stadium

นันทนา คำวงศ์ ปฐมบทสู่ตำนานลูกเด้งโอลิมปิก 5 สมัย

7 มิถุนายน 2563

"เพราะปิงปอง คือชีวิตของเรา" คำกล่าวนี้ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยสำหรับ นันทนา คำวงศ์ นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทย ผู้ซึ่งผ่านการเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสจนถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 31 เข้าไปแล้ว ถ้านับแค่เฉพาะทีมชาติไทยชุดใหญ่ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 25 แล้ว แชมป์ประเทศไทย 12 สมัย เข้าแข่งขันซีเกมส์ 13 ครั้ง, เอเชียนเกมส์ 6 ครั้ง และโอลิมปิก 5 สมัย นี่คือตัวเลข และสถิติสุดมหัศจรรย์ที่ยากจะหาคนมาเลียนแบบได้จริง ๆ  นั้นยิ่งทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเมื่อมีการเอ่ยถึง วงการเทเบิลเทนนิสไทยครั้งใด ชื่อของเธอมักเป็นชื่อแรก ๆ ที่คนทั่วไปมักนึกถึงก่อนเสมอ

 

 

แรงบันดาลใจจากหน้าเสาธง

สำหรับเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง การได้ขึ้นไปรับรางวัลหน้าเสาธงต่อหน้าเพื่อนทั้งโรงเรียนคงเป็นอะไรที่เท่สุด ๆ ไปเลย ด.ญ. แป๋ว นันทนา คำวงศ์ ในวันนั้นเองก็ไม่ต่างกัน เมื่อเธอได้เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนเทศบาล 3 ขึ้นรับรางวัลหน้าเสาธง ก็ทำให้เธอก็เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะอยากเป็นนักกีฬา ประกอบกับการที่เพื่อนก็ดันมาส่งชื่อของเธอให้ อาจารย์อิทธิเดช มโนอ้อม โค้ชคนแรกในชีวิตอีก ก็ทำให้ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นแรกในชีวิตการเล่นเทเบิลเทนนิสกว่า 30 ปีของเธอ หลังจากส่งรายชื่อแล้ว นันทนา คำวงศ์ โดนอาจารย์ อิทธิเดช เรียกมาซ้อมทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลา 2 เดือน และแล้วการลงสนามรายการแรกในชีวิตของเจ้าตัวมาถึง ซึ่งตัวเธอก็ฉายแววทันทีด้วยการจบอันดับที่ 3 ของการแข่งขัน หลังจากนั้นเธอเหมือนยิ่งเล่นยิ่งดี พัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ เธอขยับตัวเองไปแข่งรายการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ก็ยังทำผลงานได้ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ผลงานไปเข้าตาผู้ใหญ่ของสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ซึ่งมันทำให้เธอต้องเดินทางไกลเป็นครั้งแรกในชีวิต

 

รถไฟตู้นอน

605 กิโลเมตรคือ ระยะทางจากลำปางบ้านเกิด กับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่เธอต้องเดินทางมาเพื่อพัฒนาฝีมือในการตบลูกเด้ง การเดินทางด้วยรถไฟต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงทั้งขาไป และขากลับ ซึ่งเจ้าม้าเหล็กคือพาหนะที่เด็กสาวในวัยเพิ่งทำบัตรประชาชนหมาด ๆ อย่าง นันทนา คำวงศ์ เลือกใช้ในเวลานั้น โดยเธอจะออกจากลำปางในคืนวันศุกร์เพื่อที่จะใช้เวลานอนพักผ่อนในโบกี้รถไฟตู้นอน ก่อนมาถึงกรุงเทพมหานคร ในเช้าวันเสาร์ และเริ่มลงฝึกซ้อมทันที และหลังจากฝึกซ้อมเสร็จในวันอาทิตย์ เธอจะเดินทางกลับบ้านที่ลำปางด้วยรถไฟตู้นอนเช่นเดิม เพื่อที่ไปถึงลำปางในตอนเช้าวันจันทร์ เพื่อเรียนหนังสือต่อทันที เธอทำแบบนี้อยู่ถึง 2 เดือน เพื่อที่จะได้พัฒนาฝีมือของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะไปเก็บตัวเข้าแข่งซีเกมส์สมัยแรกในชีวิต ที่จังหวัด เชียงใหม่

 

 

ซีเกมส์ 13 สมัย

ถึงจะต้องเดินทางไกลเพื่อฝึกซ้อม แต่ซีเกมส์ และการติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของ นันทนา คำวงศ์ กลับอยู่ใกล้บ้านแค่เอื้อม เพราะซีเกมส์ครั้งนั้นมันถูกจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2538 ถึงจะไม่ใช่บ้านเกิดแต่ก็อยู่ห่างไปเพียง 100 กว่ากิโลเมตร ในซีเกมส์ครั้งนั้นเธอคว้าได้ 2 เหรียญเงิน จากประเภททีมหญิง และหญิงคู่ รวมถึงเหรียญทองแดงในประเภทคู่ผสม จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไป 25 ปี ใครจะเชื่อว่าเธอจะมีรายชื่อติดทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ต่อเนื่องเพิ่มมาอีกถึง 12 สมัยติดต่อกัน รวมเป็นซีเกมส์ทั้งหมด 13 สมัยที่เธอลงสนามรับใช้ทีมชาติไทย ถึงแม้เธอจะยังไม่เคยได้สัมผัสเหรียญทองซีเกมส์ที่หมายปอง แต่การติดทีมชาติไทยในกีฬาซีเกมส์ 13 สมัยซ้อนก็เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่ากันเลยแม้แต่น้อย อีกหนึ่งสถิติที่ นันทนา คำวงศ์ ทำไว้ซึ่งยากที่จะหาใครมาลอกเลียนแบบก็คือ การเข้าแข่งขันเอเชียนเกมส์ถึง 6 ครั้งติดตั้งแต่ปี 2541 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ไปจนถึงครั้งล่าสุดในปี 2561 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

