stadium

สำรวจความคิด ชญานุศภัฒค์ ชินนะเกิดโชค นักฟันดาบวัย 16 มือ 1 ทีมชาติไทย

23 เมษายน 2564

คนที่จะประสบความสำเร็จจะเร็วจะช้าทุกวันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับความคิดของคนคนนั้นว่า รู้จักค้นหาตัวตนความต้องการของตัวเองและลงมือทำในทันที แต่สำหรับ “เอแคร์” ชญานุศภัฒค์ ชินนะเกิดโชค นักกีฬาฟันดาบ ในวัยแค่ 15 ปี แต่ก้าวขึ้นมายึดเป็นมือ 1 ทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้เรียบร้อย เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพาทีมฟันดาบไทยคว้าเหรียญทองแดงประเภทดาบฟอยล์ในซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ได้อีกด้วย

 

กีฬาฟันดาบเป็นกีฬาที่ต้องชิงไหวชิงพริบ ตัดสินคะแนนกันในเสี้ยววินาที ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยม คำหน้าหน้านามก็เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นนางสาวได้ไม่นาน แต่ทว่าเด็กคนนี้มีดีอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัว ถึงทำให้เธอต่อสู้เอาชนะนักกีฬาที่มีประสบการณ์บนเวทีได้อยู่บ่อยครั้ง ในวันนี้เราจะพาไปสำรวจความคิดของนักกีฬาฟันดาบสาวอนาคตไกลคนนี้กัน

 

 

สายเลือดนักกีฬา

 

“หนูเริ่มต้นจากเล่นกีฬาเทควันโดเคยได้แชมป์ประเทศไทย จากนั้นก็เป็นกรีฑาของโรงเรียนเป็นเจ้าของสถิติวิ่งระดับจังหวัด แต่พอรู้จักกับฟันดาบหนูก็รู้เลยว่านี่คือสิ่งที่เป็นตัวเองมากที่สุด”

 

“เอแคร์” ชญานุศภัฒค์ เป็นอีกหนึ่งคนที่เกิดและโตในครอบครับนักกีฬาอย่างแท้จริง คุณพ่อเป็นอดีตนักกีฬาเทควันโดและฟุตบอล ส่วนคุณแม่เคยเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งคู่ต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่าการเป็นนักกีฬานั้นให้อะไรกับชีวิตมากกว่าที่คนอื่นคิด ทั้งความเข็มแข็งอดทน ระเบียบวินัย จึงไม่แปลกใจที่ครอบครัว ชินนะเกิดโชค จะส่งเสริมให้ลูกทั้ง 2 คนเป็นนักกีฬา

 

“มีอยู่ช่วงนึงพี่หนูป่วยเข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก พ่อก็เลยให้พี่ชายหนูไปเล่นกีฬาเทควันโดเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ก็เลยให้หนูไปเล่นด้วย ตอนนั้นอายุได้ 4 ขวบค่ะ ซ้อมอยู่หลายยิมเหมือนกัน ก่อนจะมาได้แชมป์ประเทศไทยครั้งแรกตอนอายุ 6 ขวบ แล้วก็ได้รองแชมป์ประเทศไทยอีก 3 ครั้ง”

 

“จากนั้นตอน 8 ขวบ หนูก็เป็นนักกรีฑาของตัวโรงเรียนโดยบังเอิญ ชั่วโมงวิชาพลศึกษา อาจารย์ให้ทดสอบเวลากับเพื่อน ด้วยความที่หนูเป็นนักกีฬาเทควันโดอยู่แล้ว มีพื้นฐานทักษะด้านกีฬา เลยวิ่งได้เร็วกว่าใคร ได้เป็นที่ 1 เป็นตัวแทนโรงเรียน ไปแข่งวิ่งรายการต่างๆ ทั้งสปอร์ตฮีโร่เกมส์ ชิงแชมป์ภายในจังหวัด และเป็นเจ้าของสถิติวิ่ง 100 เมตร รุ่นอายุ 10 ปี ของจังหวัดสมุทรปราการ”

 

เอแคร์ เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่มีความสามารถด้านกีฬาไม่เป็นรองใคร แม้ว่าจะชอบเล่นกีฬาทั้ง 2 ชนิดและมีความฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่เมื่อได้มารู้จักกับกีฬาฟันดาบทำให้เป้าหมายของเธอนั้นเปลี่ยนไป 

 

 

แรงบันดาลใจจากการ์ตูน

 

“ตอนนั้นหนูอายุแค่ 10 ขวบค่ะ ดูการ์ตูนเรื่องบาร์บี้กับสามทหารเสือ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงฟันดาบ เห็นแล้วชอบมากดูเท่ ก็เลยถามคุณพ่อว่าในโลกนี้มีกีฬาฟันดาบไหม” เอแคร์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้รู้จักกีฬาฟันดาบ

 

“พ่อบอกว่า มี หนูก็เลยขอให้พ่อพาไปเรียนกับชมรมฟันดาบค่ายสมอทอง ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนได้เจอกับอีกโลกใบหนึ่ง คือหนูอยู่กับเทควันโดมา 7 ปี มันนานมาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่หนูชอบ แต่พอมาได้รู้จักกับฟันดาบเหมือนเจออะไรที่ใช่สำหรับตัวเรา ได้จับดาบรู้สึกสนุก เท่ ซ้อมได้แค่ 2 อาทิตย์หนูก็ไปแข่งแล้ว”

 

ไม่เชื่อก็ต้องแม้ว่าเพิ่งจะจับดาบได้ไม่นาน แต่ทันทีที่เธอไปลงแข่งรายการแรกในศึกยุวชนชิงแชมป์ประเทศไทย เธอก็คว้าดับเบิ้ลแชมป์ในรุ่นอายุไม่เกิน 10 และ 12 ปี เท่านั้นยังไม่พอหลังจากนั้นภายในเวลาห่างกันไม่ถึงเดือนเธอลงแข่งอีกครั้ง แต่คราวนี้ข้ามรุ่นไปแข่งกับระดับประชาชน แน่นอนว่าจบรายการนั้นเธอตกรอบแรก เพราะอยู่ร่วมสายเดียวกับนักกีฬาทีมชาติถึง 3 คน แต่ยังชิงทำแต้มรวม 3 แมตช์ได้  4 คะแนน ซึ่งถือว่าเก่งมากแล้วสำหรับเด็กอายุ 10 ขวบ

 

 

“แมตช์ที่สองหนูลงแข่งรุ่นประชาชนเลยค่ะ พ่อบอกว่ามันเป็นโอกาสที่จะทำให้หนูได้เจอกับคนที่เก่งกว่า ตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เดินเข้าไปในสนามไม่มีเด็กเลยสักคน มีแต่คนตัวโต ซึ่งรอบแรกเป็นรอบแบ่งกลุ่ม หนูอยู่ร่วมกลุ่มกับ นันทา จันทสุวรรณสิน , พลอยไพลิน ทองจำปา และ กรณิการ์ สิริพราหมณกุล ซึ่งเป็นทีมชาติทั้งนั้น ตอนหนูได้แข่งกับ พี่ปุ๊ย นันทา พ่อหนูดีใจมาก เพราะพ่อรู้จักว่าพี่เขาเป็นมือ 1 ทีมชาติมานาน จบแมตช์นั้นหนูแพ้แบบสู้ไม่ได้เลย แต่ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ”

 

พื้นฐานจากกีฬาเทควันโด ทำให้เธอมีฟุตเวิร์กที่ดูแปลกตากว่านักกีฬาฟันดาบทั่วไป รวมถึงวิธีการเข้าทำที่เน้นความรวดเร็วและความแข็งแรง ซึ่งฟอร์มการเล่นในวันนั้นดันไปถูกใจ นันทา จันทสุวรรณสิน มือ 1 ดาบฟอยล์ทีมชาติไทย จึงรับมาเป็นลูกศิษย์ และซ้อมส่วนตัวมาด้วยกันตลอด

 

“หนูอยากติดทีมชาติตั้งแต่ได้เหรียญทองแมตช์แรกแล้ว ยิ่งมารู้ทีหลังว่า พี่ปุ๊ย นันทา เป็นใคร เป็นมือ 1 ทีมชาติและแชมป์ประเทศไทย 18 สมัย พี่เขาเป็นคนที่เก่งมาก วันนั้นเหมือนได้ปลุกทุกอย่างในตัวหนูออกมา ซึ่งมันทำให้รู้สึกยิ่งชอบกีฬาฟันดาบมากขึ้นตอนนั้นก็รู้ว่าอยากจะเป็นทีมชาติฝีมือต้องระดับไหน และเรายังห่างไกลอยู่เท่าไหร่”

 

 

ความมุ่งมั่นที่เกินวัย

 

“ความพยายามความกระหายของหนูตอนนั้นอยากซ้อมมาก โฟกัสอยู่กับการ ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม คือมันมีความสุขที่ได้ทำ”

 

หลังจากนั้น เอแคร์ เดินหน้าเข้าสู่การเป็นนักกีฬาฟันดาบแบบเต็มตัว เธอและครอบครัวจะคอยช่วยกันวางแผนเพื่อส่งแข่งรายการต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทุกรายการที่ลงแข่งจะเป็นการแบกอายุข้ามรุ่นขึ้นไปดวลกับนักกีฬาที่อายุเยอะกว่าเสมอ บวกกับด้วยบุคลิกเป็นคนใจสู้ มุ่งมั่นกับสิ่งที่รักและไม่ชอบความพ่ายแพ้ ทำให้เธอพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2016 ในวัยแค่ 11 ปี เธอลงแข่งรายการเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย และสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเอาชนะนักกีฬาที่มีดีกรีเยาวชนทีมชาติไทยได้ ทำให้สมาคมกีฬาฟันดาบแห่งประเทศไทยเริ่มรู้จักและจับตามองเด็กคนนี้  พร้อมกับให้โอกาสได้เข้ามาซ้อมกับร่วมกับทีมชาติไทยเป็นกรณีพิเศษ

 

เมื่อได้คลุกคลีอยู่กับคนที่เก่ง ๆ รอบตัวอยู่นานเป็นปี ทำให้ เอแคร์ ได้ซึมซับบรรยากาศ  ความมุ่งมั่น และได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ในปีนั้นเธอมีโอกาสได้ไปแข่ง เยาวชนชิงแชมป์โลก 2017 ปรากฏว่าสามารถคว้าเหรียญทองแดงในรุ่น 12 ปี สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตัวเองและโค้ชจากหลายประเทศ เนื่องจากไม่มีใครเคยรู้จักกีฬาฟันดาบสากลไทยมาก่อน  นอกจากนั้นยังได้รับเลือกจากสหพันธ์ฟันดาบเอเชีย ให้เป็น 1 ใน 5 ดาวรุ่งจากเอเชีย ในเข้าร่วมฝึกซ้อมกับเยาวชนจากทั่วโลกที่ประเทศโปแลนด์

 

 

เหล็กไม่ร้อนก็ไม่แข็งแรง

 

“ก่อนซ้อมและก่อนแข่งทุกครั้ง หนูจะนั่งสมาธิจินตนาการถึงรูปแบบการเล่นที่จะใช้กับคู่ต่อ พยายามบอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งไปคิดถึงผลลัพธ์ ให้คิดถึงวิธีการเล่นก่อนค่อยๆ ดูไปทีละแต้ม”

 

นับตั้งแต่เริ่มก้าวเข้าสู่วงการฟันดาบ เอแคร์ ทำผลงานได้โดดเด่นอยู่เป็นประจำ ด้วยอายุและความสามารถที่เกินวัย ทำให้เวลาคว้าแชมป์ ยิ่งทำให้ถูกจับตามองมากขึ้น หากนับรายการในประเทศ ณ ตอนนี้เธอคว้าแชมป์มาหมดแล้วทุกระดับ เยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทยรองแชมป์และเป็นมือ 1 ทุกรุ่นอายุ แชมป์เยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ รวมถึงแชมป์รุ่นทั่วไปรายการต่าง ๆ ปราบรุ่นพี่ทีมชาติมาแล้วเกือบหมดทุกคน เหลือแต่เพียง นันทา จันทสุวรรณสิน คนเดียวที่ยังเอาชนะไม่ได้ เรื่องราวทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเพียงเวลา 4 ปี 

 

เมื่อเธออายุได้ 14 ตามเกณฑ์ของสหพันธ์ฟันดาบสากล สมาคมฯจึงดันเด็กคนนี้ขึ้นทีมชาติชุดใหญ่แบบไม่ลังเล ทั้งผลงานและคะแนนที่มีอันดับเป็นที่ 1 ในรุ่นทั่วไป การันตีความสามารถด้วยผ่านเข้าสู่รอบ 128 คนในศึกชิงแชมป์โลก ทำให้ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ในฝีมือของเด็กคนนี้ ในปี 2019 โปรแกรมของเธอแน่นขนัด ตลอด 12 เดือน เธอต้องตระเวนแข่งและเก็บตัวซ้อมมากถึง 11 ประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับซีเกมส์ และเข้ารอบ 128 คนชิงแชมป์โลกครั้งแรกเป็นครั้งแรก 

 

“อีกสองคนที่ลืมไม่ได้เลย คือ นนทพัฒน์ ปานจันทร์ อดีตนักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทย ที่เคยไปโอลิมปิกมาแล้วในปี 2008 กับ ศุภกร ศรีแตงอ่อน อดีตนักฟันดาบทีมชาติดีกรีเหรียญทองซีเกมส์ 2011 ที่คอยอยู่เบื้องหลังการพัฒนาของหนู” 

 

"มีอยู่วันนึงหนูไปแข่งแล้วเจอ พี่อ๊อฟ ศุภกร เหมือนเขาถูกชะตาเลยรับหนูมาเป็นลูกศิษย์ ช่วงแรก ๆ หนูได้ซ้อมกับ พี่ปุ๊ย พี่ออฟ สลับกันก็ถือว่าโชคดีมากๆที่ได้โค้ชเป็นมือ 1 ของไทยฟอยหญิง และมือ 1 ของไทยฟอยชายค่ะ"

 

“จากนั้นหนูก็ได้ พี่นนท์ นนทพัฒน์มาช่วยสอนเสริมตอนซีเกม โดยปกติแล้วเวลาแข่งจบแต่ละรายการ คนส่วนใหญ่จะชื่นชมหนูตลอด แต่พี่นนท์เป็นคนแรกที่บอกว่าหนูไม่ใช่พวกนักสู้แต่เป็นเหมือนหนอน สไตล์เขาจะไม่ชื่นชม แต่จะสอนให้เราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มีอยู่คำนึงที่หนูจำขึ้นใจและนำมาปรับใช้ ก็คือสอนให้เราทำตัวเป็นฉลามเหมือนได้กลิ่นคาวเลือด เจอคู่แข่งต้องไม่กลัว และต้องพร้อมพุ่งเข้าใส่”

 

 

แบ่งเวลาเรียนและการฝึกซ้อม

 

กว่าจะมีวันนี้ได้ของ “เอแคร์” ชญานุศภัฒค์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือว่าโชคช่วย ทุกอย่างล้วนเกิดจากความทุ่มเทและการฝึกฝนอย่างหนัก อย่างไรก็ตามอีกมุมหนึ่งในคราบของการเป็นเด็กนักเรียน เธอก็ต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่เธอเสียสละก็คือชีวิตวัยรุ่นไปและความเป็นส่วนตัว เพราะทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เธอจะไม่ได้วิ่งเล่น ดูหนังฟังเพลงเหมือนเด็กทั่วไป

 

“สิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตหนูก็คือเวลาว่างทำสิ่งที่เพลิดเพลิน อย่างเช่น ไปเที่ยวกับเพื่อน ดูหนังฟังเพลง เวลาอยู่ในห้องเรียนหนูก็พยายามใจให้มากที่สุด  อะไรที่ไม่เข้าใจก็จะถามครู เวลาไปแข่งต่างประเทศก็จะพกหนังสือเรียนไปด้วย ของานจากเพื่อน ให้เพื่อนช่วยติวออนไลน์ แต่ละวันหนูจะนอนดึกมากเพราะต้องทำการบ้านให้เสร็จ”

 

“แต่มันเป็นชีวิตที่หนูตัดสินใจแล้วว่าจะยอมแลก ในทุก ๆ วันหนูจะตื่น 7 โมงเช้า เรียนถึงบ่าบ 4 โมงครึ่ง นั่งรถอีกชั่วโมงกว่า เพื่อไปซ้อมตอนหกโมงเย็นถึงสองทุ่มครึ่ง กลับบ้านถึงบ้านสามทุ่มครึ่ง อาบน้ำเสร็จสี่ทุ่ม ถึงได้เริ่มทำการบ้าน แต่ละวันกลับบ้านมาหนูจะนอนดึกมาก เพราะจะพยายามทำการบ้านให้เสร็จไม่ค้างคาไว้ มีหยุดวันอาทิตย์แค่วันเดียว”

 

“ยอมรับว่ารู้สึกเสียดายเพราะอยากไปเล่นกับเพื่อนบ้าง แต่เหมือนเรามีสิ่งที่สำคัญกว่าที่ต้องทำ เราเลือกแล้ว และหนูว่าสิ่งที่หนูเลือกมันคุ้มมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ หนูมองที่ผ่านมาและบอกตัวว่าเราซ้อมหนักอยู่ตลอดเพื่อพัฒนาตัวเองในทุกวัน บางวันท้อ แต่ก็อดทน เหรียญทองแดงซีเกมส์ที่ได้มามันทำเราหายเหนื่อยไประดับนึง แต่ตอนนี้เป้าหมายของหนูคือการไปโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ฝรั่งเศส”

 

“ซึ่งตอนนี้ได้มีการพูดคุยกับสมาคมฯ และได้รับแจ้งว่า สมาคมฯพยายามหาทุนเพื่ที่จะส่งหนูไปเก็บตัวและเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศเยอรมันในปีหน้า ทุกอย่างยังไม่แน่นอนค่ะ แต่ตอนนี้หนูก็เริ่มหัดเรียนภาษาเยอรมันได้สองเดือนแล้ว”

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose