stadium

ช่างภาพมีกล้าม : แอดมินสาวผู้หลงใหลเกมกีฬาและการถ่ายภาพ

14 มิถุนายน 2563

กล้องถ่ายรูป ผู้หญิงและกีฬา หากเป็นเมื่อก่อนฟังดูแล้วอาจไม่ค่อยสัมพันธ์กัน เนื่องจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬานั้นดูเป็นเรื่องยุ่งยาก ขณะที่กล้องถ่ายรูปเมื่อก่อนนั้นก็มีราคาแพงแถมยังมีน้ำหนักค่อนข้างมาก แต่ว่าทุกวันนี้เทรนด์โลกนั้นเปลี่ยนไป การหันมาดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนกล้องถ่ายรูปนั้นก็ถูกพัฒนาให้มีหลายรุ่นหลายแบบ มีทั้งรุ่นที่น้ำหนักเบา เล็กระทัดรัด ใช้งานง่าย ทำให้ทั้ง 3 อย่างข้างต้นสามารถไปด้วยกันได้อย่างน่าสนใจ

 

และในวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “เจน” ชาลินี ถิระศุภะ ช่างภาพสาวมากความสามารถ ปัจจุบันเธอเป็นช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ เป็นเจ้าของเพจ “ช่างภาพมีกล้าม” ที่มีผู้ติดตามหลายหมื่นคนและยังเป็นช่างภาพหญิงคนแรกของวงการกีฬาไทย ขณะที่นอกสนามเธอยังสาวผู้นำเทรนด์ยุคใหม่ที่ให้ความสนใจกับการดูแลุสขภาพ จนเป็นเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลาย ๆ คนหันมาออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น

 

กล้องคู่ใจกับแมตช์ฟุตบอลคิงส์คัพ

 

เมื่อก่อนนี้สาวๆส่วนใหญ่ดูจะชื่นชอบการยืนหน้ากล้องมากว่ายืนอยู่หลังเลนส์ อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณนั้นดูแตกต่างออกไป?

จริง ๆ เมื่อก่อนเราเป็นเด็กคอสเพลย์ เวลาไปงานกับเพื่อน ๆ จะชอบยืมกล้องคุณแม่ไปถ่ายรูป แต่พอเริ่มสนุกได้ออกงานไปบ่อยขึ้น เราก็ชอบเพราะอยู่กับเพื่อนมันสนุก แค่อยากบันทึกภาพไว้ดูเล่นสนุกเป็นความทรงจำ แต่พอถ่ายไปถ่ายมาแล้วมันสนุกหลังจากนั้นก็เริ่มไม่อยากยืมกล้องแม่แล้ว อยากมีกล้องเป็นของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจเก็บเงินซื้อเป็นของตัวเอง

 

จากคอสเพลย์มาถ่ายกีฬาได้อย่างไร?

เราเป็นคนเล่นกีฬามาก่อน ตอนนั้นเป็นนักกีฬาเทควันโด ตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยพอมีกล้องเป็นของตัวเอง มีอยู่วันนึงเรามีโอกาสได้เอากล้องไปถ่ายเล่นที่ชมรมเทควันโด ก็ถ่ายพวกเพื่อนๆในชมรมนี่แหละ ถ่ายกันเองดูกันเองแรกๆก็พอได้นะ มันเป็นอีกฟีลนึงที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้น

 