 

เปิดตลาดปิงปองไทยในยุโรป

นันทนา คำวงศ์ ถือว่าเป็นนักเทเบิลเทนนิสสาวไทยคนแรกเลยกว่าได้ที่ได้ไปเป็น นักเทเบิลเทนนิสอาชีพในทวีปยุโรป ในครั้งแรกนั้นเธอได้การติดต่อจากสโมสรมงต์เปลลิเย่ร์ ในประเทศฝรั่งเศส แน่นอนว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ยาก ที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องเดินทางไกลไปต่างทวีปที่อยู่ห่างไปถึงเกือบ 10,000 กิโลเมตรเพียงลำพัง มันไกลกว่าตอนนั่งรถไฟจากลำปาง มากรุงเทพมหานครหลาย 10 เท่าเลยทีเดียว แต่เพื่อการพัฒนาตัวเองสุดท้ายเธอก็ตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลไปเพื่อพัฒนาตัวเอง เธออยู่ในลีกเมืองน้ำหอมได้ 2 ปีก็ถูกทีมในเยอรมัน ซื้อตัวไปร่วมทีมอีกครั้ง คราวนี้ที่เยอรมันเธอได้เล่นอยู่กับสโมสร อิสเทน 2 ปี และฮันโนเวอร์ 96 อีก 1 ปี 

 

 

การไปเล่นในยุโรปของ นันทนา คำวงศ์ นอกจากประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายที่เธอได้เรียนรู้จากระหว่างการฝึกซ้อม และได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ จากเพื่อนร่วมทีมแล้ว นี่ยังเป็นการเปิดตลาดยุโรปของนักเทเบิลเทนนิสสาวไทย เพราะเมื่อก่อนทีมในลีกยุโรปจะรู้จัก และนิยมเลือกใช้บริการแต่นักเทเบิลเทนนิสสาวจีน แต่เมื่อนันทนา คำวงศ์ ไปเล่นแล้วพิสูจน์ตัวเองว่าพอเล่นได้ แถมราคาค่าตัวก็ย่อมเยาว์กว่านักตบลูกเด้งสาวจากแดนมังกร ทำให้ช่วงหลังมีนักเทเบิลเทนนิสสาวไทยได้ไปเล่นอาชีพในยุโรป หรือในเอเชีย แบบต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

 

โอลิมปิก 5 สมัย สถิติที่ยากจะมีใครมาลบ

สำหรับชีวิตนักกีฬา 1 คน การได้เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสักครั้งก็เหมือนความฝันแล้ว แต่นันทนา คำวงศ์ เธอเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ได้ถึง 5 สมัย โดยเธอเข้าคัดตัวไปแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1996 ถึงแม้จะผิดหวังได้อันดับสุดท้าย แต่หลังจากนั้น 5 ครั้งรวดตั้งแต่ปี 2000-2016 เธอไม่เคยพลาดตั๋วไปโอลิมปิกอีกเลย นันทนา คำวงศ์ เล่าถึงการคัดตัวไปโอลิมปิกแต่ละครั้ง ที่แทบไม่มีครั้งไหนง่ายเลย เพราะกีฬาปิงปอง และคู่แข่งมีการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้เธอต้องเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้เท่าทันคู่แข่งขัน สร้างสไตล์การเล่นเอกลักษณ์ให้เป็นของตนเอง ซ้อมหนัก วางแผนการแข่งขัน และศึกษาคู่ต่อสู้ ที่สำคัญเวลาแข่งใจต้องสู้ ต้องพยายามอย่างเต็มที่ นี่คือเคล็ดลับในการคว้าตั๋วไปโอลิมปิก 5 สมัยติดต่อกันของเธอ

 

 

ชีวิตที่สร้างจากปิงปอง

 

"น่าจะเรียนได้ไม่จบ คงเป็นลูกจ้าง ทำงานหาเงินอยู่ที่ห้างที่ไหนสักที่ในจังหวัดลำปาง" นันทนา คำวงศ์ มองภาพตัวเองที่ไม่ได้เล่นกีฬาปิงปองเอาไว้ในแบบนั้น ซึ่งมันต่างกับชีวิตของเธอในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เธอใช้กีฬาลูกเด้งสร้างชีวิตใหม่ให้กับตัวเอง และครอบครัว เรียนจบแบบสบาย ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายมากขึ้น ได้ไปเรียนรู้ประสบการณ์สิ่งต่าง ๆ จากต่างประเทศ มากกว่านั้นกีฬาชนิดนี้ยังสอนให้เธอ มีวินัย มีความอดทน มีคุณธรรม ไม่ว่าจะมีโอลิมปิกครั้งที่ 6 ของเธอเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ทุกสิ่งที่เธอทำมาตลอดในการรับใช้ชาติเกือบ 30 ปี คงเป็นตัวอย่างชีวิตที่ดี ที่นักกีฬารุ่นหลังควรเอาเป็นแบบอย่าง ไม่ว่านักกีฬาคนนั้นจะเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส หรือกีฬาอะไรก็ตาม

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

โฆษณา