3 กุมภาพันธ์ 2564
ในเช้าวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการแข่งขันกีฬารายการหนึ่งที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก รวมทั้งสร้างรายได้มหาศาล นั่นก็คือ ซูเปอร์โบวล์
หากเป็นคนไม่ติดตามกีฬา หรือไม่ได้สนใจ อเมริกัน เกมส์ อาจจะงงว่า อะไรคือ ซูเปอร์ โบวล์ แล้วทำไมถึงดูยิ่งใหญ่ขนาดนั้น
และทำไมถึงใช้ชื่อต่างจากกีฬาชนิดอื่นของสหรัฐฯ ที่ดูเข้าใจง่ายกว่าอย่าง เอ็นบีเอ ไฟนัลส์ หรือ เวิลด์ ซีรี่ส์ ในเบสบอล
รอช้าอยู่ไย เพราะเราหาคำตอบมาให้คุณแล้วที่นี่
ซูเปอร์โบวล์ คืออะไร?
ซูเปอร์โบวล์ คือการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศของลีกกีฬาอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการนำเอาแชมป์ของสายเอ็นเอฟซี ปะทะกับ แชมป์ของสายเอเอฟซี แต่ก่อนจะมาถึง ซูเปอร์โบวล์ได้นั้น แต่ละทีมต้องทำสถิติในฤดูกาลปกติหรือ เรกูลาร์ ซีซั่น ที่มีการแข่งขัน 16 เกม ให้ติด 1 ใน 7 อันดับที่ดีที่สุด โดยแบ่งเป็นแชมป์ดิวิชัน 4 ทีม และ 3 ทีมในสายเดียวกันที่มีสถิติรองลงมา เพื่อเอา 14 ทีมไปแข่งขันในรอบเพลย์ออฟหรือแพ้คัดออก
ในรอบเพลย์ออฟ ทีมที่มีสถิติดีที่สุดของแต่ละสายตั้งแต่อันดับ 2-7 จะไขว้เจอกันในรอบไวลด์การ์ด โดยอันดับสูงสุดจะเจอกับอันดับต่ำสุด ลดหลั่นกันลงมาเช่น 2 เจอ 7, 3 เจอ 6 และ 4 เจอ 5 หาผู้ชนะ 3 ทีมเข้าสู่รอบ ดิวิชันแนล ที่มีทีมสถิติอันดับ 1 ของสายรออยู่ ซึ่งจะได้เจอกับทีมอันดับต่ำที่สุดที่เข้ารอบ ส่วน 2 ทีมที่เหลือเจอกันเอง จากนั้นจะได้ 2 ทีมเข้ารอบชิงแชมป์สายหาผู้ชนะไปลุยศึกซูเปอร์โบวล์ต่อไป
ทำไมถึงใช้ชื่อ "ซูเปอร์โบวล์"
การจะตอบคำถามนี้ ต้องย้อนกลับไปถึง ซูเปอร์โบวล์หนแรก ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด โดยในตอนนั้น หลังจากที่มีการรวมลีกเอ็นเอฟแอลและเอเอฟแอลเข้าด้วยกันในปี 1966 นั้น พวกเขาเรียกเกมนัดชิงชนะเลิศว่า "เอเอฟแอล-เอ็นเอฟแอล เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ เกม"
แต่กว่าจะได้ใช้ชื่อ ซูเปอร์โบวล์ อย่างเป็นทางการนั้น ต้องรอถึงการแข่งขันครั้งที่ 3 ซึ่งต้องขอบคุณ ลามาร์ ฮันท์ อดีตเจ้าของทีม แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ ผู้ล่วงลับ ที่บอกว่าเขาได้ไอเดียนี้มาจากของเล่นลูกสาวที่ชื่อว่า ซูเปอร์บอล ในขณะที่ลีกต้องการชื่อใหม่ที่กระชับและจดจำได้ง่ายขึ้น เขาจึงใช้คำว่า โบวล์ มาแทนที่คำว่าบอล และกลายเป็นซูเปอร์โบวล์มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับคำว่า โบวล์ ได้รับความนิยมใน อเมริกัน ฟุตบอล ระดับมหาวิทยาลัยอยู่ก่อนแล้ว เริ่มจากศึก โรส โบวล์ ที่ตั้งชื่อนัดชิงชนะเลิศระหว่างทีมสายตะวันออกกับตะวันตกตามสนามอันมีรูปร่างเป็นแอ่งชามขนาดยักษ์ ก่อนจะมี ออเรนจ์ โบวล์, ซูการ์ โบวล์ และซันโบวล์ตามมา
อย่างไรก็ตาม คำว่า "ซูเปอร์โบวล์" ถูกนำมาใช้ก่อนจะเป็นชื่ออย่างเป็นทางการในการแข่งครั้งที่ 3 แล้ว โดย วอชิงตัน โพสต์ เปิดเเผยว่า ฮันท์ ใช้คำดังกล่าวตั้งแต่มีการรวมลีกเมื่อปี 1966 โดยได้ส่งคำแนะนำไปให้ พีท โรเซลล์ ประธานเอ็นเอฟแอลว่า "การรวมลีกควรจะมีการตั้งชื่อเกมนัดชิงใหม่ ผมเรียกมันเล่น ๆ ว่า ซูเปอร์โบวล์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้"
ด้าน โรเซลล์ ที่เคยเป็นนักข่าวและฝ่ายประชาสัมพันธ์มาก่อน ไม่ซื้อไอเดียของฮันท์ เพราะไม่ต้องการให้ซับซ้อนจนเกินไป แต่กว่าที่เกมแรกจะเริ่มแข่ง ชื่อที่ฮันท์คิดขึ้นก็ถูกนำไปใช้ในวงกว้าง รวมไปถึงสื่อและการโฆษณา
จากชื่อที่คิดขึ้นมาเล่น ๆ กลายเป็นคำติดหูและเข้าใจได้โดยทั่วกัน โรเซลล์จึงต้องยอมจำนนนให้ใช้ชื่อ ซูเปอร์โบวล์ ลงในโปรแกรมแข่งขันครั้งที่ 3 และปรากฏในตั๋วเข้าชมครั้งต่อมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้แฟน ๆ สนใจเท่าไรนัก เพราะพวกเขาเรียกมันว่าซูเปอร์โบวล์มาตั้งแต่แรกแล้วนั่นเอง
