27 มกราคม 2564
คุณจะทำอย่างไรถ้าวันหนึ่งมี 2 ทางเลือกให้ชีวิต คือ 1.เส้นทางที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก มีอนาคตที่แน่นอน รวมทั้งมีผู้ปูทางเอาไว้ให้ กับ 2.เส้นทางที่แทบไม่รู้จัก อนาคตที่ไม่แน่นอน และต้องเหนื่อยยากแสนสาหัส หากหวังจะไปให้ถึงเป้าหมาย
ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรอกว่า การตัดสินใจของเราจะทำให้ต้องเสียใจภายหลังหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่มีผิดถูก แต่อยู่ที่ว่าเมื่อเลือกไปแล้วคุณทุ่มเทอย่างเต็มที่หรือไม่
เหมือนอย่างที่ กาโรลิน่า มาริน เลือกก้าวเดินออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง ตอนอายุได้เพียง 14 ปี
การตัดสินใจครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธออย่างไร และสาเหตุอะไรที่ทำให้นักแบดมินตันจากชาติที่มีฟุตบอลกับเทนนิสเป็นกีฬายอดฮิต ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์โลก 3 สมัย รวมทั้งเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ติดตามได้ที่นี่
จากฟลอร์เต้นรำสู่คอร์ทแบดมินตัน รักแรกพบเปลี่ยนชีวิต
พ่อแม่หลาย ๆ คนย่อมอยากเห็นลูกเจริญรอยตามเส้นทางของตัวเอง เช่นเดียวกับแม่ของมารินที่เป็นนักเต้นฟลาเมงโกมืออาชีพ(ฟลาเมงโกคือการเต้นระบำอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสเปน) ก็ย่อมอยากให้ลูกตามก้าวมาในเส้นทางเดียวกับเธอเช่นกัน โดย อังโตเนีย มาร์ติน แม่ของมารินเปิดเผยว่า เธอให้ลูกสาวของตัวเองเข้าคลาสเรียนเต้นฟลาเมงโกตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุ 8 ขวบ มาริน ก็ได้รู้จักกีฬาชนิดใหม่ที่ทำให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาล หลังจากที่เพื่อนชวนไปเล่นแบดมินตันที่ศูนย์กีฬาแถวบ้าน และเมื่อแรกพบเธอก็ตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้ทันที
"ในสเปน เราจะคุ้นเคยกับไม้เทนนิสตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเมื่อได้เห็นลูกขนไก่และแร็กเก็ตที่แตกต่าง ทำให้ฉันสนใจอย่างมาก"
ในสมัยนั้นด้วยความที่แบดมินตันไม่ได้เป็นที่รู้จักในสเปนมากนัก ต่างจากฟุตบอล, เทนนิส หรือมอเตอร์สปอร์ตส์ แม่ของมารินจึงแทบไม่เคยได้ยินชื่อกีฬาชนิดนี้ แต่แล้วเธอก็สนับสนุนด้วยการซื้อแร็กเก็ตให้ลูกสาวในวันถัดมา
นับจากเวลานั้น มารินก็ไม่เคยเอาใจออกห่างจากแบดมินตันได้อีกเลย
ทางแยกของชีวิต ที่ลิขิตด้วยตัวเอง
มารินเล่นแบดมินตันควบคู่ไปกับฟลาเมงโก แต่เมื่ออายุได้ 12 ปี ครอบครัวก็ให้เธอตัดสินใจเอาดีแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะไปไม่สุดสักทาง ซึ่งด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนชอบความท้าทาย รักการแข่งขันและหลงใหลในแบดมินตันแบบถอนตัวไม่ขึ้น เธอจึงเลือกเส้นทางที่รู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ง่ายที่จะไปถึงจุดสูงสุด
