stadium

ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล สร้างทุกอย่างจากสิ่งที่รัก เพื่อคนที่รัก

21 พฤษภาคม 2563

เด็กคนนึงเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องการเงิน ต้องดำเนินชีวิตในแต่ละวันกันอย่างมัธยัสถ์ ประหยัดทุกอย่าง กินข้าวไข่เจียวอยู่เป็นอาทิตย์ หยิบไก่ที่ทำตกพื้นขึ้นมากินต่อ ต้นทุนชีวิตต่ำกว่าใครหลายคน แต่ใครจะคิดว่า กีฬาเทเบิลเทนนิส สิ่งเดียวที่เขารักจะพลิกชีวิตความเป็นอยู่ครอบครัวได้


 

ปัจจุบันชีวิตของเขาพลิกผันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากเด็กที่จะใช้เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ต้องคิดแล้วคิดอีก จะมีบ้าน มีรถเบนซ์ขับ ครอบครัวอยู่สุขสบายตั้งแต่อายุ 24 ปี ทุก ๆ อย่างถูกสร้างขึ้นมาจากการเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิส


 

นี่คือเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ชื่อว่า ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทย

 

 

จากเด็กสอบได้ที่โหล่สู่อันดับ 2 ของชั้นเรียน

 

“เมื่อก่อนบ้านผมจนมาก ผมตีปิงปองเงินทุกบาทให้แม่หมด เหมือนแรงขับเคลื่อนของผมคือครอบครัว” ภาดาศักดิ์ เริ่มเล่าย้อนความทรงจำในวัยเด็กให้เราฟัง

 

ภาดาศักดิ์ หรือ ไบร์ท เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็กด้วยครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ชั้นประถมเรียนโรงเรียนเอกชน แต่ทว่าด้วยบุคลิกทีเป็นคนรักความสนุกเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ผลการเรียนในวัยเด็กเขามักจะสอบได้ที่สุดท้ายและรองสุดท้ายของชั้นเรียนอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งอายุได้ 8 ขวบ เขาได้เริ่มรู้จักกับกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นครั้งแรก จากการชักชวนของพี่ชายที่เล่นกีฬาชนิดนี้มาก่อนแล้ว 

 

“ผมเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง แม่เลยจับมาเล่นกีฬา” ไบร์ท เริ่มต้นบทสนทนา “ผมเริ่มจากว่ายน้ำครับ แต่ไม่ชอบ อยู่มาวันนึงพี่ชายผมซึ่งตีปิงปองอยู่แล้วเกิดอยาหาคู่มาเล่นด้วย ก็เลยมาสอนผมตี พอเล่นแล้วผมรู้สึกชอบก็เลยเล่นมาเรื่อยๆ”

 

หลังจากเล่นปิงปองมาได้สักพัก ครอบครัวเห็นว่ามีแวว ก็เลยพาเดินสายออกแข่งรายการต่างๆ ซึ่งการเป็นนักกีฬาได้เปลี่ยนชีวิตเขาโดยไม่รู้ตัว จากเด็กที่รักการเล่นสนุกไปวันๆ ไม่มีสมาธิ แต่พอได้จับไม้ปิงปองแล้ว เขากลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ตื่นเช้ามาซ้อม สมาธิดีขึ้น และสุดท้ายผลการเรียนก็ดีขึ้น ตอนอยู่ ป.6 ไบร์ท สอบได้ที่ 2 ของห้อง

 

“เวลามีแข่งต่างจังหวัด ผมจะหยุดเรียนแล้วต้องมาตามส่งงานเองทีหลัง ก็รู้สึกว่าหลังจากเรียนแล้วมาซ้อม ทำให้เราจัดระบบให้ตัวเองมีวินัยมากขึ้น เวลาเรียนก็จริงจังขึ้น เป็นผลพลอยได้ควบคู่ไปกับการเรียนถึง ม.ต้น”

 

 

 