สมัยเราเรียนอยู่ปี 4 ตอนกีฬามหาวิทยาลัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเรียนรัฐศาสตร์แต่รู้จักกับรุ่นพี่ที่เป็นประธานเทคนิคของฝ่ายจัดการแข่งขัน ช่วงนั้นมีกล้องและเริ่มชอบถ่ายรูปก็เลยอาสาขอเป็นทีมมีเดียถ่ายภาพนักกีฬาของจุฬาอัพเดทรูปอัพผลในเว็บไซต์ พอทำตรงนั้นแล้วเรารู้สึกว่ามันสนุก หลังจากนั้นก็ได้ถ่ายมาเรื่อย ๆ พอเรียนจบเราก็รู้ตัวเองแล้วว่าไม่ได้ชื่นชอบการทำงานด้านรัฐศาสตร์ ก็เลยเลือกที่จะไม่ทำงานตรงสาย ช่วงนั้นก็รับถ่ายงานอีเว้นท์อยู่ปีกว่าเริ่มมีเงินเก็บหลายแสน ก็เอาเงินตรงนั้นซื้อเลนส์ 70-200 มือ 2 ที่มันพอซูมได้ ก็เริ่มอยากจะขยับขยายไปถ่ายกีฬาในสนามบ้าง แล้วมีโอกาสได้ไปถ่ายฟุตบอลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็บอกตัวเองเราชอบอะ ถึงเราจะเป็นคนชอบเล่นกีฬาแต่เรากลับไม่ชอบฟุตบอล แต่พอได้ถ่ายฟุตบอลแล้วรู้สึกว่าเป็นอะไรที่สนุกไปอีกแบบ

 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพกีฬาเลยหรือเปล่า?

ก็มีส่วนใช่นะ เพราะมันทำให้เราเริ่มสนใจถ่ายฟุตบอลมากขึ้น มีโอกาสได้เข้าไปเชียร์ฟุตบอลไทยในสนามครั้งแรก คู่ การท่าเรือ เอฟซี กับ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในศึกบอลถ้วย ก. วันนั้นเราก็ไปเจอเพื่อนคนนึงที่ไปฝึกงานอยู่กับสโมสร บางกอกกล๊าส เอฟซี ซึ่งเราก็รู้จักชื่อสโมสรนี้อยู่แล้ว ก็เลยชวนกันไปดูบอลที่สนามของ บางกอกกล๊าส บ้าง ซึ่งเกมที่ บีจีพบกับเพื่อนตำรวจนัดเปิดฤดูกาล 2009-2010 วันนั้นเลิกงานเสร็จเราก็ไปสนาม ซึ่งความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คือบรรยากาศในสนามมันสุดยอดมาก เลยติดใจอยากจะไปดูบอลในสนามอีก นัดต่อไปเยือนทีโอที เราเลยเอากล้องลงไปถ่ายเล่นในสนามเจ้าหน้าที่ให้เสื้อเอี๊ยมเรามาใส่ลงไปถ่ายในสนาม ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้ซีเรียสเหมือนทุกวันนี้ ถ่ายเสร็จแล้วก็เอาภาพมาอัพลงในเฟซบุ๊ก อัพลงในไทยแลนด์สู้สู้ แฟนคลับเขาเห็นมาดูดภาพไปวินาทีนั้นมันเป็นความสุขเล็ก ๆ ของเรา 

 

หลังจากนั้นก็ได้ถ่ายภาพตลอด แล้วเราเป็นผู้หญิงมีมุมไม่เหมือนใคร เลยมีความรู้สึกอยากลาออกจากงานประจำ ตอนนั้นเกือบได้ทำงานกับสยามสปอร์ต สตาร์ซอคเกอร์ แต่ติดปัญหาบ้านไกล ทีนี้พอผู้จัดการสโมสรบางกอกกล๊าสเขารู้ว่าเราลากออกจากงานก็ติดต่อมาให้ไปเป็นมีเดียให้กันสโมสรก็เลยได้เข้าสู่วงการแบบจริงจัง

 

สิ่งสำคัญของการเป็นช่างภาพต้องพร้อมลุยทุกสถานการณ์

 

 

ได้เริ่มทำในสิ่งที่ชอบแล้วสเตปถัดไปของชีวิตวางไว้แบบไหน?

