30 มกราคม 2564
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในวงการแบดมินตันยุคหลัง ไต้หวันหรือไชนีส ไทเป คือชาติที่มีพัฒนาการอย่างโดดเด่น และก้าวขึ้นมาฟาดฟันกับ จีน และ ญี่ปุ่น ได้อย่างน่าประทับใจ
แม้จะไม่ได้ถึงขั้นผลิตยอดนักแบดออกมามากมายจนครองวงการ แต่คุณภาพที่ได้ก็มาทดแทนจำนวนที่ขาดไปอย่างน่าชื่นชม
ในประเภทเดี่ยวพวกเขามี ไถ้ ซื่อ หยิง ยืนหนึ่งของโลกในประเภทหญิง ขณะที่ โจว เทียน เฉิน ก็เป็นรองแค่ เคนโตะ โมโมตะ จาก ญี่ปุ่นในประเภทชาย
และรายล่าสุดที่กำลังได้รับความสนใจคือประเภทชายคู่ ลี หยาง กับ หวัง จื่อ หลิน หลังสร้างผลงานระเบิดเถิดเทิงในการลงแข่ง 3 รายการใหญ่ในบ้านเรา
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โอกาสที่ไต้หวันจะคว้าเหรียญโอลิมปิกจากกีฬาแบดมินตันในโตเกียว 2020 มีมากน้อยขนาดไหน ติดตามได้ที่นี่
หญิงเดี่ยว : ไถ้ ซื่อ หยิง
นับตั้งแต่ที่ขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2016 ไถ้ ซื่อ หยิง ไม่เคยหล่นจากการเป็นนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือวาง 1 ใน 4 อันดับแรกของโลกแม้แต่ครั้งเดียว และที่แย่ที่สุดคือการหล่นเป็นมือ 4 ในช่วงเดือนกันยายนปี 2019 เท่านั้น
จนถึง ณ ชั่วโมงนี้ ไถ้ ซื่อ หยิง ครองมือ 1 ของโลกมาทั้งหมดรวมแล้วถึง 148 สัปดาห์ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจาก ซูซี่ ซูซานติ ตำนานชาวอินโดนีเซียเพียงคนเดียว
ขณะที่เรื่องการคว้าแชมป์ เธอก็ได้มาเกือบหมดแล้วไม่ว่าจะเป็น เวิลด์ ซูเปอร์ซีรี่ส์ ไฟนัลส์ 2 สมัย, ออลอิงแลนด์ 3 สมัย, อินโดนีเซีย โอเพ่น 2 สมัย, แชมป์เอเชีย 2 สมัย และหรียญทองเอเชียน เกมส์ 1 สมัย ขาดก็เพียงรายการใหญ่อย่าง โอลิมปิก เกมส์ และชิงแชมป์โลกเท่านั้น
ปัญหาก็คือ 2 รายการที่ว่า เพราะเหมือนเธอจะไม่ถูกโฉลกเท่าไรนัก เพราะจากการลงแข่งทั้ง 2 รายการรวม 7 ครั้ง ไถ้ ซื่อ หยิง ไม่เคยไปไกลกว่ารอบก่อนรองชนะเลิศ โดยใน โอลิมปิก เกมส์ หยุดอยู่แค่รอบ 16 คนทั้ง 2 ครั้ง ส่วนการลงแข่งชิงแชมป์โลก 5 ครั้งก็ตกรอบ 8 คนสุดท้ายทั้งหมด
อีกอย่างหนึ่งคือในประเภทหญิงเดี่ยวนั้น แต่ละคนฝีมือใกล้เคียงกันทั้งหมด แม้เธอจะเป็นมือ 1 มายาวนาน แต่เมื่อดูสถิติการเจอกันตัวต่อตัวแล้ว ไถ้ ซื่อ หยิง มีผลแพ้ชนะสูสีกับ กาโรลิน่า มาริน ที่ปีนี้ออกสตาร์ทด้วยฟอร์มร้อนแรงปราบไถ้ ซื่อ หยิง ในรอบชิงฯ 2 รายการรวด, รัชนก อินทนนท์, โนโซมิ โอกูฮาระ และอากาเนะ ยามากูชิ แบบห่างกันไม่กี่เกมเท่านั้น ถึงแม้พวกที่เหลืออย่าง เฉิน ยู่เฟย, เหอ ปิงเจียว และพีวี สินธุ จะมีสถิติห่างกันขาดลอยก็ตาม
จุดสำคัญอีกเรื่องคือจิตใจ ถึงแม้ว่าเราจะได้เห็น ไถ้ ซื่อ หยิง พลิกสถานการณ์ระหว่างเกมกลับมาเอาชนะได้บ่อยครั้ง แต่เมื่อเป็นภาพรวมที่ยังไม่ได้แชมป์รายการใหญ่เสียที ก็พาลทำให้ท้อได้เช่นกัน นอกจากนั้นเธอยังอยู่ในจุดที่ไม่ได้แคร์แล้วว่าจะได้แชมป์ 2 รายการนี้หรือไม่ เมื่อเปิดเผยว่าอาจแขวนแร็กเก็ตหลังจบฤดูกาล
อ่านเรื่องของ ไถ้ ซื่อ หยิง แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่
ชายเดี่ยว : โจว เทียน เฉิน & หวัง ซื่อ เหว่ย
แม้จะแจ้งเกิดช้ากว่าจะขึ้นเป็นมือชั้นนำของโลก โจว เทียน เฉิน ก็ใกล้จะเข้าสู่ช่วงปลายอาชีพแล้ว อย่างไรก็ตามการพัฒนาของเขาในช่วงหลังนั้นถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะหลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการเลิกจ้างโค้ชส่วนตัวเมื่อต้นปี 2019 นับตั้งแต่นั้น โจว เทียน เฉิน ทำหน้าที่วางแผนและแก้เกมด้วยตัวเองในทุกการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อนับตั้งแต่รายการ อินโดนีเซีย โอเพ่น ปี 2019 ถึงปัจจุบัน โจว เทียน เฉิน ลงแข่งไป 17 รายการ และเข้ารอบชิงฯ ได้ 6 รายการ คว้าแชมป์ 3 รายการ ซึ่งนับเป็นสถิติที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ขณะที่ หวัง ซื่อ เหว่ย แม้เรื่องความสำเร็จยังห่างไกลจากรุ่นพี่ แต่ก็พกดีกรีรองแชมป์เยาวชนโลก และเริ่มนับหนึ่งกับรายการระดับเวิลด์ ทัวร์ ได้แล้ว หลังคว้าแชมป์ ไซเอ็ด โมดี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อปี 2019
นอกจากนั้นในปีนี้ ยังทำผลงานได้น่าพอใจ เมื่อผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศรายการโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น และคว้าสิทธิ์เข้าไปเล่นรายการเวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ ซึ่งแม้จะต้องอยู่กลุ่มเดียวกับ อันเดอร์ส อันทอนเซ่น, อึ้ง กา หลง แองกุส และศรีกานธ์ คิดัมบี แต่ หวัง ซื่อ เหว่ย ก็สามารถเก็บชัย 3 นัดรวดผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้อย่างยอดเยี่ยม ก่อนจะตกรอบด้วยน้ำมือของอันทอนเซ่น แต่ก็ยื้อไปเล่นกันถึง 3 เกม
ถ้าจะพูดถึงความเป็นไปได้ในการลุ้นคว้าเหรียญโอลิมปิกของทั้งคู่ ปัญหาที่ต้องเผชิญนั้นต่างจาก ไถ้ ซื่อ หยิง ที่ฝีมือสูสีกับคู่แข่ง แต่เป็นเรื่องความต่างของฝีมือที่ยังดูห่างจนเกินไป สำหรับนักแบดคนอื่น ๆ นั้น ทั้งสองคนนี้สามารถสู้ได้หมดไม่เป็นรอง ผิดกับเมื่อเจอ เคนโตะ โมโมตะ และ วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น ที่ โจว เทียน เฉิน และ หวัง ซื่อ เหว่ย เป็นฝ่ายแพ้อยู่เสมอ ดังนั้นเหรียญทองแดงคงพอมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าหวังมากกว่านี้ต้องลุ้นสายตอนจับสลากว่าจะเป็นใจหรือไม่
อ่านเรื่องของ โจว เทียน เฉิน แบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่
ชายคู่ : ลี หยาง / หวัง จื่อ หลิน
หากเทียบกับ 2 ประเภทข้างต้นแล้ว คู่นี้จัดว่าความเป็นไปได้กว้างมากที่สุด แม้จะเพิ่งจับคู่กันในปี 2019 แต่ก็คว้าแชมป์มาแล้ว 6 รายการ และถ้านับเฉพาะผลงานในปีนี้แล้ว ต่อให้เป็นคู่มือ 1 ของโลกอย่าง เควิน ซานจายา ซูกามุลโจ / มาร์คัส เฟอร์นาลดี้ กีเดียน หรือคู่จากจีนและญี่ปุ่นที่ไม่ได้มาลงแข่ง ก็ต้องมีหนาว ๆ ร้อน ๆ เช่นกัน เพราะ ลี หยาง กับ หวัง จื่อ หลิน ทำผลงานสุดหรู คว้าแชมป์ทั้ง 3 รายการที่ไทย รวมถึงรายการ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ ซึ่งแม้ต้องเจอคู่เก๋าที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายอย่าง โมฮัมหมัด อาซาน และเฮนดรา เซเตียวาน จาก อินโดนีเซีย แต่ทั้งคู่ก็ใช้ความสดบดเอาชนะได้ถึงสองครั้งสองครา ทั้งในรอบรองฯ รายการ โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น และรอบชิงฯ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์
จุดแข็งของคู่นี้คือเรื่องของพละกำลัง ที่ดูเหมือนจะเป็นแผนหลักของไต้หวันในการสร้างนักแบดยุคปัจจุบัน สังเกตได้จากความฟิตของ ไถ้ ซื่อ หยิง และ โจว เทียน เฉิน รวมทั้ง หวัง ซื่อ เหว่ย ซึ่งแน่นอนว่าคู่นี้ก็ไม่ต่างกัน โดยที่เจ้าตัวยอมรับเองเลยว่าเรื่องเทคนิคพวกเขาอาจจะสู้ชาติอื่น ๆ ไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องใช้กำลังเข้ามาทดแทน
ถ้าวัดจากแค่ฟอร์มในการแข่งที่ไทย แน่นอนคู่นี้มีลุ้นถึงเหรียญใดเหรียญหนึ่งในโอลิมปิก เกมส์ แต่ยังมีตัวแปรอยู่อีกหลายคู่ โดยเฉพาะ เควิน / มาร์คัส ที่มีทั้งเทคนิคและความฟิต เช่นเดียวกับ หลี่ จุน ฮุย / หลิว ยู่ เฉิน จาก จีน, ฮิโรยูกิ เอ็นโดะ / ยูตะ วาตานาเบะ และ ทาเคชิ คามูระ / เคโกะ โซโนดะ จาก ญี่ปุ่น ที่เขี้ยวลากดินไม่แพ้กัน
ดังนั้น ลี หยาง / หวัง จื่อ หลิน รวมทั้งโค้ชของไต้หวัน ต้องรักษาโมเมนตัมจากการมาลงแข่งที่ไทยเอาไว้ต่อไป และพยายามเติมสิ่งที่ยังขาดไปให้มากขึ้น เมื่อทำได้แล้ว ก็มีลุ้นสอดแทรกขึ้นไปประสบความสำเร็จได้เช่นกัน