stadium

ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ไม่แพ้วันนั้นไม่มีผมวันนี้

24 กุมภาพันธ์ 2564

นับตั้งแต่เริ่มต้นชกมวยอาชีพในปี 1996 ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ไม่เคยเจอกับคำว่าพ่ายแพ้ 50 ไฟต์ที่ตำนานกำปั้นชาวอเมริกันขึ้นสังเวียน เขาได้รับการชูมือมาโดยตลอดไม่ว่าจะเจอกับใครหน้าไหนก็ตาม

 

แต่กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นแชมป์โลก 5 รุ่นที่แขวนนวมด้วยสถิติไม่เคยแพ้ใคร "เดอะ มันนี่" เคยต้องเจอกับความผิดหวังมาก่อนสมัยชกมวยสมัครเล่น

 

จุดด่างพร้อยครั้งนั้น เกิดขึ้นในเวทีใหญ่อย่าง โอลิมปิก เกมส์ ซึ่งเขาได้เพียงเหรียญทองแดง ทั้งที่น่าจะได้เข้าไปชิงกับ สมรักษ์ คำสิงห์ ฮีโร่ขวัญใจชาวไทย

 

เกิดอะไรขึ้นในไฟต์นั้น และ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ กลับมาจากความผิดหวังได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

 

ก่อนจะถึง แอตแลนตา

 

ชีวิตของ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ล้อมรอบไปด้วยคำว่ามวยนับตั้งแต่ยังไม่เกิด เพราะ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ ซีเนียร์ พ่อของเขาเป็นอดีตนักมวยระดับเคยฟาดปากกับตำนานอย่าง ซูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ขณะที่ เจฟฟ์ และ โรเจอร์ อาทั้งสองของเขาก็เป็นอดีตนักมวยอาชีพ ซึ่งรายหลังเคยเป็นแชมป์โลก 2 รุ่น ก่อนผันตัวมาเป็นเทรนเนอร์ให้กับเขาและเสียชีวิตในปี 2020

 

ฟลอยด์ถูกพ่อสอนให้ต่อยมวยตั้งแต่ยังเดินไม่ได้ และความทรงจำของเขาในวัยเด็กกับผู้เป็นพ่อคือการไปซ้อมมวยที่ยิมแบบไม่ว่างเว้น อย่างไรก็ตามด้วยพรสวรรค์บวกกับการเคี่ยวกรำอย่างหนัก ทำให้ฟลอยด์พบว่าความสามารถของเขามีมากพอที่จะพาตัวเองออกจากชีวิตที่เส็งเคร็ง ต้องอยู่อย่างแออัดในอพาร์ทเมนต์แคบ ๆ มีพ่อขายยา และมีแม่ติดยาเสพติด

 

เมื่อฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ก้าวเข้าสู่วงการมวยสมัครเล่น ผลการชกแสดงให้เห็นว่าความคิดของเขาถูกต้อง ก่อนจะคว้าแชมป์ระดับชาติรายการ โกลเด้น โกลฟส์ ได้ถึง 3 สมัยในปี 1993, 1994 และ 1996

 

ด้วยการชกแบบเน้นเกมรับรัดกุมตามสไตลเฉพาะของตระกูลเมย์เวทเธอร์ ทำให้ ฟลอยด์ แทบไม่มีริ้วรอยหลังจบไฟต์ เป็นที่มาของฉายา "Pretty Boy" ก่อนเปลี่ยนเป็น "The Money" ในภายหลัง

 

 

 

ศึกคัดตัวอันเข้มข้น ความพ่ายแพ้ที่เกือบทำให้ถอดใจ

 

ในการคัดเลือกหาตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ แข่ง โอลิมปิก เกมส์ ปี 1996 ที่นคร แอตแลนตา ใคร ๆ ต่างก็คิดว่า ฟลอยด์ คงได้เป็นตัวแทนทีมชาติแบบสบาย ๆ แต่ความเป็นจริงไม่เป็นแบบนั้น ถึงแม้เจ้าตัวจะเก็บชัยใน 2 ไฟต์แรกได้ตามคาด แต่ไปแพ้ ออกี้ ซานเชซ ศิษย์ร่วมค่ายเดียวกับอาทั้งสองคนของเขาแบบเฉียดฉิว 11-12 ในรอบต่อมา ซึ่งแม้ยังไม่ถึงขั้นตกรอบ แต่ก็ทำให้ฟลอยด์เสียหลักจนเกือบถึงขั้นถอดใจเลยด้วยซ้ำ

 

"เขาโกรธและเจ็บปวดเอามาก ๆ เขาร้องไห้พร้อมบอกกับผมว่า เขาไม่เอาแล้วและจะกลับบ้าน ฟลอยด์มองผมด้วยสีหน้าที่เจ็บปวดตอนเขาพ่ายแพ้ในไฟต์นั้น" ซาเฮียร์ ราฮีม หนึ่งในนักชกทีมชาติสหรัฐฯ ชุด โอลิมปิกปี 1996 เปิดเผยกับ AJC สำนักข่าวท้องถิ่นของแอตแลนตา

 

อย่างไรก็ตาม ฟลอยด์ กลับมาฮึดสู้อีกครั้ง ซึ่งต้องขอบคุณระบบการคัดตัวของสหรัฐฯ ที่มีรอบแก้ตัว ทำให้ ฟลอยด์ ยังมีความหวัง ก่อนจะเอาชนะ คาร์ลอส นาวาร์โร่ ได้เข้าไปแก้มือกับ ซานเชซ ในรอบ บ็อกซ์-ออฟ หาผู้ชนะ 2 ใน 3 ไฟต์ ชิงโควตาตัวแทนทีมชาติ และเป็นฟลอยด์ที่ล้างตาได้สำเร็จ ได้สิทธิ์ลุยโอลิมปิกหนแรกในชีวิต  

 

 

 

 

พลาดลุ้นเหรียญทองเพราะมือที่มองไม่เห็น

 

ฟลอยด์เก็บชัย 2 รอบแรกในการชกรุ่นเฟเธอร์เวตที่ อเล็กซานเดอร์ เมมโมเรียล โคลีเซียม ตามคาด เริ่มจากการชนะอาร์เอสซี บัคห์ติยาร์ ทิเลกานอฟ จาก คาซัคสถาน ก่อนที่จะชนะคะแนน อาร์ตูร์ เกวอร์กยาน จาก อาร์เมเนีย ขาดลอย

 

ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ฟลอยด์ เจองานหนักเมื่อต้องพบกับ ลอเรนโซ่ อารากอน จาก คิวบา ซึ่งมีรูปร่างใหญ่กว่าและช่วงชกที่ยาวกว่า รวมทั้งยังไม่มีนักชกอเมริกันเอาชนะนักชกคิวบาในโอลิมปิกได้นับตั้งแต่ปี 1976 แต่ฟลอยด์ทำได้สำเร็จอย่างน่าทึ่ง แม้จะต้องเปลี่ยนสไตล์การชกของตัวเองเพื่อแก้ทางคู่ต่อสู้ก็ตาม

 

"หลังจบไฟต์นั้น ผมก็มั่นใจว่า ฟลอยด์ จะคว้าเหรียญทองได้แน่นอน" อัล มิตเชลล์ เฮดโค้ชของทีมกำปั้นมะกันชุดนั้นรื้อฟื้นความหลัง

 

ฟลอยด์ เข้าใกล้เป้าหมายคือเหรียญทองไปทุกขณะ ในรอบรองชนะเลิศเขาต้องดวลกับ เซราฟิม โทโดรอฟ แชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวต 2 สมัยจากบัลแกเรีย เมื่อระฆังดังขึ้น ฟลอยด์ ชกได้อย่างไม่เป็นรอง และออกหมัดเข้าเป้ามากกว่าในแต่ละยก สายตาคนทั่วโลกมองว่านักชกชาวอเมริกันได้ผ่านเข้าไปชิงเหรียญทองแน่ ๆ  

 

ขนาดที่เมื่อถึงเวลาประกาศชื่อผู้ชนะ ฮาหมัด ฮาฟาซ กรรมการบนเวทียังชูมือฟลอยด์ แต่เสียงที่ออกมาจากลำโพงกลับเป็นโทโดรอฟที่เฉือนไป 10-9 แบบค้านสายตา

 

ดูจังหวะฮาฟาซยกมือให้ฟลอยด์ได้ที่นี่

 

มิตเชลล์ประท้วงการตัดสินแต่ก็ไร้ประโยชน์ ฟลอยด์ได้เพียงเหรียญทองแดงติดมือ ขณะที่ โทโดรอฟ ไปพ่าย สมรักษ์ คำสิงห์ ในรอบชิงชนะเลิศ

 

"นั่นเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่ผมเคยทำในโอลิมปิก" มิตเชลล์ ซึ่งไปโอลิมปิกปี 2004 และ 2012 ในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายเทคนิคของทีมมวยสหรัฐฯ เผย "ฟลอยด์คือผู้ชนะในไฟต์นั้นอย่างไม่ต้องสงสัย"

 

 

ความพ่ายแพ้ที่คลางแคลง กลายเป็นแรงให้ก้าวไปอีกขั้น

 

"ทุกคนรู้ดีว่าผมถูกปล้นชัยชนะ" ฟลอยด์เปิดเผยในภายหลัง "แต่มันถึงเวลาที่ผมต้องเทิร์นโปรแล้ว ผมไม่สามารถเสียเวลากับมวยสมัครเล่นได้อีกต่อไป"

 

ถึงแม้จะเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าเจ็บปวด แต่ฟลอยด์ที่ได้รับบทเรียนมาจากตอนคัดตัวโอลิมปิก ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความผิดหวัง เขาเทิร์นโปรในอีก 2 เดือนต่อมา และนับตั้งแต่นั้น เขาก็ไม่เคยแพ้ใครอีกเลย

 

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ฟลอยด์ขึ้นชกใน 5 พิกัดน้ำหนัก และทำสถิติชนะ 50 ไฟต์รวด ชนะน็อก 27 ไฟต์ ได้แชมป์โลก 12 สมัย พร้อมกับถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักมวยที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

 

ในชีวิตการเป็นนักกีฬาของ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ อาจจะมีจุดด่างพร้อยจากความพ่ายแพ้ในโอลิมปิกที่เขาไม่สมควรได้รับ แต่มันกลับเป็นเชื้อไฟให้เขากลายเป็นตำนานของวงการในปัจจุบัน

 

"ตอนนี้ผมมีความสุขกับผลที่เกิดขึ้นตอนนั้นนะ" ฟลอยด์ย้อนความหลัง "เพราะมันทำให้ผมมุ่งมั่นและทำงานหนักเพื่อไปให้ถึงจุดที่ผมยืนอยู่ตอนนี้"


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose