29 กรกฎาคม 2564
จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับรอบแบ่งกลุ่มในกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอลชายในโตเกียวโอลิมปิกฉบับนิวนอร์มอล และครั้งนี้ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในรอบนี้ทั้งเรื่องผลการแข่งขันที่เซอร์ไพร์สและเรื่องดราม่ามากมายหลังการแข่งขัน เรียกได้ว่ามีครบทุกอรรถรสเลยจริงๆ
จุดที่ผมสนใจคือหน้าตาของแปดทีมสุดท้ายหนนี้ที่มันเหมือนส่งสัญญาณอะไรบางอย่างที่เราน่าจะต้องหยิบยกขึ้นมาคุยกันให้เห็นภาพ
อย่างแรกเลยคือ มาตราฐานฟุตบอล ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ฉีกหนีระดับเอเชียไปไกลเสียแล้ว
ผลงานการเข้ารอบน็อคเอ้าท์ของทั้งเจ้าภาพญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ชนิดที่มีสถิติการเสียประตูแบบหยุมหยิมแค่ลูกเดียว กลายเป็นสองในสี่ทีมที่เสียประตูน้อยที่สุดในรอบแบ่งกลุ่มแถมยังเข้าวินในฐานะแชมป์กลุ่มอีกสร้างความประหลาดใจไม่น้อยจนสื่อหลายสำนักทั้งในและนอกต่างต้องหันขวับกลับมาโฟกัสและอวยให้เข้ารอบลึกๆ
“ใครจะไปเชื่อ!” เพราะญี่ปุ่นมีทั้ง เม็กซิโก และ ฝรั่งเศส อยู่ร่วมกลุ่ม ในขณะที่เกาหลีใต้เองเล่นขนนักเตะจากเคลีกมาแข่งเกือบยกทีม ไม่มีทั้งซน ฮึง-มินตัวเก่ง และคัง ซัง วู เจ้าพ่อแอสซิสต์เคลีกฤดูกาลที่แล้วติดทีมมาด้วย
พูดก็พูดเถอะแม้ตัวผมเองจะเชื่ออยู่ลึกๆว่าญี่ปุ่นคงเอาตัวรอดเข้ารอบน็อคเอ้าท์ได้ไม่ยากเพราะอาศัยความได้เปรียบในฐานะเจ้าบ้านเป็นหลักบวกกับชุดนักเตะที่ขุดมาจากลีกชั้นนำนอกประเทศก็น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยง แต่กับเกาหลีใต้การเข้าวินด้วยทรง “ท็อปฟอร์ม” ชนิดที่กดคู่แข่งที่เป็นทีมที่เกรดบอลไม่ได้หนีไปกว่ากันมากอย่างโรมาเนียและฮอนดูรัสถึง 4-0 และ6-0 เป็นอะไรที่ต้องบอกว่า “เหลือเชื่อ!”
เทียบผลงานของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กับอีกสองทีมที่มาในฐานะโควต้าเอเชียด้วยกันก็ต้องบอกว่าพวกเขาเป็นทีมที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าฟุตบอลระดับทวีปไปเสียแล้ว เพราะอย่างที่เราๆท่านๆได้เห็นกันในสนามออสเตรเลียที่ดูเหมือนจะออกสตาร์ทได้ดีก็ดันไม่สม่ำเสมอพอจนต้องตกรอบไปในที่สุด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงทีมเศรษฐีน้ำมันอย่างซาอุฯเห็นกันอยู่บ่อยไปว่าพอออกมาเล่นในเวทีใหญ่เมื่อไหร่ พวกเขาก็มักกลายเป็นทีมแจกแต้มไปเสียหยั่งงั้น
อย่างต่อมา คือ ฟุตบอลสไตล์ยุโรปอาจเริ่มเข้าสู่โหมด “เอ้าท์” แล้วก็ได้
