24 มีนาคม 2565
สำหรับนักกีฬาอาชีพแล้ว การรักษาแรงจูงใจคือสิ่งสำคัญ หากหวังที่จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ลักษณะนิสัยที่คล้ายคลึงกันของนักกีฬาคือเป็นพวกชอบการแข่งขัน และชอบความท้าทาย เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาเท่าใดนัก
บางคนแรงจูงใจออกมาจากตัวเอง บางคนได้มาจากครอบครัวและคนรอบข้าง ขณะที่บางคนได้มาจากคู่แข่ง แต่ แอชลีห์ บาร์ตี้ มีวิธีหาแรงจูงใจที่ต่างไปจากนั้น นั่นก็คือการหยุดพักและไปโฟกัสกับกิจกรรมอื่น ๆ แทน ในขณะที่นักกีฬาอาชีพไม่มีใครต้องการทิ้งช่วง เพราะจะทำให้สูญเสียรายได้ รวมทั้งอันดับมือวางที่เป็นประโยชน์ต่อการลงแข่งขัน
การหาแรงจูงใจใหม่ ๆ คือสิ่งที่บาร์ตี้ให้ความสำคัญมาตลอดอาชีพ จนมาถึง ณ เวลาปัจจุบันที่เธอรู้สึกว่าการหวดลูกสักหลาดไม่ใช่สิ่งท้าทายสำหรับชีวิตเธออีกต่อไป จึงทำให้ประกาศแขวนแร็กเก็ตทั้งที่มีอายุเพียงแค่ 25 ปี
กว่าที่บาร์ตี้จะก้าวมาเป็นนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกเธอผ่านอะไรมาบ้าง ทำไมเธอถึงกล้าหันหลังให้กับกีฬาที่ตัวเองรัก และเป้าหมายต่อไปในชีวิตคืออะไร ติดตามได้ที่นี่
เด็กอัจฉริยะ
บาร์ตี้ เกิดที่เมืองอิปสวิช รัฐคลีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 1996 โดยมีเชื้อสายชาวอะบอริจินจากฝั่งพ่อ ขณะที่แม่ของเธอเป็นลูกสาวของชาวอังกฤษอพยพ
ด้วยความที่พ่อเคยเป็นแชมป์กอล์ฟระดับสมัครเล่น และการเล่นกีฬาก็เป็นส่วนหนึ่งของทุกครอบครัวในออสเตรเลีย จึงไม่แปลกที่บาร์ตี้จะได้หยิบจับอุปกรณ์กีฬาตั้งแต่เด็ก
อย่างไรก็ตาม หนูน้อยแอชลีห์ สร้างความประหลาดใจมากกว่านั้น เมื่อเธอแสดงให้ครอบครัวเห็นว่า ไม่ใช่เด็กธรรมดาทั่วไป
บาร์ตี้อายุแค่ 4 ขวบ ในตอนที่เธอเจอไม้สควอชเก่า ๆ ในบ้าน ก่อนจะเริ่มต้นตีลูกอัดกำแพงโรงจอดรถเป็นชั่วโมง ซึ่งเมื่อ โรเบิร์ต พ่อของเธอเห็นเข้าก็รีบต่อสายหา จิม จอยซ์ โค้ชของศูนย์ฝึกเทนนิส เวสต์ บริสเบน ทันที
"ตอนแรกผมโดนปฏิเสธ เพราะเขาบอกว่าไม่รับฝึกเด็กที่อายุไม่ถึง 8 ขวบ แต่เราไปหาเขาถึงที่ก่อนโยนลูกให้แอชลีห์ตี เธอตีข้ามหัวเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเขาพูดขึ้นมาว่าให้กลับมาใหม่อาทิตย์หน้า" โรเบิร์ต เล่าความหลัง
แม้จะมีปัญหาเรื่องรูปร่างที่เล็กกว่าคนอื่น ๆ แต่ จอยซ์ ก็ทดแทนด้วยการเคี่ยวเข็ญด้านเทคนิคเพื่อชดเชย ซึ่งด้วยพรสวรรค์บวกพรแสวง ทำให้ บาร์ตี้ พัฒนาฝีมืออย่างก้าวกระโดด พออายุ 9 ขวบ เธอก็สามารถดวลกับเด็กผู้ชายอายุ 15 ปีได้แล้ว และสามารถแข่งกับนักหวดรุ่นใหญ่ได้ในวัย 15 ปีเท่านั้น
ความสำเร็จที่มาเร็วเกินไป
เหมือนกับนักกีฬาชั้นนำคนอื่น ๆ บาร์ตี้ต้องสละชีวิตวัยเด็กและช่วงวัยรุ่นเพื่อทุ่มเทให้กับเทนนิส เธอต้องฝึกตีลูกอย่างไม่วันจบสิ้น และใช้เวลาซ้อมนับพันชั่วโมง เพื่อให้เล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในวัยแค่ 14 ปี เธอก็ได้ไปลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ ทำให้ในปีหนึ่ง ๆ บาร์ตี้ได้อยู่บ้านเพียง 27 วันเท่านั้น ซึ่งการอยู่ห่างจากครอบครัวของเด็กในวัยนี้ ย่อมก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวและอาการคิดถึงบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่ออายุ 15 ปี บาร์ตี้คว้าแชมป์วิมเบิลดันรุ่นจูเนียร์ได้สำเร็จ ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อกลับสู่บ้านเกิด ผู้คนรอต้อนรับเธอที่สนามบินอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม การกลายเป็นคนดังในช่วงข้ามคืน ก่อให้เกิดคลื่นระลอกใหม่ถาโถมเข้าใส่บาร์ตี้ ทั้งความกดดัน และความคาดหวังจากรอบข้าง
ภาวะบีบคั้นทางจิตใจนี้ ส่งผลกระทบต่อบาร์ตี้ในช่วง 2-3 ปีต่อมา แม้จะได้เล่นรอบเมนดรอว์รายการแกรนด์สแลม แต่ก็ไม่ได้ไปไกลเกินกว่ารอบสอง ขณะที่ประเภทคู่แม้จะทำผลงานดี เข้ารอบชิงแกรนด์สแลม 3 รายการ แต่ก็ได้รองแชมป์ทั้งหมด
ความกดดันและความเหนื่อยล้าทางจิตใจกัดกินบาร์ตี้ไม่มีหยุด เธอเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า จนมาถึงวันหนึ่งที่รู้สึกว่า ไม่อยากลงแข่งเทนนิสอีกต่อไป
หยุดเพื่อคิด
ปลายปี 2014 บาร์ตี้ในวัย 18 ปี ประกาศหยุดพักจากการแข่งขัน ทำเอาแฟนเทนนิสออสเตรเลียช็อกไปตาม ๆ กัน เพราะเธอกำลังมีอนาคตที่สดใส และกลายเป็นความหวังใหม่ของประเทศ
จะมีก็แต่คนรอบตัวเท่านั้น ที่สนับสนุนความคิดของเธออย่างไม่มีข้อโต้แย้ง โดยเฉพาะพ่อของเธอที่เข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุด
"เมื่อเธอตัดสินใจหยุดพัก เรารู้อยู่แล้วว่าเธอกำลังมีปัญหา แต่ไม่ทันคิดว่าเธอไม่ชอบการเป็นจุดสนใจมากแค่ไหน เราบอกกับเธอว่า 'โอเค ความสุขของลูกต้องมาก่อน เราจะอยู่ตรงนี้เพื่อคอยสนับสนุนให้ลูกผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้'"
บาร์ตี้ ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ ควีนส์แลนด์ พร้อมอธิบายสาเหตุว่าเธอต้องการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และค้นหาตัวเอง ซึ่งกลายเป็นว่าเธอได้สัมผัสกับโลกใบใหม่ที่ทำให้เธอสดใสอีกครั้ง
คิดจะพัก คิดถึงคริกเก็ต
บาร์ตี้ต้องใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าถึง 2 ปี รวมทั้งต้องรับคำปรึกษาจากนักบำบัด ทำให้เธอเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเอง เธอก็ได้รับการติดต่อจาก แอนดี้ ริชาร์ดส์ โค้ชของทีมคริกเก็ตหญิง บริสเบน ฮีต หลังจากเขาได้ยินมาว่าบาร์ตี้อยากลองเล่นกีฬาชนิดนี้อย่างจริงจัง ตอนที่ทำกิจกรรมกับทีมชาติออสเตรเลีย
ด้วยชุดทักษะจากกีฬาเทนนิสที่ต้องใช้การประสานงานกันระหว่างมือกับสายตา บาร์ตี้ผ่านการทดสอบแบบสบาย ๆ รวมทั้งเข้ากับทีมได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
ระยะเวลา 18 เดือนในทีม บริสเบน ฮีต คือเวลาแห่งการเยียวยาจิตใจของบาร์ตี้ เธอได้ใช้ชีวิตแบบปกติ ได้เรียกช่วงเวลาวัยรุ่นที่ขาดหายไป และที่สำคัญกว่านั้นคือ ได้มีเพื่อน
"ฉันได้เจอเพื่อนใหม่ที่ยอดเยี่ยมจากการเล่นคริกเก็ต ซึ่งมันช่วยคลายความกดดันจากเทนนิสได้บ้าง"
บาร์ตี้ลงเล่นคริกเก็ตไป 11 เกมให้กับ บริสเบน ฮีต ใน WBBL และ ควีนส์แลนด์ ไฟร์ ใน WNCL โดยทำสกอร์ได้ 68 รัน และ 11 รัน ตามลำดับ
การได้ใช้เวลากับครอบครัว รวมทั้งเพื่อนฝูง และได้ผ่อนคลายกับการเล่นกีฬาที่ไม่ต้องแบกรับความกดดันอย่างคริกเก็ต เติมเต็มหัวใจของบาร์ตี้ ทำให้เธอคิดถึงการกลับไปเล่นเทนนิสอีกครั้ง
"การได้เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ นอกเหนือจากเทนนิสที่เราต้องใช้เวลาถึง 30 สัปดาห์ต่อปี ทำให้ฉันรู้สึกผ่อนคลาย และได้แรงจูงใจรวมทั้งความกระหายในการเล่นเทนนิสกลับมา"
กลับมาทั้งที ขอดีที่สุด
บาร์ตี้ กลับมาลงแข่งเทนนิสในปี 2016 โดยต้องเริ่มจากจุดล่างสุดเพราะเป็นมือไร้อันดับ ทำให้ต้องตระเวนแข่งทัวร์นาเมนต์เล็ก ๆ ทั่วโลกเพื่อสะสมแต้ม ภายใน 6 เดือน เธอก็กระโดดขึ้นเป็นมือวางอันดับ 325 ของโลก
ในปี 2017 บาร์ตี้คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวใน ดับเบิ้ลยูทีเอ ทัวร์ รายการแรกได้สำเร็จคือ มาเลเซียน โอเพ่น ซึ่งทำให้เธอกระโดดขึ้นมาเป็นมือ 17 ของโลกตอนจบฤดูกาล ตามด้วยแชมป์ น็อตติ้งแฮม โอเพ่น และ ดับเบิ้ลยูทีเอ อีลีท โทรฟี่ ในปีต่อมา
2019 คือปีแห่งความทรงจำของ บาร์ตี้ เริ่มตั้งแต่คว้าแชมป์ระดับพรีเมียร์ รายการ ไมอามี โอเพ่น ได้ตั้งแต่ต้นปี ทำให้ขยับขึ้นไปติดมือวาง 1 ใน 10 ของโลก
ก่อนที่การคว้าแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น จะทำให้เธอกลายเป็นนักเทนนิสออสเตรเลียคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม นับตั้งแต่ ซาแมนธ่า สโตเชอร์ คว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ปี 2011 ซึ่งชัยชนะที่ โรล็องด์ การ์รอส ยังทำให้บาร์ตี้ขึ้นเป็นมือ 2 ของโลก อีกด้วย