จริง ๆ ก็ชอบถ่ายกีฬาอื่นด้วย สมมติเวลาเราทำอะไรซ้ำ ๆ เหมือนเดิมต้องหาไอเดียใหม่ ๆ การไปถ่ายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฟุตบอล มันจะช่วยให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ มากขึ้น ได้แนวคิดมาประยุกต์ใช้ แล้วเราก็ชื่นชอบการดูกีฬาอยู่แล้วอย่างเช่น พวกรถแข่ง วอลเลย์บอล ก็วนๆ อยู่ประมาณ 4 ปี พอถึงจุดหนึ่งก็อยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น

 

ช่วงนั้นมีโอกาสจากสำนักข่าวเนชั่นเข้ามาก็เลยได้ไปตรงนั้น ยกสถานะตัวเองจากช่างภาพประชาสัมพันธ์ของสโมสรมาเป็นสื่อมวลชน ก็ทำให้เรามีโอกาสได้ถ่ายกีฬาหลากหลายมากขึ้น ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานแบบช่างภาพซึ่งมีความท้าทายในอีกแบบเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก อยู่แบบนั้นได้สัก 2 ปี ก็ต้องถูกโยกไปที่ส่วนกลางซึ่งจะไม่ได้ถ่ายภาพกีฬาอย่างเดียวแล้ว ตอนนั้นเราก็กลัวมากเพราะว่าเราถ่ายกีฬามา 5 ปี ไม่เคยถ่ายอย่างอื่นมาก่อนเลยกลัวทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องไป 

 

พอได้ออกจากคอมฟอร์ทโซน สุดท้ายแล้วมันเป็นส่งที่ดี ข้อดีคือเรามีสกิลช่างภาพกีฬา ข้อดีทำให้เรารู้จักอุปกรณ์เยอะขึ้น มีความไวในการเซ็ตกล้อง การเขียนใต้ภาพกีฬาที่ต้องไวพอมาผนวกกันทำให้เราจับประเด็นได้ดีขึ้น งานข่าวมันกินกันที่ประเด็น ภาพไม่สวยแต่ประเด็นครบซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมี แต่พอมาถ่ายข่าวเราเลยมองประเด็นได้ดีขึ้น เราประยุกต์ใช้ในงานกีฬาได้ด้วย ภาพกีฬาเรีมมิติขึ้นต่อยอดความคิด การเรียงลำดับภาพ สำคัญเราได้คอนเนคชั่นได้เจอคนอื่นเยอะ สุดท้ายตัดสินใจเป็นฟรีแลนช์ในสิงหาคม 2018

 

ปัญหาของช่างภาพกีฬาสาวที่ต้องเจอล่ะ คืออะไร?

เราเป็นนักกีฬามาก่อนก็จริงแต่เราไม่ได้จริงจัง การเป็นช่างภาพต้องใช้อุปกรณ์เยอะ บางทีการถือกล้องนาน ๆ ก็ปวดกล้ามเนื้อตรงบ่ากับหัวไหล่ หมุนคอไม่ได้ คือผู้หญิงไม่ได้แข็งแรงเหมือนผู้ชายที่สามารถแบกอุปกรณ์หนัก ๆ ได้นาน ๆ แล้วภาพกีฬาต้องอาศัยความไวการเคลื่อนที่ก็สำคัญถ้าเราช้าเราอาจพลาดช็อตสวย ๆ ไปเลยก็ได้

 

ท้าทายตัวเองสร้างสถิติใหม่วิ่ง 10 KM ในงาน Intania Chula Mini Marathon 2020

 

ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้หันไปออกกำลังกายมาตลอด?

ใช่ ตอนนั้นเราปวดไปหมด คอ บ่า ไหล่ หมุนคอไม่ได้คอเอียงให้นักกายภาพช่วยก็ไม่หาย ซื้อยามากินมาทาก็ไม่หายเลยตัดสินใจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุซึ่งก็คือการออกกำลังกายเพราะเราคิดว่าการออกกำลังกายจริงจัง มันก็คือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดมากกว่ากินยาหรือทำกายภาพ ส่วนตัวชอบฟิตเนสไม่ได้ชอบวิ่ง ซึ่งสายเวทเทรนนิ่งจะไม่เน้นวิ่งกัน สมัยเรียนเราคิดว่าวิ่งเป็นกีฬาคนแก่ พอตอนหลังคนเริ่มวิ่งเยอะขึ้น เคยถ่ายงานวิ่งก็คิดในใจว่ามันสนุกตรงไหน สงสัยตลอดทำไมต้องตื่นเช้ามาวิ่งทุกวัน เวลาโดนถ่ายงานวิ่งรู้สึกเบื่อมาก

 

แล้วอะไรที่ทำให้คุณหันมาสนใจการวิ่งได้อย่างไร?

