8 กุมภาพันธ์ 2564
นับตั้งแต่เริ่มยุคโอเพ่นในปี 1968 ก็ไม่มีนักเทนนิสคนไหนที่ประสบความสำเร็จในรายการ ออสเตรเลียน โอเพ่น มากไปกว่า โนวัค ยอโควิช, เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ อีกแล้ว
ทั้ง 3 คน คว้าแชมป์ประเภทเดี่ยวรวมกันถึง 22 สมัย จากการแข่ง 19 ครั้งหลัง ย้อนไปตั้งแต่ปี 2003 นอกจากนั้นการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งล่าสุดของพวกเขายังเกิดขึ้นที่ เมลเบิร์น พาร์ค อีกด้วย
ยอโควิชคว้าแชมป์ชายเดี่ยว 9 สมัยมากที่สุดตลอดกาล ขณะที่ เซเรน่า ทำสถิติยุคโอเพ่นด้วยการคว้าแชมป์หญิงเดี่ยว 7 สมัย ส่วน เฟเดอเรอร์ คว้าแชมป์ 6 สมัย และเคยทำได้ 4 สมัยภายในเวลา 6 ปี ช่วงปี 2004-2010
การประสบความสำเร็จใน ออสเตรเลียน โอเพ่น ของทั้ง 3 คนนี้ ยิ่งน่าเกรงขามมากขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาจากคนที่ได้อันดับรองลงไปซึ่งยังเล่นอยู่ในปัจจุบันคือ วิกตอเรีย อซาเรนก้า ที่คว้าแชมป์ 2 สมัย
แล้วเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของยอดนักเทนนิสทั้ง 3 รายบนแผ่นดิน ดาวน์ อันเดอร์ มีอะไรที่น่าสนใจ ติดตามได้ที่นี่
โนวัค ยอโควิช
ถึงแม้ เฟดอเรอร์ จะเป็นคนนิยามรายการนี้ว่าเป็น "แฮปปี้สแลม" แต่ เมลเบิร์น พาร์ค คู่ควรกับการเป็นดินแดนแห่งความสุขของ โนวัค ยอโควิช มากที่สุด เมื่อนักหวดชาวเซอร์เบียไร้พ่ายในรอบชิงฯ และรอบรองชนะเลิศทั้ง 9 สมัย
การพ่ายแพ้ต่อ เฟเดอเรอร์ในรอบที่ 4 ของปี 2007 คือหนเดียวที่นักหวดชาวเซอร์เบีย แพ้ต่อ "บิ๊กโฟร์" คนอื่น ๆ ในรายการนี้ เพราะนับตั้งแต่นั้น โนเล่ ทำสถิติชนะ 11-0 ไม่ว่าจะเจอกับ เฟเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดาล หรือ แอนดี้ มาร์รี่ย์ ก็ตาม
"ผมหลงรัก ร็อด เลเวอร์ อารีน่า มาหลายปีแล้ว และหวังว่ามันจะยืดยาวไปอีกนาน" ยอโควิช กล่าวหลังจากที่เอาชนะ มาร์รี่ย์ คว้าแชมป์ปี 2016
ขณะเดียวกัน เมลเบิร์น พาร์ค ยังเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของ ยอโควิช เนื่องจากเป็นแกรนด์สแลมรายการแรกในอาชีพที่เขาคว้าแชมป์เมื่อปี 2008 และยังทำให้เขากลายเป็นนักเทนนิสคนแรกในยุคโอเพ่นที่คว้าแชมป์รายการนี้ 3 สมัยติดต่อกันในปี 2013
นอกจากนั้น ยังเป็นรายการที่เขาทำให้ นาดาล คู่ปรับสำคัญ ต้องเจอความพ่ายแพ้ในนัดชิงแกรนด์สแลมแบบเละเทะที่สุดในอาชีพของนักหวดชาวสเปน (3-6, 2-6, 3-6) เมื่อปี 2019
และในปี 2021 ยอโควิช ยิ่งประกาศศักดาความเป็นราชาแห่ง เมลเบิร์น พาร์ค ด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่ 9 พร้อมกับเปอร์เซ็นต์เก็บชัยชนะใน ออสเตรเลียน โอเพ่น สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดสำหรับผู้เล่นในปัจจุบัน
เซเรน่า วิลเลี่ยมส์
สถิติเก็บชัยชนะสูงสุดของประเภทหญิงเดี่ยวในรายการนี้เป็นของ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ซึ่งทำไปได้ 87.9 เปอร์เซ็นต์ จากการลงแข่งที่ เมลเบิร์น พาร์ค โดยชัยชนะ 87 แมตช์ของเธอยังเป็นตัวเลขสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการนี้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน เซเรน่า ยังเกือบทำสถิติไร้พ่ายในรอบชิงฯ เหมือนกับ ยอโควิช หลังจากคว้าแชมป์ตลอดการเข้าชิง 6 ครั้งแรก ก่อนจะเสียท่า แองเจลิก แคร์เบอร์ ในปี 2016
อย่างไรก็ตาม เธอกลับสู่รอบชิงฯ อีกครั้งในปีถัดมา และคว้าแชมป์สมัยที่ 7 แบบไม่เสียเซตตลอดทัวร์นาเมนต์ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเธออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ได้ 2 เดือนอีกด้วย
"ฉันลงแข่งแกรนด์สแลมรายการแรกที่นี่ (ปี 1998) และได้แชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 23 ที่นี่เช่นกัน คงไม่มีเรื่องอะไรจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว" เซเรน่า เปิดเผยหลังจากกลายเป็นแชมป์แกรนด์สแลมหญิงเดี่ยวที่อายุมากที่สุดในยุคโอเพ่น
นอกจากนั้น ร็อด เลเวอร์ อารีน่า ยังเป็นสถานที่ซึ่ง เซเรน่า โกงความตายให้แฟนเทนนิสทั่วโลกเห็นมานับไม่ถ้วนอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะ คิม ไคลจ์สเตอร์ส ในรอบรองฯ ปี 2003 รวมทั้ง มาเรีย ชาราโปว่า ในปี 2005 ทั้งที่คู่แข่งได้แมตช์พอยต์หลายครั้ง หรือจะเป็นการเอาชนะ นาเดีย เปโตรว่า ในปี 2007 และ สเวตลาน่า คุซเนตโซว่า ในปี 2009 หลังจาก 2 นักหวดชาวรัสเซีย ได้เสิร์ฟเพื่อปิดแมตช์ นอกจากนั้น เธอยังกลับมาเอาชนะ วิกตอเรีย อซาเรนก้า ทั้งที่เป็นฝ่ายตามหลัง 4-6 และ 0-4 ในรอบก่อนรองชนะเลิศปี 2010 อย่างเหลือเชื่อ
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
การคัมแบ็กคือเรื่องที่อยู่คู่กับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในรายการ ออสเตรเลียน โอเพ่น แบบแยกกันไม่ออก
ทั้งการคว้าแชมป์เมื่อปี 2017 ในวัย 35 ปี หรือ 7 ปี หลังจากคว้าแชมป์ที่ เมลเบิร์น พาร์ค หนสุดท้าย และยังเป็นการคว้าแชมป์ทันทีหลังจากต้องพักยาวถึง 6 เดือน เนื่องจากเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการเจ็บที่หัวเข่า
เฟเดอเรอร์ เอาชนะ 4 มือวาง 10 อันดับแรกของโลกเพื่อคว้าแชมป์ในปีนั้น ซึ่งมากกว่าที่แชมป์ชายเดี่ยวคนอื่น ๆ ทำได้ นับตั้งแต่ย้ายมาแข่งที่ เมลเบิร์น พาร์ค ในปี 1988
เรื่องการคัมแบ็กของเฟดเอ็กซ์ยังคงต่อเนื่องมาถึงปี 2020 เมื่อเขาต้องเซฟถึง 7 แมตช์พอยต์เพื่อเอาชนะ เทนนีส แซนด์เกรน ซึ่งมันทำให้เขาได้ผ่านเข้ารอบรองฯ ออสเตรเลียน โอเพ่น เป็นครั้งที่ 15 ในอาชีพ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเภทชายเดี่ยวในการลงแข่งแกรนด์สแลมรายการเดียว
ขณะเดียวกัน เฟเดอเรอร์ ยังรักษาผลงานได้อย่างสม่ำเสมอแบบไม่มีใครเทียบ โดยในช่วงปี 2004 ถึง 2018 เขาไม่ได้ผ่านเข้าถึงรอบรองฯ เพียงหนเดียวเท่านั้น ซึ่งมันยังทำให้เขาเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เก็บชัยในออสเตรเลียน โอเพ่น มากกว่า 100 แมตช์อีกด้วย
"ทุกอย่างสำหรับผมเริ่มต้นที่นี่ ผมได้เล่นรอบคัดเลือกที่นี่ในปี 1999 ได้เล่นรุ่นจูเนียร์ในปี 1998 และคว้าชัยชนะครั้งแรกจากการแข่งกับ ไมเคิล ชาง ในปี 2000"
"ผมจะกลับไปแข่งออสเตรเลียน โอเพ่น อยู่เสมอ เพราะผมรักการไปที่นั่น"
เห็นได้เลยว่าทั้ง 3 คน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ออสเตรเลียน โอเพ่น คือสถานที่แห่งความทรงจำ เป็นที่ที่พวกเขาตกหลุมรัก และจะกลับไปแข่งอยู่เสมอ
TAG ที่เกี่ยวข้อง