stadium

การเล่นแบบผสมคืออะไร เหมาะกับวอลเลย์บอลหญิงไทยจริงหรือไม่?

31 พฤษภาคม 2563

ปัจจุบันรูปแบบการเล่นของวอลเลย์บอลได้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ วอลเลย์บอลโครงสร้าง กับ วอลเลย์บอลแบบผสม ซึ่งรูปแบบการเล่นอย่างหลังเป็นวิธีการที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยใช้มาตลอด 10-20 ปีหลัง เป็นรูปแบบที่สร้างตำนาน 7 เซียน และทำให้ทีมประสบความสำเร็จในระดับทวีปเอเชียมาแล้ว

 

อย่างไรก็ตามกลับมีคำถามว่า หรือจริง ๆ แล้วรูปการณ์เล่นแบบผสมจะไม่เหมาะกับวอลเลย์บอลหญิงไทย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรายังไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้เสียที วันนี้เราจะมาวิเคราะห์กันว่ารูปแบบการเล่นดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่แล้วทำไมเราจึงจำเป็นต้องเล่นแบบนั้น

 

 

วอลเลย์บอลโครงสร้างคืออะไร ทำไมชาติยุโรปถึงนิยม?

ย้อนกลับไปในสมัยมัธยมศึกษา เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้เรียนวิชาวอลเลย์บอลพื้นฐาน การตี การรับลูกเสิร์ฟ รวมถึงการยืนตำแหน่ง และหน้าที่ของนักกีฬาทั้ง 6 ตำแหน่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ ที่เราเรียกกันว่าวอลเลย์บอลโครงสร้าง วิธีการเล่นดังกล่าวไม่มีความซับซ้อน เมื่อรับลูกเสิร์ฟหรือลูกตบได้ในบอลแรก บอลต่อมาจะเป็นหน้าที่ของมือเซตจะทำหน้าที่ตั้งบอลลอยโด่ง ๆ ให้พวกตัวตบตีบอลในตำแหน่งหัวเสาหรือในตำแหน่งกลางสนามที่เราเรียกว่าบอล 3 เมตร รวมถึงการเล่นบอลเร็ว โดยเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งนักกีฬาทั้ง 6 คนจะบุกตามตำแหน่งราวกับเล่นเกมคอมพิวเตอร์

 

“ปลั๊ก” ภุมเรศ เอี่ยมเชย ผู้บรรยายวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก และอยู่ในวงการวอลเลย์มานานกว่า 10 ปี อธิบายให้เราฟังว่า “วอลเลย์บอลโครงสร้าง ทีมจะเก่งหรือไม่เก่งขึ้นอยู่กับความสูงของนักกีฬา สมมติในทีมเรามีคนสูง 180 เซนติเมตร แต่ไปเจอคู่แข่งที่เฉลี่ยแล้วสูง 160-170 เซติเมตร มันก็ทำให้เราได้เปรียบกว่า ขึ้นตบก็สูงกว่าบล็อก มีโอกาสทำแต้มได้จากการขึ้นตบมากกว่า ในทางกลับกันเวลาเราบล็อกก็ขึ้นได้สูงกว่าตัวตบฝ่ายตรงข้าม การเล่นแบบนี้ถ้านักกีฬาตัวเล็กจะเสียเปรียบคู่แข่งมาก โอกาสตีผ่านบล็อกก็ยาก”

 

“ดังนั้นวอลเลย์บอลโครงสร้างจึงเหมาะสำหรับทีมที่มีนักกีฬารูปร่างระดับ 190-200 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นพวกชาติมหาอำนาจที่มีอันดับโลกสูงกว่าเรา อย่าง รัสเซีย จีน สหรัฐ รวมถึงชาติอื่น ๆ ในยุโรปและอเมริกา มีนักกีฬารูปร่างส่วนสูงระดับนี้จึงใช้รูปแบบการเล่นดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

วอลเลย์บอลผสมคืออะไร?

บ่อยครั้งเวลาที่โค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน ตั้งแต่สมัย “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร จนมาถึง “โค้ชด่วน” ดนัยดนัย ศรีวัชรเมธากุล เวลาให้สัมภาษณ์กับส่อมวลชนถึงการเตรียมทีม มักจะมีคำพูดหนึ่งหลุดออกมาก็คือสูตรเล่นแบบผสมอยู่เป็นประจำ

 

สูตรของการเล่นแบบผสมนั้นจะมีความซับซ้อนมากกว่าการเล่นแบบโครงสร้าง ใช้วิธีการทำเกมรุกมากกว่าหนึ่งอย่าง ผสมผสานสูตรของวอลเลย์บอลโครงสร้างเข้าด้วยกันในการเล่นเกมรุกหนึ่งครั้ง ทั้งการเล่นบอลเร็ว บอลหัวเสา และบอลกลางสามเมตร โดยนักกีฬาในตำแหน่งเกมรุกจะเคลื่อนที่เพื่อสร้างความสับสนให้กับบล็อกคู่แข่ง แต่ความยากคือต้องอาศัยความเร็วและความเข้าใจกันในทีมสูงกว่าปกติ เป็นสูตรที่ถูกคิดค้นขึ้นมาจากประสบการณ์ของโค้ชโดยตรง ไม่มีบรรจุให้หลักสูตรการเรียนการสอน

 

ในเรื่องนี้ ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง นักข่าวและผู้บรรยายกีฬาจากสยามสปอร์ต ได้เผยถึงที่มาที่ไปของการเล่นแบบนี้ว่า “เมื่อก่อนวอลเลย์บอลหญิงในอาเซียนเรายังเป็นรองฟิลิปปินส์ จนกระทั่งซีเกมส์ 1995 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เราคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกและเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนี้มาตลอด”

 

“หลังจากนั้นไม่นานเมื่อโค้ชอ๊อต ได้เข้ามีทำทีมวอลเลย์บอลหญิง ก็มีความคิดที่อยากจะผลักดันทีมให้พัฒนาขึ้นไปอยู่ในระดับเอเชีย ระดับโลก ช่วงแรก ๆ ตอนพาทีมเข้าไปเล่นในเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ แพ้พวกยุโรป อเมริกาตลอด เพราะพวกนี้เขาสูงกว่าเราเยอะ เราเอาชนะบล็อกเขาไม่ได้ โค้ชอ๊อตก็เลยคิดค้นจนเกิดเป็นสูตรผสมขึ้นมา เริ่มมาตั้งแต่ยุคของ ปริม อินทวงศ์, พัชรี แสงเมือง จนมาถึงยุค ปลื้มจิตร์ ถินขาว และใช้กันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน“

 

 

การเล่นแบบเพราะผสมเหมาะกับไทยหรือไม่?

“ปลั๊ก” ภุมเรศ ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเล่นแบบผสมต้องอาศัยความเร็ว ความคล่องตัว เหมาะสำหรับทีมที่มีนักกีฬารูปร่างไม่สูงอย่างไทยหรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองทีมที่เล่นบอลผสมเป็นหลักอย่างเห็นได้ชัด”

 

“เราใช้สูตรเกมรุกต่าง ๆ มาผสมกัน ให้การอ่านเกมนั้นยากกว่าปกติ ซึ่งไทยจะเห็นชัดการเล่นบอลจะมีนักกีฬาสองคนสลับไปมา มีหลังไหลสั้นยาว ตัวตบวิ่งอ้อมตัวเซต แม้กระทั่งมีตัวกระโดดขึ้นหลอกตบ ซึ่งมันทำให้เกมบล็อกคู่แข่งหลงและตามไม่ทัน”

 

“แต่ทำไมเราต้องเล่นแบบนี้ ก็เพราะนักกีฬาไทยตัวเล็ก มีแค่ ปลื้มจิตร์ กับ ทัดดาว นึกแจ้ง ที่สูง 180 ขึ้น นอกนั้นเฉลี่ยแค่ 170 เซนติเมตร ขณะที่ทีมที่อยู่เหนือกว่าเรานั้นสูงเฉลี่ย 190 เซนติเมตรขึ้นทั้งทีม ถ้าเราเล่นบอลตรง ๆ มันสู้เขายาก นึกภาพออกไหมเหมือนตีบอลใส่กำแพง โอกาสอาจผ่านบล็อกมีแหละแต่มันน้อย ไม่เหมือนการเล่นแบบผสมใช้การหลอกล่อทำให้เรามีโอกาสได้แต้มมากขึ้น”

 

“ซึ่งญี่ปุ่น นักกีฬาเขาก็มีสรีระตัวเล็กเหมือนเรา เขาก็ทำให้เห็นแล้วว่าการเล่นแบบผสมของพวกเขาสู้ทีมยักษ์ใหญ่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่เล่นแบบนี้เราจะสู้เขาไม่ได้เลย เราจะหาพวกตัวตบหนัก ๆ ผ่านบล็อกได้อย่าง อรอุมา สิทธิรักษ์ สักกี่คน ทุกวันนี้ยังมีคนเดียวพออายุมากขึ้นก็เริ่มเห็นผล ถ้าเราไม่เล่นแบบผสมก็ตีไม่ผ่านเขา วอลเลย์บอลมันไม่เหมือนฟุตบอล ทีมไหนมีกองหน้าตัวเล็กก็ไม่เล่นบอลโยนหันไปเล่นเท้าสู่เท้าแทน แต่วอลเลย์บอลมันไม่ใช่ มันตัดสินกันที่หน้าตาข่าย ยังไงเราก็ต้องเล่นสไตล์นี้”

 

ขณะที่ ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า “จริง ๆ เราควรจะมีหลายสูตรด้วยซ้ำ เพราะของเราตีหน้าตรงไม่ได้ ตบโดยไม่หลอกไม่ได้ บอลหัวเสาเราไม่สูงมีแต่หนัก ถ้าจะเล่นบอลโครงสร้างต้องมีหัวเสาที่ตีได้หลายแบบ อย่าง จู ถิง (จีน) , คิม ยอนคยอง (เกาหลีใต้)”

 

“ขณะเดียวกันหัวใจสำคัญของการเล่นบอลผสมนักกีฬาต้องเข้าใจ รูปแบบการประสานกันต่าง ๆ ต้องเข้าใจกันทุกตำแหน่ง ซึ่งตรงนี้เราทำได้ดี แต่บางครั้งก็ต้องระวังด้วย ถึงเราเตรียมตัวมาดีก็จริงแต่หลอกไม่ดีก็จะเป็นฝ่ายเสียแต้มแทนได้เช่นกัน”

 

 

ถูกหรือผิด ตอบด้วยผลงาน

สรุปตามความเห็นของผู้สันทัดกรณีในวงการวอลเลย์บอลไทยทั้ง 2 ท่าน เห็นตรงกันว่าวอลเลย์บอลสาวไทยนั้นเหมาะกับการเล่นแบบผสมมากกว่าโครงสร้าง ซึ่งสิ่งที่สะท้อนภาพความเป็นจริงได้ดีที่สุดก็คือผลงาน การที่ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยยกระดับจากทีมในอาเซียน ขึ้นมาเป็น 1 ใน 4 ทีมชั้นนำของทวีปเอเชีย ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์เอเชียได้ 2 สมัย ในปี 2009 กับ 2013 ได้รองแชมป์เอเชียนเกมส์ 2018 ซึ่งเป็นผลงานดีที่สุดในประวัติศาสตร์ แถมยังเคยเอาชนะจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมาแล้ว

 

นอกจากนั้นระบบการเล่นดังกล่าวยังได้สร้างนักกีฬาชุดดรีมทีมที่ถูกยกย่องให้เป็น 7 เซียน อรอุมา สิทธิรักษ์ , ปลื้มจิตร์ ถินขาว , นุศรา ต้อมคำ , วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ , อัมพร หญ้าผา , มลิกา กันทองและวรรณา บัวแก้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ยังถูกส่งออกไปเล่นในลีกต่างประเทศในระดับที่สูงขึ้น

 

ดังนั้นจากผลงานดังกล่าวจึงอาจบอกได้ว่าการใช้สูตรรูปแบบการเล่นแบบผสมนั้นเป็นสิ่งที่ทีมวอลเลย์บอลสาวนั้นมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ว่าการที่เรายังไม่ถึงโอลิมปิกอาจมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ประกอบเข้าด้วยกัน

 

“จริง ๆ เราควรได้ไปโอลิมปิกกันแล้ว ถ้าไม่เจอเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นทำให้เราจำฝังใจทั้งปี 2012 และ 2016 นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยเรื่องเรื่องโควตาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าหากนับกันที่อันดับโลกยังไงเราก็ติดไปโอลิมปิก แต่เมื่อต้องกระจายโควตาไปให้ทวีปอื่น ๆ แล้วเอเชียได้แค่ 3 ทีม ก็เลยเป็นงานหนัก เพราะทั้ง 3 ทีมในเอเชีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ก็เป็นเจ้าประจำอยู่แล้ว” ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง 

 

 

เมื่อจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน

ปัจจุบันดูเหมือนว่าการเล่นบอลแบบผสม จะได้รับความนิยมมากขึ้นในฝั่งยุโรป แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็เริ่มมีกลิ่นเค้าลางให้ได้เห็น อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องสำหรับอนาคตวอลเลย์สาวไทยมากกว่า คงเป็นเรื่องความสามารถของนักกีฬาที่ถูกเคี่ยวเข็ญมาไม่เหมือนกับรุ่นพี่ โดยเฉพาะในเรื่องของเกมรับที่ไม่เหนียวแน่นเหมือนยุคสมัย 7 เซียนอยู่ในจุดสูงสุด ครั้งหนึ่งทีมวอลเลย์บอลสาวไทยนั้นเคยโดดเด่นมาก ๆ ในเรื่องของเกมรับ ความเหนียวแน่น เสียแต้มยากพอ ๆ กับญี่ปุ่น แต่ว่าปัจจุบันสิ่งที่เคยเป็นจุดเด่นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไปแล้ว

 

“ทุกวันนี้ชาติอื่น ๆ เริ่มใช้วิธีการเล่นแบบผสมบ้างเพื่อเพิ่มความหลากหลาย เพราะว่าเขาเห็นเราเล่นแบบนี้แล้วสู้พวกยุโรปได้ เพียงแต่ว่าด้วยสรีระที่สูงใหญ่ทำให้การเล่นแบบผสมมันทำได้ไม่คล่องเท่าคนตัวเล็ก”

 

“เป็นเรื่องที่ควรจับตามองเอาไว้เหมือนกัน เพราะครั้งหนึ่งผมเคยคุยกับโค้ชระดับชาติเขาก็ยอมรับว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนตัวสูงเล่นได้แบบคนตัวเล็ก โอกาสที่เราจะชนะได้มันก็จะยิ่งเหลือน้อยลงเหมือนเมื่อก่อน แต่ผมมองว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไหร่ เพราะนักกีฬาพวกนี้ส่วนใหญ่เวลาเล่นในลีกยุโรป ซึ่งเล่นสไตล์วอลเลย์บอลโครงสร้างเป็นหลัก ทำให้เวลากลับมาเล่นทีมชาติคงไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่น”

 

“แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้นคือทรัพยากรที่เรามี ณ ปัจจุบัน คงไม่ดีไปกว่านี้แล้ว ซึ่งมันมีหลายองค์ประกอบ คือเราไม่มีตัวเซตแบบ นุศรา รองบอลดี เซตบอลเยี่ยม มีไหวพริบ การแก้ไขสถานการณ์จัดว่าอยู่ในระดับโลก คนอื่นอาจจะแทนได้ แต่ก็ในระดับ 60-80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้สิ่งที่ นุศรา มีแต่คนอื่นไม่มีก็คือ ประสบการณ์ นุศรา ไปเล่นในลีกชั้นนำที่ต่างประเทศคว้าแชมป์มามากมาย เล่นร่วมกับนักกีฬาระดับโลก”

 

“อีกเรื่องคือนักกีฬารุ่นเก่าเขาผ่านการซ้อมมาอย่างหนัก สมัยก่อนโค๊ชอ๊อตเคี่ยวหนักมากเรื่องเกมรับ ด้วยความที่มันยังไม่มีระบบ ทุกคนเลยต้องเล่นได้เหมือนกันหมด เลยทำให้ยุค 7 เซียนนั้นโดดเด่นเรื่องเกมรับ”  ผู้บรรยายวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกทิ้งท้าย

 

 

ขณะที่ ผู้บรรยายกีฬาจากค่ายสยามสปอร์ต ทิ้งท้ายไว้ในทำนองเดียวกันว่า “หัวใจสำคัญอย่างแรกเลย บอลแรกต้องดี ต่อให้วางแผนดีแค่ไหนแต่บอลแรกไม่ดีก็จบ  เพราะฉะนั้นเกมรับถึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อ 20 ปี ก่อนนักกีฬารุ่นเก่าซ้อมกันหนักมาก โค้ชอ๊อต วางโปรแกรมซ้อมหนักจนโดนด่าโดนเกลียดก็มี"

 

“ส่วนวอลเลยบอลสมัยนี้ก็มีพัฒนาการมากขึ้นทุกวันคล้าย ๆ ฟุตบอล แท็กติกมีความหลากหลายขึ้น วอลเลย์บอลลีกบ้านเราก็ต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ควรมีลีกดิวิชั่น 2 เพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขัน ทุกวันนี้มีแค่ไทยแลนด์ลีกกับโปรชาเลนจ์ ความเข้มข้นมันยังน้อยเกินไป ต้องมีการแข่งขันกันมากกว่านี้เพื่อสร้างนักกีฬาหน้าใหม่เข้าสู่ทีมชาติให้มากขึ้น ส่วนพวกเล่นทีมชาติก็ต้องยกระดับตัวเองให้ได้ พยายามออกไปหาประสบการณ์ในลีกต่างประเทศเพื่อพัฒนาตัวเองไปอีกระดับ เหมือนในยุคที่รุ่นพี่ 7 เซียนทำให้เห็นมาแล้ว”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose