stadium

สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ คนเหล็กที่กรีฑาไทยรอคอยกว่า 40 ปี

15 มิถุนายน 2563

ผู้ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันทศกรีฑา จะถูกยกย่องว่าเป็นนักกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก นั้นก็เพราะว่านักทศกรีฑาต้องแข่งกรีฑาถึง 10 ชนิด ใน 2 วันเพื่อรวมคะแนนให้ได้มากที่สุดแล้วถึงจะได้เหรียญทอง ด้วยความโหดหินของการแข่งขันทศกรีฑาที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยที่ประชากรค่อนข้างจะมีรูปร่างที่เล็กไม่ค่อยประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ ทั้งในระดับโลก หรือแม้แต่กระทั่งในระดับเอเชีย หรืออาเซียนเองก็ตามที แต่นั้นเป็นเรื่องก่อนที่สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยจะได้ค้นพบ ปาร์ค สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ เด็กหนุ่มที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบที่สุด เสมือนว่าเกิดมาเพื่อเล่นทศกรีฑาโดยเฉพาะ

 

 

เพชรเม็ดเอกจากแดนอีสาน

สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ เติบโตที่จังหวัดมหาสารคาม บ้านเกิด ด้วยรูปร่างที่ดีเกินมาตรฐานเด็กไทย ทำให้เจ้าตัวเป็นนักกีฬาตัวเก่งประจำโรงเรียน และพรสวรรค์ที่เปล่งประกายของเขาก็ถูกซ่อนไว้ไม่มิด เจ้าตัวถูกชักชวนให้เข้าเรียนที่ โรงเรียนกีฬาจังหวัดขอนแก่น ที่ซึ่งเขาได้พบกับ อาจารย์ถาวร ใหญ่เลิศ บุคคลสำคัญที่วางรากฐานที่มั่นคงให้กับเจ้าตัวในการก้าวเข้าสู่การเป็นนักกีฬาทศกรีฑาชั้นแนวหน้า เพราะถึงแม้ตัว สุทธิศักดิ์ จะเป็นแค่นักกระโดดไกลในตอนนั้น แต่อาจารย์ถาวร ใหญ่เลิศ ก็ไม่ลืมที่จะปลูกฝังทักษะการวิ่งในหลายรูปแบบให้กับเจ้าตัว ซ้ำยังเป็นคนสนับสนุนในการส่งเจ้าตัวลงแข่งขันรายการต่าง ๆ จนทำให้ชื่อเสียงของ สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ ไปเข้าหูเข้าตาสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยเข้าอย่างจัง จนทำให้ประตูสู่ทัพทีมชาติไทยของเจ้าตัวเปิดต้อนรับในที่สุด

 

ตอบโจทย์ความยากของ ทศกรีฑา

การแข่งขัน ทศกรีฑา หรือ Decathlon ในภาษาอังกฤษ นักกีฬาต้องแข่งกรีฑาทั้งประเภทลู่ และประเภทลานทั้งหมด 10 ชนิดใน 2 วัน เพราะฉะนั้นนักกีฬาต้องมีร่างกายที่แข็งแกร่ง มีทั้งความฟิต ความอึด และมีทักษะกรีฑาที่หลากหลาย เพราะทั้ง 10 ชนิดอาศัยทักษะที่แตกต่างกัน โดยวันแรกจะแข่ง วิ่ง 100 เมตร, กระโดดไกล, ทุ่มน้ำหนัก, กระโดดสูง และวิ่ง 400 เมตร ส่วนวันที่ 2 จะแข่งวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร, ขว้างจักร, กระโดดค้ำถ่อ, พุ่งเหลน และวิ่ง 1,500 เมตร ทั้ง 10 อย่างต้องอาศัยทักษะ และเทคนิคที่ต่างกันมาก ๆ อย่างสุดขั้ว บางชนิดต้องอาศัยความแข็งแรง บางชนิดอาศัยความเร็ว นั้นเป็นเหตุผลที่สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยต้องรอการมาของ สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ ถึง 40 ปี หลังจากประเทศไทยเคยได้เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ในกีฬาทศกรีฑาครั้งสุดท้ายในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 8 ในปี 2521 ที่ไทยเราเป็นเจ้าภาพเองนี่แหละจาก น.ท.ประพันธ์ ศรีสาทร นักทศกรีฑาระดับตำนานอีกคนของไทยที่เป็นแชมป์ประเทศไทย 10 สมัยซ้อน และเป็นเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัย กีฬานี้ไม่ใช่แค่เล่นยากอย่างเดียว แต่การจะหาคนมาเล่นนั้นอาจเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งกว่า

 

 

 

สาเหตุที่ สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ ตอบโจทย์ 40 ปีของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยได้ก็คือ รูปร่างดีสุด ๆ สูงถึง 190 ซ.ม. มีความแข็งแกร่ง ร่างกายเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ ถึงจะตัวใหญ่แต่ก็ไม่ได้ช้า แถมมีความอึดอีกต่างหากเจ้าตัวสามารถวิ่ง 400 เมตรได้ดี ในเอเชียนเกมส์ปี 2018 ทำเวลามาเป็นที่ 1 เลยที่เวลา 48.49 วินาที นอกจากนั้นเจ้าตัวยังเป็นนักกระโดดไกลมาก่อน และยังเป็นนักกระโดดไกลมือหนึ่งของทีมชาติไทยในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ ล่าสุดเพิ่งได้เหรียญทองแดงซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ จากการแข่งขันกระโดดไกลอีกด้วย ส่วนทักษะอย่างอื่น ทั้งสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย และเจ้าตัวก็กำลังพยายามพัฒนา และปิดจุดอ่อนในการแข่งขันทั้งการวิ่ง 1,500 เมตร และกระโดดค้ำถ่อที่เจ้าตัวยังทำได้ไม่ดีอยู่ตลอด ซึ่งจากพื้นฐาน และร่างกายที่ดีเชื่อว่าเจ้าตัวยังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกลแน่นอน

 

จอมแกร่งแนวหน้าแห่งเอเชีย 

สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ ถือว่ามีพัฒนาการ และผลงานที่ต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีหลังจนทำให้เขาขึ้นทำเนียบคนเหล็กจอมแกร่งแห่งทวีปเอเชีย เจ้าตัวได้แชมป์เอเชียในปี 2017 ก่อนมาคว้าเหรียญเงินในการแข่งขัน เอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ ในปีเดียวกัน ปีถัดมาในปี 2018 ยังสามารถคว้าเหรียญเงินเอเชียนเกมส์แรกในรอบ 40 ปีที่ประเทศอินโดนีเซียให้กับประเทศไทย และสุดท้ายในปี 2019 ที่ผ่านมา เจ้าตัวทะลุไปคว้าเหรียญทองแดงในศึกกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่เนเปิลส์ ประเทศ อิตาลี ได้อีกหนึ่งรายการ 

 

 

ช่องว่าง และหนทางสู่ระดับโลก

ปัจจุบัน สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ เป็นเจ้าของสถิติประเทศไทยด้วยคะแนน 7,809 คะแนน ซึ่งถือว่ายอดเยี่ยมมาก เจ้าตัวเคยรั้งอันดับ World ranking สูงสุดถึงอันดับที่ 23 ของโลกเลยทีเดียวในกีฬาทศกรีฑา แต่กำแพงของทั้งเอเชีย และสถิติโลกก็ไม่ง่ายเลยในการฝ่าไปให้ถึง โดยสถิติของเอเชียที่ดีที่สุดตลอดกาลถูกทำไว้โดย ดิมิทรี คาปอฟ จากคาซัคสถาน ที่คะแนน 8,725 แต้ม ทำไว้ตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งนานมาแล้วที่ไม่มีใครเข้าใกล้สถิตินี้ได้ และเมื่อมองไปถึงสถิติโลกของ เควิน เมเยอร์ นักทศกรีฑาชาวฝรั่งเศสที่เคยทำไว้ที่ 9,126 คะแนนในปี 2018 นั้นก็ถือว่าเป็นกำแพงที่ยากที่ก้าวผ่านไปจริง ๆ เพราะฉะนั้นเป้าหมายระยะใกล้ของเจ้าตัวจึงต้องมองไปที่การควอลิฟายเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ ในปี 2021 ให้ได้โดยเงื่อนไขก็คือการไปให้ถึง 8,000 คะแนนเพื่อให้ได้สิทธิ์นี้มา 

 

 

การพลาดหวังที่ฟิลิปปินส์

ประเทศไทยไม่ได้เหรียญทองทศกรีฑา ในกีฬาซีเกมส์มานานมากแล้วหลาย 10 ปีทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมาที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นโอกาสดีทีเดียวที่ สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ จะเป็นคนแรกของไทยที่จะจบการรอคอยหลาย 10 ปี เพราะเขากำลังมาแรง ทำคะแนนได้มากกว่าสถิติซีเกมส์เสียอีก และจะเป็นการได้แก้มือกับ อาเรียส โทเลโด้ นักทศกรีฑาเจ้าภาพ ที่เมื่อซีเกมส์ปี 2017 ที่มาเลเซียเขาคว้าเหรียญทองด้วยการเฉือนชนะสุทธิศักดิ์ไปเพียง 22 คะแนน นอกจากเหรียญทองที่รอคอยเจ้าตัวยังมองไปถึง การทำ 8,000 คะแนน เพื่อการควอลิฟายไปโอลิมปิกเกมส์อีกด้วย แต่ครั้งนี้ สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ ต้องผิดหวังอีกครั้งด้วยอาการบาดเจ็บทำให้ต้องถอนตัวจากการแข่งขัน โดยแชมป์ก็คือ อาเรียส โทเลโด้ ของเจ้าภาพซึ่งทำคะแนนได้เพียง 7,033 คะแนน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยอายุเพียง 24 ปี บวกกับกีฬาทศกรีฑาที่หาคนมาเล่นยากเหลือเกิน เจ้าตัวน่าจะกลับมาคว้าเหรียญทองซีเกมส์ และคว้าตั๋วไปโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งเป็นความฝันอันสูงสุดในชีวิตได้ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose