1 มิถุนายน 2563
ตำแหน่งตัวฟาดหรือตัวทำในกีฬาเซปักตะกร้อ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญมีหน้าที่หลักในการทำคะแนนและบล็อกการการทำแต้มของคู่แข่ง หากเปรียบให้เข้าใจง่ายเหมือนกีฬาฟุตบอล ตำแหน่งนี้ก็ไม่ต่างกับศูนย์หน้าตัวจบสกอร์คอยทำประตูเพื่อพาทีมเก็บชัยชนะ
ซึ่งในบ้านเราตำแหน่งนี้ชื่อแรกที่ใคร ๆ ต่างก็นึกถึงคงหนีไม่พ้น พรชัย เค้าแก้ว ตัวฟาดที่มีลีลาการขึ้นทำที่สวยงามตามแบบฉบับคนถนัดซ้าย สร้างความหวือหวาให้กับคนดู ทำให้เขาได้รับความสนจากสื่อมวลชนและมีแฟนคลับติดตามเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในตำแหน่งตัวทำของไทยปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งคนที่มีฝีมือการฟาดทำคะแนนได้เก่งกาจไม่แพ้กันและติดทีมชาติไทยมาอย่างยาวนาน แต่ได้รับการยกย่องหรือถูกพูดถึงน้อยกว่าที่ควร นั่นก็คือ อนุวัฒน์ ชัยชนะ ตัวฟาดที่รับใช้ทีมชาติไทยมานานกว่า 13 ปี เป็นส่วนสำคัญพาทีมตะกร้อไทยยืนเป็นที่หนึ่งมาโดยตลอด ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเจ้าของฉายา “เดอะ คิลเลอร์บี”
เล่นกีฬาเพื่อเป็นใบเบิกทางการศึกษา
คุณพ่อลูก 1 อย่าง “บี” อนุวัฒน์ ชัยชนะ ในสมัยเป็นเด็กเกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลาง คุณพ่อรับราชการตำรวจอยู่ที่จังหวัดตากซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ก่อนจะมีโอกาสได้รู้จักกับกีฬาเซปักตะกร้อครั้งแรกตอนอายุ 10 ขวบ
“เมื่อก่อนผมเริ่มเล่นตะกร้ออยู่ใน ตชด. ก็มีเพื่อนของพ่อที่รู้จักกันเห็นว่าผมชอบเล่นกีฬา ก็เลยเอาผมไปฝึกตะกร้อกับพวกลูกตำรวจในค่าย ตอนนั้นมีความฝันแค่ว่าอยากเล่นให้เก่งเพื่อเอาใบประกาศนียบัตรไปสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย”
“เพราะตอนเด็กๆ ที่โรงเรียน ผมเห็นรุ่นพี่คนนึงที่หน้าเสาธง เล่นกีฬาตะกร้อเก่งสุดในจังหวัดตาก ถูกโค้ชดึกตัวไปเล่นให้พิษณุโลก ได้แชมป์ระดับประเทศ มีเหรียญรางวัล มีใบประกาศนียบัตรถูกใช้เป็นใบเบิกทางสู่การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย”
“พอเล่นไปได้สักระยะผมก็ได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนตากพิทยาคม ในช่วงมัธยมต้นก็เป็นตัวแทนโรงเรียนตลอด คัดตัวติดเป็นตัวแทนจังหวัดตาก ไปแข่งกีฬาแห่งชาติในรอบคัดเลือกเขตย่อย ผมไปแข่งทุกปีก็เพื่อเอาใบประกาศนียบัตรใบเดียว แต่ผมก็ตกรอบก่อนตลอด ไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายหรอก”
ด้วยความที่ อนุวัฒน์ เป็นคนขยันซ้อมและตั้งใจจริง ทำให้เขาพัฒนาได้เร็วกว่าเพื่อนร่วมรุ่นเดียวจน เมื่อมีโอกาสได้ไปแข่งขันก็ฉายแววเด่นจนไปสะดุดตาโค้ชต่างถิ่นเข้าให้ ทำให้เข้ามีโอกาสได้ย้ายไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ขยับเข้าใกล้ความฝันที่จะได้ใบประกาศนียบัตรเข้าไปอีกก้าว