ชีวิตทำท่าจะดีขึ้นทั้งการเรียนและกีฬา แต่เขากลับต้องมาเจอปัญหาครอบครัวตั้งแต่เด็ก เมื่อพ่อของไบร์ทตกงาน แม่ต้องทำงานคนเดียว ส่งผลให้ครอบครัวเริ่มขัดสนทางการเงิน ใช้ชีวิตในช่วงนั้นอย่างยากลำบาก จะใช้เงินแต่ละบาทต้องคิดแล้วคิดอีก กินข้าวไข่เจียวทุกมื้ออยู่เป็นอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งทำไก่ตกพื้น ก็ยังต้องหยิบขึ้นมากิน ชีวิตทั้งหมดเปลี่ยนให้เขาจากที่เคยใช้ชีวิตสนุกสนานในแต่ละวัน กลายเป็นคนอยากจะใช้ปิงปองมีส่วนร่วมในครอบครัวมากยิ่งขึ้น และพัฒนาตัวเองจนติดเยาวชนทีมชาติในที่สุด

 

“ครอบครัวช่วงแรกผมอยู่บ้านเซ้ง ก่อนป.6 อยู่ได้แปปเดียวต้องย้ายออก ไม่รู้จะไปอยู่ไหนกัน กินไข่เจียวทุกวัน อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด ได้ตังวันละ 20 บาท กินข้าวโรงเรียน ขนาดไก่ตกพื้นยังต้องกิน สักพักพ่อตกงาน แม่ก็ต้องขายทรัพย์สินที่มี ก็เลยช่วยแม่ทุกอย่าง ได้เงินจากแข่งก็ให้แม่หมด ตอนนั้นพี่ชายเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ต้องช่วยประคับประคองจนพี่ชายเรียนจบ ชีวิตเลวร้ายมากครับไม่มีบ้านอยู่ กินก็ต้องประหยัด”

 

พักการเรียนตามหาฝัน

โชคยังดีที่ ไบร์ท มีความสามารถด้านกีฬาค่อนข้างสูงกว่าเด็กทั่วไป ช่วงเวลาที่ครอบครัวกำลังตกอยู่ในความลำบากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในเวลาเดียวกัน ไบร์ท อายุได้ 15 ก็ติดเยาวชนทีมชาติ และเป็น 1 ใน 2 ดาวรุ่งร่วมกับ ธมลวรรณ เขตต์เขื่อน ที่สมาคมฯเสนอชื่อให้เข้ารับทุนจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ หรือ ไอทีทีเอฟ เก็บตัวในโครงการเตรียมยูธโอลิมปิกเกมส์ 2014 

 

“ทุนนั้นให้โอกาสผมไปซ้อมที่สวีเดนเป็นเวลา 3 ปี ไปฟรีทุกอย่างๆ ค่าอยู่ ค่ากิน ช่วงนั้นก็ปรึกษากับครอบครัว คุยกับโค้ชกิจ (กรกิจ เสริมกิจเสรี โค้ชทีมชาติไทย) วางแผนชีวิตกันแล้วว่าผมอยากไปซ้อมที่นั่นนะ เพราะมันเหมือนเป็นความฝันของผมด้วยครับที่อยากไปเล่นในต่างประเทศสักครั้ง ก็เลยตัดสินใจแล้วว่า จะไม่เรียนต่อ ม.ปลาย พักเรื่องเรียนเอาไว้ก่อน ขอเดิมพันกับการเล่นปิงปองดูสักครั้ง ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็ค่อยกลับมาเรียนใหม่ได้ ตอนนั้นก็เลยไปลงเรียน การศึกษานอกระบบ (กศน.) ไว้ แล้วก็บินไปสวีเดน”

 

 

ชีวิตที่ สวีเดน ช่วงเวลาแห่งการเติบโต

ไบร์ท ย้ายไปอยู่ที่เมือง ฟัลเคนเบิร์ก เป็นจังหวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในประเทศสวีเดน ผู้คนที่นั่นใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กอายุ 15 ปี ที่ต้องเก็บข้าวของไปใช้ชีวิตต่างประเทศเพียงลำพัง ใช้ชีวิตอยู่ในห้องพักสี่เหลี่ยม จะคุยกับใครก็ลำบากด้วยความแตกต่างทางภาษา

 

“ช่วงแรกๆ ผมเป็นโฮมซิกเลยครับ ร้องไห้อยากกลับบ้านทุกวัน คิดถึงครอบครัว โทรหาแม่ตลอดคุยไม่เคยขาด” 

 

อย่างไรก็ตามการเดินทางครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตเขาไปทุกอย่างจากที่ไม่เคยทำอะไรด้วยตัว ต้องซักผ้า ล้างจาน ไปไหนมาไหนคนเดียว ค่อยๆปรับตัวได้ทีละเล็กละน้อย นับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าที่หาไม่ได้จากไนไทย

 

“อะไรหลายอย่างเปลี่ยนไปครับ แต่ก่อนแม่ไปส่งสนามซ้อม เดี๋ยวนี้ต้องปั่นจักรยานไปเอง นั่งรถไฟไปแข่งเอง ต้องทำอะไรด้วยตัวเองทุกอย่าง เมืองที่ผมอยู่คนน้อยไม่ค่อยมีใคร ช่วงแรก ๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษา แต่โชคดีมีนักกีฬาคนอื่นๆ เข้าใจเรา ก็ช่วยผมได้เยอะ รวมถึงด้วยความที่ตัวเราเป็นคนไทย มีความเกรงใจด้วย”

 

ในปีแรก ไบร์ท ซ้อมอยู่กับทีม "ฟัลเคนเบิร์ก บีทีเค" สโมสรในลีกสูงสุด แต่ว่าถูกดึงตัวไปกับทีลีกดิวิชั่น 3 ของสวีเดน ผลงานในปีนั้นโชว์ฟอร์มได้เหนือชั้นมาแข่งชนะทั้ง 32 แมตช์ที่ลงแข่งโดยไม่แพ้เลย หลังจากนั้น ไบร์ท ขยับขึ้นมาเล่นในดิวิชั่น 2 อยู่ 2 ปี ผลงานยังคงยอดเยี่ยมอยู่ ชนะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อครบกำหนด 3 ปี เขาต้องไปแข่งยูธโอลิมปิกตามแผนงานที่วางไว้ ผลงานในครั้งนั้น ไบร์ท จบที่ 4 แสดงให้เห็นแล้วว่าเขามีความสามารถพอสู้ต่างประเทศได้ ทำให้ "ฟัลเคนเบิร์ก บีทีเค" สโมสรในลีกสูงสุดในสวีเดนที่ ไบร์ท ซ้อมอยู่ด้วย ตัดสินใจยื่นสัญญาการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสอาชีพให้กับเขาเป็นเวลา 1 ปี

 

“ตอนนั้นดีใจมากครับเพราะความฝันของผมคือการเล่นลีกอาชีพที่ยุโรป ถือว่าโชคดีมากที่สมาคมฯเลือกผมเข้าโครงการในตอนนั้น เพราะในประเทศยังมีนักกีฬาฝีมือดีแต่ไม่มีโอกาสอีกหลายคน”

 

“เอาจริง ๆ แล้วลีกสวีเดนเก่งนะ ทุกทีมเบียดกันตลอดเปลี่ยนแชมป์ทุกปี ทุกทีมจะมีโควตานักกีฬาเอเชียทีมละคน ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น จีน ระบบลีกสวีเดน เขาจะเล่น ชนะ 4 ใน 6 แต้ม นักกีฬา 3 คน ส่วนใหญ่ผมจะเป็นมือ 1 เล่นวนกันไป ปีแรกผมเล่นอาชีพเต็มตัวพาทีมเข้าถึง 4 ทีมสุดท้าย หลังจากนั้นไม่ได้เข้าอีกเลย จนถึงปีสุดท้ายที่ได้ผมก็พาทีมเข้ารอบรองฯได้แล้วแต่ดันติดโควิดเลยยกเลิกการแข่งขัน”

 

 

สถานีต่อไป 

หลังจบฤดูกาล 2019-2020 ไบร์ท ตัดสินใจออกจากสวีเดนที่อยู่มานานถึง 9 ปี เนื่องจากต้นสังกัดไม่มีความแน่ชัดถึงการทำทีม จึงเลือกที่จะย้ายไปอยู่กับสโมสร Athletic club boulongne billancourt tennis de table ในลีกดิวิชั่น 3 ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยากขึ้นอีกระดับ 

 

“เป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เพราะผมอยู่สวีเดน 9 ปี เกือบครึ่งชีวิตของผมแล้ว มันผูกพัน เหมือนบ้านหลังที่ 2 แต่ที่ต้องออกมาเพราะช่วงหลังสโมสรโดนตัดงบเหลือน้อยลงทุกปี 3-4 ปี หลัง ต้องซ้อมกันเองมีแค่โค้ชที่แบบคอยช่วยส่งลูกให้ ไม่มีโค้ชที่สอนเทคนิค ต้องดูแลกันเอง ถ้าสโมสรไม่ทำทีมผมก็จบ อายุผมก็ 24 แล้ว ถึงเวลาต้องขยับขยายบ้าง”

 

“ซึ่งช่วงที่ลีกสวีเดนพัก ผมก็มีโอกาสได้ไปเล่นให้กับทีมในฝรั่งเศสบางแมตช์ แล้ววันนึงเขาสนใจอยากให้ผมไปซ้อมและแข่งให้เขา ทางฝั่งสวีเดนไม่พร้อมด้วย ก็เลยเลือกฝรั่งเศส” 

 

“ไปฝรั่งเศสก็เซ็นสัญญาปีต่อปีเหมือนเดิมครับ แม้ว่าจะเล่นในดิวิชั่น 3 แต่ผมมองว่ามาตรฐานสูงกว่าดิวิชั่น 1 ที่สวีเดน เพราะที่นี่มีนักกีฬาเก่งๆเยอะ ที่ไม่เลือกแข่งระบบโปรทัวร์ เก็บคะแนนอันดับโลก ด้วยเหตุผลเรื่องงบประมาณ บางคนรู้ตัวว่าไปก็ไม่ได้แชมป์ ไม่ติดทีมชาติ ก็เลยเล่นแต่ลีกอาชีพดีกว่า”

 

 

ทุ่มเท มุ่งมั่น สูตรแห่งความสำเร็จ

ถ้าจะบอกว่า ภาดาศักดิ์ เป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสชายไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบ 10 ปี ก็คงไม่เกินไปนัก จับคู่กับ สุธาสินี เสวตรบุตร คว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2017 ในประเภทคู่ผสม ครั้งแรกในรอบ 32 ปี , ควอลิฟายผ่านเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2016 รอบสุดท้าย ที่ประเทศบราซิล , อันดับ 4 ยูธโอลิมปิก เล่นลีกอาชีพที่ต่างประเทศ แม้ไม่ได้แชมป์มากมาย แต่ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ยอมทิ้งอนาคตทางการศึกษา เพื่อให้ตัวเองก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพขึ้นทุกวัน

 

“อยู่สวีเดนซ้อมวันละ 6 ชั่วโมง ต้องสละชีวิตในวัยเด็กเหมือนคนอื่น ๆ มาใช้ชีวิตอยู่คนเดียวที่ต่างประเทศ ได้เจอหน้าครอบครัวปีนึงไม่กี่ครั้ง”

 

“ผมต้องแลกมาด้วยทุกอย่าง ผมอยู่ต่างประเทศมาครึ่งชีวิต อยากอยู่กับแม่ใจแทบขาด เพื่อนบอกเมิงสบาย แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้สบายเลยอย่างทึ่คนอื่นคิด วันเกิดไม่เคยได้จัด สงกรานต์ไม่เคยได้เล่น เทศกาลก็ลืมไปได้เลย วันหยุดไม่เคยได้ไม่ได้หยุด เวลาที่คนอื่นพักผมไม่ได้พักผมซ้อม แต่ก็ได้ผลการตอบแทนที่คุ้มค่าและพอใจที่จะแลกมา”