สเปนกลายเป็นทีมเดียวจากทวีปยุโรปที่หลุดเข้าสู่รอบน็อคเอ้าท์ได้สำเร็จสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของทีมจากทวีปนี้ในเชิง “ถอยหลังลงคลอง” ได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเทียบกับผลงานในครั้งก่อนที่ทีมจากทวีปยุโรปสามารถทะลุเข้ารอบน็อคเอ้าท์ได้มากถึงสามทีมแถม 2 ใน 3 ก็ไม่แพ้ใครเลยด้วยตลอดทั้งสามนัด
จริงอยู่ที่ว่าโควิดอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทีมจากยุโรปเดินทางมาโตเกียวในสภาพที่ไม่ค่อยจะฟูลทีมซักเท่าไหร่ เพราะสโมสรมากมายต่างอ้างเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ต้องการปล่อยตัวนักเตะออกมาเสี่ยงและอาจส่งผลให้การเตรียมทีมในอนาคตมีอันต้องสะดุด แต่ด้วยเกรดตัวผู้เล่นที่ได้มาการตกรอบเร็วตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มแบบนี้ ซ้ำหลายทีมยังโดนถลุงเละเทะไม่เป็นท่าเป็นอะไรที่ถือว่าช็อคอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ฝรั่งเศส โดนทั้ง เม็กซิโก และ ญี่ปุ่น อัดซะน่วม, เยอรมัน รองแชมป์เก่าต้องแพ็คกระเป๋ากลับบ้านตั้งแต่ไก่โห่ ในขณะที่ผีดิบโรมาเนียที่ได้ผลจับติ้วแบบโชคดีที่สุดเพราะได้ทั้งฮอนดูรัสและนิวซีแลนด์ซึ่งดูเหมือนเป็นทีมรองบ่อนก็ยังเอาตัวรอดไม่สำเร็จ พูดง่ายๆผลงานของทีมจากยุโรปในโอลิมปิกหนนี้ดูขี้เหร่กว่าครั้งไหนๆ
จุดที่น่าสนใจคือทีมที่ตกรอบทั้งเยอรมัน, ฝรั่งเศสและโรมาเนียยังคงเล่นฟุตบอลในสไตล์ที่ดูจะล้าสมัย และดูเหมือนว่านักเตะในทีมส่วนใหญ่ก็ไร้ซึ่งจินตนาการในการเล่นอีกด้วย
ฟุตบอลออกข้างแล้วโยนให้โหม่งอาศัยส่วนสูงของบรรดาตัวรุก, บอลไดเร็กที่เปิดจากหลังแล้วหวังให้กองหน้าวิ่งเปี้ยวไปเก็บบอลมาเข้าทำ หรือจะเป็นฟุตบอลที่หวังพึ่งแค่คนไม่กี่คนกลายเป็นฟุตบอลที่ “ไดโนเสาร์” และไร้จินตนาการในแบบที่ผมว่า และเห็นได้ชัดว่ามันเริ่มใช้ไม่ได้ผลเวลาเจอกับทีมที่เล่นด้วยฟุตบอลที่ดูจะทันสมัยกว่า
ไม่ต้องยกตัวอย่างไปให้ไกลดูกันใกล้ๆกับทีมที่เข้ารอบอย่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สเปน หรือแม้แต่เม็กซิโก ทีมเหล่านี้เน้นการรับ-ส่งบอลที่รวดเร็วด้วยการต่อบอลตามช่อง, อาศัยการเล่นเป็นทีม, มีความฟิตในระดับที่ไล่เลี่ยกันทุกคน และมิติในการเข้าทำก็หลากหลายชัดเจน ซึ่งนั่นคือสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาส่งตัวเองเข้าสู่รอบต่อไปได้นั่นเอง
ได้ครบแล้วแปดทีมสุดท้ายแถมพักแค่วันเดียวแล้วบู๊กันต่อเลย และถ้าจะถามทรรศนะผมนะหรอ..?
ไม่รู้ซิ..แต่อยากได้ญี่ปุ่น, สเปน, เม็กซิโก และบราซิล จะได้มีตัวแทนแต่ละทวีปลงเล่นรอบสี่ทีมสุดท้าย และถ้าได้แบบนี้ขึ้นมาจริงๆ แฟนบอลคงได้เชียร์กันสนุก-อร่อยเหาะกันไปเลย!
TAG ที่เกี่ยวข้อง