“ก็เล่นที่นั่นอยู่หลายปี จนมาวันหนึ่งตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.5 ช่วงปิดเทอมจะมีแข่งกีฬาสานสัมพันธ์กับชาวเขาจังหวัดที่มีชาวเขาอยู่ก็จะไปแข่งร่วมกัน ปีนั้นทีมจังหวัดพิษณุโลกก็เข้าแข่งด้วย จังหวะดีที่โค้ชของพิษณุโลกถูกใจฟอร์มของผม ก็มาชวนผมให้ไปซ้อมกับเขา”
“เขาบอกว่าถ้าเล่นอยู่ที่ตากก็ได้แค่นี้แหละ เพราะไม่มีคนส่งเสริม เลยชวนมาอยู่ที่ พิษณุโลกจะส่งเข้าไปกรุงเทพ”
ฝันถึงทีมชาติ
อนุวัฒน์ ตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายไปอยู่ที่พิษุโลกเพียงลำพังโดยมีเป้าหมาย เข้าเรียนต่อชั้น ม.6 ที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ถือเป็นการออกเดินทางเปิดประสบการณ์ครั้งแรก ชีวิตหลังจากนั้นเขาได้อยู่กับตะกร้อมากขึ้น ได้เดินสายแข่งขันไปทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว อนุวัฒน์ ได้เรียนรู้ว่าการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งที่เขาตามหาอีกต่อไป
“พอได้อยู่กับตะกร้อมากขึ้นเราก็พัฒนาขึ้นทุกวันมีผลงานอยู่เรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็เลยได้ใบประกาศตามที่ต้องการ แต่ผมเอาไปยื่นสมัครเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ได้ตามที่ฝัน เพราะผมเป็นเรียนคนเรียนไม่เก่งเกรด 1 ปลาย ๆ เองเลยเรียนต่อไม่ได้ เขาไม่รับ”
“ตัวผมเองชอบเล่นตะกร้ออย่างเดียว ไม่ชอบเรียนด้วย พอเรารู้แบบนั้นแล้วก็เลยเปลี่ยนเป้าหมาย โค้ชก็ถามว่าอยากเป็นทหารไหม บรรจุเป็นนายสิบมีงานทำ แต่ต้องเล่นตะกร้อต่อไป ต้องเล่นให้เก่งกว่านี้”
เมื่อชีวิตไม่เป็นดั่งฝัน อนุวัฒน์ ใช้เวลาอยู่กับความผิดหวังสักพักหนึ่ง หลังจากนั้นเขาพยายามฝึกฝนพัฒนาตัวเองอย่างหนัก จนได้โควตาเอกชนไปศึกษาต่อ ปวส. ที่พิษณุโลก ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เล่นตะกร้อให้กับกองทัพบกควบคู่กันไป
“ช่วงนั้นความคิดผมเริ่มเปลี่ยน ผมมีผลงานอยู่เรื่อย ๆ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เลยลองสังเกตุตัวเองแล้วรู้สึกว่า เรามีดีพอที่จะไปถึงระดับทีมชาติได้เหมือนกัน จากที่ไม่เคยมีความคิดอยากคิดทีมชาติ ก็เปลี่ยนไป”
ความภูมิใจ 13 ปี เล่นตะกร้อเพื่อชาติ
เส้นทางการติดทีมชาติของ อนุวัฒน์ ดูจะไม่เหมือนใคร เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้ว แม้ว่าฝีมือชื่อเสียงของเขาจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ว่าพอไปเล่นใน ตะกร้อ ไทยแลนด์ ลีก ซึ่งเป็นเวทีที่นักตะกร้อในยุคนั้นจะได้แสดงศักยภาพเพื่อก้าวไปติดทีมชาติ เขากลับไม่ได้รับโอกาสลงเล่นไปตัวจริงมากเท่าที่ควร ทำให้โอกาสในการติดทีมชาติของเขาเลยดูห่างไกลกันออกไป
อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ อนุวัฒน์ ยังคงลงเล่นให้กับจังหวัดพิษณุโลกอยู่เสมอ ซึ่งที่แห่งนี้เป็นเวทีเดียวที่ทำให้เขาได้โชว์ความสามารถแบบเต็ม ๆ โชคยังดีที่ อาจารย์กมล ตันกิมหงษ์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนตะกร้อทีมชาติไทย นั้นชอบมาหาเพชรเม็ดงามจากรายการนี้และนำไปเจียระไน ซึ่งฟอร์มของ อนุวัฒน์ ก็ไปเข้าตา ออาจารย์กมล เช่นกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าแคมป์ทีมชาติจนถึงทุกวันนี้
“ครั้งแรกที่เล่นตะกร้อลีก ผมเล่นให้นครปฐม เริ่มจากเป็นสำรองเพราะทีมตอนนั้นมีแต่คนเก่ง ๆ พวกทีมชาติทั้งนั้น สิงห์หา สมสกุล , สืบศักดิ์ ผันสืบ , พนมพร เอี่ยมสะอาด , ประเวศ อินทรา ซึ่งปีแรกผมยังพอเล่นได้ แต่ปีต่อมาย้ายสนามไปเล่นกลางแจ้งซึ่งผมไม่ถนัด ฟอร์มหลุดเลย เล่นไม่ได้ จบฤดูกาลนั้นเลยไม่ได้ต่อสัญญา ผมย้ายไปนครสวรรค์ปีเดียวก็เป็นสำรอง แล้วก็ย้ายไปแพร่ ก็พยายามอยู่หลายปีถึงได้เล่นตัวจริง”
“แต่พอถึงกีฬาแห่งชาติเมื่อไหร่ผมเป็นพระเอกทุกที ในลีกอาจผมอาจไม่ได้รับโอกาส แต่รายการนี้ผมฉายตลอด โชคดีด้วยที่ อาจารกมล แกมานั่งดูทุกวัน ทีมผมก็แข่งทุกวันเข้าถึงรอบชิง แกก็เลยผมเล่นทุกวันเลยดึงผมเข้าไปทดสอบกับทีมชาติ”
“อ.กมล บอกว่าพวกเล่นตะกร้อลีกมีคนเก่งๆเยอะ แต่บางทีมันอาจเป็นสไตล์การเล่นของผมที่ถูกใจโค้ช อีกอย่างคือผมเป็นมีอารมณ์ร่วมกับเกมตลอด ทำแต้มได้ก็วิ่งดีใจวนอยู่หลายรอบ กว่าจะแข่งจบผมนี่วิ่งเป็น 10 กิโลเมตรได้เลยนะ”
“ตอนเด็ก ๆ อารมณ์ร่วมเราเต็มที่ คนดูเขาเห็นผมก็บอกว่าไอนี่มันบ้าดี เขาก็ชอบ อาจารย์กมลก็ชอบแบบนั้น แกไม่ค่อยชอบแบบเตะเสร็จจับมือกัน ยิ่งเกมที่กดดันมาก ๆ คนที่ดีใจดัง ๆ จะทำให้ทีมมีความฮึกเหิมมากขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนเราไปเที่ยวอาบอบนวดในตู้สวยหมดเลย แต่มันจะมีคนที่ถูกใจแค่คนเดียว เขาชอบสไตล์แบบนี้”
นอกจากเรื่องฝีไม้ลายมือและอารมณ์ร่วมในสนามแล้ว หัวจิตใจหัวใจที่แข็งแกร่งไม่กลัวใคร ก็เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ อ.กมล มองเห็นในตัว อนุวัฒน์ ชัยชนะ และเลือกติดทีมชาติมาจนถึงทุกวันนี้
“วินาทีแรกที่ติดทีมชาติ ดีใจ ตื่นเต้น เกือบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ก่อนเก็บตัวทีมชาติชุดใหญ่ อาจารย์กมล เคยเรียกผมไปแข่งต่างประเทศ 2-3 แมตช์ แมตช์แรกที่เวียดนาม เอาผมกับ อัษดิน วงศ์โยธา ไปเล่นกับชุดใหญ่ สมพร ใจสิงหล , เกรียงไกร แก้วเมียน คือเวลาอาจารย์กมล จะปั้นใครสักคน แกจะพาเด็กไปทดสอบที่ต่างประเทศ เพื่อดูว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไร รับมือกับความกดดันได้ไหม ซึ่งแมตช์นั้นเราได้แชมป์กลับมา รอบชิงฯเจอมาเลเซียชุดใหญ่ เขาเห็นผมสู้ได้ เล่นสนุกไม่กลัวคู่แข่ง”
“กลับมาจากรายการนั้น ผมโดนตัดตัวออกจากทีมชาติชุดเอเชียนเกมส์ 2006 ตอนนั้นเข้าใจได้เพราะยังมีรุ่นพี่เก่ง ๆ อยู่เยอะ แต่ผมก็รู้สึกแล้วว่าอนาคตผมติดทีมชาติได้แน่ ๆ หลังจากนั้นก็เตรียมตัวเตรียมร่างกายให้พร้อม จนกระทั่งปี 2007 ความฝันผมก็เป็นจริง ติดทีมชาติชุดใหญ่ลุยซีเกมส์ที่นครราชสีมา”
เมื่อติดทีมชาติตามที่ฝันได้แล้ว อนุวัฒน์ ก็ใช้เวลาไต่เต้า ค่อย ๆ ขยับจากผู้เล่นสำรองจากทีมซีจนยึดตัวจริงได้สำเร็จ ปัจจุบันเป็นเวลา 13 ปี แล้วที่เขาไม่เคยหลุดจากทีมชาติไทยเลย ประสบความความสำเร็จมาแล้วทุกรายการ 13 เหรียญทองซีเกมส์ 6 เหรียญทองเอเชียนเกมส์ การันตีความยอดเยี่ยมของตัวฟาดวัย 38 ปี คนนี้ได้เป็นอย่างดี
เรียบง่ายแต่ครบเครื่อง
หากเปรียบตัวฟาดของกีฬาตะกร้อเป็นนักฟุตบอล ความยากและความสวยงามของการขึ้นฟาดหน้าตาข่าย ก็เหมือนลีลาการสับขาหลอกของ คริสเตียโน่ โรนัลโด หรือการเลี้ยงหลบผู้เล่น 3-4 คนของ ลิโอเนล เมสซี่ แล้วหลุดเข้าไปยิงประตู ซึ่งดูแล้วเต็มไปด้วยเทคนิคอันน่าตื่นตาตื่นใจ จนมีแฟนบอลทั่วโลกพยายามลอกเลียนแบบ
ขณะที่กีฬาตะกร้อเทคนิคการขึ้นฟาดของแต่ละคนย่อมแตกต่างต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล แต่ใครก็ตามที่กระโดดลองตัวได้สูง ๆ ขาชี้ฟ้า ศีรษะ ทำองศาเป็นแนวดิ่งกับพื้นได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเทคนิคขั้นสูงมีคะแนนท่ายากเพิ่มมากขึ้นดูแล้วสวยงาม น่าลอกเลียนแบบ
แต่สำหรับ อนุวัฒน์ ชัยชนะ เขาไม่ใช่ตัวฟาดที่มีเทคนิคแพรวพราวแบบที่ใคร ๆ อยากเป็น ลีลาการขึ้นฟาดของเขาอาจดูไม่สวยงาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องน้อยที่ควร แต่ในทางกลับกันทุกครั้งที่เขากระโดดขึ้นฟาด แม้จะไม่มีเทคนิคที่ซับซ้อนแต่กลับเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ใช้ไอเดียในการเล่น มีความหลากหลาย มีมาตรฐานการทำคะแนนในระดับสูง ที่สำคัญคือเขายังมีจุดเด่นใรเรื่องของการเล่นเกมรับ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ตัวฟาดควรมี ทั้งการขึ้นบล็อก การเปิดบอลแรกรวมถึงการโยนลูกเสิร์ฟ
“คนที่ดูตะกร้อส่วนใหญ่จะชอบตัวฟาดที่ตีลังหาหงายท้อง เหมือนตีลังกากลับหลัง ขึ้นฟาดเป็นแนวดิ่ง ของผมมันจะเอียง 45 องศา มันเป็นวิธีบังคับลูกของผมมากกว่า ถ้าเกิดเตะหงายท้องทุกลูก ผมก็ทำได้แต่ไม่คล่องตัวเท่าไหร่ แล้วแต่ความถนัดของคนมากกว่า ท่าแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ท่าขึ้น ท่าเตะ ท่าลง”
“ผมว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสวยงาม แต่อยู่ที่คุณภาพมากกว่า งานหลักของเราคือต้องเปิดลูกแรกให้ดี ถ้าเปิดได้ดีก็มีโอกาสได้ขึ้นฟาด ตัวฟาดที่ดีก็ต้องขึ้นฟาดได้ทุกจุดในสนาม ต้องรู้จักอ่านเกม ศึกษาคู่แข่งทั้งท่าเตะและท่าบล็อก เพื่อที่เวลาเราขึ้นหน้าตาข่ายจะได้มีภาพในหัว เพราะถ้าเราไม่มีภาพในหัวเลย ไม่ศึกษาคู่แข่งมาเลย เวลาขึ้นบล็อกหรือขึ้นฟาดก็ต้องเดาทางล้วน ๆ แต่ถ้าเรารู้จุดอ่อนเขาเราก็เลือกเตะได้”
“เรื่องแฟนคลับน้อยผมรู้สึกเฉย ๆ ครับ เพราะผมทำเต็มที่แล้วขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน สิ่งเดียวผมโฟกัสและมีความสุขที่สุด ก็คือยังได้เล่นตะกร้อให้กับทีมชาติไทย ทุกวันนี้ติดทีมชาติเข้าสู่ปี 14 ปีแล้ว ดีใจมากครับที่ยังได้อยู่ตรงนี้ได้ และตราบใดที่ยังได้รับใช้ชาติอยู่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด”
TAG ที่เกี่ยวข้อง