มีเพื่อนคนนึงอ้วนมากเป็นสายกินไม่เคยออกกำลังกาย ไม่ได้เจอกันนานแต่พอได้เจอกันอีกที มันดูดีมากไม่อ้วน เลยคุยกันแล้วมันบอกว่าไปวิ่งมา ซึ่งหลังจากนั้นก็บิ้วให้ลองวิ่งมาตลอด แล้วเราเองเป็นคนอยากลอง เลยไปซื้อรองเท้ามาวิ่งแถวสะพานพระนั่งเก้าครั้งแรกเหนื่อยมาก รู้สึกวิ่งมาตั้งไกลได้แค่ 2 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็เลยตั้งชาเลนจ์ตัวเองว่าจะวิ่ง 10 กิโลเมตรให้ได้ภายใน 1 เดือนซ้อมทุกวัน พอวิ่งไปสักพักก็เริ่มเปลี่ยนประสบการณ์อยากวิ่งให้ดีกว่าเดิม หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเพจวิ่งแนะนำ เราก็เรียนรู้ด้วยตัวเองมา โค้ชไม่มี นาฬิกาไม่เคยใส่ เพิ่งจะมาใส่ไม่นานมานี้ เราก็เรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด

 

บางกอกกล๊าส จุดเริ่มต้นเส้นทางช่างภาพกีฬา

 

ออกกำลังกายช่วยให้การถ่ายภาพดีขึ้นอย่างไร?

ในสายงานตัวเองมันต้องใช้ร่างกายค่อนข้างหนัก แล้วเราเป็นผู้หญิงด้วย ซึ่งเมื่อก่อนทุกคนจะชอบคิดว่าเป็นผู้หญิงไม่ไหวหรอกต้องถือเลนส์หนัก ๆ จะมาสู้ผู้ชายได้ยังไง แต่สิ่งที่เราทำก็คือการไม่สนใจคำพูดของคนเหล่านั้น เราโฟกัสอยู่กับตัวเองสร้างโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น ก็เลยหันไปออกกกำลังกายซึ่งมันทำให้เรามีสุขภาพดี ถึงจุดหนึ่งเราแข็งแรงกว่าคนพวกนั้นอีก แข็งแรงกว่าผู้ชายหลาย ๆ สามารถวิ่งตามไปถ่ายนักกีฬาได้ทั่วสนาม ทำให้เราสร้างโอกาสในการทำงานมากขึ้น ก่อนออกกำลังกายเราวิ่งขึ้นอัฒจันทร์ใช้เวลาเป็น 10 นาที แต่เดี๋ยวนี้ใช้เวลาน้อยลง แล้วที่สำคัญคือเราไม่เหนื่อยด้วย

 

จากช่างภาพฟรีแลนซ์ อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพจช่างภาพมีกล้าม?

ด้วยความที่เราเรียนรัฐศาสตร์มาก็ทำให้เรามีสกิลในการเขียนพอสมควร จริง ๆ ก่อนหน้านี้มีคนบอกให้เราทำเพจนานแล้ว แต่เราจะมีข้ออ้างตลอด แต่ปกติเราก็จะเขียนในเฟซบุ๊กตัวเองอยู่แล้ว แต่พอช่วงที่มาทำงานเป็นฟรีแลนซ์นี่แหละมันเปลี่ยนความคิดเรา เพราะอะไรก็ตามที่ทำแล้วเป็นช่องทางที่ทำให้เราได้เงินก็ต้องทำไว้ก่อน ซึ่งตอนแรกก็คิดแค่แบบนั้นเปิดเพจขายรูปแต่ก็ขายได้ครั้งเดียวเราก็มีความรู้สึกอย่างอื่นเข้ามา

 

ความรู้สึกที่ว่าคืออะไร?

เราอยากตอบตัวเองให้ได้ว่าชอบวิ่งเพราะอะไร บางคนเสพติดการได้แชมป์ได้ถ้วย เราก็เคยได้ แต่เราคิดว่าการวิ่งคือการแข่งกับตัวเองไม่ต้องแข่งกับคนอื่น ไม่จำเป็นต้องได้ถ้วย ขอแค่สถิติดีขึ้นทุกครั้งได้พัฒนาตัวเอง อันนี้คือความสุขที่ได้แชร์กับคนอื่น เราเคยเจอจุดที่ถามตัวเองว่าวิ่งเพื่ออะไร แข่งกับคนอื่นหรือเพื่อสุขภาพของตัวเองกันแน่  วันนึงเราเจอพี่ผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเก่งมาก 10 กิโลเมตรทำเวลาได้ต่ำ 40 นาที คือถ้าลงงานวิ่งได้ถ้วยแน่นอน แต่พอเราได้เข้าไปคุยเขาบอกว่าแค่ชอบวิ่งไม่อยากลงงานวิ่ง การวิ่งไม่ได้วัดกันที่ลงโซเชียล

 

สิ่งที่เราแชร์ในเพจคือแรงบันดาลใจให้ทุกคนตอบตัวเองวิ่งเพื่ออะไร เราก็จะแชร์ในมุมของเรา ทั้งความคิด ความรู้ประสบการณ์ต่างๆของเรา การให้ความรู้คนเป็นอะไรที่เรามีความสุขที่สุด ในเรื่องที่เรารู้ยังมีอีกหลายคนที่เขาไม่รู้จริง อาจเป็นเพราะเขาเข้าไม่ถึงข้อมูล เราอยากให้เพจเราเป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนความรู้กัน เราคิดได้เรามีความสุขกับการวิ่ง มีความสุขกับการได้แชร์ข้อมูลดีให้ลูกแพจ ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนออกมาวิ่งมากขึ้น เห็นเราเป็นแรงบันดาลใจหลังจากนั้นก็เลยไม่ได้ขายภาพในเพจอีกเลย

 

ภาพถ่ายที่สะท้อนถึงตัวตนของ เจน ชาลินี

 

 

สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจากการติดตามเพจ ช่างภาพมีกล้าม?

เพจตอนนี้เป็นภาพถ่ายงานวิ่ง แต่มีเขียนคอนเทนท์อัพเดทที่หลายคนไม่รู้ ซึ่งวงการวิ่งตอนนี้ยังไม่มีเนื้อหาแบบนี้มีแต่เอนเตอร์เทน ทุกวันนี้คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่านักวิ่งทีมชาติไทยมีใครบ้าง คิปโชเก้ คือใคร? เราอยากทำเพจให้ข้อมูลการวิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับสุขภาพสตรีทเวิร์คเอาท์ ส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหาของข่าวภาพของเรา ถ่ายรูปมาแล้วเขียนคอนเทนท์ให้มันมีอิมแพคมากขึ้น เหมือนเวลาพูดถึงนักฟุตบอลทีมชาติ แต่เราอยากให้ทุกคนได้มาเห็นเรื่องราวของนักวิ่งตรงนี้แล้วรู้คล้อยตามไปกับมัน

 

สิ่งที่ผู้หญิงอยากจะเป็นช่างภาพกีฬาต้องเตรียมพร้อม?

อย่างแรกเลยเราต้องรู้จักถามใจตัวเองก่อน ต่อมาก็คือการพัฒนาความสามารถของตัวเองตลอดเวลา เป็นผู้หญิงร่างกายอ่อนแอกว่าผู้ชายแต่จะทำอย่างไรให้เราแข็งแรงแล้วไม่โดนดูถูกได้ อย่างสุดท้ายก็คือความตั้งใจและทุ่มเทให้กับสิ่งที่รัก ถามตัวเองว่าพร้อมหรือยังที่จะเข้าวงการนี้มันไม่ได้เดินถือกล้องแล้วเดินสวย ๆ ในสนาม งานของเรามันอยู่ตั้งแต่ก่อนเข้าสนาม ในแง่ของการทำงานเราต้องรู้จักขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก

 

ส่วนสิ่งที่อยากจะย้ำให้สาว ๆ ทุกคนคือคุณต้องรู้ว่าคุณมาทำอะไร จรรยาบรรณสำคัญสุดในฐานะเราเป็นช่างภาพในการนำเสนอ แง่ของการวางตัวในการเป็นสื่อ ทั้งการขอเสื้อนักกีฬา ถ่ายรูปเซลฟี่ เมืองนอกถ้าเป็นระดับมืออาชีพ ไม่มีช่างภาพคนไหนมาขอเสื้อนักกีฬาในสนาม เมืองไทยยังไม่มีใครแคร์ แต่ถ้าหากเราทำแบบนั้นมันจะเหมือนคนอื่น ถ้ามันไม่ดีไม่ต้องทำ ทำในสิ่งที่ดี แต่ถ้าอยู่นอกสนามจะขอเซลฟี่กับนักกีฬาก็อีกแต่ถ้าอยู่ในสนามหรือตอนทำงานไม่ควร

 

ฟ้ายังไม่สว่างกับช็อตสวย ๆ ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนชิงแชมป์โลก 2019 

 

ขอเคล็ดลับเทคนิคการถ่ายภาพกีฬา?

เราต้องศึกษาหาข้อมูลกีฬาเสมอศึกษาอุปกรณ์ของเรา การที่เรามีกล้องดีสุดไม่ได้แปลว่าจะถ่ายได้ดี กระบี่มันอยู่ที่ใจมุมมองมันซื้อไม่ได้ ศึกษามันเรียนรู้มันฝึกฝนบ่อย ๆ เก็บประสบการณ์ สุดท้ายแล้วหากเราเริ่มต้นไม่ถูกก็เรียนรู้จากภาพถ่ายคนอื่น แต่เราต้องพยายามพัฒนาตัวเองจนวันนึงเราสามารถมีภาพเป็นลายเซ็นของตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีลายน้ำบนภาพเลย อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญต้องศึกษากฎกติการของแต่ละชนิดกีฬาที่เราไปถ่ายด้วย 

 

นักกีฬาที่อยากถ่ายภาพมากที่สุด?

คิปโชเก้ นักวิ่งมาราธอนอยากเจอตัวจริงมานานแล้วเคยคิดว่าไม่ติดไวรัสโควิด-19 อยากจะไปเคนยา คนที่สอง ลิโอเนล เมสซี่ เขาเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์แต่ใช้แสวงเยอะมาก เขาพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองในแง่ของร่างกาย ขณะที่ โคบี้ ไบรอัน ก็เป็นอีกคนที่อยากถ่ายรูปเขามาก เพราะเราได้ทัศนคติที่ดีจากเรื่องราวชีวิตของเขามาตลอดชีวิต

 

ส่วนนักกีฬาผู้หญิง เมแกน ราฟิโน่ ชอบมากเห็นแล้วคิดถึง รูบี้ โรส นางงามออสเตรเลีย ซึ่งเป็น LGBT มีความสวยแบบผู้หญิงแต่มีความเท่แบบผู้ชาย ซึ่งเขาเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตให้กับเรา คนสุดท้ายก็คือ เซเรนา วิลเลียมส์ นักเทนนิสสาวที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นโรลโมเดลหลายอย่าง ๆ ในชีวิตเช่นกัน

 

ช่างภาพคนไทยเพียงหนึ่งเดียวในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก 2019 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose