stadium

ไขข้อสงสัย เหตุใดวอลเลย์บอลหญิงสหรัฐอเมริกาถึงไม่เคยเป็นแชมป์โอลิมปิก?

6 สิงหาคม 2564

หากจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์วอลเลย์บอล “สหรัฐอเมริกา” คือทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งของโลก พวกเขาเดินหน้าคว้าแชมป์มาครองได้อย่างมากมายนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเภททีมชาย “หนุ่มมะกัน” สามารถกวาดแชมป์ทัวร์นาเมนต์สำคัญของโลกมาได้แล้วทั้งหมด แต่ฟากฝั่งของประเภททีมหญิง “สาวมะกัน” กลับเจอกับคำถามใหญ่ที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้สักทีว่า .... ทำไม??? พวกเขาถึงไม่เคยครองแชมป์โอลิมปิกฯ 

 

ตบลูกยางสาวสหรัฐฯ ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์” และสามารถตีตั๋วผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศมาแล้ว 3 ครั้งเท่ากับ คิวบา ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ณ เวลานี้ โดยที่มีเพียงแค่ สหภาพโซเวียต(6), จีน(4) และ ญี่ปุ่น(4) เท่านั้นที่เคยเข้าสู่รอบชิงฯมากกว่า 3 ครั้ง แต่ว่าทุกทีมที่กล่าวมาข้างต้น(รวมทั้งคิวบา)เคยคว้า “แชมป์โอลิมปิกฯ” มาแล้วทั้งนั้น เท่ากับว่าจากสถิติที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นทีมเดียวที่แพ้ในรอบชิงฯถึง 3 ครั้ง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก !!!

 

Credit Photo : www.fivb.com
Credit Photo : www.fivb.com

 

ผลงานสวนทางกับทีมแชมป์

แปลกแต่จริง! จากผลงานที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นทีมที่มักมีมาตรฐานการเล่นสูงที่สุดในการแข่งขัน โอลิมปิกฯ ต่างจากทีมอื่นๆที่ฟอร์มในรอบแบ่งกลุ่มมักจะทำได้ไม่ค่อยดี และผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์แบบหวุดหวิด แต่พอเข้าสู่การแข่งขันในช่วงสำคัญ สหรัฐฯ มักจะผิดฟอร์มและไม่สามารถปิดเกมได้เหมือนรอบแรกๆ ต่างจากทีมอื่นที่ยิ่งเล่นยิ่งดีและเด็ดขาดมากขึ้นโดยเฉพาะในรอบชิงชนะเลิศ

 

อย่างเช่นเมื่อปี 2012 ในการแข่งขันที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผลงานในรอบแบ่งกลุ่ม สหรัฐฯ ชนะรวด 5 นัด จบเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มบี ขณะที่ บราซิล ต้องลุ้นเหนื่อยจนถึงนัดสุดท้ายก่อนจะผ่านเข้ารอบมาในฐานะอันดับที่ 4 ของกลุ่มบี และการพบกันในยกแรก สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ ทว่าในเกมตัดสินแชมป์ สหรัฐฯ ที่ออกสตาร์ทได้ดีกว่าและนำไปก่อน 1-0 เซต กลับฟอร์มหลุดไปดื้อๆ และกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในเซตที่ 2, 3 และ 4 ส่งผลให้ บราซิล คว้าแชมป์ไปครองเป็นสมัยที่ 2

 

หากว่าเชื่อในเรื่องดวงหรือสิ่งที่มองไม่เห็น สหรัฐฯ ก็อาจจะเจอกับปัญหาเหล่านั้นอยู่เช่นเดียวกัน เพราะจะว่าไปแล้วในการแข่งขัน “โอลิมปิกฯ” ทีมเต็งในช่วงนั้นๆหลายทีม มักจะอกหักและไปไม่ถึงดวงดาวกันแทบทั้งสิ้น แตกต่างจากทีมแชมป์บางรายที่หักปากกาเซียนและเข้าเส้นชัยนได้แบบเหนือความคาดหมาย

 

Credit Photo : www.fivb.com

 

Credit Photo : www.fivb.com

 

 

ตัวเก่งเยอะไปเลือกใช้ไม่ถูก

จากความเห็นของผู้คร่ำหวอดในวงการกีฬาหลายๆคน ทุกคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า สหรัฐฯ เป็นทีมที่มีระบบการเล่นแข็งแกร่ง รวมทั้งยังมีนักกีฬาที่มีศักยภาพให้เลือกใช้งานมากมาย ส่งผลให้ทีมแต่ละชุดเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นกันค่อนข้างบ่อยเมื่อเทียบกับทีมอื่น ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ตามมาในเรื่องของทีมเวิร์ค อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องทีมเวิร์คของ สหรัฐฯ อาจไม่ส่งผลมากนักเมื่อวัดจากผลงานและฟอร์มการเล่น แต่มันอาจมีผลบ้างในเกมสำคัญๆอย่างเช่น รอบชิงชนะเลิศ โอลิมปิกฯ 

 

ข้อดีของ สหรัฐฯ ในเรื่องของนักกีฬาฝีมือดีที่สามารถเลือกใช้งานได้แบบไม่จำกัด คือสามารถทดแทนกันได้ตลอดเวลาเมื่อคนใดคนหนึ่งไม่พร้อม และรักษามาตรฐานการเล่นเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆคือ บางครั้งนักกีฬาจะขาดในเรื่องของความเข้าขารู้ใจ และส่งผลต่อฟอร์มการเล่นในช่วงนั้นๆได้ แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามันคือสไตล์การทำทีมของ สหรัฐฯ ที่เป็นเช่นนี้มานานแล้ว 

 

Credit Photo : www.fivb.com

 

Credit Photo : www.fivb.com

 

 

อยากชนะมากเกินไปจนแพ้

สหรัฐฯ เป็นทีมที่มีมาตรฐานศักยภาพสูงมาก พวกเขาไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวคู่แข่งรายไหนเลยแม้แต่ทีมเดียว และหากย้อนดูจากผลงานที่ผ่านๆมา “สาวมะกัน” ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งระดับบิ๊กเนมได้ทุกทีม ไม่ว่าจะเป็น จีน, เซอร์เบีย, บราซิล, อิตาลี หรือแม้แต่ “อดีตมหาอำนาจ” คิวบา แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เกมสำคัญใน โอลิมปิกฯ โดยตลอด 3 ครั้งที่อกหักจาก รอบชิงชนะเลิศ(โอลิมปิกฯ) สหรัฐฯ พลาดท่าต่อ บราซิล 2 ครั้ง และ จีน 1 ครั้ง รวมทั้งยังแพ้ต่อ รัสเซีย, คิวบา และ เซอร์เบีย อีกทีมละครั้ง ในการแข่งขันรอบตัดเชือก

 

จากการที่ สหรัฐฯ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยใน โอลิมปิกฯ พวกเขาจึงมุ่นมั่นมากขึ้นเรื่อยๆในทุกๆครั้งที่ลงแข่งขัน และนั่นกลายเป็นเหมือนดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายทีม สภาพจิตใจของทุกคนภายในทีมต่างเต็มไปด้วยความกดดันมหาศาล สิ่งเหล่านี้ส่งผลชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆในโอลิมปิกฯ จากที่เคยเล่นแบบผ่อนคลายไหลลื่นในรอบแรกๆ กลายเป็นเริ่มเกร็งและเล่นผิดพลาดกันเองในรอบลึกๆ สุดท้ายกลายเป็น อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ สหรัฐฯ ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน 

 

Credit Photo : www.fivb.com

 

ยึดมั่นระบบมากกว่าตัวผู้เล่น

สหรัฐฯ เป็นทีมที่มีรูปแบบการเล่นชัดเจน พวกเขามักจะยึดมั่นในระบบการเล่นมากกว่าพึ่งพาความสามารถเฉพาะตัวของนักกีฬา แม้ว่าฝีไม้ลายมือของผู้เล่นแต่ละคนจะอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ข้อดีของการทำทีมแบบ สหรัฐฯ คือผลงานที่ออกมาจะค่อนข้างสม่ำเสมอ ผู้เล่นแต่ละคนมีสถิติที่น่าพอใจใกล้เคียงกัน แต่ข้อเสียคือในวันที่ฟอร์มหลุดหรือระบบการเล่นมีปัญหา ผลงานของนักกีฬาทุกคนก็จะตกลงมาพร้อมๆกัน หรือพูดง่ายๆว่า “ล่มทั้งระบบ”

 

มันอาจจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันก็เพียงพอที่จะส่งผลต่อการแข่งขันในนัดสำคัญๆ ซึ่งต่างจากคู่แข่งทีมอื่นๆที่ไม่ได้พึ่งพาระบบการเล่นแบบตายตัวเหมือน สหรัฐฯ ในวันที่ฟอร์มตกก็พยายามหาวิธีการเล่นที่ช่วยให้เอาตัวรอดได้ หรือไม่ก็ฝากความหวังไว้กับใครคนใดคนหนึ่งภายในทีมที่สามารถทำแต้มได้อย่างต่อเนื่อง(ในเกมนั้นๆ)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :

นายดนัย ศรีวัชรเมธากุล (หัวหน้าผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงชาติไทย)

นายชำนาญ ดอกไม้ (ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย)

นายสมชาย ดอนไพรยอด (แฟนพันธ์แท้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย)

นายพิชัย ศิริไทย (แฟนคลับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย)ฟ


stadium

author

Plug

StadiumTH Content Creator