แต่เมื่ออายุได้ 13 ปี เธอก็พบคนที่จะพาไปถึงจุดนั้น นั่นก็คือ เฟร์นานโด ริบาส โค้ชแบดมินตันที่เห็นแววของมารินจากการลงแข่งชิงแชมป์แห่งชาติรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ถึงขั้นที่ว่าส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับพ่อแม่ของมารินให้ยอมส่งตัวลูกสาวไปอยู่ในความดูแลของเขาที่ศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในกรุงมาดริด
แน่นอนนี่คือการตัดสินใจที่ยากสำหรับพ่อแม่ แต่สำหรับมารินแล้วนี่คือโอกาสที่เธอต้องรีบคว้าเอาไว้แม้จะต้องแลกกับการออกห่างจากครอบครัวที่อูเอลบาก็ตาม
การเดิมพันที่ไม่มีแม่แบบ เพื่อเป้าหมายคือจุดสูงสุด
มารินได้ย้ายมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกกีฬาในกรุงมาดริดตั้งแต่อายุ 14 ปี ภายใต้การดูแลของ ริบาส ซึ่งทั้งคู่รู้ดีว่าการจะก้าวขึ้นไปเป็นที่สุดของกีฬาชนิดนี้นั้น พวกเขาต้องหาทางด้วยตัวเอง เพราะไม่เคยมีใครในสเปนประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้มาก่อน
"ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนในเทนนิส ราฟา นาดาล มีนักกีฬาให้เขาเอาเป็นแบบอย่าง มีคนที่แผ้วทางเอาไว้ให้ แต่ฉันไม่มีอะไรแบบนั้น ตัวช่วยของฉันมีแค่โค้ชและทีมงานซึ่งฉันต้องเชื่อมั่นในตัวพวกเขา นี่เป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับเรา แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องก้าวไปในหนทางที่ไม่เคยรู้จัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในใจของเธอก็คือความรักในกีฬาแบดมินตัน
"ฉันเล่นแบดมินตันต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันสูง และฉันเองก็เป็นคนที่ชอบการแข่งขัน ดังนั้นนี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำไมฉันถึงรักแบดมินตัน"
และด้วยพรสวรรค์บวกกับความได้เปรียบจากการเป็นนักแบดถนัดซ้าย ร่วมกับการฝึกอันหนักหน่วงแบบเลือดตาแทบกระเด็น มารินก็ก้าวขึ้นมาสร้างชื่อในระดับนานาชาติได้สำเร็จ
ไม่หยุดถ้ายังไม่สุด
ผลลัพธ์จากการทุ่มเทของมารินและริบาสเริ่มสัมฤทธิ์ผล มารินคว้าแชมป์ระดับนานาชาติได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี เมื่อปี 2009 ก่อนคว้าแชมป์ยุโรปรุ่นเยาวชนในปี 2011 และอันดับ 3 เยาวชนโลกในปีเดียวกัน หลังจากนั้นกราฟของเธอก็มีแต่จะพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์กรังด์ปรีซ์รายการแรกในปี 2013 ตามด้วยแชมป์ซูเปอร์ซีรี่ส์และแชมป์ยุโรปในปี 2014 ซึ่งที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการคว้าแชมป์โลกหลังชนะ หลี่ เสี่ยว เร่ย ตัวเต็งของรายการในรอบชิงชนะเลิศ กลายนักแบดมินตันชาวสเปนคนแรกที่คว้าแชมป์โลก และเป็นนักแบดมินตันหญิงคนที่ 3 ของยุโรปที่ทำได้สำเร็จ
แล้วเธอเคยคิดหรือไม่ว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ได้?
"ไม่ ฉันไม่เคยคิดแบบนั้นมาก่อน ฉันแค่ไม่หยุดพยายาม และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ แต่ไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้อะไรกลับมา อย่างเดียวที่ฉันคิดอยู่ตลอดคือฉันทำได้เพราะฉันคิดว่าตัวเองทำได้"
ไม่ใช่แค่ความพยายาม แต่ความสำเร็จของมารินก็ไม่มีหยุดเช่นกัน หลังจากคว้าแชมป์โลกได้ตอนอายุ 21 ปี เธอก็ก้าวขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกในปีต่อมาบวกกับการป้องกันแชมป์โลกได้สำเร็จ และในปี 2016 มารินก็ก้าวขึ้นสู่จุดที่สูงขึ้นไปอีก นั่นก็คือเหรียญทองโอลิมปิก
เหรียญสองด้านจากโอลิมปิก
ถ้าพูดถึง โอลิมปิก เกมส์ กับ มาริน แล้ว นับว่ามีความเกี่ยวพันช่วงอาชีพที่ขึ้นลงของเธอไม่น้อย เพราะก่อนที่เธอจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดคือการคว้าเหรียญทองในปี 2016 มารินได้ไปร่วมการแข่งขันตั้งแต่ลอนดอน เกมส์ ปี 2012 แต่ตกรอบแบ่งกลุ่ม ทำให้เธอผิดหวังและคับแค้นใจอย่างมากถึงกับสักรูปห้าห่วงโอลิมปิกไว้ที่ข้อมือข้างซ้าย เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและเป็นการให้สัญญากับตัวเองว่า เธอจะประสบความสำเร็จให้ได้ในโอลิมปิกครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม มารินไปได้ไกลมากกว่าที่เธอคิดเอาไว้ จากความผิดหวังที่ลอนดอน เธอเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเครื่องจักร ค่อย ๆ พัฒนาฝีมือขึ้นมาทีละขั้น จนก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของโลก และทำเป้าหมายคือเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จในการแข่งที่ริโอ เดอ จาเนโร
แชมป์โลก 2 สมัยซ้อน, มือ 1 ของโลก และเหรียญทองโอลิมปิก มารินกลายเป็นนักแบดมินตันหญิงที่ดีที่สุดในโลกในวัยเพียงแค่ 23 ปี แต่ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เธอก็หมดแรงจูงใจที่จะทุ่มเทต่อไป จนทำให้ร้างแชมป์ซูเปอร์ซีรี่ส์นานเกือบ 2 ปี
"ฉันไม่มีแรงจูงใจที่จะบอกตัวเองให้ฝึกหนักต่อไป มันเป็นเรื่องยากไม่ใช่แค่กับตัวฉันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทีมงานที่ต้องกระตุ้นตัวเองด้วย เพราะฉันก้าวไปถึงจุดที่สูงที่สุดแล้ว"
แรงจูงจากไอดอล ที่ไม่ใช่นักแบดมินตัน
หลังจากร่วมด้วยช่วยกันหาหนทางจุดไฟในตัวให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง มาริน ก็ได้แรงบันดาลใจจากไอดอลในวัยเด็ก นั่นก็คือ ราฟาเอล นาดาล ว่าที่ตำนานนักเทนนิสชาวสเปนซึ่งประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ยืนระยะได้อย่างยาวนาน
"เขา(นาดาล) เป็นแรงบันดาลใจให้ชั้นอย่างมาก นาดาลประสบความสำเร็จทุกอย่างในอาชีพ แต่ยังคงต้องการคว้าชัยชนะต่อไป และฉันก็ต้องการทำแบบนั้นเช่นกัน"
เมื่อความมุ่งมั่นกลับมาอีกครั้ง มารินก็คืนฟอร์มเก่งของตัวเอง ในปี 2018 เธอคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ตามด้วยการคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 และคว้าแชมป์ เวิลด์ ทัวร์ 2 รายการใหญ่ติดต่อกันในเดือนกันยายนคือ เจแปน โอเพ่น และไชน่า โอเพ่น โดยการคว้าแชมป์โลกหนนี้ยังทำให้มารินเป็นนักแบดมินตันหญิงคนแรกที่ทำได้ถึง 3 สมัยอีกด้วย
เอ็นเข่าฉีก, โควิด-19 และการเสียชีวิตของพ่อ
จากผลงานสุดยอดในช่วงปลายปี 2018 หลายคนต่างคิดว่า มาริน จะกลับมาอยู่บนจุดสูงสุดอีกครั้งในปีต่อมา แต่เหตุการณ์พลิกผันเมื่อเธอได้รับบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกในเดือนมกราคม เธอต้องพักฟื้นจากการผ่าตัดนานถึง 4 เดือน ก่อนจะทุ่มเทเวลาถึง 10 ชั่วโมงต่อวันในการเรียกความแข็งแกร่งและเทคนิคของตัวเองกลับคืนมา
มารินกลับมาลงแข่งได้อีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากหยุดไปนานถึง 8 เดือน แม้จะตกรอบแรกในรายการแรก แต่คืนฟอร์มได้อย่างรวดเร็วในรายการถัดมา โดยคว้าแชมป์ศึกใหญ่อย่าง ไชน่า โอเพ่น ด้วยการชนะ ไถ้ ซือ หยิง ก่อนจะคว้าแชมป์อีก 2 รายการในเดือนธันวาคม
หลังจากกลับมาเป็นมือวาง 10 อันดับแรกของโลกอีกครั้ง มาริน ออกสตาร์ทปี 2020 ได้น่าดูชม เมื่อไปถึงรอบรองชนะเลิศ 3 รายการ และเข้าชิง 2 รายการ จาก 5 รายการในช่วงต้นปี แต่ฟอร์มของเธอก็ต้องมาสะดุดอีกครั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าจนต้องระงับการแข่งขันยาวถึงช่วงปลายปี
ขณะเดียวกันเธอยังต้องพบกับข่าวร้ายอีกระลอก เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม หลังได้รับอุบัติเหตุในเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม ด้วยยี่ห้อ กาโรลิน่า มาริน ย่อมไม่มีทางยอมแพ้อะไรง่าย ๆ
กลับมามุ่งมั่นเพื่อ 2 เป้าหมายใหญ่ในปี 2021
มารินยอมรับว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับเธอ แต่ความมุ่งมั่นในการไปให้ถึงเป้าหมายยังไม่จางหายไป โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีทั้งโอลิมปิก เกมส์ และชิงแชมป์โลกรออยู่ โดยรายการหลังยังเป็นการไปแข่งที่อูเอลบา บ้านเกิดของเธออีกด้วย (BWF ยังไม่ยืนยันโปรแกรมแข่งขัน)
"เป็นเรื่องจริงที่ฉันเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ แต่ฉันอยากจะพลิกชะตาของตัวเองเพื่อพุ่งเป้าไปในปี 2021 ที่มี 2 เป้าหมายใหญ่รออยู่"
"ฉันอยากเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นฉันจึงต้องคว้าแชมป์โอลิมปิกอีกครั้ง รวมทั้งต้องได้แชมป์โลกอีกอย่างน้อย 2 หน" หากเธอทำได้สำเร็จ จะเทียบเท่าตำนานอย่าง หลิน ตัน สุดยอดนักแบดชายเดี่ยวชาวจีน เจ้าของแชมป์โลก 5 สมัย และแชมป์โอลิมปิก 2 สมัย
การเตรียมความพร้อมสำหรับโอลิมปิกปีนี้ มารินเปิดเผยว่าเธอต้องฝึกหนักยิ่งกว่าเมื่อครั้งได้เหรียญทองหนแรก ขณะที่ ริบาส เพิ่มกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในเกมบุกเพื่อให้คู่แข่งยากจะจับทางได้
ผลลัพธ์จากความทุ่มเทพยายามของทั้งคู่ก็ออกผลอีกครั้ง จากการคว้าแชมป์ 2 รายการใหญ่ที่ไทยคือ โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น และโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 2 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยไม่เสียแม้แต่เกมเดียว และเป็นการเอาชนะไถ้ ซื่อ หยิง มือ 1 ของโลกจากไต้หวันทั้ง 2 รายการ
แม้จะน่าเสียดายที่มารินทำสถิติคว้า 3 แชมป์ติดต่อกันไม่สำเร็จ หลังถูก ไถ้ ซื่อ หยิง แก้มือในรายการเวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ ทำให้ยังเป็นรายการใหญ่รายการเดียวในอาชีพที่เธอยังไม่เคยคว้าแชมป์ แต่ข้อดีคือได้เข้าถึงรอบชิงฯ เป็นครั้งแรก และเธอก็ไม่ปล่อยให้ความพ่ายแพ้ดึงให้ถอยหลัง เมื่อคว้าแชมป์ได้ทันทีในรายการต่อมาคือ สวิส โอเพ่น และประกาศศักดาว่าในยุโรปเธอคือเบอร์หนึ่ง เมื่อคว้าแชมป์ทวีปสมัยที่ 5 ติดต่อกัน
ดูจากฟอร์มของมารินแล้ว ถ้าไม่มีอะไรผิดความคาดหมายเกิดขึ้น โอกาสที่จะป้องกันแชมป์โอลิมปิก และการคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 ก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว
TAG ที่เกี่ยวข้อง