stadium

บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ : 5 แรงขับเคลื่อนชีวิตนำไปสู่ความสำเร็จ

29 มีนาคม 2564

ตอนเราอายุ 16 ปี เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงกำลังตื่นเต้นกับการได้ใช้ชีวิตมัธยมปลายเป็นครั้งแรก แต่สำหรับ "ครีม" บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ นักแบดมินตันสาวทีมชาติไทย เธอกลับพบเจอเรื่องที่น่าตื่นเต้นยิ่งใหญ่กว่านั้น คือการลงแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ มาเลเซีย โอเพ่น กรังด์ปรีซ์ โกลด์ 2012 ก่อนจะคว้าแชมป์แบดมินตันอาชีพมาครองได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจที่ไขประตูบานแห่งความความสำเร็จบานแรกและผลักดันให้ธอก้าวขึ้นมาเป็นนักแบดมินตันอาชีพระดับแถวหน้าของโลก และใกล้เคียงที่จะได้ไปถึงโอลิมปิกตามที่ฝันเอาไว้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทางที่ฝันเอาไว้ระหว่างทางเธอผ่านเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์มานั้บครั้งไม่ถ้วน สำหรับเธอแล้วทุกเรื่องล้วนสวยงามและเป็นความทรงจำที่มีค่า

 

 

 

แรงขับจากความรัก

 

“เราต้องพยายามให้มากพอในทุกวัน ถ้าระหว่างทางเราเต็มที่มันก็จะเดินไปถึงเป้าหมายได้ในสักวัน เป้าหมายนั้นสำคัญ แต่ระหว่างทางสำคัญกว่า” นี่คือแนวคิดที่ “ครีม” บุศนันทน์ ยึดถือมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มเล่นแบดมินตันครั้งแรกในวัย 6 ขวบ จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ใช้เวลาว่างตีแบดเล่นกับครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่งครอบครัวต้องการให้เธอได้เรียนรู้พื้นฐานอย่างถูกต้อง จึงได้ส่งให้ไปเรียนยิมใกล้บ้าน ซึ่งเธอใช้เวลาเรียนรู้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้นก็มีโอกาสได้ลงแข่งรุ่น 9 ขวบก่อนจะคว้าเหรียญทองแดงมาได้

 

เหรียญทองแดงจากการลงแข่งข้ามรุ่นอายุครั้งแรก เป็นน้ำหล่อเลี้ยงกำลังใจที่ทำให้เธออยากไปซ้อมในแต่ละวัน พออายุได้ 11 ขวบ เธอได้ย้ายไปอยู่กับชมรมแบดมินตันบางโพ เนื่องจากว่าที่เก่านั้นไม่มีใครเอาชนะเธอได้แล้ว ซึ่งที่แห่งนี้เอง ครีม ได้เรียนรู้กับไอดอลของเธออย่าง พรทิพย์ บูรณประเสริฐสุข กับ  โสรัจจา จันทร์ศรีสุคต และพัฒนาฝีมือขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้ามไปแข่งรุ่นอายุที่สูงกว่าเสมอ อายุ 13 ก็คว้าแชมป์รุ่น 15 ปี ตอนอายุ 15 ก็ไปได้แชมป์รุ่นอายุ 18 ปี ด้วยความที่เก่งเกินวัยมาตั้งแต่เด็กทำให้เธอถูกเรียกเข้าไปซ้อมกับบรรดาทีมชาติในเวลานั้นอย่าง บุญศักดิ์ พลสนะ , กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล , สุดเขต ประภากมล และสราลีย์ ทุ่งทองคำ

 

เหรียญทองแดงรุ่นอายุ 9 ขวบ แรงผลักดันสู่นักแบดมินตันอาชีพ

 

แรงขับจากครอบครัว

 

การได้มาลงสนามซ้อมร่วมกับทีมชาติสำหรับเด็กอายุ 15 ช่างเป็นเหมือนความฝัน ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตต้องเลือกว่าจะเดินไปทางไหนระหว่างเรียนหรือแบดมินตัน ถึงแม้สุดท้ายหัวใจเธอจะเลือกแบดมินตันแต่ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องการเรียนเสียทีเดียว ในแต่ละวันเธอจะต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนและเรียนหนังสือจนถึงช่วงบ่าย หลังเลิกเรียนคุณแม่ของบุศนันทน์จะนั่งรถเมล์มารับหน้าโรงเรียน แล้วเสียค่ารถแท็กซี่วันละ 400 บาท เพื่อเดินทางไปสนามซ้อมสนามเอ็นแอนด์เค ซอยแบริ่ง บางนา ระหว่างการเดินทางจากโรงเรียนถึงสนามซ้อมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง บุศนันทน์จะใช้เวลานี้ถือโอกาสพักผ่อนเพื่อให้ตัวเองมีแรงซ้อมให้มากที่สุด ส่วนเวลาว่างหลังการฝึกซ้อมที่จะทำการบ้านและตามงานส่งอาจารย์ให้ตรงตามเวลา ถึงแม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยขนาดแต่เธอไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย แถมยังรู้สึดสนึกและมีความสุขที่ได้ทำให้สิ่งที่รัก

 

“ช่วงนั้นหนูให้แบดมินตันมาก่อนทุกอย่าง ชีวิตมัธยมมีอะไรล่อตาล่อใจอยู่เสมอ แต่เราก็ยอมตัดใจเพื่อไปซ้อม หนูเชื่อว่าถ้าเราอยากเก่งอยากไปได้ไกล เราก็ทำอะไรที่มันคู่ควรกับเป้าหมาย ถ้าเรื่องแค่นี้เรายอมแล้วจะไปสู่เป้าหมายที่สูงได้ยังไง”

 

 

แรงขับจากความสำเร็จ

 

ทางเดินของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ช่วงแรกที่มีโอกาสได้ลงแข่งรายการต่างประเทศ ผลมีแพ้ชนะบ้างสลับกันไป เธอเริ่มได้เรียนรู้ความจริงว่าชีวิตนักกีฬามันไม่ง่าย ทุกๆรายการที่เธอได้ลงแข่งถูกเก็บประสบการณ์ ค่อยๆพัฒนาตัวเองและเก็บคะแนนสะสมอันดับโกลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตอนอายุ 16 ปี มีโอกาสได้ลงแข่ง มาเลเซีย โอเพ่น รายการระดับกรังด์ปรีซ์ โกลด์ ซึ่งเป็นรายการแรกที่ บุศนันทน์ ทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรก เหมือนเริ่มได้ออกไปแข่งต่างประเทศ เก็บคะแนนโลก พออายุ 16 ไปแข่งระดับกรังปรีซ์โกลด์มาเลเซีย 2012 ได้แชมป์ คนเลยรู้จักมากขึ้น ได้โอกาสเข้าไปมาวงการมากขึ้น 

 

“รอบชิงวันนั้นมีนักแบดมินตันมาเลเซียเข้าชิง 3-4 ประเภท กองเชียร์เต็มสนามเลยแห่เข้ามาดู ลี ชองเหว่ย แล้วมันเป็นประสบการณ์ครั้งแรก หนูยังเด็กมาก ตื่นสนามเล่นไม่เป็นของตัวเองเลย เกมหนูก็ตกเป็นฝ่ายตามหลังก่อน ตอนนั้นมีพี่โอ๊ค ศักดิ์ระพี ทองสาริ เป็นโค้ชให้ ยังไม่มีสปอนเซอร์ เขาก็บอกตีให้เต็มที่ ถ้าวันนั้นเป็นของเราก็จะเป็นของเรา ก็พยายามรวบรวมสติให้ได้มากที่สุด โชคดีที่คู่แข่งในรอบชิงของหนูเป็นญี่ปุ่น (ซายากะ ทาคาฮาชิ ) ไม่ใช่มาเลเซีย ไม่อย่างนั้นหนูอาจแพ้ไปแล้วก็ได้”

 

เหรียญทองหญิงเดี่ยวซีเกมส์แห่งความภูมิใจ

 

แรงขับจากความภูมิใจ

 

แม้ว่าทุกสัปดาห์เธอจะลงแข่งขันโดยมีธงชาติไทยติดอยู่ที่หน้าอกแต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนการทำเพื่อตัวเองมากกว่า เพราะรายการเก็บคะแนนสะสมอันดับโลกนั้นมีเงินรางวัลแม้ว่าจะเป็นแชมป์แต่ก็ไม่มีการเปิดเพลงชาติของผู้ชนะในสนาม ซึ่งแตกต่างจากการลงแข่ง ซีเกมส์ . เอเชียนเกมส์ หรืออูเบอร์ คัพ รายการเหล่านี้นักกีฬาต้องผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติและทุกครั้งที่เป็นแชมป์ทุกคนก็จะได้ยืนร้องเพลงชาติอย่างภาคภูมิใจ

 

“เพลงชาติขึ้นทีไรมันภูมิใจทุกครั้ง” คำพูดและน้ำเสียงที่สั่นเครือแสดงออกชัดเจนถึงความภาคภูมิใจ เธอยกให้เหรียญทองซีเกมส์เป็นความสำเร็จที่ภูมิใจมากที่สุด เพราะทั้งแชมป์หญิงเดี่ยวหรือทีมหญิงเธอก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยทุกคนได้ฟังเสียงเพลงชาติในสนาม เช่นเดียวกับความสำเร็จในอูเบอร์คัพที่ทีมหญิงผ่านเข้าชิงและได้เหรียญเงินเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นที่สองแต่ก็เป็นความสำเร็จที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอที่มีส่วนเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมา

 

เหรียญเงินอูเบอร์คัพประวัติศาสตร์

 

 

แรงขับจากความสุข

 

หลาย ๆ ครั้งที่คนส่วนใหญ่เลือกจะเปรียบชีวิตตัวเองเป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ ภาพจะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้เลยถ้าว่าขาดชิ้นส่วนใดส่วนหนึ่งไป เช่นเดียวกับชีวิตของ บุศนันทน์ ที่เติบโตมาและเป็นนักกีฬาที่ดีจนคว้าแชมป์ในระดับอาชีพไม่ได้เลยถ้าหากขาดคนซัพพอร์ตที่ดี ทั้งครอบครัวที่คอยสนับสนุนเธอทุกอย่าง คำสอนของรุ่นพี่ในทีมชาติรวมไปถึงเพื่อน ๆ ที่คอยจดเลคเชอร์และช่วยตามงานส่งอาจารย์และยังเข้าใจเหตุผลที่เธอต้องทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมจนไม่มีเวลาไปร่วมสนุกด้วยกัน ครู อาจารย์ทุกท่านที่อนุญาตให้เธอเลิกเรียนก่อนเวลาปกติเพื่อไปซ้อมและคอยช่วยเหลือเรื่องการส่งงานและการสอบ ทำให้เธอโฟกัสกับการซ้อมและแข่งได้อย่างเต็มที่

 

 “การใช้ชีวิตในแต่ละวันนั้นมันยากนะ สิ่งที่ทำให้เรามีพลังกำลังใจเสมอก็คือพ่อแม่ คนรอบข้างและตัวเราเอง หนูนึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าจะไปทำอะไรถ้าไม่ตีแบดมินตัน 16 ปีที่อยู่ด้วยกันมาเหมือนเป็นทุกอย่างในชีวิตไปแล้ว นาทีนี้ความตั้งใจเดียวคือการไปโอลิมปิก ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวที่ชัดเจนมาตลอด ทำให้หนูยังคงมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และตอนนี้มันก็ใกล้เคียงมาก ๆ ” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 12 ของโลก ทิ้งท้าย

 

เสียงซอ-เอิร์ธ เพื่อนซี๊นักกีฬา

 

เพื่อนคนสำคัญเบื้องหลังชีวิตนักตบลูกขนไก่

stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

MAR 2024 KV