ทำไมต้องเป็นเลขโรมัน
การแข่งขันซูเปอร์โบวล์แต่ละปี จะไม่ใช้เลขปีต่อท้ายเหมือนอย่างการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศรายการอื่น ๆ แต่จะใช้เลขโรมันแทน เหมือนอย่างครั้งที่กำลังจะถึงนี้คือ Super Bowl LV (L เท่ากับ 50 ในเลขโรมัน และ V เท่ากับ 5)
เอ็นเอฟแอลให้คำอธิบายไว้ว่า การแข่งขันฤดูกาลปกติและช่วงโพสต์ซีซันจะแข่งคร่อมปีกัน ยกตัวอย่างเช่นฤดูกาล 2020 จะจบช่วงเรกูลาร์ซีซันในเดือนธันวาคมตามปีฤดูกาล แต่ช่วงโพสต์ซีซันจะเริ่มแข่งในเดือนมกราคมปี 2021 ดังนั้นเพื่อป้องกันการสับสนจึงใช้เลขจำนวนครั้งแทนที่เลขประจำปีที่ลงแข่งขัน
ส่วนสาเหตุที่ใช้เลขโรมันไม่ใช้เลขอารบิกนั้น เป็นเพราะ เอเอฟแอล รวมทั้ง ลามาร์ ฮันท์ (อีกแล้ว) ต้องการให้มีความหรูหราโอ่อ่า และหนักแน่น จึงเสนอต่อที่ประชุมเจ้าของทีมและฝ่ายจัดการแข่งขัน ก่อนจะได้รับเสียงสนับสนุนและเริ่มใช้ตั้งแต่ Super Bowl V เป็นต้นมา และมีการปรับโลโกการแข่งขัน 4 ครั้งแรกให้เปลี่ยนเป็นเลขโรมันเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 50 เอ็นเอฟแอลตัดสินใจใช้เลขอารบิก โดยให้เหตุผลว่า ตัว L ที่หมายถึง 50 ในเลขโรมันนั้นไม่สามารถออกแบบให้สวยงามได้เลย หลังจากลองถึง 73 รูปแบบด้วยกัน
วินซ์ ลอมบาร์ดี้ คือใคร ทำไมถูกนำมาตั้งเป็นชื่อโทรฟี่
วินซ์ ลอมบาร์ดี้ โทรฟี่ คือถ้วยรางวัลที่จะมอบให้ทีมแชมป์ซูเปอร์โบวล์ในแต่ละปี โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับ วินซ์ ลอมบาร์ดี้ อดีตเฮดโค้ชของ กรีนเบย์ แพ็กเกอร์ส ที่พาทีมคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 2 ครั้งแรก ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1970
ถ้วยดังกล่าว ผลิตจากเงินสเตอร์ลิง มีความสูง 56 เซนติเมตร หนัก 3.2 กิโลกรัม ถูกออกแบบโดย ออสการ์ รีดเนอร์ รองประธานบริษัท ทิฟฟานี่ แอนด์ โค ซึ่งร่างต้นแบบลงในกระดาษรองแก้วค็อกเทลระหว่างรับประทานอาหารกลางวันกับ พีท โรเซลล์ ประธานเอ็นเอฟแอล ในปี 1966
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกใช้ยังใช้ชื่อว่าถ้วยสำหรับ "แชมป์โลกอเมริกันฟุตบอลอาชีพ" ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น "วินซ์ ลอมบาร์ดี้ โทรฟี่" ในปี 1970 หรือซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
ทีมไหนคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์มากที่สุด
พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส (1974, 1975, 1978, 1979, 2005, 2008) และนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ (2001, 2003, 2004, 2014, 2016, 2018) คือสองทีมที่คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์มากที่สุด 6 สมัยเท่ากัน แต่ที่น่าทึ่งคือแชมป์ทั้งหมดของทีมนักรบกู้ชาติอยู่ในยุคของ ทอม เบรดี้ ยอดควอเตอร์แบ็กว่าที่ตำนานทั้งสิ้น ซึ่งหากเจ้าตัวไม่ย้ายออกมาอยู่กับ แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ก็มีสิทธิ์พาทีมแซงขึ้นไปเป็นอันดับ 1 เช่นกัน
ส่วนอันดับ 2 ร่วมคือ ดัลลาส คาวบอยส์ และ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ ไนเนอร์ส ที่ทำได้ 5 สมัย ตามด้วย กรีนเบย์ แพ็กเกอร์ส และนิวยอร์ก ไจแอนต์ส ที่คว้าแชมป์ทีมละ 4 สมัย
ขณะที่เมื่อนับสถิติรายบุคคล ทอม เบรดี้ คือผู้เล่นที่คว้าแชมป์มากที่สุด 6 สมัย และเข้าชิงมากที่สุดถึง 10 ครั้ง ซึ่งจำนวนแชมป์ของเขามีสิทธิ์เพิ่มเป็น 7 สมัยในการดวลกับ แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ เช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้
TAG ที่เกี่ยวข้อง