ฟอร์มร้อนแรงของ บาร์ตี้ ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เธอคว้าแชมป์ เบอร์มิงแฮม คลาสสิค ใน 2 สัปดาห์ต่อมา ทำให้ก้าวขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลกได้สำเร็จ พร้อมกับปิดฤดูกาลนั้นด้วยแชมป์รายการ ดับเบิ้ลยูทีเอ ไฟนัลส์
ขณะเดียวกัน เธอยังเลือกรักษาสมดุลระหว่างการเป็นนักกีฬาอาชีพ กับการได้ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาทั่วไป เมื่อลงแข่งไปเพียง 15 รายการและกลับออสเตรเลียทุกครั้งเท่าที่ทำได้
หยุดพักอีกครั้ง ด้วยความจำเป็น
บาร์ตี้ เริ่มต้นปี 2020 ไม่ดีนัก เนื่องจากตกรอบ 2 รายการ บริสเบน อินเตอร์เนชันแนล แต่เธอก็แก้ตัวด้วยการคว้าแชมป์ แอดิเลด อินเตอร์เนชันแนล ในสัปดาห์ต่อมา ก่อนจะเข้าถึงรอบรองฯ ออสเตรเลียน โอเพ่น
เธอลงเล่น กาตาร์ โอเพ่น เป็นรายการสุดท้ายของปี 2020 ก่อนที่ทั้งโลกต้องหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ซึ่งแม้จะกลับมาแข่งได้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม แต่บาร์ตี้เลือกที่จะอยู่ในบ้านเกิดต่อไป เพราะไม่ต้องการเสี่ยงจากการเดินทาง ทำให้เธอพลาดลงแข่ง ยูเอส โอเพ่น รวมทั้งไปป้องกันแชมป์ที่ โรล็องด์ การ์รอส
การหยุดพักหนที่ 2 บาร์ตี้ ไม่ได้กลับไปเล่นคริกเก็ตจริงจังเหมือนเดิม แต่คราวนี้เธอหันไปเล่นกอล์ฟเหมือนกับที่พ่อของเธอเคยเล่นในอดีต
สิ่งที่น่าทึ่งคือบาร์ตี้คว้าแชมป์ระดับสมัครเล่นได้สำเร็จ ในรายการ บรูกวอเตอร์ กอล์ฟ คลับ วีเม่นส์ แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งความสามารถในการเล่นกอล์ฟของเธอเคยทำให้ ไทเกอร์ วู้ดส์ แชมป์เมเจอร์ 15 สมัยตกตะลึงมาแล้วในช่วงก่อนการแข่งรายการ เพรสซิเดนต์ คัพ ปี 2019
ทั้งคู่เข้าร่วมงานอีเวนต์ที่แม่น้ำ ยาร์ร่า ริเวอร์ โดยแข่งกันตีกอล์ฟไปขึ้นกรีนจำลองกลางแม่น้ำ ซึ่งพญาเสือตีลูกไม่ถึงกรีน แต่บาร์ตี้หวดลูกลงเป้าหมายได้อย่างน่าทึ่ง
"ล้อเล่นปะเนี่ย เธอมีวงสวิงที่สุดยอดไปเลยนะ" วู้ดส์กล่าวหลังเห็นฝีมือกอล์ฟของบาร์ตี้
การคว้าแชมป์บรูกวอเตอร์ยิ่งตอกย้ำอีกครั้งว่า ความสามารถของเธอไม่มีที่สิ้นสุด
กลับมา เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือแชมป์วิมเบิลดัน
บาร์ตี้กลับมาลงแข่งอีกครั้งในรายการ ยาร์ร่า วัลเลย์ คลาสสิค ที่เมลเบิร์น เพื่อเรียกฟอร์มและเตรียมความพร้อมก่อนศึกใหญ่ในบ้านเกิดคือ ออสเตรเลียน โอเพ่น ซึ่่งนักหวดหมายเลขหนึ่งของโลก ทำผลงานไม่เหมือนคนที่พักแข่งยาว 11 เดือน หลังคว้าแชมป์ได้สำเร็จด้วยการเอาชนะ การ์บีเญ่ มูกูรูซ่า รองแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2020
แน่นอนด้วยฟอร์มแบบนี้ คงไม่แปลกอะไรที่จะมีคนพูดถึงโอกาสคว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกของปี แต่บาร์ตี้มอบของขวัญให้คนในประเทศไม่สำเร็จเมื่อตกรอบก่อนรองชนะเลิศแบบพลิกล็อก
อย่างไรก็ตาม เหมือนกับยอดนักกีฬาคนอื่น ๆ คือ เมื่อล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว บาร์ตี้ บินไปแข่งต่างประเทศครั้งแรกในรอบปีกว่า ก่อนจะป้องกันแชมป์ ไมอามี โอเพ่น ได้สำเร็จ
หลังจากนั้นเธอก็กลับมาทัวร์ยุโรปเพื่อลงแข่งฤดูกาลคอร์ทดิน และทำผลงานระดับที่เรียกได้ว่ามีลุ้นแชมป์ที่โรล็องด์ การ์รอส อีกสมัย หลังคว้าแชมป์รายการ สตุ๊ตการ์ต โอเพ่น และเข้าถึงรอบชิง มาดริด โอเพ่น แต่น่าเสียดายที่อาการบาดเจ็บทำให้เธอต้องถอนตัวใน 2 รายการต่อมาคือ อิตาเลียน โอเพ่น และ เฟรนช์ โอเพ่น แกรนด์สแลมที่ 2 ของปี
อาการบาดเจ็บดังกล่าวทำให้บาร์ตี้ไม่ได้ลงแข่งทัวร์นาเมนต์คอร์ตหญ้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิมเบิลดัน แต่กลับไม่ใช่ปัญหา เมื่อยอดนักหวดจากออสเตรเลียเอาชนะได้ทั้งแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น อย่าง บาร์โบร่า เครซิโมว่า จาก เช็ก และ แองเจลิก แคร์เบอร์ อดีตมือ 1 ของโลกจากเยอรมนี ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
และเป็น บาร์ตี้ ที่เอาชนะ แคโรลิน่า ปลิสโคว่า จาก เช็ก 2-1 เซต คว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยแรก และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 2 ต่อจากเฟรนช์ โอเพ่น ปี 2019 ขณะเดียวกัน การคว้าแชมป์ของบาร์ตี้ ยังตรงกับการครบรอบ 50 ปีที่ เอวอนน์ กูลากอง คาว์ลี่ย์ ตำนานนักเทนนิสชาวออสเตรเลีย ไอดอลของเธอ คว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ความผิดหวังที่โตเกียว สู่แชมป์ที่รอคอยมาทั้งชีวิต
การครองมือ 1 โลกบวกกับเพิ่งคว้าแชมป์วิมเบิลดันทำให้บาร์ตี้เดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในฐานะตัวเต็ง อย่างไรก็ตามเธอกลับพ่ายต่อ ซาร่า ซอร์ริเบส ตอร์โม่ มือโนเนมจากสเปน ตกรอบแรกอย่างเหลือเชื่อ ก่อนจะได้เหรียญทองแดงปลอบใจในประเภทคู่ผสม
แต่ความผิดหวังที่โตเกียวไม่ได้กวนใจเธอนานนัก บาร์ตี้ คว้าแชมป์รายการต่อมาคือ ซินซินเนติ โอเพ่น ทันที ก่อนจะลงแข่งแกรนด์สแลม ยูเอส โอเพ่น 2021 แต่แพ้ เชลบี้ โรเจอร์ส นักหวดเจ้าถิ่นในรอบที่ 3 หลังจากนั้นเธอตัดสินใจกลับไปยังออสเตรเลียบ้านเกิดอีกครั้ง และเลือกที่จะไม่ลงแข่งทั้ง อินเดียนเวลส์ โอเพ่น, บิลลี่ จีน คิง คัพ รอบสุดท้าย (เฟด คัพ) และ ดับเบิ้ลยูทีเอ ไฟนอลส์
หลังจากหยุดพักไปนานกว่า 4 เดือน บาร์ตี้ เริ่มต้นฤดูกาล 2022 ในศึก แอดิเลด อินเตอร์เนชันแนล และคว้าแชมป์ได้ทันที ก่อนที่จะเข้าสู่การแข่งขันแกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น ซึ่งสำหรับนักเทนนิสชาวออสซี่แล้ว นี่คือรายการแกรนด์สแลมที่ทุกคนใฝ่ฝันว่าจะคว้าแชมป์มาครองให้ได้สักครั้งในชีวิต ขณะที่บาร์ตี้เคยทำผลงานในรายการนี้ได้ดีที่สุดคือเข้าถึงรอบรองชนะเลิศปี 2020
อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ บาร์ตี้ ทำได้สำเร็จ หลังเอาชนะ ดาเนียล คอลลินส์ ในรอบชิงชนะเลิศ 2 เซตรวด กลายเป็นนักเทนนิสออสเตรเลียคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้ นับตั้งแต่ คริส โอนีล ในปี 1978 และเป็นนักเทนนิสหญิงคนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมจาก 3 พื้นคอร์ตที่แตกต่างกัน
"นี่คือฝันที่เป็นจริงสำหรับฉัน ฉันภูมิใจอย่างมากที่เป็นชาวออสเตรเลีย"
การตัดสินใจช็อกโลก สู่ความท้าทายใหม่
หลังจากคว้าแชมป์ ออสเตรเลียน โอเพ่น ได้เพียง 2 เดือน บาร์ตี้ ก็ประกาศแขวนแร็กเก็ตแบบช็อกคนทั้งโลกในเดือนมีนาคมปี 2022 โดยให้เหตุผลว่า เธอหมดแรงจูงใจและหมดความกระหายชัยชนะในการเล่นเทนนิสอาชีพ ทั้งที่ครองมือ 1 ของโลกมายาวนาน 114 สัปดาห์ และมีอายุเพียง 25 ปี
บาร์ตี้เผยว่าเธอให้ทุกอย่างกับเทนนิสไปหมดแล้ว และหมดความท้าทายที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของวงการลูกสักหลาด ส่วนจะไปทำอะไรในอนาคตให้รอดูกันต่อไปโดยไม่ปิดโอกาสในการเปลี่ยนไปเล่นกีฬาชนิดอื่น แต่ความตั้งใจของเธอคือการได้อุทิศตัวเพื่อตอบแทนสังคม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของเธอในปัจจุบัน
ถึงแม้จะน่าเสียดายที่เธอยังมีเวลาประสบความสำเร็จได้มากกว่านี้ แต่สิ่งที่บาร์ตี้ทำเอาไว้ในวงการเทนนิสก็เพียงพอที่จะทำให้เธอกลายเป็นตำนานเคียงข้างยอดนักหวดหญิงคนอื่น ๆ แล้ว เพราะมีเพียง สเตฟฟี่ กราฟ, เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ และ มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า เท่านั้น ที่เคยครองมือหนึ่งโลกยาวนานกว่าเธอ
และการคว้าแชมป์รายการใหญ่ครั้งสุดท้ายในชีวิตก็ยังทำให้ แอชลีห์ บาร์ตี้ เป็นฮีโร่ของชาวออสเตรเลียไปอีกนานแสนนาน
TAG ที่เกี่ยวข้อง