stadium

วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น กับการใช้ภาษาช่วยพัฒนาฝีมือ

21 มกราคม 2564

เดนมาร์ก จัดเป็นชาติที่มีชื่อเสียงในกีฬาแบดมินตัน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าชาติจากเอเชีย แต่แดนโคนมก็ผลิตนักตบลูกขนไก่ระดับโลกออกมาประดับวงการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

 

ในประเภทชายเดี่ยว นับตั้งแต่ที่ เฟลมมิ่ง เดลฟ์ส คว้าแชมป์โลกสมัยแรกในปี 1977 เดนมาร์กก็ก้าวขึ้นมาแย่งบัลลังก์ประเภทนี้จากนักแบดเอเชียได้อีก 2 ครั้ง คือ ปีเตอร์ ราสมุสเซ่น ในปี 1997 และรายล่าสุดคือ วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น ในปี 2017 ซึ่งน่าแปลกที่ทั้ง 3 ครั้ง เว้นระยะห่างกัน 20 ปีพอดี

 

แต่กว่าที่ แอ็กเซลเซ่น จะฝ่าด่านอรหันต์ในยุคที่มีทั้ง หลิน ตัน, ลี ชอง เหว่ย และ เฉิน หลง ไปถึงคำว่าแชมป์โลกได้นั้น เขามีเคล็ดลับอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

 

แววดีตั้งแต่เด็ก

 

กีฬาชนิดแรกในชีวิตที่แอ็กเซลเซ่นรู้จักนั่นก็คือแบดมินตัน พ่อของเขาหัดให้เด็กน้อยวิกเตอร์วัย 6 ขวบ ได้ลองเล่นกีฬาชนิดนี้ และก็เหมือนรักแรกพบเพราะแอ็กเซลเซ่นหลงใหลในแบดมินตันอย่างจริงจัง ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางนักแบดอาชีพเมื่ออายุได้ 8 ขวบ จากนั้นด้วยพรสวรรค์บวกด้วยความรักในกีฬาแบดมินตัน เมื่ออายุได้ 12 ปี แอ็กเซลเซ่น ก็คว้าแชมป์ระดับชาติในรุ่นอายุของตัวเองได้สำเร็จ  

 

ในปี 2010 จัดว่าเป็นปีแห่งการฉายแสงของแอ็กเซลเซ่นในวัย 16 ปี เมื่อเจ้าตัวหักปากกาเซียนคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้สำเร็จ หลังจากคว่ำทั้ง หวง ยู่เซียง มือ 1 ของรายการจากจีน, ไซ ปรานีธ จาก อินเดีย และ คัง จิน-อุก จากเกาหลีใต้ซึ่งอายุมากกว่าเขา 2 ปี ในรอบชิงชนะเลิศ กลายเป็นนักแบดที่ไม่ได้มาจากทวีปเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์เยาวชนโลกได้สำเร็จ  

 

ให้หลังจากการสร้างประวัติศาสตร์ไม่ถึงปี แอ็กเซลเซ่น ก็ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์รุ่นใหญ่ระดับนานาชาติได้สำเร็จ ในรายการ ไซปรัส อินเตอร์เนชันแนล ตามด้วยเข้าถึงรอบชิงฯ เพื่อป้องกันแชมป์เยาวชนโลก แต่พ่ายต่อ ซุลฟัดลี่ ซุลคิฟฟลี่ จาก มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม เพียงเท่านี้ก็เพียงพอจะประกาศให้โลกรู้ว่า เขานี่แหละคือผู้จะมาสานต่อตำนานนักแบดของเดนมาร์ก    

 

 

กำแพงที่ยากจะก้าวข้าม

 

ในวัยเด็ก วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น คว้าแชมป์รายการสำคัญได้มากมาย แต่เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่แล้ว เขาต้องเจอกับกำแพง 3 ชั้นที่ยากจะเอาชนะคือ หลิน ตัน, ลี ชอง เหว่ย และเฉิน หลง ทำให้ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้มากมายนักในช่วงแรก เพราะเมื่อเจอ 3 คนนี้เมื่อใด แอ็กเซลเซ่นก็จะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำไปทุกคร้ัง แต่ก็มาคว้าแชมป์ระดับกรังด์ปรีซ์โกลด์จนได้ในรายการ สวิส โอเพ่น ปี 2014 อย่างไรก็ตามรายการดังกล่าว หลิน ตัน, ลี ชอง เหว่ย และเฉิน หลง ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน

 

ถึงแม้จะไม่ได้เอาชนะ 3 สุดยอดของวงการ แต่การคว้าแชมป์ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แอ็กเซลเซ่นจนผลงานดีขึ้นตามลำดับ เขาคว้าเหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์ยุโรป ก่อนจะได้อันดับเดียวกันในศึกชิงแชมป์โลก หลังจากพ่าย ลี ชอง เหว่ย ในรอบรองชนะเลิศ  

 

และในปีเดียวกันนี้เองที่ วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น ค้นพบหนทางใหม่ในการพัฒนาฝีมือโดยไม่ต้องออกเหงื่อ และยังเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวอีกด้วย

 

 

 

ข้ามกำแพงแห่งภาษา เพื่อใฝ่หาหนทางพัฒนาฝีมือ

 

ในโลกของกีฬาแบดมินตันจะว่าไปแล้ว ภาษาจีน แทบจะกลายเป็นภาษาที่ใช้กันมากที่สุด เพราะด้วยความที่นักแบดจากแดนมังกรครองวงการ รวมทั้งยังมีชาติอื่น ๆ ที่พูดจาภาษาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น จีนไทเป, ฮ่องกง, มาเลเซีย และสิงคโปร์

 

วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น จึงคิดได้ว่า เมื่อต่อต้านไม่ได้ก็เข้าร่วมพูดจาภาษาเดียวกันซะเลย เผื่อจะทำให้เขาพัฒนาฝีมือมากขึ้น

 

"ผมไม่รู้หรอกว่าภาษาจีนช่วยในการแข่งมากแค่ไหน สิ่งสำคัญคือการสามารถพูดคุยกับนักแบดคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬาจีน เพื่อเรียนรู้เทคนิคของพวกเขา"

 

ขณะเดียวกัน แอ็กเซลเซ่น รู้ดีว่า ภาษาจีนจะช่วยให้เขาได้สปอนเซอร์และงานอีเวนต์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และด้วยความเป็นคนที่ทำอะไรจะทุ่มเท 100 เปอร์เซ็น แอ็กเซลซ่น จ้างครูมือดีมาติวภาษาจีนให้ทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง จนได้ผลลัพธ์ตามต้องการ  

 

เห็นได้จากใน โอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 หลังพลิกกลับมาชนะ หลิน ตัน คว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ นักแบดชาวเดนมาร์กให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์จากจีนด้วยภาษาจีนกลางอย่างคล่องแคล่ว ทำให้เขากลายเป็นกระแสโด่งดังในแดนมังกร โดยในปัจจุบัน แอ็กเซลเซ่น มีผู้ติดตามใน weibo เว็บบล็อกยักษ์ใหญ่ของจีนมากกว่า 4 แสนคนเลยทีเดียว ซึ่งแฟนคลับส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเขาในชื่อภาษาจีนว่า อัน ไซ หลง ที่แปลตามตัวว่า "ความสงบ การแข่งขัน มังกร" ที่ครูสอนภาษาตั้งให้มากกว่าชื่อจริงแต่กำเนิด

 

นอกจากนั้นด้วยความที่เดนมาร์กมีโค้ชทักษะเป็นชาวจีนคือ จาง เหลียน หยิง ทำให้ แอ็กเซลเซ่น ได้เรียนรู้ในมุมมองที่ต่างออกไปมากกว่าเดิม  

 

 

จากเหรียญทองแดงที่ ริโอ สู่คำว่าแชมป์โลก

 

การเอาชนะ หลิน ตัน ในรอบชิงเหรียญทองแดงโอลิมปิก รวมทั้งการคว้าแชมป์ยุโรป ทำให้ แอ็กเซลเซ่น รู้ว่าเขากำลังพัฒนาไปได้ถูกทาง ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน นักแบดชาวเดนมาร์กเขี่ย ลี ชอง เหว่ย ตกรอบแบ่งกลุ่มรายการ ซูเปอร์ซีรี่ส์ ไฟนัลส์ ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

 

ในปีต่อมา แอ็กเซลเซ่น เหมือนเสือติดปีก เมื่อคว้าแชมป์ อินเดีย โอเพ่น ในเดือนเมษายน ตามด้วยคว้าแชมป์โลกในเดือนสิงหาคมจากการเอาชนะทั้งเฉิน หลง ในรอบรองฯ และหลิน ตัน ในรอบชิง กลายเป็นนักแบดจากเดนมาร์กคนแรกที่คว้าแชมป์โลกประเภทชายเดี่ยวนับตั้งแต่ ปีเตอร์ ราสมุสเซ่น ในปี 1997

 

นอกจากนั้นในปีเดียวกัน แอ็กเซลเซ่น ยังปราบ ลี ชอง เหว่ย ในนัดชิงได้ถึง 2 รายการ ทั้ง เจแปน โอเพ่น และซูเปอร์ซีรี่ส์ ไฟนัลส์ นั่นหมายความว่าในปี 2017 เขาเอาชนะ 3 สุดยอดนักแบดของโลกได้ทั้งหมด รวมทั้งขยับขึ้นไปรั้งมือ 1 ของโลกอีกด้วย

 

 

กำแพงสูงใหญ่ที่ชื่อ เคนโตะ โมโมตะ  

 

หลังขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพ ทั้งแชมป์โลกและขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก แอ็กเซลเซ่น ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคหน้าใหม่นั่นก็คือ อาการบาดเจ็บ และสุดยอดนักแบดแห่งยุคชื่อ เคนโตะ โมโมตะ ที่พ้นจากโทษแบนคดีเข้าบ่อนผิดกฎหมาย  

 

อาการบาดเจ็บทำให้เขาไม่ค่อยได้ลงแข่งในปี 2018 แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นมากนัก ผิดกับการหวนคืนวงการของ เคนโตะ โมโมตะ ที่เอาชนะแอ็กเซลเซ่นได้เกือบทุกครั้งที่เจอกัน ไล่มาตั้งแต่สมัยเยาวชน

 

ทั้งคู่พบกันมา 16 ครั้ง แอ็กเซลเซ่นชนะไปได้เพียง 2 ครั้ง คือในเยาวชนชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2010 ที่ได้แชมป์ กับรายการเยอรมัน โอเพ่น ปี 2014 นอกนั้นชัยชนะเป็นของนักแบดจากญี่ปุ่นทั้งหมด รวมทั้งการเจอกันในรอบชิง 5 รายการ

 

นับจากปี 2018 เป็นต้นมา แอ็กเซลเซ่น เข้าชิง 9 รายการ ได้แชมป์ 6 รายการ ส่วนอีก 3 รายการที่แพ้ก็เป็นเพราะโมโมตะนี่เอง ซึ่งถ้าเจ้าตัวไม่ประสบอุบัติเหตุในเดือนมกราคมปี 2020 ก็ไม่แน่ว่า แอ็กเซลเซ่น จะได้แชมป์ ออลอิงแลนด์ โอเพ่น หรือไม่

 

 

บทบาทใหม่ของชีวิตในช่วงโควิด

 

ในช่วงที่ไวรัสโควิดระบาดเมื่อปี 2020 จนการแข่งขันหยุดชะงัก แอ็กเซลเซ่นตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการเจ็บที่ข้อเท้าเพื่อใช้เวลาว่างฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ แต่กลายเป็นว่าเขาได้รับโชคสองชั้น เมื่อนาตาเลีย คอช โรห์เด้ แฟนสาวและอดีตนักแบดมือ 35 ของโลกในประเภทหญิงเดี่ยวตั้งครรภ์ ก่อนจะคลอดลูกสาวของทั้งคู่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งแอ็กเซลเซ่นยอมรับว่าเป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา

 

ขณะเดียวกันการมีลูกทำให้เขาเจอการท้าทายใหม่ ๆ และช่วยปรับทัศนคติของเขาให้กดดันตัวเองน้อยลงอีกด้วย

 

"เมื่อลงแข่ง ผมรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรหลังผ่านการฝึกซ้อมมามากมาย แต่การเป็นพ่อคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำให้ผมพยายามไม่กดดันตัวเอง เมื่อหลาย ๆ สิ่ง ไม่เป็นไปตามต้องการ อย่างเช่นการใส่ผ้าอ้อมไม่ถูกต้อง"

 

 

พุ่งสู่เป้าหมายคือเหรียญทอง โตเกียว 2020

 

การหยุดยาวเพื่อพักฟื้นร่างกายหลังการผ่าตัดอย่างเต็มที่ รวมทั้งการมีลูกเข้ามาเติมเต็มความสุขในชีวิต จึงเหมือนเป็นการชาร์จแบตให้ แอ็กเซลเซ่น พร้อมกลับมาลุยเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ ในโตเกียว 2020

 

"เมื่อเทียบกับตอนคว้าเหรียญทองแดงเมื่อปี 2016 แล้ว ผมนิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยอายุที่มากขึ้น นอกจากนั้นการคว้าแชมป์โลกและรายการอื่น ๆ ยังช่วยทำให้มั่นใจว่าถ้าหมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ผลการแข่งขันก็จะตามมา ประสบการณ์ทั้งหมดจะช่วยให้ผมมีความพร้อมมากกว่าเดิม แน่นอนว่าผมอยากทำผลงานให้ดีกว่าครั้งที่แล้ว และหวังว่าตัวเองจะท็อปฟอร์มในโตเกียว 2020"


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose