10 สิงหาคม 2564
อันที่จริงคู่ชิงฯของฟุตบอลชายในโอลิมปิกที่พึ่งจะรูดม่านปิดฉากกันไปหมาดๆคงเป็นแมตช์ในฝันของใครหลายคนก็ว่าได้ เพราะถ้าเลือกได้ระหว่างสี่ทีมที่ผ่านเข้ามาในรอบสุดท้าย สเปนและบราซิลดูจะเหมาะสมที่สุดในการเรียกเรตติ้ง
จริงๆแล้วก่อนที่แมตช์นี้จะเกิดขึ้นได้ไม่นาน สื่อเจ้าใหญ่หลายสำนัก,กูรูชั้นนำและบรรดาคอมเมนเตเตอร์มากมายหลากหลายแขนงต่างชูมือเห็นด้วยว่าแมตช์นี้อาจเป็นการต่อสู้กันระหว่างปรัชญาฟุตบอลที่ดูจะแตกต่างกันแบบคนละขั้วเลยก็ว่าได้ (ฟากหนึ่งคือฟุตบอลที่เน้นการครอบครองบอลและโฟกัสที่ระบบทีมเวิร์คแบบ “จ๋าๆ” มาแต่ไกล ในขณะที่อีกฟากคือฟุตบอลที่เน้นความสามารถเฉพาะตัว, ความจี๊ดจ๊าดและเกมโต้กลับเร็วแบบสายฟ้าแลบ)
สิ่งที่ชูให้คู่ชิงฯหนนี้เป็นอะไรที่ใครๆต้องอยากดูถึงแม้ว่านี่จะเป็นทีมรุ่นจูเนียร์ที่อาจจะไม่ค่อยฟูลเท่าไหร่แถมนักเตะตัวเด่นๆของทั้งบราซิลและสเปนหลายคนต่างก็ถูกสโมสรต้นสังกัดสั่งเบรกไม่ปล่อยตัวมาร่วมทีมก็มาก คือเรื่องชื่อชั้นและโพรไพล์ที่ทั้งสองทีมต่างเด่นดังมาด้วยกัน
หากใครพอจะจำกันได้ช่วงปลายยุค 90 บราซิลชุดใหญ่คือทีมที่ยึดครองตำแหน่งแชมป์โลกบนหน้าฟีฟ่าแรงกิ้งต่อเนื่องยาวๆมาแล้วถึง 7 ปี ในขณะที่พอเข้าสู่ยุค 2000 ก็เป็นสเปนนี่แหละที่ทำได้ไม่ต่างกันโดยขึ้นไปแทนที่ยาวนานถึง 6 ปี (อาจจะมีบางเดือนที่ทั้งสองทีมหล่นลงจากตำแหน่งที่1ไปบ้างแต่พอสรุปสิ้นปีเมื่อไหร่ พวกเขาก็กลับมายึดหัวตารางเหมือนเดิมไม่ไปไหน)
และถ้าจะให้ผมพูดหรือออกความคิดเห็นว่าระหว่างบราซิลและสเปน ใครกันแน่ที่เหมาะกับเหรียญทอง? ผมก็ต้องขอตอบว่า “เป็นใครก็เหมาะ!”
เพราะตลอด 120 นาทีที่ได้เฝ้าหน้าจอ สเปนและบราซิลต่างสมควรได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นทีมที่คู่ควรกับนัดชิงฯและแคนดิเดตแชมป์เปี้ยนทัวร์นาเม้นต์ฟุตบอลแห่งมวลมนุษยชาติ
สเปนมาแบบคงเส้นคงวาและตั้งหน้าตั้งตาทำงานของพวกเขาตามหลักปรัชญาฟุตบอลของตัวเองแบบไม่มีโลเลเฉไฉ ในขณะที่บราซิลก็เล่นด้วยความคมคายและซู่ซ่าชนิดที่ว่าบอลอยู่ที่ใครก็อันตราย เป็นฟุตบอลที่สู้กันสนุก-สมใจในแบบที่กูรูและสื่อต่างๆได้ยกให้เป็นหนึ่งในแมตช์ห้าดาวประจำทัวร์นาเมนต์นี้
อันที่จริงผมค่อนข้างเห็นใจทีมกระทิงดุอยู่เหมือนกันนะ เพราะอย่างว่านอกจากสเปนจะไม่ได้นักเตะตามลิสที่โค้ชหลุยส์ เดอ ลา ฟวนเต้ ต้องการแล้ว ยังมีนักเตะถึงเจ็ดคนที่อาจพูดได้ว่าพวกเขามีสภาพร่างกายที่ไม่อาจจะไม่ “เพอร์เฟ็กต์” เพราะพวกเขาเหล่านั้นเล่นกรำศึกมาอย่างหนักตั้งแต่ยูโรจนถึงโอลิมปิก
เปา ตอร์เรส, เอริค การ์เซีย, อูไน ซิมอน, ดานี่ โอลโม่, มิเกล โอยาร์ซาบัล และเปดรี้ ที่รายหลังเล่นลงสนามทั้งกับต้นสังกัดและทีมชาติรวมกันถี่ยิบชนิด 73 เกมในรอบ 1 ปี นับเป็นช่วงเวลาแบบ “เวิร์ค ออน ฟิลด์” ที่โคตรจะสมบุกสมบันและสุดแสนจะยาวนานเสียเหลือเกิน
ความพ่ายแพ้ของสเปนไม่เพียงแต่จะเป็นความผิดหวังเฉพาะของทีมจากแดนกระทิงดุเท่านั้น หากแต่ถ้าจะให้พูดกัน นี่ก็อาจเป็นความผิดหวังของคนทั้งทวีป
“ทำไมนะหรอ?”
ผมเคยเขียนไว้ในบทความครั้งก่อนว่าบางทีฟุตบอลสไตล์ยุโรปอาจเริ่มเข้าสู่โหมด “เอ้าท์” แล้วก็ได้ เพราะอย่างที่เราได้เห็นกันในโอลิมปิกหนนี้ สเปนกลายเป็นตัวแทนจากฝั่งยุโรปทีมเดียวเท่านั้นที่ฝ่าด่านทะลุเข้ามาสู่รอบเซมิไฟนอลได้สำเร็จ
ยิ่งถ้าให้ผมลงลึกยิ่งกว่าเดิมทีมจากยุโรปเองก็ดูจะห่างหายไปจากการได้สัมผัสบรรยากาศของความสำเร็จในฐานะของผู้ที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดอย่างตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลชายในโอลิมปิกมายาวนานถึงเกือบ 30 ปี (ครั้งล่าสุดที่ชาติจากทวีปยุโรปคว้าแชมป์ได้สำเร็จต้องย้อนกลับไปสมัยที่ทีมชาติสเปนทำได้ในบ้านที่บาร์เซโลน่าช่วงปี 1992 นู่น) อาจกล่าวได้ว่าฟุตบอลสไตล์ยุโรป (แบบเน้นความแข้งแกร่งทางสรีระร่างกายหรือการสรรค์สร้างเกมที่เน้นผู้เล่นแค่ไม่กี่คน) อาจถูกใครๆเขาเริ่มจับทางได้แล้วก็อาจจะเป็นไปได้
การที่บราซิลได้เหรียญทอง, สเปนได้เหรียญเงิน และ เม็กซิโกได้ทองแดง นับว่าเป็นบทสรุปของฟุตบอลชายในโตเกียวโอลิมปิกที่ดูจะเหมาะสมที่สุด เพราะอย่างว่าแข้งแซมบ้าพกมาทั้งดีกรีแชมป์เก่าและรองแชมป์ทวีปรุ่นยู23 ในขณะที่สเปนเองคือแชมป์ทวีปรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปีที่จัดขึ้นตอน 2019 ที่ผลผลิตในวันนี้ก็เริ่มต้นมาจากในวันนั้นนั่นเอง และเม็กซิโกเองก็มีดีกรีเป็นถึงแชมป์ทวีปหนล่าสุดของรุ่นอายุไม่เกิน23ปี
“ซาโยนาระโตเกียว 2020 และบอนชัวปารีส 2024” แล้วค่อยพบกันใหม่ในอีกสามปีข้างหน้านะครับ..
TAG ที่เกี่ยวข้อง