว้าตัวเขาไปร่วมทีมในปี 2008

 

ในปี 2010 หลังจากทำ 41 ประตู และ 20 แอสซิตส์ ใน 82 เกม ช่วยต้นสังกัดคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ก็ถึงเวลาที่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี จะย้ายทีมอีกรอบ โดยมีโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ให้ความสนใจ แซม อัลลาร์ไดซ์ ที่ตอนนั้นเป็นผู้จัดการแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เดินทางไปดูฟอร์มของเลวานดอฟสกีด้วยตัวเอง และเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าจะได้ศูนย์หน้าดาวรุ่งจากโปแลนด์มาร่วมทีม

 

แต่แล้วภูเขาไฟที่ไอซ์แลนด์เกิดระเบิด เขม่าภูเขาไฟปกคลุมน่านฟ้าทั่วยุโรปนานนับสัปดาห์ ทำให้เลวานดอฟสกีไม่สามารถเดินทางไปยังถิ่นอีวู้ด พาร์ค ได้ สุดท้ายโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก็ได้ลายเซ็นเลวานดอฟสกีไปครองในปี 2010 “สองปีแรกที่ดอร์ทมุนด์ การจบสกอร์ของผมไม่ใช่แบบนี้ หลังจากการฝึกซ้อมทุกครั้ง ผมจะอยู่ซ้อมต่อ ฝึกยิงประตูด้วยเท้าซ้ายและเท้าขวา”

 

ในถิ่นเสือเหลือง เลวานดอฟสกีทำงานร่วมกับ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมที่พายักษ์หลับแห่งบุนเดสลีกากลับมาคว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกาได้อีกครั้ง ครั้งหนึ่งทั้งสองคนเปิดใจคุยกันหลังจากที่เลวานดอฟสกี ทำผลงานไม่ได้ตามเป้า “ในตอนนั้นผมไม่ได้คิดถึงมัน แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าการพูดคุยกับเจอร์เกน เหมือนบทสนทนาที่ผมหวังว่าผมจะได้คุยกับพ่อของผม” หลังจาก 4 ปีกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทำไป 103 ประตู ใน 187 นัด เลวานดอฟสกีก็ย้ายมาร่วมทีมบาเยิร์น มิวนิก ในปี 2014

 

 

ให้ความสำคัญคุณค่าโภชนาการ

 

กว่า 4 ปีในถิ่นเสือใต้ สถิติการยิงประตูของ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี สูงทะลุชาร์ท เพชฌฆาตจากโปแลนด์ลงสนามให้บาเยิร์น มิวนิกไป 343 นัด ยิงไป 311 ประตู จากค่าเฉลี่ยที่เรียกว่ายิงประตูได้แทบทุกนัด ตอนนี้เลวานดอฟสกีอายุ 33 ปีแล้ว แต่ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทีมใหญ่ๆ ยังพร้อมทุ่มเงินก้อนโตเพื่อคว้าเขามาร่วมทีม ว่ากันว่าหนึ่งในเคล็ดลับในการรักษาร่างกายของเลวานดอฟสกีคือ การทานอาหารแบบกลับด้าน

 

โดยแทนที่จะเริ่มจากการทานของคาว ศูนย์หน้าเสือใต้เริ่มจากการทานของหวานก่อน โดยในมื้ออาหาร เลวานดอฟสกีมักจะเริ่มจากการทานของหวานอย่างเช่นบราวนี แล้วตามมาด้วยการทานข้าว ต่อด้วยเนื้อสัตว์ และปลา ปิดท้ายที่สลัดหรือซุป ไอเดียของการทานแบบนี้เพื่อให้ร่างกายสามารถแยกแยะระหว่างคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนได้ง่ายขึ้น เขาไม่ทานของทอด ไม่ทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ไม่ดื่มนมวัว เลวานดอฟสกียังว่าจ้างโค้ชเพื่อควบคุมการนอนหลับ โดยจัดสภาพแวดล้อมของห้องให้เหมาะกับการนอนหลับ ทั้งการหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้า การเลือกที่นอน กลิ่นของห้องนอน รวมไปถึงอุณหภูมิห้องก็มีส่วนสำคัญ

 

แม้จะอยู่ในช่วงสุดท้ายของการค้าแข้ง แต่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ก็เหมือนกับไวน์ ยิ่งบ่มนาน ยิ่งรสชาติดี ยิ่งแก่ตัว ยิ่งทำประตูได้มากขึ้น “ผมมีความกระหาย ร่างกายของผมรู้สึกดี ดีกว่าเมื่อหลายๆ ที่ผ่านมาเสียอีก”

 


stadium

author

Play Now Thailand

StadiumTH Content Creator / เพจ Play Now Thailand