 

“ผมไม่ได้เก่งที่สุด แต่ผมทุ่มเทให้กับปิงปองสุดๆแล้ว เพราะผมรักในการเล่นกีฬาชนิดนี้ ผมเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากความพยายาม ต่อให้เราไม่ได้แชมป์สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือ วินัย ซึ่งมันจะติดตัวเราไปจนตาย”

 

ผลจากความพยายามพัฒนาตัวเองอย่างหนักในทุกวัน ทำให้ชีวิตในวันนี้ไม่ลำบากอีกต่อไป เป็นนักกีฬาทีมชาติ เวลาแข่งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ก็จะมีเงินเดือนนักกีฬาเป็นรายได้อีกทาง

 

 

ทำสิ่งที่รักเพื่อคนที่รัก

ภาพจำในวัยเด็กทำให้เขาไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเหมือนแต่ก่อน เลยฝันที่อยากจะเห็นครอบครัวใช้ชีวิตกันอย่างสุขสบาย เก็บความลำบากทุกอย่างมาเป็นแรงผลักดันมุ่งมั่นเล่นกีฬาเพื่อเก็บเงินให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่เด็กรายได้จากการแข่งขันทุกครั้ง ไบร์ท จะมอบให้กับคุณแม่เก็บไว้เสมอ จนในวันนี้เขาได้สร้างชีวิตในฝันขึ้นมาสำเร็จจากการทำสิ่งที่รักเพื่อคนที่รัก มีบ้าน มีรถเบนซ์ขับ อยากจะกินอะไรก็กินได้เต็มที่ไม่ต้องอด ๆ อยาก ๆ อีกต่อไป

 

“ทุกวันนี้ ผมกับพี่ชายช่วยกันผ่อนบ้านผ่อนรถ สร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง นอกจากนี้ยังได้สร้างบ้านที่สระบุรีไว้บนพื้นที่ 5 ไร่ สร้างไว้เพื่อให้ครอบครัวได้ไปอยู่ช่วงบั้นปลายชีวิต ผมทำสิ่งที่ฝันไว้ได้ เพราะผมไม่เอาเงินไปลงกับการเที่ยว และทุก ๆ คนคอยเอ็นดู แต่ผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมนะ ไม่ได้ถือตัว รุ่นน้องแซวผมก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้บ้าของแบรนด์เนม อาจจะมีบ้างแต่ซื้อครั้งเดียวแล้วใช้ยาว ส่วนใหญ่หมดไปกับการกินข้าวกับครอบครัวมากกว่า เพราะตอนเด็กเราลำบากกับการกินกันมาก”

 

 

“ทุกอย่างมันสอนผมให้โตขึ้น ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างในชีวิต ได้เพื่อนที่ดี ได้คอนเนคชั่นใหม่ๆ ได้พัฒนาตัวเอง ดูแลตัวเอง มีวินัย ที่ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เป็นภาระใคร สามารถดูแลคนอื่นได้ อยากขอบคุณครอบครัว โค้ช สมาคมฯ ที่วันนั้นผลักดันให้ผมคว้าโอกาสไว้”

 

“ผมแค่อยากเล่นปิงปองให้ดีขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมรัก ให้ทุกย่างในชีวิต ผมสามารถตอบแทนบุญคุณครอบครัวได้ก็เพราะปิงปอง ตอบแทนบุญคุณสมาคมฯที่ให้โอกาสผมได้ก็เพราะปิงปอง”

 

“ตอนนี้มันเกินเป้าหมายในชีวิตผมของแล้ว ได้ไปโอลิมปิก ได้แชมป์ซีเกมส์ ได้เล่นต่างประเทศ แต่ผมก็ยังไม่หมดไฟ ยังอยากที่จะคว้าแชมป์ชายเดี่ยวซีเกมส์ และไปโอลิมปิกอีกสักครั้ง”

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา